Wednesday, May 13, 2009

ไทยใต้ร่มสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่


ไทยใต้ร่ม
สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่
*** ดาวน์โหลดฉบับ pdf ได้ที่นี่

หนังสือที่กล้าเปิดเผยความจริง
ท่านกล้าเปิดสมองรับความจริงหรือไม่
ว่าใครสร้าง ใครทำลายระบอบประชาธิปไตย

ดารณี รวีโชติ
บรรณาธิการ
--------------------------------------------------------------------------------------------
สารบัญ โปรดเลือกเนื้อหาแต่ละบทจากเมนูทางซ้ายมือของท่าน
หรือ *** ดาวน์โหลดฉบับ pdf ได้ที่นี่


หน้า
ถึงผู้ใฝ่หาสัจธรรม ก-ค
บทที่ 1 ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ 1
1.1 ปฏิวัติสลับฉากประชาธิปไตย 1
1.2 หมิ่นสถาบันฯ ข้อหายอดนิยม 4
1.3 ทำไม! ต้องยึดอำนาจล้มประชาธิปไตยอยู่เสมอ? 6
1.4 อัศวินม้าขาว : วาทกรรมเผด็จการทหาร 9
1.5 รัฐธรรมนูญฉีกแล้วเขียนใหม่ : วนอยู่ในอ่าง 13
1.6 ยึดอำนาจทุกครั้งทำไมในหลวงลงพระปรมาภิไธยให้ทุกครั้ง? 17
1.7 เข้าใจระบอบ จึงจะเข้าใจสถานการณ์ 20
บทที่ 2 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ 22
2.1 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชดั้งเดิมเป็นเช่นไร 22
2.2 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่เป็นอย่างไร? 35
2.3 วันชาติภาพสะท้อนรัฐคือกษัตริย์ 56
2.4 ประชาธิปไตยพระราชทานคือสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ 57
บทที่ 3 การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ 68
3.1 ความขัดแย้ง เจ้า-คณะราษฎร 68
3.2 คณะราษฎรล้างอำนาจกษัตริย์ไม่เสร็จสิ้น 72
3.3 ความขัดแย้งของคณะราษฎรเปิดเงื่อนไขเจ้าฟื้นอำนาจ 75
3.4 กรณีลอบปลงพระชนม์ : จากวิกฤตเป็นโอกาส 78
3.5 วิกฤตสวรรคตสู่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 82
3.6 ความเหมือนคล้ายรัฐประหาร 8 พ.ย.90 กับ 19 ก.ย.49 83
3.7 ทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ ฟื้นระบอบกษัตริย์ 89
3.8 รัฐธรรมนูญ 2490 วางระบบอำนาจฝ่ายเจ้าให้เข้มแข็ง 92
3.9 แม้ฟื้นอำนาจแล้วแต่เจ้ายังคุมทหารไม่ได้ 95
3.10 รัฐประหาร 2500 ระบอบกษัตริย์เริ่มตั้งมั่นอย่างเข้มแข็ง 99
3.11 เข้าสู่สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่โดยกฎหมาย 105
3.12 การยึดอำนาจของวังมีสูตรมาตรฐาน 107
3.13 อำนาจนอกระบบ : เครื่องมือสำคัญ 110
3.14 วังเข้มแข็งเป็นภาวะวิสัยทางประวัติศาสตร์ 112
บทที่ 4 บทบาทที่ขัดขวางต่อพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย
ผ่านเครือข่ายราชสำนัก 117
4.1 สร้างเครือข่ายราชสำนักเพื่อบริหารจัดการรัฐ 117
4.2 บทบาทของวังในสายตาต่างประเทศ 121
4.3 รูปธรรมอันน่าสงสัยจากถนอมถึงทักษิณ 128
4.4 อำนาจนอกระบบคือปัจจัยหลักทำลายประชาธิปไตย 130
4.5 โฆษณาด้านเดียว ทำลายประชาธิปไตย 132
4.6 สร้างระบบตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายเดียว 136
4.7 ข้าราชการ และองคมนตรีไม่ต้องแสดงทรัพย์สิน 138
4.8 ความร่ำรวยของพลเอกสุรยุทธ์ฯ 139
4.9 ใครกันแน่ที่เป็นทุนสามานย์? 142
4.10 สร้างระบอบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว 144
4.11 จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า : ทหารไม่ต้องขึ้นต่อรัฐบาล 149
4.12 ข้าราชการมุ่งสู่ราชสำนัก ปฏิเสธอำนาจประชาชน 151
4.13 ราชเลขาคือหัวหน้าปลัดกระทรวง 154
บทที่ 5 การบริหารอำนาจของราชสำนัก รูปธรรมจาก ถนอม ถึง สุจินดา 156
5.1 บริหารอำนาจผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ 156
5.2 บทบาท “ผู้มีบารมี ฯ” ในแต่ละสถานการณ์ 160
5.3 บริหารอำนาจผ่านข้อจำกัดของทุกรัฐบาล 183
5.4 รูปธรรมกำจัดอำนาจรัฐบาลถนอม-ประภาส 193
5.5 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลสังคมนิยมอ่อนๆ 200
5.6 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ 210
5.7 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลพลเอกเปรม 215
5.8 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชาย 221
5.9 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลพลเอกสุจินดา 234
5.10 รอยแผลทางสังคมของสายสกุลแห่งอำนาจ 242
บทที่ 6 การบริหารอำนาจของราชสำนัก รูปธรรมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 244
6.1 ธุรกิจ ไอทีวี ทั้งรับใช้และรับกรรม 244
6.2 บริหารตามนโยบาย ยิ่งจริงจังยิ่งสร้างศัตรู 247
6.3 แปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือแปรประโยชน์เจ้าฯ 252
6.4 รัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชนจริงหรือ 255
6.5 ปฏิรูประบบราชการ กระเทือนราชสำนัก 260
6.6 นโยบายประชานิยม แต่ราชสำนักไม่นิยม 265
6.7 เสียง 377 คืออันตราย 270
6.8 กำจัดทักษิณ : เครือข่ายราชสำนักขับเคลื่อน 272
6.9 ทักษิณ คือ ตากสิน กลับชาติมาเกิด 274
6.10 กรณีสนธิ กลายเป็นระเบิดทำลายทักษิณ 278
6.11 ปชป. + ทหาร + NGO คือกำลังสำคัญ 280
6.12 สัญญาณชัดเจนจากราชสำนักให้ทำลายระบอบทักษิณ 284
6.13 ยุบสภาประกายไฟไหม้ลามทักษิณ 288
6.14 เพียงแต่ในหลวงกระซิบข้างหู ผมจะลาออกทันที 291
6.15 ลาพักแต่ไม่ลาออก ความปั่นป่วนและซับซ้อนฯ 295
6.16 ลอบฆ่า 3 ครั้ง - คาร์บอมคาร์บ้องของจริง 300
6.17 ทักษิณขู่เปิดเทปแผนลอบฆ่า!! 302
6.18 องคมนตรีเปรม ปิดฉากนายกฯ ทักษิณ 305
6.19 กราบแผ่นดินสุวรรณภูมิคือกราบกษัตริย์ 311
บทที่ 7 จุดเปลี่ยนอำนาจราชสำนัก 312
7.1 สร้างรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อตัดอำนาจประชาชน 312
7.2 ประชามติผ่านรัฐธรรมนูญ 50 ทั้งหลอก ทั้งบีบฯ 317
7.3 “รัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์” ประกาศิตห้ามแก้ 318
7.4 ม็อบพันธมิตรฯ ใกล้ชิดราชสำนัก 321
7.5 ทำลายรัฐบาลเงาทักษิณ โดยไม่สนใจความถูกต้อง 325
7.6 พระราชดำรัสกระทบรัฐบาลฯ 327
7.7 ม็อบเส้นใหญ่ ผบ.ทบ.ไม่กล้าแตะ 329
7.8 เส้นทางสู่วังของนายสนธิอันอื้อฉาว 331
7.9 ตุลาการภิวัฒน์ทำราชสำนักเสื่อมทรุดฯ 333
7.10 ตุลาการภิวัฒน์ ราชสำนักทรุดหนักฯ 341
7.11 อภิสิทธิ์ รัฐบาลเทพประทาน 356
7.12 คำประกาศสงครามประชาชนของสนธิ 359
7.13 รวมศูนย์ความขัดแย้งที่กษัตริย์ 363
7.14 รัฐบาลเทพประทาน-ทักษิณจะเป็นประธานาธิบดี 366
7.15 บทสรุป จุดจบคือบทเริ่มต้นแห่งยุคสมัย 368
บทที่ 8 สถานการณ์ใหม่การเมืองไทย ขบวนการประชาชน “นาโน” 371
8.1 กษัตริย์บริหารรัฐ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐ 372
8.2 แผ่นดินนี้เป็นของกษัตริย์ ประชาชนคือผู้อาศัย 375
8.3 การเมืองปลายรัชกาลกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลง 377
8.4 ยุบพรรคตัดสิทธิ์ วิกฤตสังคม - ระบบพิกลพิการ 385
8.5 สงครามเสื้อเหลือง-เสื้อแดง 387
8.6 เสื้อเหลืองล่อเป้า - เสื้อแดงยิงเป้า 389
8.7 กระแสวิกฤตโลก ผนวก กระแสวิกฤตภายใน 392
8.8 เหลือง-แดง ต่างต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง 396
8.9 ขบวนการประชาชนขบวนการนาโน 398
บทที่ 9 บทพยากรณ์: การกำเนิดรัฐไทยใหม่ 404
ภาคผนวก


บทที่ 1 ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

บทที่ 1
ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถึงปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญมากที่สุด ข้ออ้างการฉีกรัฐธรรมนูญก็วนเวียนแต่ข้อกล่าวหาว่าผู้นำรัฐบาลไม่จงรักภักดี และทุจริตประพฤติมิชอบ ข้อถกเถียงในการร่างรัฐธรรมนูญก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องเดิมๆ กลัวแต่จะกระทบอำนาจพระมหากษัตริย์ และกลายเป็นระบบประธานาธิบดี จนไม่สามารถจะเกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ภาวะความปั่นป่วนของบ้านเมืองเช่นนี้ถูกขนานนามว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แท้จริงคือระบอบอะไรกันแน่?

1.1 ปฏิวัติสลับฉากประชาธิปไตย


ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการฉีกและร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 หากนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบันนี้ ก็เฉลี่ยอายุของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับประมาณฉบับละสี่ปี ซึ่งก็ใกล้เคียงกับอายุของรัฐบาลแต่ละสมัย เพราะนายกฯ คนปัจจุบันคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 เฉลี่ยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ใช้นายกรัฐมนตรีเปลืองมากคือเฉลี่ยสามปีเศษต่อหนึ่งคน ในขณะที่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทุกประเทศจะกำหนดให้ผู้นำรัฐบาลมีอายุในการบริหารสมัยละสี่ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้การบริหารประเทศชาติมีความต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร แต่อายุรัฐบาลของประเทศไทยมีอายุสั้นกว่ามาตรฐานอายุของรัฐบาลทุกประเทศในโลก และล่าสุดได้ทำลายสถิติโลกคือในปี 2551 ปีเดียวประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 4 คน คือ 1.พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์(ม.ค.-ก.พ.), 2.นายสมัคร สุนทรเวช(ก.พ.-ต.ค.), 3.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์(ต.ค.-ธ.ค.) และ 4.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(ธ.ค.-ปัจจุบัน) ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของราษฎร
ก็เมื่อระบบการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพแล้ว ระบบเศรษฐกิจของไทยจะมีเสถียรภาพได้อย่างไร
ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีของประชาธิปไตยไทย ได้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของราษฎรเป็นอย่างมาก

เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้คนหิวโหย การฉกชิงวิ่งราว ปล้นฆ่าชิงทรัพย์ จึงเป็นวิถีชีวิตปกติของสังคมไทย รวมตลอดถึงการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยราษฎรผู้ทุกข์ยากคนยากคนจนที่ ปากท้องหิวไม่สามารถจะดำรงชีวิตตามมาตรฐานขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ได้ ต่างก็พากันบุกรุกป่าสงวน ที่ภูเขาชายทะเล รวมตลอดถึงพื้นที่ทางเดินเท้า หาบเร่แผงลอยของชีวิตคนในเมืองก็ไม่อาจจะบังคับให้เป็นไปตามระบบกฎหมายได้ด้วยปัญหาความยากจนของผู้คน แต่สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาอธิบายใหม่ว่าเป็นลักษณะพิเศษของคนไทยที่ไม่เหมือนกับผู้คนชาติใดๆ ในโลกนี้ว่า “ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้” นั่นก็คือผู้ปกครองรัฐได้กล่าวหาราษฎรว่าเป็นสันดานของคนไทยที่ไม่มีระเบียบแบบแผน ชอบทำอะไรตามใจตัวเองนั่นเอง ทั้งที่แท้จริงแล้วต้นตอของวิถีชีวิตทั้งหมดมาจากปัญหาที่ระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ได้สร้างความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลจนสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งสะสมมานานเกือบศตวรรษแล้วยังไม่อาจจะแก้ไขได้ จึงทำให้สภาวะสังคมไทยเกิดภาวะความไร้ระเบียบ เกิดความปั่นป่วนถึงขั้นกลายเป็นประเทศแห่งมิคสัญญี ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกกำลังพัฒนาจัดระเบียบประเทศของตนให้ก้าวเข้าสู่ประเทศที่ทันสมัยด้วยการสร้างความเจริญเติบโตทางระบบเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบสังคม แต่ประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพพื้นฐานในด้านการพัฒนาดีกว่าอีกหลายประเทศในโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนกลับกลายต้องเป็นประเทศที่ล้มลุกคลุกคลานพายเรือวนอยู่ในอ่างเช่นนี้ ซึ่งหากยังเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปประเทศไทยเราจะได้พบความจริงว่าในอนาคตอันไม่ไกลเราจะถอยหลังมาเป็นเพื่อนกับประเทศพม่าและก้าวไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน แม้แต่ลาวและกัมพูชา

ท่านจะยอมให้ประเทศไทยของเราเป็นเช่นนั้นหรือ?

1.2 หมิ่นสถาบันฯ ข้อหายอดนิยม

การล้มรัฐบาลด้วยความรุนแรง นอกกติกาประชาธิปไตยเป็นภาวะปกติของสังคมไทยและข้อกล่าวหาว่าผู้นำรัฐบาลไม่จงรักภักดี คิดตั้งตัวเป็นประธานาธิบดีก็เป็นปกติที่ใช้ล้มล้างรัฐบาลกันมาตลอด
หากจะทบทวนประวัติศาสตร์ดูจะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิวัติใช้กล่าวหาในการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 กันยายน 2549 ก็ไม่ได้แตกต่างจากข้อกล่าวหาที่ใช้โค่นล้มรัฐบาลก่อนๆ ทั้งที่กล่าวหาอย่างเป็นทางการและกล่าวหาใส่ร้ายใต้ดินว่า “รัฐบาลไม่จงรักภักดี” บ้าง “ผู้นำคิดจะเป็นประธานาธิบดี” บ้าง เช่น การปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็ด้วยข้อกล่าวหาว่า “ปรีดีวางแผนลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 และคิดจะตั้งระบอบมหาชนรัฐ ตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี”× ก็คือระบอบสาธารณรัฐที่ใช้เรียกอยู่ในปัจจุบันนี้ จอมพลถนอม กิติขจร ถูกพลังมวลชนนิสิตนักศึกษาเดินขบวนขับไล่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็ถูกข้อกล่าวหาร่ำลือไปทั้งสังคมว่า พ.อ.ณรงค์ กิติขจร(ลูกชายจอมพลถนอม) คิดจะเป็นประธานาธิบดี, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่เรื่องขึ้นค่ารถเมล์จนต้องลาออก ก็ถูกกล่าวหาไม่เคารพในหลวงว่า “ชอบเมาเหล้าเข้าเฝ้า ในหลวง” แม้แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานติดต่อกันถึง 8 ปี ในปีสุดท้ายก็ถูกราษฎรและนักศึกษาเดินขบวนขับไล่จนตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีก ก็ถูกกล่าวหาว่า “เทียบพระบารมี” เพราะมีภาพปรากฏในสื่อมวลชนหลายครั้งว่าพลเอกเปรมเดินเหยียบผ้าขาวม้าที่ราษฎรมาต้อนรับ โดยนำผ้าขาวม้าปูให้เหยียบเพื่อนำไปใช้กราบด้วยความเคารพ เป็นต้น
1.3 ทำไม! ต้องยึดอำนาจล้มประชาธิปไตยอยู่เสมอ?


“นักการเมืองเลวจึงต้องยึดอำนาจ หรือระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ เลว จึงจ้องแต่จะยึดอำนาจ?”
คนเลวหรือระบอบเลว?
“นักการเมืองเลว” ก็เป็นข้อกล่าวหายอดนิยมควบคู่ไปกับข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ที่ใช้ในการยึดอำนาจล้มระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็นวาทกรรมที่พูดต่อๆ กันมาไม่รู้จักจบสิ้น
ความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยได้ถูกวางไว้ที่ตัวนักการเมืองว่าเป็นคนเลวและมีความคิดมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับระบอบการเมืองไทยที่พิกลพิการที่เราขนานนามหลอกตัวเองว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แต่ในระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีการสื่อสารของโลกก้าวหน้าขึ้นทำให้ราษฎรสามารถรับรู้ความจริงของรากเหง้าแห่งปัญหาได้ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงแต่จับข้อมูลข่าวสารเปรียบเทียบคุณภาพของนักการเมืองไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ไทยกับมาเลเซีย หรือไทยกับฟิลิปปินส์ เป็นต้น ก็เห็นได้แล้วว่านักการเมืองในบ้านเมืองอื่นๆ ก็คล้ายกับบ้านเรา รวมทั้งราษฎรในประเทศเพื่อนบ้าน คุณภาพด้านการศึกษาก็ใกล้เคียงกัน ทำไมบ้านเขาถึงปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกันได้ราบรื่น แล้วทำไมของเราจึงไม่ราบรื่น ความจริงก็ปรากฏชัดเจนว่าบ้านเมืองที่เขาเป็นประชาธิปไตยนั้น เขาไม่มีระบอบกษัตริย์ หรือหากมีระบอบกษัตริย์ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย กษัตริย์หรือสุลต่าน(กรณีมาเลเซีย) ก็อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง และสถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เป็นประมุขแห่งรัฐ ส่วนการบริหารเป็นเรื่องของประชาชนที่เลือกตั้งตัวแทนกันเข้ามาสู่สภาตามวาระ
แท้จริงแล้วปัญหาการไม่มีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาของความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างอำนาจของประชาชนที่มีฐานอยู่ที่ระบอบพรรคการเมือง กับอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีฐานอยู่ที่ระบอบข้าราชการ ดังนั้นถ้าระบอบพรรคการเมืองเข้มแข็ง ระบอบประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง อำนาจของราษฎรก็จะเข้มแข็ง รัฐบาลที่มาจากราษฎรก็จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และจะส่งผลให้ระบอบข้าราชการ(ระบอบเจ้าขุนมูลนาย)อ่อนแอ โดยถูกราษฎรควบคุมผ่านระบอบพรรคการเมือง การแต่งตั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบพรรคการเมืองเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย อันจะทำให้การใช้อำนาจแทรกแซงของกษัตริย์ลดลง ส่งผลทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจจริงในสังคมไทยเกิดกระทบกับการใช้อำนาจของพรรคการเมือง
ในสภาวการณ์ของความเป็นจริงทางอำนาจเช่นนี้ แกนนำของระบอบราชการอันได้แก่ ผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ผบ.ทบ., ผบ.ทร. ผบ.ทอ., บรรดาปลัดกระทรวงและอธิบดีทั้งหลาย ก็อยากคงอำนาจของพวกเขาไว้ทั้งๆ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาใกล้จะร้อยปีแล้ว พวกเขาจึงพยายามจัดโครงสร้างอำนาจของตนขึ้น เพื่อขัดขวางการขยายตัวของระบอบพรรคการเมือง และความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย โดยพวกเขาทุกคนรู้ดีว่าหลังพิงของพวกเขาก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์
ระบอบราชการแทนที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารงานรัฐเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนนานาอารยประเทศ ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือที่คอยบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองอยู่ร่ำไป
ด้วยเหตุแห่งความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างอำนาจเช่นนี้ ประชาธิปไตยของไทยจึงล้มลุกคลุกคลาน รัฐบาลของราษฎรจึงมีภาวะสามวันดีสี่วันใคร่ พอมีปัญหานิดหน่อยก็จะมีพวกข้าราชการนักวิชาการสอพลอออกมาเรียกร้องเปิดเงื่อนไขให้ทหารออกมายึดอำนาจอยู่ร่ำไป และทุกครั้งที่ลากรถถังออกมายึดอำนาจสำเร็จ พระมหากษัตริย์ก็ลงพระปรมาภิไธยรับรองกันร่ำไปเช่นกัน
สภาวการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริงเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ เข้าใจได้ในสังคมไทย แต่เราไม่ยอมพูดความจริงกัน เพราะมีกฎหมายอาญาปิดปาก โดยศาลได้ทำหน้าที่ตีความกฎหมายมาตรา112 เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้อย่างกว้างขวางตามแนวบรรทัดฐานศาลฎีกา จนกลายเป็นว่าไม่ว่าพูดอะไรที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ก็จะผิดกฎหมายเสียทั้งนั้น กลายเป็นว่าสังคมไทยไม่อาจจะศึกษาปัญหาทางการเมืองที่พูดถึงความจริงได้ ด้วยเหตุนี้ปัญหาความขัดแย้งของอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันพรรคการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลัก จึงถูกปกปิดไว้มองไม่เห็น และถูกเบี่ยงเบนไปว่าเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย และสรุปเรียกให้งงๆ ว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

1.4 อัศวินม้าขาว : วาทกรรมเผด็จการทหาร

การจะล้มระบอบประชาธิปไตยเพื่อช่วงชิงอำนาจของทหารที่ทำกันอยู่สม่ำเสมอ จนขนานนามว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องหาความชอบธรรมให้แก่ตนที่เข้ามามีอำนาจโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน โดยสร้างวัฒนธรรม “อัศวินม้าขาว” ขึ้น
อัศวินม้าขาวจึงกลายเป็นวาทกรรมที่เล่าขานต่อๆ กันมาว่า ทุกครั้งที่มีปัญหาของประเทศชาติก็จะมีอัศวินขี่ม้าขาวออกมาแก้ปัญหา ก็คือ ทหารขี่รถถังออกมายึดอำนาจนั่นเอง ดังนั้นอัศวินม้าขาวจึงกลายเป็นวีรบุรุษในความฝันของสังคมไทย แต่จากบทเรียนของประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลับต้องเจ็บปวดกับอัศวินม้าขาวทุกคน เพราะทุกคนที่ขี่ม้าขาวเข้ามายึดอำนาจเริ่มต้นก็จะกล่าวว่า “รักชาติจนน้ำตาไหล” และสุดท้ายกลายเป็น “รักชาติจนน้ำลายไหล” เป็นเช่นนี้เสียทุกคนนับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิติขจร, พลเอกสุจินดา คราประยูร และล่าสุดคือพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ตอนเข้ามาเป็นอัศวิน แต่ตอนออกไปเป็นอาชญากร เข้าทำนองว่า “เริ่มต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”
ในที่สุดอัศวินม้าขาวก็กลายเป็น “อัศวินม้าคาว” ที่เหม็นคาวคละคลุ้งไปด้วยการทุจริต ประพฤติมิชอบ ยิ่งกว่านักการเมืองที่เขากล่าวโจมตีด้วยเหตุเพราะระบอบอัศวินม้าขาวเป็นระบอบเผด็จการสมบูรณ์แบบไม่อาจจะตรวจสอบได้ โดยกล่าวอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เป็นเวทมนต์ที่ใช้หลอกลวงประชาชน และใช้กฎหมายกดหัวประชาชน และสื่อมวลชนถูกปิดปากห้ามวิพากษ์วิจารณ์
ต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีระบอบการปกครองใดหรือไม่มีการบริหารของรัฐบาลใดในโลกที่ไม่ประสบปัญหาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินขบวนของประชาชนซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งเกิดขึ้นใน ทุกประเทศ แต่แทนที่เราจะสร้างวัฒนธรรมให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาด้วยตัวของมันเอง แต่กลับทำลายระบบเสียด้วยกลุ่มอำนาจนอกระบบซึ่งประกอบไปด้วยผู้ถืออาวุธและนักวิชาการอันเป็นข้าราชการประจำที่เป็นลูกสมุนคอยป่าวประกาศอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเบี่ยงเบนไปอีกทางหนึ่งด้วยมีเป้าหมายที่แอบแฝงเพื่อจะแย่งชิงอำนาจด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเปิดทางให้แก่อัศวินม้าขาว เช่น การกล่าวหาว่ามีประชาชนประท้วงแล้วรัฐบาลจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะปกครองต่อไป หากคำกล่าวเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องก็จะเห็นได้ว่าจะไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตยใดๆ ในโลกสามารถปกครองประเทศได้เลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นนวนิยายน้ำเน่าอันทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย และที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ก็คือ บรรดาครูบาอาจารย์ที่ไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ และนานาอารยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็ดูจะปิดหูปิดตาตัวเอง และปิดใจของตนไม่ยอมรับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย และบุคคลเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนสมุนรับใช้ของเผด็จการโดยสนับสนุนแนวทางอัศวินม้าขาว และเมื่อมีการยึดอำนาจบุคคลเหล่านี้ได้สร้างความชอบธรรมให้แก่อาชญากรรมประชาธิปไตยด้วยการเข้าไปเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ทหาร ไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติภายใต้คำกล่าวที่หลอกลวงว่า “เข้าไปช่วยเหลือประเทศชาติในระยะผ่าน” ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าชวนหัวว่าทำไมจึงผ่านไม่พ้นระบอบเผด็จการทหารเสียทีเป็นระยะเวลา 70 กว่าปีแล้ว จนก่อตัวเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นว่าอัศวินม้าขาวจะแก้ปัญหาสังคมได้
กลุ่มอำนาจนอกระบบที่ประกอบไปด้วย ทหาร ตำรวจ และนักวิชาการผู้ฝักใฝ่ระบอบเผด็จการ และต้องการจะได้รับประโยชน์จากการเข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนเหล่านี้ ในทางวิชาการได้ถูกขนานนามว่า “ระบอบ อำมาตยาธิปไตย”
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าในประเทศหนึ่งๆ นั้น การแย่งชิงอำนาจเพื่อจะไปมีอำนาจในการบริหารประเทศนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาซึ่งจะมีความขัดแย้งอยู่เสมอ หากแต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าประเทศนั้นจะต้องมีระบบการปกครองที่ชัดเจนในการเข้าสู่อำนาจและการพ้นไปจากอำนาจ ซึ่งระบบปกครองที่ประเทศทั้งโลกยอมรับเสมือนเป็นศีลธรรมใหม่ของโลก คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้กำหนดจะต้องเป็นประชาชนด้วยการเลือกตั้ง แต่ระบอบอำมาตยาธิปไตยได้สร้างวาทกรรมจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยว่าการตัดสินใจของประชาชนไม่ใช่สิ่งสำคัญ เสียงของประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์แต่ เสียงสวรรค์ที่จะทำให้ผู้มีอำนาจเป็นรัฐบาลได้นั้นคือเสียงของพระมหากษัตริย์ที่จะรับรองใครก็ได้ที่จะเป็นผู้มีอำนาจโดยไม่สนใจความถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้การยึดอำนาจทุกครั้งในการล้มระบอบประชาธิปไตยนั้นจึงถูกกล่าวอ้างอย่างเสมอว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองอยู่มิได้ขาดภายใต้วัฒนธรรมอัศวินม้าขาว และทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ของไทยก็จะลงพระปรมาภิไธยให้แก่อัศวินม้าขาวหรือหัวหน้าคณะปฏิวัติทุกครั้งไป นี่คือต้นเหตุแห่งความระส่ำระสายของระบอบการปกครองไทยที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
คนไทยเราได้ถูกสร้างวาทกรรม “พูดต่อๆ กันมา” ว่าเมื่อเกิดวิกฤตทางสังคมการเมืองแล้วก็จะเรียกหาอัศวินม้าขาวให้มายึดอำนาจ ล้มระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากการรัฐประหารตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ นั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าอัศวินม้าขาวไม่สามารถจะแก้วิกฤตของสังคมการเมืองไทยได้ และกลับยิ่งเพิ่มปัญหาทับถมอย่างฝังรากลึก และก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเหตุผลที่แท้จริงของการยึดอำนาจแต่ละครั้งนั้นมิใช่เป็นเรื่องของการแก้ “ปัญหา” หากแต่เป็นเรื่องของ “ตัณหา” ที่จะช่วงชิงอำนาจโดยไม่ยอมรับการมีอำนาจของประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง

1.5 รัฐธรรมนูญฉีกแล้วเขียนใหม่ : วนอยู่ในอ่าง

รัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศไทยพอเริ่มไอเจ็บคอ อำนาจนอกระบบ(หรืออำมาตยาธิปไตย) ก็จะทำตัวเหมือนเชื้อโรคคอยแทรกแซงทันที เริ่มต้นก็จะบีบให้ปรับคณะรัฐมนตรีถ้ายังไม่ถูกใจ ขั้นต่อไปก็จะใช้วิธีบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วเปลี่ยนตัวนายกฯ ใหม่ ถ้าไม่ได้ก็จะเพิ่มดีกรีให้แรงขึ้นโดยขอนายกฯ พระราชทาน แต่ถ้ารัฐบาลมีความเข้มแข็งและยังแข็งขืนต่อคำเตือนที่ส่งสัญญาณลงมาในรูปแบบต่างๆ แล้วอำนาจนอกระบบก็จะเริ่มก่อตัวโดยใช้กระแสมวลชน กระแสนักวิชาการ, กระแสสื่อ รวมศูนย์โจมตี แล้วก็ปิดท้ายด้วยการ ยึดอำนาจเมื่อได้โอกาส ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในระยะใกล้คือกรณีของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่างที่ทุกคนจะเห็นได้ชัด เพราะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีภาวะเศรษฐกิจดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นรัฐที่ทันสมัยในระบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งอำนาจนอกระบบไม่อาจจะใช้มาตรการปกติบีบให้ลาออกได้ ก็จะถูกการใช้มาตรการรุนแรงทำการโค่นล้ม
เมื่อกระทำรัฐประหารโค่นล้มก็จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะตัดไม้ตัดมืออำนาจของประชาชนมากขึ้น แล้วเพิ่มอำนาจให้แก่ระบอบราชการมากขึ้น โดยใส่ร้ายป้ายสีว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเองอยู่ร่ำไป โดยเนื้อหาหลักๆ ของรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องทางให้แก่อำนาจนอกระบบเข้ามามีอำนาจให้สมบูรณ์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับ รสช.(ปี 2534) ก็ตัดอำนาจการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการที่จะโยกย้ายข้าราชการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีคำสั่งโยกย้ายได้เฉพาะปลัดกระทรวงซึ่งเป็นระดับซี 11 เท่านั้น ส่วนราชการตั้งแต่ ซี 10 ลงมาห้ามยุ่ง ซึ่งเป็นฝีมือของนายกฯ อนันต์ ปันยารชุน(ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร รสช.) หรือรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.(ปี 2550) ก็ตัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้มากขึ้นและทำลายความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง โดยให้อำนาจ ส.ส.ที่จะไม่พังมติพรรคได้รวมตลอดทั้งการเปิดช่องทางให้ศาลและราชการเข้ามาควบคุมรัฐสภาและรัฐบาลโดยตรง โดยให้อำนาจศาลและองค์กรอิสระ(ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ) เป็นผู้ มีอำนาจในการแต่งตั้งวุฒิสภาได้ครึ่งหนึ่ง(74 คน) โดยมีอำนาจควบคุมรัฐบาลได้เสมือนหนึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นต้น
เมื่อหลักๆ ได้อำนาจเพิ่มจนพอใจแล้วก็จะมาตั้งคำถามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบพายเรือวนในอ่างจนน่าเวียนหัวกับระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องเก่าๆ เช่น เขตเลือกตั้งควรจะเป็นเขตเล็กเบอร์เดียว หรือเขตใหญ่เรียงเบอร์?, เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงดีหรือไม่? เพราะเกรงจะเป็นระบบประธานาธิบดี?, วุฒิสภาควรจะมาจากการแต่งตั้งจะดีกว่าการเลือกตั้งโดยตรงไหม?, หมวดพระมหากษัตริย์ห้ามแตะต้องเพราะจะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ เป็นต้น
จากประวัติศาสตร์พอร่างรัฐธรรมนูญตามใจผู้มีอำนาจเสร็จ ใช้ไปอีกไม่นานก็ฉีกอีก แล้วก็ร่างใหม่อีก ด้วยข้อถกเถียงเดิมๆ เหล่านี้ แม้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดว่าเป็นการร่างจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด มิได้เกิดจากความต้องการของคณะยึดอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็ยังไม่วายที่อำนาจนอกระบบยังไม่พอใจ ก็ยังให้ฉีกเสียเมื่อ 19 กันยายน 2549
การร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็ต้องเอาเงินภาษีอากรของประชาชนมาใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เฉพาะค่าใช้จ่ายในการร่างรัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ ก็หมดไปหมื่นล้านบาท(เฉพาะฉบับปี 2540+2550 ใช้จ่ายกว่า 5,000 ล้านบาท) ยังไม่นับความเสียหายจากการหยุดชะงักในการพัฒนาของบ้านเมืองอีกไม่รู้เท่าไร แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจกับการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจนอกระบบว่าหากเขาไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อไร เขาก็จะฉีกรัฐธรรมนูญนั้นเสียโดยง่าย เพื่อจะเปลี่ยนตัวรัฐบาลที่เขาไม่พอใจ และที่ประหลาดใจที่สุดที่คนไทยทุกคนมีคำถามอยู่ในหัวใจแต่ไม่กล้าถามให้มีเสียงดัง ก็คือ
“เมื่อทหารยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ทำไมในหลวงจึงยอมลงพระปรมาภิไธยรับรองคณะผู้ฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้งไป?”



1.6 ยึดอำนาจทุกครั้งทำไมในหลวงลงพระปรมาภิไธยให้ทุกครั้ง?


เป็นที่สงสัยกันไม่เฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น แต่คนทั้งโลกก็สงสัยว่าการยึดอำนาจที่มักจะเรียกว่าการปฏิวัติทั้งๆ ที่แท้จริงก็คือการรัฐประหารนั้นเป็นอาชญากรรมทางการเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และนับวันยิ่งร้ายแรงยิ่งขึ้นด้วยนานาอารยประเทศไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ทุกครั้งที่มีการกระทำอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ทำไมพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของราษฎรคนไทยทั้งประเทศ จึงยอมซึ่งหากพระองค์จะมีดำรัสตักเตือนพวกทหารที่ชอบยึดอำนาจเสียบ้าง ทุกคนก็จะเชื่อฟังและทำตาม แต่ทำไมพระองค์ไม่ทรงยับยั้งการกระทำอันเป็นอาชญากรรมเช่นนี้เล่า? และไม่เพียงแต่ไม่ทรงยับยั้งเท่านั้นยังได้ทรงลงพระปรมาภิไธย(ลายเซ็น)ให้แก่การรัฐประหารที่กระทำสำเร็จทุกครั้งอีกด้วย ทำให้ผู้กระทำการรัฐประหารเหล่านั้นมีความชอบธรรมในการที่จะปกครองประเทศชาติ และประชาชนทั่วไปก็จำเป็นต้องหวานอมขมกลืนเนื่องจากเคารพสักการะในพระองค์ท่าน และไม่อาจจะโต้แย้งใดๆได้เนื่องจากมีกฎหมายอาญาปิดปากไว้ในมาตรา 112 ซึ่งมีความรุนแรงไม่เฉพาะแต่ตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดแต่ยังกระทบกระเทือนไปถึงลูกหลานวงศ์ตระกูลที่ใช้นามสกุลเดียวกันในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชา นุภาพด้วย ดังนั้นกฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นเครื่องมือปิดปากที่จะให้ราษฎรไม่ว่าใครทั้งนั้นไม่สามารถตั้งคำถามอันเป็นข้อคับข้องใจตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้
มีคนตั้งคำถามว่าหากในหลวงไม่ลงพระปรมาภิไธยให้แก่ผู้ที่ทำการยึดอำนาจบุคคลเหล่านั้นจะกระทำการยึดอำนาจได้หรือไม่? เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ได้แน่นอนและจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและคนทั้งโลกด้วย คำถามจึงยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้นว่า
“ทำไมพระองค์จึงกระทำการเช่นนั้น?”
คำตอบที่นักวิชาการทั้งหลายพยายามเสกสรรปั้นแต่งให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับก็คือ
“หากพระองค์ไม่ลงพระปรมาภิไธยให้คณะผู้ยึดอำนาจ จะเป็นอันตรายแก่พระองค์เอง...................................................จริงหรือ?”
“พระองค์ต้องทรงปฏิบัติเช่นนั้นเพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง........................................................................จริงหรือ?”
เท่าที่ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมเหตุผลของนักวิชาการที่ขาย จิตวิญญาณทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่คนทั่วไปยังขัดข้องหมองใจอยู่กล่าวคือ
1.ก็ในเมื่อราษฎรทั้งประเทศเคารพสักการะพระองค์ท่าน เชื่อในสิ่งที่ท่านทรงมีพระราชดำรัสจึงเป็นไปไม่ได้ที่อำนาจนอกระบบซึ่ง ก็คือกลุ่มข้าราชการที่ถูกบ่มเพาะมาให้ยึดมั่น เชิดชู สถาบันพระมหากษัตริย์เหนือชีวิต และจะเห็นได้ว่ากลุ่มข้าราชการต่างๆทั้งหลายจะกล่าวอ้างเสมอเมื่อมีความขัดแย้งกับนักการเมืองว่าพวกตนคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(หรือในหนึ่งก็คือเขาเป็นพวกในหลวง) บุคคลเหล่านี้จะกล้ากระทำในสิ่งที่ไม่บังควรต่อพระองค์ได้อย่างไร
2.การกล่าวว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมืองจึงต้องลงพระปรมาภิไธยรับรองการกระทำอันไม่ถูกต้องต่อระบอบประชาธิปไตย ที่คนทั้งโลกไม่ยอมรับนั้นทุกครั้งไป จึงเป็นการกล่าวที่ไม่บังควรต่อพระเกียรติยศของพระองค์ เพราะเท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าพระองค์ทรงมิต้องรับผิดชอบแก่การกระทำการใดๆ อันไม่ถูกต้องนั่นเอง ดังนั้นปัญหาอันไม่อาจจะหาคำตอบได้ จึงทำให้เกิดข้อครหาค้างคาใจในหมู่ประชาชนว่า “ทำไมระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงไม่อาจมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เลย?”
สิ่งเหล่านี้หรือที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แท้จริงมันคือระบอบอะไรกันแน่?




1.7 เข้าใจระบอบ จึงจะเข้าใจสถานการณ์

ระบอบการเมืองของไทยมีความซับซ้อนมากจนเป็นผลให้นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และผู้ที่สนใจในแวดวงการเมือง เกิดการมึนงงในการที่จะประเมินและวิเคราะห์วิกฤตการณ์ทางการเมืองว่าจะคลี่คลายไปในทางใด อย่างเช่น การประท้วงยึดทำเนียบรัฐบาลที่ยาวนานของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และขยายตัวไปยึดสนามบินซึ่งกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองเรื้อรังของไทยในขณะนี้,ไม่เพียงแต่ไม่อาจจะวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตได้เท่านั้นแต่ยังไม่อาจจะรู้ได้ด้วยว่าแท้จริงแล้วมีต้นเหตุมาจากอะไรกันแน่?
ดังนั้นการที่จะเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองของไทยได้จริงๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ให้แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้ คือระบอบอะไรกันแน่?
หากเราดูวิวัฒนาการทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะการผลัดเปลี่ยนอำนาจรัฐบาลด้วยการโค่นล้มฉีกรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ก็จะเห็นว่าทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะมีการจัดโครงสร้างอำนาจให้รวมศูนย์ไปที่องค์พระมหากษัตริย์มากขึ้นทุกที จนกระทั่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กลายเป็นอำนาจที่ไม่อาจโต้แย้งได้ รวมตลอดทั้งพระราชดำรัสก็กลายเป็นเสมือนองค์การแห่งสวรรค์ที่พสกนิกรต้องปฏิบัติตาม ไม่อาจจะโต้แย้งหรือสงสัยได้ สภาวะเช่นนี้จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น และพระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจได้โดยตรงด้วยอำนาจทางวัฒนธรรม ที่ครอบงำอำนาจทางกฎหมายและอำนาจอธิปไตยทั้งสาม คือ อำนาจบริหาร, นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้นคำพูดหรือแนวคิดไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ประชาชนทุกคนต้องพึงสังวรและคอยรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำไปปฏิบัติ
ในภาวะแห่งโครงสร้างของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่อำนาจกลับรวมศูนย์ที่องค์พระมหากษัตริย์เช่นนี้ ไม่มีคำใดที่ให้ความหมายได้เหมาะสมกับคำว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่”
×เมื่อ 15 กันยายน 2490 พอ.พระยาวิชิตสรศาสตร์(จินดา วัชรเสถียร) อดีตนายทหารกรมช่างแสงได้แจ้งความต่อตำรวจว่าปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้บงการให้เกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 (หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ 11 ตุลาคม 2490) และพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวหาปรีดี พนมยงค์ ในทางสาธารณะในขณะนั้นในลักษณะเดียวกัน (สุธาชัย ยิ้มเจริญ ,แผนชิงชาติไทย หน้า 56)

บทที่ 2 ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

บทที่ 2
ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

การรัฐประหาร 8 กันยายน 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นอำนาจของฝ่ายราชสำนัก และเข้มแข็งขึ้นในการรัฐประหารปี 2500 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายอย่างอังกฤษตามแนวทางที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้นแปรเปลี่ยนไป และพัฒนากลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

2.1 ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชดั้งเดิมเป็นเช่นไร

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช(Absolute Monarchy) เป็นระบอบการปกครองอันเป็นผลแห่งพัฒนาการทางการผลิตของมนุษย์ในอดีตที่ยังล้าหลัง และมีจำนวนประชากรไม่มาก เป็นรัฐขนาดเล็ก ผลผลิตหลักยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เน้นการผลิตเพื่อการกินอยู่เป็นหลัก มิใช่การผลิตเพื่อเป็นสินค้า และเพื่อการตลาด การผลิตทั้งหมดใช้แรงงานคนและสัตว์ เช่น การไถนาด้วยควาย ถากถางไร่ด้วยแรงงานคน ไม่ได้ใช้เครื่องจักรทุ่นแรง ดังนั้นด้วยขนาดของจำนวนประชากรและวิถีชีวิต และการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อนทำให้การปกครองที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียว ที่เรียกว่า “กษัตริย์”Ù โดยอาศัยวัฒนธรรมความเชื่อทางไสยศาสตร์ว่าเป็นสมมุติเทพ เป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิด จึงทำให้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตามขนาดและความเจริญของชุมชน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของไทยในยุคต้นได้จัดระบบบริหารที่ก้าวหน้าที่สุดในขณะนั้น โดยแบ่งงานของรัฐออกเป็น 4 งาน คือ เวียง, วัง, คลัง, และนา
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของไทยก่อกำเนิดเริ่มต้นที่เด่นชัด เมื่อประมาณ 500 กว่าปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งนับว่าเป็นระบบคิดในการบริหารรัฐขนาดเล็กที่ก้าวหน้าที่สุดในยุค 3,000 ปีก่อนที่แบ่งงานหรือแบ่งอาชีพคนเป็นชนชั้นถาวร โดยอ้างพระเจ้าเป็นผู้กำหนด มี 4 ชนชั้น ที่เรียกว่าวรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ ทำหน้าที่เป็นนักบวชคล้ายนักวิชาการในปัจจุบัน ที่กล่อมเกลาความคิดผู้คนให้เชื่อในเทพเจ้าเหมือนกับที่พวกเขาได้แต่งนิยายไว้เพื่อให้ผู้คนในสังคมยอมจำนน และยอมทำงานหาเลี้ยงคนชั้นสูงซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ พวกวรรณะพราหมณ์ กับวรรณะกษัตริย์ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม คนสองวรรณะนี้จึงร่วมกันกดขี่คนส่วนใหญ่ของสังคมอีกสองวรรณะคือวรรณะแพศย์ ผู้เป็นพ่อค้า และศูทร ผู้เป็นเกษตรกร ด้วยการหลอกลวงให้เชื่อและยอมจำนนในชะตากรรมของตนที่เกิดมายากจนและทุกข์ยาก และให้เกรงกลัวต่อการลงโทษของพระเจ้าที่มีพราหมณ์และกษัตริย์เป็นตัวแทนหากใครจะคิดนอกกรอบจากที่พราหมณ์ได้สั่งสอนไว้ ดังนั้นคำสั่งสอนของพราหมณ์จึงเหมือนระบบกฎหมายที่ใช้เทพเจ้ามาหลอกลวงให้ผู้คนยอมรับ แต่เมื่อวิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้นและสังคมมนุษย์ขยายใหญ่โตขึ้น การกดขี่ด้วยการหลอกลวงให้เชื่อในเทพเจ้าก็เสื่อมลง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่เป็นผลพวงมาจากความงมงายของมนุษย์ก็เสื่อมทรุดตามไปด้วย ระบอบกษัตริย์จึงเริ่มทยอยสูญสิ้นไปจากโลก และเหลือเพียง 20 กว่าประเทศเท่านั้น ซึ่งแม้นักวิชาการปัจจุบันจะพยายามอธิบายคุณงามความดีของระบอบกษัตริย์อย่างไร ก็ไม่อาจทำให้ระบอบกษัตริย์ฟื้นชีวิตขึ้นมาในโลกได้อีก ในประเทศก็เช่นเดียวกันระบอบกษัตริย์หรือระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมก็ได้สิ้นสุดเมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่คณะราษฎรไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในทันทีคือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความเชื่อซึ่งเป็นรากฐานอำนาจของระบอบการเมือง จึงเป็นผลให้โครงสร้างอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชพัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ในภาวการณ์ของโลกสมัยใหม่ จึงทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทุนนิยมเสรีที่สร้างแนวคิดเสรีนิยม แต่ระบบการเมืองกลับเป็นอำมาตยาธิปไตยที่ไม่ชอบเลือกตั้ง และชอบประนามนักธุรกิจ(วรรณะแพศย์) เป็นพวกเลวร้ายและประนามชาวนากรรมกร(วรรณะศูทร) ว่าโง่เง่าเลือกตั้งไม่เป็น จึงเกิดความชอบธรรมที่ขุนนางจะเข้ามายึดอำนาจเป็นระยะๆ โดยหลอกลวงให้ผู้คนยอมรับว่านี้คือ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
เพื่อทำความเข้าใจกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังคงมีกรอบความคิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมเป็นพื้นฐานอยู่ ดังนั้นเราควรจะทำความเข้าใจกับระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ของไทย โดยแยกศึกษาในกรอบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม โดยสังเขปได้ดังนี้
ในกรอบการเมือง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นผู้บริหารรัฐที่เรียกว่า “ราชอาณาจักร” (รัฐของราชา) โครงสร้างการปกครองแห่งอำนาจรัฐทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร, อำนาจนิติบัญญัติ(อำนาจออกกฎหมาย) และอำนาจตุลาการ(อำนาจในการพิพากษาคดี) จะรวมอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีองค์กรอำนาจอื่นมาเคียงคู่ถ่วงดุล, คำพูดของพระมหากษัตริย์คือกฎหมายที่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชพัฒนาสูงขึ้นก็มีการรวบรวมคำพูดและคำตัดสินของพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นระบบกฎหมายที่เรียกว่า “ระบบกฎหมายตราสามดวง” แต่แม้มีระบบกฎหมายไว้แล้วพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงไว้ซึ่งอำนาจในการออกกฎหมายหรือยกเลิกกฎหมายที่เรียกว่าพระบรมราชโองการตามอำเภอใจ และทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะสั่งประหารชีวิตผู้ใดก็ได้ที่กษัตริย์ไม่พึงพอใจ หรือเห็นว่าผู้นั้นจะเป็นภัยต่อพระองค์ รวมตลอดทั้งสั่งประหารชีวิตผู้คนที่มิได้กระทำผิดเพียงแต่เป็นญาติพี่น้องของบุคคลที่กษัตริย์ไม่พึงพอใจในลักษณะล้างเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่าประหารเจ็ดชั่วโคตร คือนับสายญาติจากตัวผู้ถูกลงโทษขึ้นไป 3 ชั้น ได้แก่ พ่อ-แม่,ปู่ย่า-ตายายทวด และนับสายญาติจากตัวผู้ถูกลงโทษลงมาอีก 3 ชั้น ได้แก่ ลูก-เมียหลาน, เหลน รวมตลอดทั้งมีอำนาจสั่งยึดทรัพย์ผู้ที่ถูกประหารชีวิตเข้ามาเป็นของตนซึ่งมีฐานะเป็นรัฐ การใช้อำนาจในการล้างเผ่าพันธุ์เช่นนี้มักจะกระทำต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีหรือกษัตริย์เห็นว่าบุคคลนั้นเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง เป็นกบฏต่อแผ่นดินหรือผิดศีล ผิดธรรม เป็นต้น
ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไม่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ราษฎรทุกคนเป็นข้าทาส และบ่าวไพร่ มีฐานะต่ำ เป็นผู้อยู่ใต้ฝุ่นละอองเท้าของกษัตริย์โดยต้องประกาศตนขณะอยู่ต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ทุกครั้งว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” เมื่อราษฎรมีฐานะต่ำกว่าฝุ่นที่อยู่ใต้พระบาทขององค์พระมหากษัตริย์ ราษฎรจึงไม่มีสิทธิเสนอแนะหรือโต้แย้งความเห็นใดๆ กับองค์พระมหากษัตริย์ รวมตลอดทั้งห้ามเกี่ยวข้องใดๆ กับอำนาจรัฐหรือกิจการของรัฐ ดังนั้นอำนาจรัฐและรัฐจึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ถึงแก่ความตาย อำนาจรัฐและทรัพย์สินแห่งรัฐทั้งหมดก็จะตกทอดแก่รัชทายาทโดยราษฎรไม่มีสิทธิแม้แต่จะคิดว่าผู้ที่จะขึ้นเถลิงถวัลย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปนั้นเหมาะสมหรือไม่ แม้ว่าการขึ้นครองราชย์นั้นจะต้องมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองก็ตาม
ในกรอบเศรษฐกิจ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมีระบบการผลิตที่เรียกว่าระบบศักดินา โดยแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไม่เท่าเทียมกัน ชนชั้นปกครองคือกษัตริย์เป็นผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดและมีกลุ่มขุนนางเป็นฐานอำนาจกษัตริย์และขุนนางเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ถือครองที่ดินที่เรียกว่า “ศักดินา” ส่วนราษฎรเป็นผู้ใช้แรงงานทำการผลิตให้ชนชั้นผู้ปกครองโดยราษฎรมีฐานะทางสังคมเป็นทาสหรือไพร่ ไม่มีสมบัติใดๆ ติดตัว และอาศัยทำนาหากินอยู่ในไร่ของขุนนางโดยต้องอยู่ในบังคับดูแลของกษัตริย์ หรือขุนนางผู้มีศักดินา รวมทั้งเมื่อเกิดศึกสงครามขุนนางก็จะเกณฑ์คนในไร่นาของตนนี้ไปเป็นทหารรบกับข้าศึก ดังนั้นการมีศักดินามากหรือน้อยโดยนับจำนวนที่ดินที่อนุญาตให้ถือครอง เช่น มีศักดินา 400 ไร่ จึงไม่ใช่มีแต่ภาระหน้าที่ในการผลิตธัญญาหารเท่านั้น แต่มีหน้าที่ในทางการทหารควบคู่ไปด้วย
ลำดับของขุนนางแบ่งชั้นตามฐานันดรของศักดินา โดยแบ่งตามฐานะของการถือครองที่ดิน โดยมีประชาชนเป็นขี้ข้าที่มีฐานะเป็นทาส และบ่าวไพร่เป็นผู้ทำงานอยู่ในไร่นาของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์และขุนนาง เพื่อเลี้ยงชนชั้นสูงเหล่านี้ เมื่อผลผลิตส่วนใหญ่ทั้งแผ่นดินรวมศูนย์เป็นของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการค้าขายทั้งในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศจึงเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว พระองค์จึงเป็น ผู้ผูกขาดทางการค้า จากหลักฐานบันทึกจดหมายเหตุของเดอ ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ของฝรั่งเศสที่เข้ามาประเทศไทยในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราชเมื่อ 300 กว่าปีที่ผ่านมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้บันทึกถึงการใช้อำนาจผูกขาดทางการค้าของกษัตริย์สยาม อันเป็นหลักฐานยืนยันถึงอำนาจของระบบ สมบูรณาญาสิทธิราชของไทยว่า
“ธรรมดาการค้าขายนั้นย่อมต้องการเสรีภาพที่แน่ชัด ไม่มีใครตกลงใจไปสู่กรุงสยามเพื่อขายสินค้าที่ตนนำเข้าไปให้แก่พระมหากษัตริย์ด้วยความจำเป็นจำใจแล้ว และซื้อสินค้าที่ตนต้องการได้จากพระองค์ท่านเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น แม้ว่าสินค้านั้นจะมิได้ทำขึ้นในราชอาณาจักรเอง ก็ตาม ยิ่งกว่านั้นยามเมื่อมีเรือกำปั่นต่างประเทศไปถึงกรุงสยามพร้อมหลายลำด้วยกันเล่า ก็ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายกันเองระหว่างลำต่อลำ หรือขายให้แก่ชาวเมืองไม่เลือกว่าจะเป็นคนพื้นเมืองหรือคนต่างด้าว จนกว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอ้างบุริมสิทธิ์อันควรแก่พระราชอิสริยศักดิ์ ทรงกว้านซื้อเอาสินค้าที่ดีที่สุดในระวางเรือไปหมดตามสนนราคาที่โปรดกำหนดพระราชทานให้แล้ว เพื่อทรงนำเอาไปขายต่อไปด้วยราคาที่ทรงกำหนดขึ้นตามพระราชอัชฌาสัย”Ù
จากจดหมายเหตุของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ ที่เดินทางร่วมมากับคณะของเชอวาลิเอร์ เดอโชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.2228 ก็ได้บันทึกถึงความร่ำรวย พระมหากษัตริย์ที่เก็บสะสมเงินทองไว้จำนวนมากโดยไม่นำออกมาใช้จ่ายพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งเป็นการยืนยันถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองที่เป็นจริงโดยไม่มีใครโต้แย้งดังนี้
“พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตโดยทิ้งพระราชทรัพย์สมบัติไว้มากมายก่ายกองนั้นได้รับความยกย่องนับถือยิ่งกว่าองค์ที่ทรงมีชัยในงานพระราชสงครามมาเสียอีก เป็นนโยบายการปกครองที่ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย เพราะทองคำและเงินนั้นจะเอาไปลงทุนทำมาค้าขายก็ไม่ได้ และมิเป็นการดีกว่าหรือที่พระมหากษัตริย์จักทรงสละพระราชทรัพย์สักสองล้านเพื่อสร้างน้ำพุขึ้น แทนที่จะนำเอาพระราชทรัพย์ไปฝังไว้ แล้วละให้ประชาชนพลเมืองลำบากยากแค้น? เพราะที่นี่เขาไม่แตะต้องกับพระราชทรัพย์เลย การใช้จ่ายของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ชักจากผลประโยชน์ที่พระองค์ทรงได้รับ และเมื่อเหลือจ่ายแล้วก็เก็บสะสมเข้าไว้ในท้องพระคลัง ปีใดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าเป็นด้วยไปรบชนะมาหรือมีกำไรจากการค้า พระองค์ก็จะทรงรุ่มรวยยิ่งขึ้น”Ù
ในกรอบวัฒนธรรม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ใช้วัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาที่เป็นไสยศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถือครองอำนาจ และสืบต่ออำนาจโดยใช้ความเชื่อทางศาสนาครอบงำความคิดของประชาชนเพื่อให้ยอมรับการมีอำนาจรัฐของกษัตริย์ และการสืบอำนาจต่อโดยรัชทายาทในฐานะผู้ทรงคุณธรรม และเป็นผู้มีบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนโดยราษฎรห้ามโต้แย้ง การสงสัยและโต้แย้งอำนาจของกษัตริย์และองค์รัชทายาทผู้สืบต่ออำนาจ นอกจากเป็นความผิดทางกฎหมายที่มีโทษรุนแรงถึงประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรแล้ว ยังมีโทษเป็นบาปติดตัวราษฎรไปเมื่อสิ้นชีวิต ต้องตกนรกหมกไหม้ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกด้วย
วัฒนธรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของไทย ก็คล้ายกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ผ่านมาแล้ว แต่ของไทยใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นฐานความเชื่อครอบงำความคิด ของประชาชนเพราะศาสนาพราหมณ์ได้สร้างวาทะกรรมว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพ และเทพเจ้าสูงสุดคือพระพรหม ซึ่งเป็นผู้สร้างโลกและมนุษย์(ซึ่งคล้ายกับความเชื่อของฝรั่งว่าพระยะโฮวาในศาสนายูดาและศาสนาคริสต์ หรือตามความเชื่อของพวกอาหรับที่ออกเสียงเรียกพระเจ้าองค์เดียวกันว่าพระอัลเลาะในศาสนาอิสลามซึ่งเป็นผู้สร้างโลกและมนุษย์) และเป็นผู้ประทานพระเจ้าจากสวรรค์ลงมาจุติเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ ดังนั้นพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์และราชวงศ์ล้วนแล้วแต่เป็นเชื้อสายของพระเจ้าที่อยู่บนฟากฟ้า และศาสนาพราหมณ์ยังได้จัดโครงสร้างสังคมโดยแบ่งชนชั้นมนุษย์ในโลกออกเป็น 4 ชนชั้น(คือการแบ่งงานเมื่อก่อน 2,500 ปีที่แล้ว) โดยเรียกว่า วรรณะ ได้แก่ กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์(พ่อค้า) และศูทร(ชาวนา กรรมกร) ซึ่งชนชั้นเหล่านี้ถูกกำหนดอย่างตายตัวโดยพระพรหมซึ่งเป็นมาตั้งแต่ชาติที่แล้วสืบต่อถึงปัจจุบันนี้ และเมื่อตายแล้วเกิดใหม่ในชาติหน้าก็ต้องอยู่ในชนชั้นเดิมนี้อีก และหากใครแต่งงานข้ามชนชั้นก็จะเป็นบาปอย่างยิ่ง ลูกที่เกิดขึ้นเรียกว่า “จัณฑาล” ห้ามคนในสังคมไปยุ่งเกี่ยว หรือไปถูกเนื้อต้องตัวพวกจัณฑาล เพราะจะเป็นบาปติดตัว และหากพวกจัณฑาลมาถูกเนื้อต้องตัวกษัตริย์ก็จะต้องถูกฆ่า ดังนั้นเพื่อให้การครอบงำความคิดประชาชนมีความสมจริงสมจังและฝังรากลึกแห่งความเชื่อให้มากยิ่งขึ้น จึงมีการสร้างวัฒนธรรมการใช้สรรพนามที่นำหน้าชื่อของกษัตริย์ และรัชทายาท ให้เป็นเช่นเดียวกับการเรียกพระเจ้าด้วยคำขึ้นต้นว่า “พระเจ้า” เหมือน กัน เช่น เรียกพระมหากษัตริย์และรัชทายาทว่า “พระเจ้าอยู่หัว” “พระองค์เจ้า” หรือแม้แต่ในระดับรุ่นหลานก็เรียกว่า “พระเจ้าหลานเธอ” เป็นต้น รวมตลอดทั้งชื่อของกษัตริย์ ก็จะนำชื่อของพระเจ้าที่สังคมเคารพนับถือมาใช้ประกอบด้วย เช่น พระราม, พระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้า มาเป็นองค์ประกอบสำคัญของชื่อที่ให้ประชาชนเรียกขาน เช่น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ต้นราชวงศ์อยุธยาหรือที่รู้จักในนาม พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่ 1 ต้นราชวงศ์จักรี) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้สร้างวัฒนธรรมทางภาษาที่ราษฎรจะต้องใช้สื่อสารกับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ทุกพระองค์ ให้แตกต่างไปจากภาษาพูดที่ราษฎรใช้กันเองในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า “ราชาศัพท์” เมื่อราษฎรจะพูดถึงหรือจะต้องพูดกับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ต้องใช้ราชาศัพท์ แต่ถ้าพระมหากษัตริย์และราชวงศ์จะพูดกับราษฎรก็ใช้ภาษาพูดธรรมดา ทั้งนี้เพื่อสร้างผลทางจิตวิทยาหลอกลวงให้ราษฎรเชื่ออย่างเป็นจริงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกษัตริย์,ราชวงศ์ กับราษฎร กล่าวคือกษัตริย์และราชวงศ์คือ “เทพ” ที่อยู่บนฟ้า ราษฎร คือ “มนุษย์” ที่เดินอยู่บนดินและในระบบการศึกษาก็จะมีการสั่งสอน เรียนรู้เกี่ยวกับราชาศัพท์และพงศาวดาร เกี่ยวกับระบบคิดและประวัติความเป็นมาของพระเจ้าที่เรียกว่า “เทวะวิทยา” โดยจะให้ข้อมูลเผ่าพงศ์ของเทพเจ้าว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง ผู้ที่รู้เรื่องราชาศัพท์ และเทวะวิทยาดีก็จะมีโอกาสที่ดีทางสังคมได้เข้าไปทำงานในรั้วในวัง ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจ ก็จะได้เป็นเจ้าคนนายคน
แม้หลักการพื้นฐานของศาสนาพุทธ จะแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์อย่างยิ่ง กล่าวคือ ศาสนาพุทธไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ความดีหรือความเลวเกิดจากผลแห่งการกระทำของแต่ละคน แต่ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่ามีพระเจ้า ความดีหรือความเลวเป็นผลมาจากวรรณะทางสังคม กล่าวคือ กษัตริย์และราชวงศ์จะเป็นคนดีเพราะเป็นเทพ ไม่สามารถจะกระทำผิดได้ แม้กระทำผิดใครไปกล่าวก็จะเป็นบาปติดตัว ส่วนพวกศูทรและจัณฑาลเป็นคนเลวมาตั้งแต่ชาติที่แล้วถึงได้เกิดมาเป็นผู้ใช้แรงงานที่ต้องรับใช้คนชั้นสูงตลอดชีวิต หลักการนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก อัคคัญญสูตร ว่าวรรณะทั้ง 4 จะดีจะชั่วก็อยู่ที่การกระทำของแต่ละคน ไม่ใช่อยู่ที่วรรณะ ความว่า
“ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ที่เป็นกษัตริย์ก็มี เป็นพราหมณ์ก็มี เป็นแพศย์ก็มี เป็นศูทรก็มี ย่อมฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด (ยุให้เขาแตกร้าวกัน) พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มักได้ มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด เมื่อวรรณะทั้งสี่ยังดาษดื่นทั้งสองทางยังประพฤติทั้งในธรรมที่ดำและขาว ที่ผู้รู้ติเตียนและสรรเสริญอยู่อย่างนี้ คำใดที่พวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่าวรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐสุด วรรณะอื่น ๆ เลว, วรรณะพราหมณ์เท่านั้นขาว วรรณะอื่น ๆ ดำ, พราหมณ์ทั้งหลายเท่านั้นย่อมบริสุทธิ์ คนที่มิใช่พราหมณ์ย่อมไม่บริสุทธิ์, พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตร เป็นโอรสของพรหม เกิดจากปากพรหม มีพรหมเป็นแดนเกิด เป็นผู้อันพรหมสร้างสรรค์ เป็นทายาทของพรหม ดังนี้. วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของพราหมณ์เหล่านั้น”Ù
แม้ศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาประจำชาติแต่ผลทางวัฒนธรรมภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์ก็ได้บิดเบือนหลักการของศาสนาพุทธโดยนำอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มาเจือปนอย่างมาก จนทำให้แก่นแห่งศาสนาพุทธที่เป็นวิทยาศาสตร์หมดสิ้น กลายเป็นศาสนาแห่งไสยศาสตร์คล้ายกับศาสนาพราหมณ์ที่ต้องรับรองความเป็นเทพของกษัตริย์และราชวงศ์ มีความเชื่องมงายในสวรรค์ นรก และมีความเชื่อในชาติกำเนิดเหมือนกับศาสนาพราหมณ์ และได้ส่งผลเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดกับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนในการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น โดยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้วประชาชนกับกษัตริย์และราชวงศ์ ล้วนแล้วแต่เกิดมาโดยธรรมชาติ เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงของชีวิตประจำวันไม่อาจจะพูดถึงความเสมอภาคกันระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ได้ ทั้งนี้เพราะมีวัฒนธรรมครอบงำความคิดไว้ หากใครไม่เชื่อและยังกล้าฝ่าฝืนก็จะถูกสังคมประณามและรังเกียจ ไม่คบหาสมาคมด้วย รวมตลอดทั้งอาจจะถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมดำเนินคดี เป็นต้น

2.2 ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่เป็นอย่างไร?

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่(Neo Absolute Monarchy) เป็นการวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในนานาอารยะประเทศ เช่น อังกฤษ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น เป็นต้น กล่าวคือโดยหลักแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นของประชาชน แต่สำหรับประชาธิปไตยของประเทศไทยอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนนั้นเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น แต่เนื้อหาที่แท้จริงแล้วอำนาจอธิปไตยยังเป็นของพระมหากษัตริย์อยู่ โดยทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่รวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีต ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อระบบการปกครองที่เป็นจริงของไทยในปัจจุบัน และเพื่อประโยชน์ทางวิชาการในการสื่อความหมาย และทำความเข้าใจต่อปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงเรียกระบบการปกครองที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” แทนที่จะเรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ
เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นจริงของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันตามที่กล่าวข้างต้น ผู้อ่านจะต้องเปิดใจกว้างและกล้าที่จะมองปัญหาผ่านม่านทางวัฒนธรรมที่ครอบงำความคิดของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดได้ทรยศต่อวิชาชีพของตน กล่าวคือสื่อมวลชนและนักวิชาการไม่กล้าพูดความจริง และบางคนไม่เพียงแต่ไม่กล้าพูดความจริงเท่านั้น แต่ได้สร้างความอัปยศต่อวงการด้วยการพูดบิดเบือน หลอกลวงประชาชนว่าการปกครองของไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะพิเศษของตัวเองเรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือเลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็โจมตีว่าระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อยู่กันทั้งโลกนี้ไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะนักการเมืองของไทยเลวเกินกว่าที่จะนำระบอบประชาธิปไตยของตะวันตกมาใช้ได้ จึงเห็นสมควรต้องสร้างการเมืองใหม่ คือคืนอำนาจทั้งหมดกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์ และให้พระองค์เป็นผู้ใช้พระราชอำนาจนั้นตามพระบรมราชวินิจฉัยเอง เพราะพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ล้วนแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นผู้ประกอบแต่คุณงามความดี ประดุจดังเทพเจ้าจึงเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ และชี้ขาดความถูกต้องทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์และเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็นเนื้อหาของระบอบการปกครองในปัจจุบันนี้ว่าแท้จริงแล้วมิใช่ประชาธิปไตย หากแต่เป็นระบอบการปกครองที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีตเป็นอย่างมาก ดังนั้นในที่นี้จึงขอเรียกว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ดังนี้
ในกรอบการเมือง แม้อำนาจอธิปไตยของไทยในปัจจุบันจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็นของประชาชนโดยแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ ถ่วงดุลกันอันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารผ่านทางรัฐบาล และใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือพระมหากษัตริย์และรัชทายาททุกพระองค์ทรงอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 60 กว่าปีในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญสูงสุดเพราะเป็นกฎหมายแม่บทที่ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่กลับมีผู้กระทำผิดโดยทำการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีโทษถึงประหารชีวิต แต่พระองค์กลับรับรองการฉีกรัฐธรรมนูญนั้นโดยลงพระปรมาภิไธยรับรองการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นมาโดยตลอดโดยถือเป็นพระราชอำนาจของพระองค์ ซึ่งก็แสดงให้เห็นได้ชัดแล้วว่าพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจอยู่เหนือกฎหมายสูงสุด จึงมีอำนาจรับรองการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และเป็นผลให้เกิดการร่างกฎหมายโดยบุคคลคนเดียว โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนที่เรียกว่า ประกาศคณะปฏิวัติบ้าง, ประกาศคณะปฏิรูปบ้าง(แล้วแต่ว่าผู้ยึดอำนาจจะเรียกตัวเองว่าอะไร) เป็นต้น
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญมิใช่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การรับรองรัฐธรรมนูญที่คณะปฏิวัติคณะต่างๆ ร่างขึ้นโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมนั้นแสดงถึงพระราชอำนาจที่พระองค์ทรงสร้างรัฐธรรมนูญได้เอง
นอกจากนี้ประมวลกฎหมายรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในการเรียกเก็บภาษีแก่คนไทยทุกคนที่มีรายได้ แต่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์และรัชทายาททุกพระองค์ที่มีรายได้ในรูปเงินเดือนจากเงินภาษีอากรของประชาชน และจากการรับบริจาค รวมทั้งจากการประกอบธุรกิจในฐานะที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทธุรกิจมากมายในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่กลับไม่ต้องเสียภาษี โดยกรมสรรพากรไม่กล้าดำเนินการเรียกเก็บหรือฟ้องร้อง ความเป็นจริงที่สามารถพิสูจน์ได้นี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งไม่ต่างอะไรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีต
ส่วนอำนาจอธิปไตยที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับกล่าวอ้างว่าเป็นของประชาชนนั้น ก็ไม่เป็นความจริงทั้งรูปแบบและเนื้อหากล่าวคืออำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ หากดูจากเปลือกนอกก็จะเห็นภาพสวยหรูว่าเป็นอิสระ และเป็นอำนาจที่มาจากประชาชน แต่หากเจาะลึกมองเข้าไปข้างในก็จะเห็นความจริงว่าทั้ง 3 อำนาจนี้ถูกครอบงำโดยราชสำนักทั้งหมด ดูจากภายนอกจะเห็นว่ามีเพียงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเท่านั้นที่มีรูปแบบมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่อำนาจตุลาการนั้นทั้งรูปแบบและเนื้อหาไม่มีส่วนใดที่เชื่อมโยงกับประชาชนเลย
อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร แม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกตัดทอนด้วยการรัฐประหารล้มระบบการเลือกตั้งอยู่เสมอ และเมื่อรวมระยะเวลาแห่งการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่มาจากประชาชนด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็จะมีระยะเวลาที่สั้นกว่าอำนาจที่มาจากการกระทำผิดกฎหมายของคณะปฏิวัติที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และยิ่งกว่านั้นทุกครั้งที่ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะตัดอำนาจของประชาชนและเพิ่มอำนาจให้แก่ข้าราชการ โดยเฉพาะอำนาจของฝ่ายทหารให้มากขึ้นทุกครั้งไป โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่อยู่เสมอ ด้วยรูปแบบที่ปกปิดหลอกลวง อาทิเช่น กำหนดที่มาและวิธีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาให้มีความลำบากมากขึ้นเพื่อมิให้เกิดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่เป็นปึกแผ่นและมิให้เกิดระบบพรรคการเมืองที่มั่นคง รวมทั้งกำหนดในรัฐธรรมนูญเพื่อตัดสิทธิอำนาจของผู้แทนราษฎร และจำกัดสิทธิอำนาจของรัฐมนตรีในฐานะของฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนเลือกตั้ง มิให้เข้าไปควบคุมระบบราชการที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ โดยเฉพาะอำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรทหารและตำรวจมิให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแตะต้องได้เลย อีกทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารและของสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ราชสำนักก็จะใช้ระบบราชการควบคุม โดยใช้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการที่มีประวัติการทำงานเป็นผู้มีแนวคิดจารีตนิยม และเป็น ผู้ใกล้ชิดราชสำนัก และโดยเฉพาะในขณะนี้ยังใช้ศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาควบคุมรัฐบาลและสภาอีกชั้นหนึ่ง
ดังนั้นอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติจึงถูกครอบงำจากราชสำนักอย่างเข้มแข็ง
อำนาจตุลาการนั้นนับตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ยังคงเป็นอำนาจเฉพาะของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดโดยเป็นผู้แต่งตั้งโดยตรงที่เรียกว่า “โปรดเกล้า” โดยมีกระบวนการคัดเลือกตามระบบงานราชการก่อนการโปรดเกล้า โดยทั้งกระบวนการของการแต่งตั้งผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการนั้นตั้งแต่ผู้พิพากษาธรรมดาจนถึงประธานศาลฎีกา ไม่มีส่วนยืดโยงหรือเกี่ยวข้องใดๆ กับอำนาจของราษฎรเลย ซึ่งแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ตั้งมั่นอยู่ในยุโรปและอเมริกา ที่ต้องมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาด้วยวิธีการพิเศษกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บางประเทศเลือกตั้งโดยตรง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศก็เลือกตั้งโดยอ้อม เหตุผลสำคัญที่โครงสร้างอำนาจของไทยไม่ยอมให้ราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจตุลาการทั้งทางตรง และทางอ้อม แท้จริงก็คือการรักษาอำนาจโดยสมบูรณ์ไว้กับองค์พระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีใครกล้าที่จะพูดความจริงเช่นนี้ หากแต่ได้ให้เหตุผลหลอกลวงราษฎรว่าหากราษฎรมีส่วนเลือกตั้งผู้พิพากษา ทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว ก็จะทำให้ศาลเสียความเป็นกลาง ไม่อาจจะประสิทธิประสาทความยุติธรรมได้ แต่จากความเจริญทางการสื่อสารของโลกก็ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าข้ออ้างเหล่านี้เป็นเรื่องโกหก เพราะก็ปรากฏหลักฐานของประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วว่าอำนาจตุลาการที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงก็สามารถให้ความยุติธรรมแก่ราษฎรได้ และได้ดีกว่าระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่ในประเทศไทยเสียอีก ดังจะเห็นจากข่าวมีการฉ้อราษฎร์ของผู้คนในวงการตุลาการไม่น้อยหน้าไปกว่าหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ
จากตัวอย่างที่เป็นจริงของระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในโลกนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอำนาจอธิปไตยที่เป็นของราษฎรนั้นเกิดขึ้นได้จริง และให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้ ซึ่งเป็นการตบปากนักวิชาการทั้งหลายที่โฆษณาหลอกลวงราษฎร
เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การผูกขาดอำนาจตุลาการไว้กับองค์พระมหากษัตริย์ ระบบความยุติธรรมของไทยจึงต้องสร้างกรอบความคิดให้เห็นว่าความยุติธรรมที่แท้จริงต้องเป็นเสมือนหนึ่งลอยมาจากสรวงสวรรค์ ด้วยการแต่งตั้งจากสมมุติเทพคือองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะเป็นความยุติธรรมที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ระบบยุติธรรมหรืออำนาจตุลาการของไทยจึงบิดเบี้ยวและมีอำนาจกระทำต่อราษฎรเสมือนหนึ่งเป็นข้าทาสเช่นอดีต ส่วนตัวผู้พิพากษามีฐานะเหมือนขุนนาง ผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ เราจึงเห็นผู้พิพากษาดุและตวาดราษฎรที่ไปขอความเป็นธรรม ไม่เว้นแม้แต่ทนายความและอัยการเมื่ออยู่ในศาลเยี่ยงข้าทาส และเป็นที่ประจักษ์ชัดที่สุดว่าอำนาจตุลาการนั้นเป็นเครื่องมือของกษัตริย์และราชวงศ์ จะเห็นได้ว่าตลอดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาทั้งในระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชดั้งเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราจึงไม่อาจจะเห็นการดำเนินคดีกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายที่มีการกระทำผิดกฎหมายได้เลย เชื้อพระวงศ์แห่งราชสำนักทั้งหมดจึงกลายเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือระบบกฎหมาย เหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมทุกประการ
การที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้นนี้มิได้กล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะเป็นผู้กระทำผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการกล่าวโดยหลักการเพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อระบบยุติธรรมหรืออำนาจ ตุลาการถูกจัดวางเช่นนี้ อีกทั้งมีวัฒนธรรมครอบงำความคิดของคนที่เป็นผู้พิพากษาด้วย ให้เคารพสักการะองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นดั่งองค์สมมุติเทพด้วยแล้ว อำนาจตุลาการจึงไม่อาจจะดำรงอยู่อย่างเป็นกลาง เป็นธรรม และอย่างเสมอภาคกันกับมนุษย์ทุกคนในประเทศนี้ได้ และในความเป็นจริงที่ทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ ก็อาจจะมีการกระทำผิดได้ทุกคน ตัวอย่างความไม่เป็นธรรมก็ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในสังคมนี้แล้ว กรณีการกระทำผิดทางเพศ ข่มขืนกระทำชำเราต่อเด็กผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญาถือว่าเป็นความผิดที่รุนแรงและไม่อาจจะยอมความได้ ก็ปรากฏขึ้นกรณีหม่อมลูกปลาที่เชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่ง(น้องชายของสมเด็จพระราชินี)ได้เก็บเด็กผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่งที่ชื่อลูกปลามาเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เพื่อมาบริการทางเพศให้แก่ตนเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี แต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีจนกระทั่งข้อเท็จจริงได้ปรากฏแดงขึ้นในภายหลัง, หลังจากที่เกิดกรณีฆาตกรรมเชื้อพระวงศ์คุณชายท่านนั้น สังคมจึงได้รับทราบความจริงอันขมขื่นที่เด็กผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่งถูกกระทำอย่างไร้ซึ่งคุณธรรมและต้องตกเป็นจำเลยในข้อหาฆ่า เชื้อพระวงศ์ท่านนั้น เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์อันไม่ถูกต้องโดยกระบวนการยุติธรรมไม่อาจจะเข้าไปประสาทความยุติธรรมได้ในลักษณะนี้ยังมีอีกมากก็กลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทากันทั้งสังคม เช่น การหายตัวอย่างลึกลับของนางศิรินทิพย์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และการตายอย่างมีปริศนาด้วยโรคหัวใจล้มเหลวของ พ.ท.ณรงค์เดช ทั้งๆ ที่เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งนักวิชาการจะอธิบายกระบวนการยุติธรรมของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างไร
นอกจากอำนาจตุลาการไม่อาจจะให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนในกรณีที่เชื้อพระวงศ์เป็นผู้กระทำผิดเท่านั้น จากโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ อำนาจตุลาการได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ในการกล่าวหาใส่ร้ายประชาชนหรือนักการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กันด้วยข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษรุนแรง อีกทั้งมาตรานี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชนห้ามมิให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น รวมตลอดทั้งใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอมา ซึ่งปัจจุบันก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ข้อหานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฐานของพรรคการเมือง พรรคไทยรักไทย และทำลายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมชมชอบจากราษฎร แต่ด้วยสำนักพระราชวังหวั่นเกรงว่าจะมีอำนาจบารมีมากขึ้นมาเทียบหรือมาแข่งอำนาจของกษัตริย์ได้ ด้วยการตัดสินลงโทษจำคุก ยึดทรัพย์ ยุบพรรคเพื่อทำลายฐานอำนาจทั้งหมดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น
ส่วนอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารนั้น แม้จะมาจากประชาชนโดยตรงดังที่กล่าวในเบื้องต้น แต่ในการบริหารอำนาจรัฐบาล และรัฐสภาก็ไม่อาจกระทำการใดๆ ขัดพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ทั้งในกิจการส่วนพระองค์หรือในกิจการของรัฐ เช่นโครงการตามพระราชดำริต่างๆ รัฐบาลต้องตอบสนอง และรัฐสภาไม่อาจจะตรวจสอบการใช้เงินของโครงการได้เสมือนหนึ่งว่าการประมูลงานการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริที่ปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นผู้ดำเนินการนั้นมีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง รวมตลอดทั้งกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาจะขัดพระราชประสงค์ก็ไม่ได้ แม้กระทั่งพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินที่ผู้แทนราษฎรจะใช้อำนาจราษฎรในการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนตัวเงินและความเหมาะสมของโครงการพระราชดำริที่แฝงอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ก็ไม่ได้ด้วย มีคำสั่งลับในทุกรัฐบาลห้ามอภิปรายงบประมาณของสำนักพระราชวังและงบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริโดยเด็ดขาด ดังนั้นกฎหมายที่ก้าวหน้าหลายฉบับโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี, กฎหมายการถือครองที่ดิน และภาษีมรดกที่จะมีผลทำให้ได้เม็ดเงินจำนวนมากมาดูแลคนยากจน, ที่ในต่างประเทศล้วนแต่มีระบบจัดเก็บภาษีดังกล่าวอย่างก้าวหน้า แต่สำหรับประเทศไทยไม่อาจออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ ด้วยเพราะพระมหากษัตริย์มีที่ดินมากที่สุดในประเทศไทยและมีสินทรัพย์ที่เป็นมรดกตกทอดมากที่สุดในประเทศไทย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงของอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่อาจจะกระทำได้ด้วยเหตุผลที่วัฒนธรรมและกฎหมายในสังคมไทยสร้างขึ้นปิดกั้นไว้โดยถือว่า “เป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท”
กล่าวโดยสรุปก็จะเห็นได้ว่า ที่กล่าวอ้างว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร โดยผ่านระบบการเลือกตั้งตัวแทนนั้นจึงเป็นเพียงรูปแบบซึ่งมิใช่ความเป็นจริงแต่โดยเนื้อหาแห่งความเป็นจริงนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยเป็นพระราชอำนาจตามที่นายประมวล รุจนเสรี อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้บันทึกความเป็นจริงไว้ในหนังสือเรื่องพระราชอำนาจ
ในกรอบเศรษฐกิจ พระมหากษัตริย์ของไทยเป็นผู้มีสินทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดทั้งที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ธุรกิจการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทองคำ เพชรนิลจินดา เครื่องประดับต่างๆ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน รวมแล้วมีมากมายมหาศาล โดยนิตยสารฟอร์บ(FORB) ได้เสนอบทความราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2551 โดยระบุว่า พระมหากษัตริย์ของไทยมีพระราชทรัพย์มากที่สุดในบรรดา 15 ราชวงศ์ที่อยู่ในทำเนียบการจัดอันดับของฟอร์บโดยมีพระราชทรัพย์ประมาณการได้ล่าสุดกว่า 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าร์ = 34 บาท)Ù
ความมากมายของจำนวนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไทย มีมากจนต้องตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ทรัพย์สินที่เป็นที่รู้จักดีของราษฎร ก็คือที่ดินของพระมหากษัตริย์ที่ตั้งอยู่กลางเมืองในย่านธุรกิจของทุกจังหวัดในประเทศไทยที่มีการเก็บค่าเช่าในแต่ละเดือนมีมูลค่ามหาศาล กิจการขนาดใหญ่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ศูนย์การค้าดิโอลด์ พลาซ่าเจริญกรุง เป็นต้น และนอกจากนี้ก็มีการถือหุ้นในบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อีกจำนวนมาก ซึ่งรายได้หลักของพระมหากษัตริย์ที่มาจากกิจการต่างๆ อันได้แก่ ค่าเช่าที่ดินและธุรกิจต่างๆ แล้วยังมีรายได้หลักจากเงินบริจาคต่างๆ จากราษฎร และจากบริษัทห้างร้านต่างๆ ในโอกาสวันสำคัญๆ อีกมากมายในแต่ละปี
ธุรกิจของพระมหากษัตริย์ นอกจากจะไม่มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนตามกลไกตลาดของระบบการค้าแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองจากระบบอำนาจการเมืองที่ทุกรัฐบาลจะต้องดูแลคุ้มครองให้ เช่น การขอขึ้นราคาปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมจะมีอยู่เสมอในทุกๆ ปี หรือกรณี เกิดวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทในปี 2540 เป็นผลให้ธุรกิจของพระมหากษัตริย์ เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ต้องประสบกับภาวะล้มละลาย ก็ปรากฏหลักฐานเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ารัฐบาลของนายชวน หลีกภัย โดยนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้นำเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มกิจการดังกล่าวจนพ้นวิกฤต
หากจะพิจารณาถึงอำนาจเศรษฐกิจในประเทศไทย ก็สามารถสรุปได้ว่ากลุ่มธุรกิจการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดก็คือกลุ่มทุนของราชสำนัก ซึ่งมีทั้งทุนและอำนาจทางการเมืองให้ความคุ้มครอง ลักษณะทุนเช่นนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของระบบทุนนิยมในประเทศไทย ซึ่งมีศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “ระบอบทุนนิยมขุนนาง” กล่าวคือได้มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จำนวนมากได้นำหุ้นของบริษัทตนจำนวนหนึ่งถวายให้แก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมทั้งแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองหรือเกิดความเกรงใจของหน่วยงานราชการในการจัดเก็บภาษีและบังคับใช้กฎหมาย บริษัทเอกชนในลักษณะนี้ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความหมายของระบอบ ทุนนิยมขุนนางด้วย จะสังเกตได้ง่ายโดยดูจากรูปตราครุฑที่ติดอยู่หน้าบริษัทนั้นๆ
จากข้อสรุปการวิเคราะห์ความเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่โดยมองจากกรอบอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็จะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยยังทรงมีอำนาจพิเศษทางเศรษฐกิจสูงสุดของรัฐไทย เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งอาณาจักรสยามยังคงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิม
ในกรอบวัฒนธรรม แม้คำพูดของพระมหากษัตริย์ไทยจะมิใช่กฎหมายดังที่เรียกว่าพระบรมราชโองการ เหมือนอย่างแต่ก่อนเมื่อครั้งปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชก็จริง แต่โดยการสร้างระบบวัฒนธรรมที่รวมศูนย์อำนาจความเชื่อถือไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์ประดุจดังสมมุติเทพ และอำนาจทางกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่มีโทษรุนแรง ได้สร้างอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมขึ้น ทำให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่มีความเข้มแข็งยิ่งกว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชดั้งเดิมเสียอีก กล่าวคือ ไม่เฉพาะแต่คำพูดของพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตามเสมือนหนึ่งเป็นกฎหมาย เพียงแต่แค่แนวคิดก็กลายเป็นกฎหมายเช่นเดียวกัน เช่น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสังคมเรียกว่า “แนวพระราชดำริ” ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ใครๆ จะโต้แย้งไม่ได้ และจากอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมนี้ รัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ ที่มาจากการยึดอำนาจหรือเรียกว่ารัฐบาลพระราชทานก็ได้แปรแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรม เป็นอำนาจเผด็จการทางกฎหมายโดยไม่มีใครโต้แย้งได้ โดยการนำแนวพระราชดำริไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นแนวนโยบายเศรษฐกิจหลักแห่งรัฐซึ่งเป็นผลให้ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างจากพระราชดำริต่อราษฎรแม้ว่าจะได้รับความเห็นชอบจากราษฎรในการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่อาจจะดำเนินการได้เพราะเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งจะถูกอำนาจตุลาการ คือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ถอดถอนออกจากการเป็นรัฐบาลได้
หากจะวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงรากฐานวัฒนธรรมทางศาสนา รัชกาลปัจจุบันแห่งราชวงศ์จักรี แม้จะอยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกทั้งโลกเจริญด้วยเทคโนโลยี ราษฎรในทุกประเทศแข่งขันทางด้านการศึกษาและพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ แต่วัฒนธรรมของประเทศไทยโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำ ดูเสมือนจะหันหลังให้แก่โลกทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2549 ต่อ 2550 ซึ่งเป็นช่วงการรัฐประหารยึดอำนาจโดยการนำของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่มีผลทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ปรากฏว่ายอดการซื้อขายจตุคามรามเทพ เครื่องรางของขลัง สัญลักษณ์แห่งศาสนาพราหมณ์มีตัวเลขสูงจนช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้น รวมตลอดถึงการใช้ชื่อราชวงศ์ว่าราชวงศ์จักรี และสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์เป็นครุฑก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนาพราหมณ์ และมีพราหมณ์ประจำราชสำนักในการดูฤกษ์ดูยามและผูกดวงชะตาราศีในการกำหนดพระราชพิธีต่างๆ ทั้งหมด โดยคนในราชวงศ์ชั้นสูงก็เชื่อมั่นในกรอบแนวคิดแบบพราหมณ์มากกว่าพุทธ จนกระทั่งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น เช่นสมเด็จ พระราชินีก็ทรงเชื่อว่าพระองค์คือพระนางศรีสุริโยทัย(ผู้เคยช่วยพระสวามีจนกระทั่งสิ้นพระชนม์บนคอช้างเมื่อสมัยอยุธยาเป็นราชธานี)กลับชาติมาเกิดในปัจจุบันนี้ และทรงสนับสนุนให้สร้างภาพยนตร์เรื่อง สุริโยทัยเพื่อประกาศเกียรติคุณของสมเด็จพระราชินีที่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ให้ประชาชนได้รับรู้ และในชาตินี้พระองค์ก็จะมาช่วยกอบกู้บ้านเมืองเหมือนเช่นอดีตอีกจนกลายเป็นปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ด้วยเพราะเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตชาติเป็นพระเจ้าตากสินกลับชาติมาเกิดเพราะมีชื่อที่สะกดเป็นภาษาอังกฤษ(TAKSIN) ออกเสียงเหมือนกัน และจะมาล้างแค้นราชวงศ์จักรีอันเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตชาติ
ปัจจุบันนี้ แม้ราษฎรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเพราะจากสภาพความเป็นจริงหากจะกล่าวว่า “ประเทศไทยมีศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาประจำชาติ” น่าจะมีเหตุผลมากกว่า
การคงรักษาวัฒนธรรมทางไสยศาสตร์ดั้งเดิมไว้ในภาวะที่โลกกำลังค้นคว้าพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และโลกกำลังพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมเก่ากับใหม่ขึ้นในประเทศไทย แต่สถาบันกษัตริย์ก็ได้พยายามระดมนักคิดนักวิชาการเพื่อสร้างระบบคิดหาเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้แก่ข้อคิดทางไสยศาสตร์ เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่นชาติกำเนิด,โลกนี้และโลกหน้า, เมื่อตายแล้วจะต้องกลับชาติมาเกิดใหม่ และเรื่องเทพยาดาฟ้าดินโดยจะรู้ความลึกลับเหล่านี้ได้จะต้องฝึกสมาธินั่งทางในจึงจะรู้อดีตชาติได้ โดยมีเกจิอาจารย์ตามวัดต่างๆ ที่ราชสำนักกำหนดขึ้นว่าเป็นผู้วิเศษหลายคนที่หลงเชื่อก็เดินทางไปสู่สำนักเกจิอาจารย์เพื่อฝึกฝน ถ้ายังไม่เห็นสวรรค์เกจิอาจารย์ก็อ้างว่ายังฝึกฝนไม่เพียงพอ, ถ้ายังไม่เห็นอดีตชาติก็อ้างว่าจิตยังหยาบ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนยอมรับการมีอำนาจรัฐของพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ที่ทำบุญมาแต่ชาติปางก่อนจึงมีสิทธิที่จะเสพสุขจากเงินภาษีอากรของราษฎรได้อย่างชอบด้วยเหตุผล ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่แม้ยากจน แต่ก็จำยอมด้วยระบบคิดที่ถูกสร้างขึ้นและไม่อาจจะโต้แย้งได้ด้วยเหตุผลกำปั้นทุบดินว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” หรืออาจจะเจอข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ก็ได้ ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพโดยไม่โต้แย้ง
ในกระบวนการทางวัฒนธรรมความเชื่อนับว่าเป็นแนวรบที่ทางราชสำนักให้ความสำคัญ เพื่อสร้างระบบคิดครอบงำสังคมให้ราษฎรเชื่อถือและยอมรับทั้งการดำรงอยู่และแนวคิดของพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการระดมนักวิชาการผู้ขายจิตวิญญาณมาร่วมคิดเพื่อหาเหตุผลมาสนับสนุนแนวคิดของกษัตริย์ให้เลอเลิศ เช่น แนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็เห็นกันอย่างตำหูตำตาว่าพระองค์สอนให้ราษฎรประหยัด แต่การใช้ชีวิตของพระองค์และราชวงศ์ก็ใช้จ่ายกันอย่างฟุ่มเฟือย ไม่มีพระองค์ใดประหยัดเลย และพวกนักวิชาการหรือองคมนตรี, รัฐมนตรีทั้งหลายที่สั่งสอนชาวบ้านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็ล้วนแต่เป็นมหาเศรษฐี มีทรัพย์สินเกินพอทั้งสิ้น ในขณะที่ราษฎรที่ฟังคนพวกนี้พูดนั้นวันๆ ไม่พอจะกิน หรือแม้แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสเตือนรัฐบาลว่าให้ใช้เงินงบประมาณด้วยความประหยัด ให้รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่จากความเป็นจริงในงานพระราชพิธีพระราชทางเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ใช้จ่ายเงินอย่างมากมาย เฉพาะพระเมรุมาศที่สร้างแล้วก็ต้องรื้อทิ้งมีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมดในการจัดงานประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา สูงถึงประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของราษฎร จำนวนเงินนี้สูงเกือบเท่ากับงบประมาณประจำปีของกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงต่างประเทศทั้งปี ซึ่งขัดแย้งกับพระราชดำรัสที่เตือนรัฐบาล แต่พวกนักวิชาการผู้ทรยศต่อวิชาชีพก็ต่างปิดปากเงียบทำไม่รู้ไม่เห็นแล้วก้มหน้าก้มตาหาเหตุผลจากมุมมองแปลกๆ มาเชียร์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกันตะพึดตะพือ ทั้งๆ ที่นักวิชาการก็รู้แก่ใจว่าการเสนอแนวคิดนี้แท้จริงคือ การหลอกลวง
เมื่อมองทั้งในกรอบโครงสร้าง อำนาจ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แล้วก็จะเห็นว่าที่มาแห่งอำนาจในปัจจุบันนี้มีแต่เพียงรูปแบบเท่านั้นที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่เนื้อของอำนาจที่แท้จริงเป็นของพระมหากษัตริย์ จึงไม่อาจจะกล่าวเป็นอย่างอื่นได้ว่าระบอบการปกครองของไทยวันนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่แท้จริง คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่





2.3 วันชาติภาพสะท้อนรัฐคือกษัตริย์

หากจะมองระบอบการปกครองผ่านสัญลักษณ์ของรัฐคือวันชาติ ก็จะเห็นชัดเจนว่า รัฐนี้ไม่ใช่รัฐของราษฎร แต่รัฐนี้เป็นรัฐของกษัตริย์ เพราะวันชาติคือวันที่ 5 ธันวาคม คือวันเกิดของกษัตริย์
ประเทศทุกประเทศจะมีวันชาติซึ่งเป็นวันสำคัญของรัฐซึ่งส่วนมากจะถือเอาวันที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชาติมากที่สุด เช่น วันประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคม วันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันชาติอเมริกาที่ประเทศได้เอกราชจากอังกฤษ หรือวันที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองรัฐใหม่ เช่น วันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติรัสเซียที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งประเทศไทยก็เคยประกาศใช้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันชาติ เมื่อครั้งคณะราษฎรซึ่งเป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบอังกฤษ แต่เมื่อสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร และเข้าสู่ยุคร่วมมือกันระหว่างราชสำนักกับทหารอย่างเข้มแข็งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็รื้อฟื้นอำนาจราชวงศ์ขึ้นโดยใช้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลปัจจุบันเป็นวันชาติ และก็ใช้สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าวันสำคัญของรัฐไทยนี้คือวันของกษัตริย์นั่นก็คือวันต่างๆ ที่สำคัญในรัฐนี้รวมศูนย์อยู่ที่ตัวพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นวันชาติ,วันขึ้นครองราชย์,วันแต่งงาน รวมตลอดทั้งวันสำคัญในรัชกาลก่อนๆ ก็นำมารวมเป็นวันสำคัญของประเทศด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ มิใช่ราษฎร และสิ่งนี้คือสัญลักษณ์แห่งระบอบปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช นั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ก็คือระบอบการปกครองที่กลไกอำนาจทั้งหลายของรัฐรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์และครอบครัว เพียงแต่มีองค์กรอำนาจอื่นๆ ของรัฐ ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นของราษฎร เช่น องค์กรรัฐบาล,องค์กรรัฐสภาองค์กรศาล แต่แท้จริงทำงานภายใต้ตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์

2.4 ประชาธิปไตยพระราชทานคือสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

มีการถกเถียงกันมากในทางประวัติศาสตร์ว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีแนวคิดประชาธิปไตย และเตรียมจะมอบอำนาจการปกครองตัวเองให้แก่ประชาชนแล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนเกินไปที่ทำการปฏิวัติแย่งอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และปัจจุบันเมื่อมีการตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐสภา แต่ปรากฏว่าหน้าที่หลักของผู้บริหารสถาบันคือทำหน้าที่ทำลายระบอบการปกครองประชาธิปไตย เพราะผลงานของสถาบันพระปกเกล้าที่เด่นชัดคือสนับสนุนการยึดอำนาจล้มระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 19 กันยายน 2549 และนับแต่ตั้งขึ้น สถาบันฯ ก็ทำหน้าที่บิดเบือนป้ายสีความผิดให้แก่คณะราษฎรมาตลอด โดยเชิดชูพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7 ว่าเป็นนักประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดมีเพียงความจริงบางส่วนเพียงน้อยนิด กล่าวคือที่สถานการณ์ปลายรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกิดวิกฤตต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง และรัชกาลที่ 7 ก็รู้พระองค์เองว่าไม่อาจจะประคับประคองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมต่อไปได้แล้วด้วยในขณะนั้นเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่ 6 กับรัชกาลที่ 7 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของโลกกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณได้เกิดการขาดดุลติดต่อกันตั้งแต่ปี 2465 ถึง 2568 และเกิดการตื่นตัวทางการเมืองของ ผู้มีการศึกษาในเขตเมืองหลวง และการเฟื่องฟูของสื่อมวลชนมีการเปิดกิจการหนังสือพิมพ์และวารสารจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ราย
วันในขณะนั้นมีมากถึง 35 ฉบับ และมีวารสารประมาณ 130 กว่า ฉบับÙทำให้เกิดการแพร่ขยายแนวคิดทางการเมืองออกไปมากโดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษา(คล้ายเหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่สื่อขยายตัวอย่างมากในรูปแบบใหม่คืออินเตอร์เน็ต และแนวคิดการเมืองขยายตัวลงสู่รากหญ้า) และได้มีบทความในหน้าหนังสือพิมพ์โจมตีราชสำนักเชิงกระทบกระเทียบอยู่เสมอ เช่น บทความเรื่อง “เห็นว่าเจ้าเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญ” ในหนังสือพิมพ์ราษฎร ฉบับวันพุธที่ 9 มกราคม 2471
ด้วยเหตุแห่งสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้นรัชกาลที่ 7 จึงพยายามจะหาทางออกที่จะผ่อนคลายโดยสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ขึ้น โดยเป็นประชาธิปไตยภายใต้อำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราช, มี 3 อำนาจ คล้ายๆ ทุกวันนี้คือมีคณะรัฐมนตรี(อำนาจบริหาร) มีรัฐสภา(อำนาจนิติบัญญัติ), และศาล (อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เดิมจนถึงปัจจุบันนี้) ซึ่งระบบ 3 อำนาจนี้ ในขณะนั้นก็เป็นที่รู้จักกันทั้งโลกเพราะได้ตั้งมั่นในยุโรปและอเมริกา และถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ทั้ง 3 อำนาจตามแนวคิดของรัชกาลที่ 7 นั้นมิใช่เป็นประชาธิปไตยแบบที่โลกใช้กันอยู่ในขณะนั้น หากแต่เป็นอำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งเอง และมีอำนาจถอดถอนได้
พระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 มีที่ปรึกษาคนสำคัญเป็นฝรั่งสัญชาติอเมริกัน คือ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ (Mr.Francis B.Sayre) ซึ่งได้รับพระราชทินนามเป็นพระยากัลยาณไมตรี โดยพระองค์ได้เขียนหนังสือด้วยลายมือของพระองค์ (พระราชหัตถเลขา) ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2469 เล่าความเน่าเฟะในพระราชสำนักให้นายฟรานซิส บี.แซร์ และพยายามหาทางออก ปรากฏอยู่ในหนังสือเอกสารวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยนายชัยอนันต์ สมุทวาณิช ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลันธรรมศาสตร์ ปี 2522 ในหน้า 226 ความว่า
“ตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเด็ดขาดในทุกสิ่งทุกอย่าง หลักการข้อนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก และเหมาะกับประเทศนี้อย่างยิ่ง ตราบเท่าที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ดี ถ้าพระมหากษัตริย์เป็นอเนกนิกรสโมสรสมมติจริงก็เป็นที่หวังได้ว่าพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีพอประมาณ แต่ความคิดเรื่องอเนกนิกรสโมสรสมมตินี้ แท้ที่จริงเป็นแต่ทฤษฎีเท่านั้น ตามความเป็นจริงแล้ว กษัตริย์ของสยามครองราชย์โดยการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งก็มีผู้จะให้เลือกที่จำกัดมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่แน่นอนว่าเราจะมีกษัตริย์ที่ดีเสมอไป ฉะนั้นอำนาจเด็ดขาดอาจกลายเป็นภยันตรายโดยตรงต่อประเทศก็เป็นได้ นอกจากนี้เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปมาก ในสมัยก่อนนั้นไม่มีการตั้งข้อสงสัยใดๆ ในพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เลย เพราะจะเป็นการไม่ปลอดภัยเลยที่จะทำเช่นนั้น พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพนับถืออย่างแท้จริง และพระราชดำริของพระองค์ก็คือกฎหมายเราดีๆ นี่เอง แต่สิ่งเหล่านี้เริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นที่เกรงกลัวและ เคารพนับถือ แม้กระนั้นในปลายรัชสมัยของพระองค์ก็ยังมีคนหนุ่มคณะหนึ่งเริ่มวิจารณ์พระองค์ในหลายเรื่องด้วยกัน แต่ก็มิได้กระทำอย่างเปิดเผย ในรัชกาลที่เพิ่งจะสิ้นไปเร็วๆ นี้สภาพการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปมากด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งล้วนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเล่าต่อท่าน เพราะท่านคงจะทราบดีอยู่แล้ว พระมหากษัตริย์กลายเป็นผู้ที่ถูกหว่านล้อมชักจูงได้โดยใครก็ได้ ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับผู้ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ ข้าราชการทุกคนก็มักจะถูกสงสัยว่าทำการฉ้อฉลหรือไม่ก็เล่นพรรคเล่นพวก แต่ยังนับว่าเป็นโชคที่เจ้านายชั้นสูงยังคงได้รับความเคารพนับถือว่าเป็นผู้ ที่มีความซื่อสัตย์อยู่ สิ่งที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การที่ราชสำนักถูกดูหมิ่นดูแคลน และในระยะใกล้จะสิ้นรัชกาลก็กำลังจะเริ่มถูกเยาะหยัน กำเนิดของหนังสือพิมพ์ที่มีอิสระเสรีทำให้สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ย่ำแย่ลงไปอีกมาก ฐานะของพระมหากษัตริย์ต้องตกอยู่ในความยากลำบากอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศนี้ชี้ให้เห็นสัญญาณอันแน่ชัดว่าวันเวลาของการปกครองแบบผู้นำถืออำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวใกล้จะหมดลงทุกที ถ้าราชวงศ์นี้จะอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ก็จะต้องทำให้ฐานะของพระมหากษัตริย์มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่จะต้องหาหลักประกันบางอย่างในการป้องกันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ฉลาดนัก”
ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาพระยากัลยาณไมตรีด้วยว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนรูปการปกครองไปเป็นประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา และควรจะมีรัฐธรรมนูญในรูปใด พระยากัลยาณไมตรีตอบพระราชปรารภว่าในเวลานี้ยังไม่ควรมีการปกครองระบอบรัฐสภา และเสนอให้ใช้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชต่อไป แต่แนะนำให้นำระบอบการมีนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินมาใช้ และได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ถวาย ซึ่งมีเพียง 12 มาตราเท่านั้น และเพื่อเป็นบทศึกษาตอบโต้สถาบันพระปกเกล้าให้เห็นว่าเรื่องประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 7 จะมอบให้นั้นเป็นเรื่องจอมปลอมทั้งสิ้น จึงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ที่มีการกล่าวอ้างกันมากว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 จะพระราชทานให้เพื่อให้มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มาตีพิมพ์เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่าประชาธิปไตยพระราชทานนั้นมีจริงหรือไม่ ดังนี้


ร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรี
มาตรา ๑ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจสูงสุดตลอดพระราชอาณาจักร
มาตรา ๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งจะรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา ๓ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ และรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ในการบริหารของทุกกระทรวง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ที่รับมอบหมายไปจากพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้ประสานงานระหว่างนโยบายเหล่านี้กับการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวของกระทรวงต่างๆ
มาตรา ๔ รัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในการบริหารงานของกระทรวง และช่วยนายกรัฐมนตรี ในการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลตามที่ได้รับมอบหมาย
มาตรา ๕ คณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษากันโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาหารือกันในกิจการทั่วไป แต่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจในทุกเรื่องอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
มาตรา ๖ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำผลการตัดสินใจในปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายทั่วๆไป ขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ แต่การตัดสินใจในปัญหาเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕ นาย นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่รัฐมนตรีผู้อื่นไม่อาจเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาได้ อภิรัฐมนตรีสภาไม่ มีอำนาจในการบริหารใดๆ หน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภาจำกัดอยู่เฉพาะการถวายคำปรึกษาเมื่อพระมหากษัตริย์ ทรงขอความเห็นหรือคำปรึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายทั่วไป หรือนโยบายอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นเรื่องของราชการประจำ อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจที่จะถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการหรือเรื่องเกี่ยวกับข้าราชการประจำ แต่มีอำนาจในการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ
มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาอภิรัฐมนตรี
มาตรา ๙ ภายในเวลาสามวันนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกรัชทายาทโดยการถวายคำปรึกษา และการถวายความยินยอมจากอภิรัฐมนตรีสภา การเลือก (รัชทายาท) นี้จะต้องเลือกจากพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีนาถ หรือจากพระบรมวงศานุวงศ์ โดยไม่จำกัดลำดับชั้นยศหรืออาวุโส การเลือกรัชทายาทไม่ถือว่าเด็ดขาดซึ่งจะเปลี่ยนแปลงมิได้ แต่อาจทบทวนได้ทุกๆ ห้าปี นับแต่วันเลือกครั้งแรก โดยการถวายคำปรึกษาและการถวายความยินยอมจากอภิรัฐมนตรีสภา (หมายเหตุ: หรือในบางกรณีระยะเวลานี้อาจนานกว่าห้าปีก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร) ในกรณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะมีการเลือกรัชทายาท อภิรัฐมนตรีสภาจะเป็นผู้เลือกรัชทายาททันทีภายหลังการสวรรคต ทุกกรณีจะต้องใช้คะแนนเสียงสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาอภิรัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักรขณะนั้นในการเลือก
มาตรา ๑๐ อำนาจตุลาการซึ่งอยู่ภายใต้พระราชอำนาจสูงสุด ของพระมหากษัตริย์ใช้ทางศาลฎีกา และศาลอื่นๆตามที่ทรงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งขึ้นตามเวลาอันสมควร
มาตรา ๑๑ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติแต่ ผู้เดียว
มาตรา ๑๒ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จะกระทำได้โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของจำนวนสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา
จากร่างรัฐธรรมนูญนี้ นายชัยอนันต์ สมุทวาณิช ได้เขียนโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญไว้ด้วยเพื่อเข้าใจได้โดยง่ายว่า ประชาธิปไตยในแนวคิดของพระมหากษัตริย์นั้น อำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มีรัฐธรรมนูญ 300 กว่ามาตราก็จริง แต่ปรัชญาแนวคิดยังคงเดิมเช่นแนวคิดในสมัยรัชกาลที่ 7 ตามแผนภาพดังนี้

แผนภาพที่ ๑
แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์, อภิรัฐมนตรีสภา
และนายกรัฐมนตรี

อภิรัฐมนตรีสภา
นายกรัฐมนตรี
พระมหากษัตริย์
ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษา

รัฐมนตรี
รัฐมนตรี


เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่นั้นเป็นแนวคิดของราชสำนักมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเมื่ออำนาจของคณะราษฎรเพลี่ยงพล้ำถูกทำลายในช่วงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างราษฎร กับขุนนางอำมาตย์ ราชสำนักจึงฟื้นกลับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นใหม่ โดยมีประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแบบ แต่เนื้อหาอำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่ราชสำนัก และเมื่อใดที่อำนาจของรัฐสภาจะเข้มแข็ง ราชสำนักก็จะส่งสัญญาณให้กองทหารล้มระบอบรัฐสภา แล้วก็ว่างเว้นสักระยะหนึ่งเพื่อออกกฎหมายตัดอำนาจฝ่ายราษฎรในนามประกาศขณะปฏิวัติซึ่งออกได้เร็ว แล้วหลังจากนั้นก็จัดตั้งระบอบสภากันขึ้นใหม่ รัฐบาลที่มาจากราษฎรเลือกตั้งเข้ามา ก็ถูกจำกัดอำนาจโดยกฎหมายของคณะปฏิวัติ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้อำนาจของราษฎรเกิดขึ้นได้จริง และทุกครั้งของการยึดอำนาจก็จะใส่ร้ายป้ายสีหลอกลวงโลกตลอดเวลาว่า “ราษฎรยังไม่มีความพร้อมที่จะปกครองตัวเอง”
เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย จึงเกิดอยู่ร่ำไปโดยความเห็นชอบของราชสำนักด้วยข้ออ้างว่า “พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง”

Ù กษัตริย์ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน นอกจากจะมีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังหมายถึงคนในวรรณะที่ 2 แห่งสังคมฮินดู ซึ่งมีอยู่ 4 วรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร
Ù บันทึกจดหมายเหตุ เดอ ลาลูแบร์,หน้า 338 สันต์ ท.โกมลบุตร ผู้แปล.สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, นนทบุรี

Ù จากจดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ.1685 และ 1686 ของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์, หน้า 248 สันต์ ท.โกมลบุตร ผู้แปล, สำนักพิมพ์ศรีปัญญานนทบุรี

Ù ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกฉบับประชาชนของมหามกุฎราชวิทยาลัย, สุชีพ ปุญญานุภาพ จัดทำ ตีพิมพ์ครั้งที่ 17/2550 หน้า 133

Ùแปลภาษาไทย ตีพิมพ์ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/13273 วันที่ 22 สิงหาคม 2551

Ù การเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่, ชัยอนันต์ สมุทวาณิช หน้า 219, 2522 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทที่ 3 การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

บทที่ 3
การเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

อุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงอยู่เหนือการเมืองตามต้นแบบประเทศอังกฤษ เพื่อความวัฒนาถาวรของประเทศชาติเป็นอันสิ้นสุด เมื่อฝ่ายนิยมเจ้ารวมตัวกันจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์และทำแนวร่วมกับฝ่ายจอมพล ป. โดยอาศัยเหตุลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 เมื่อ 9 มิถุนายน 2489 ทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โค่นล้มอำนาจฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ศัตรูร่วม โดยป้ายสีว่าเป็นผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์เพื่อจะสถาปนาระบอบมหาชนรัฐ นับแต่นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นการก่อตัวของระบอบประชาธิปไตยพิกลพิการที่เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่”

3.1 ความขัดแย้ง เจ้า-คณะราษฎร

การปฏิวัติของคณะราษฎร เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยเปลี่ยนฐานะจากกษัตริย์ในฐานะเจ้ามหาชีวิตที่อยู่เหนือกฎหมาย กลายมาเป็นเพียงประมุขแห่งรัฐโดยมีฐานะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเสมือนประชาชนทั่วไป เป็นความโกรธแค้นของฝ่ายกษัตริย์และราชวงศ์อย่างยิ่ง อีกทั้งคณะราษฎรก็ได้ออกประกาศฉบับที่ 1 เปิดโปงความจริงที่ชั่วร้ายของกษัตริย์และราชวงศ์ ว่าทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร มีการรับสินบนในการก่อสร้าง และซื้อของใช้ในราชการ กดขี่ข่มเหงราษฎร ปล่อยให้ราษฎรทุกข์ยากลำบาก แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข คำประกาศดังกล่าวได้ตอกย้ำถึงความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้าและคณะราษฎรที่ไม่อาจประนีประนอมได้ และในปีรุ่งขึ้น(ปลายปี 2476) ฝ่ายเจ้าภายใต้การนำของพล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นแม่ทัพใหญ่ และพ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม(นายดิ่น ท่าราบ)Ù เป็นรองแม่ทัพ ก็ได้รวบรวมกำลังทหารหัวเมืองโดยใช้เมืองนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางภายใต้ชื่อ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ยกกำลังมาทางรถไฟบุกเข้าพระนคร ฝ่ายคณะราษฎรมี พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม(จอมพล ป.พิบูลสงคราม) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปราบปราม เกิดการปะทะกันที่ทุ่งดอนเมือง ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ตายในที่รบ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” จึงถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า “กบฏบวรเดช” และได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของคณะราษฎร โดยเรียกชื่อว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏ (ปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนใจฝ่ายเจ้าว่า “อนุสาวรีย์หลักสี่” ซึ่งตั้งอยู่ที่สี่แยกหลักสี่)
หลังจากฝ่ายกบฏบวรเดชพ่ายแพ้ คณะราษฎรก็ได้ทำการกวาดล้างขุมกำลังของฝ่ายเจ้าโดยจับกุมดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องและต้องสงสัยเป็นจำนวนมากส่งฟ้องศาล 346 คน มีการตั้งศาลพิเศษตัดสินลงโทษในขั้นต่างๆ 250 คน และที่ไม่ถูกลงโทษจากศาลแต่ถูกปลดออกจากราชการมากถึง 117 คน(กจช.(2) สช.0201.4/8) และจากเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ราบรื่นอยู่แล้วต้องเลวร้ายหนักขึ้นอีก โดยฝ่ายคณะราษฎรมีความเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นผู้สนับสนุนกบฏบวรเดช และอยู่เบื้องหลังการวางแผนโค่นล้มรัฐบาลÙ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติ (เมื่อ 2 มีนาคม 2477)
ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้ากับคณะราษฎรแสดงให้เห็นเด่นชัดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475(ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย ประกาศใช้ 10 ธันวาคม 2475) มาตรา 11 กำหนดห้ามพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และในยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์แบบขุนนางในวัฒนธรรมของศักดินาทั้งหมดโดยเมื่อ 6 ธันวาคม 2484 คณะรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป.ได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์ทั้งหมดเป็นตัวอย่าง และต่อมาเดือนพฤษภาคม 2485 ก็มีประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกบรรดาศักดิ์ทั่วประเทศ(ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 59: 1089) นับแต่นั้นจึงมีการเปลี่ยนชื่อนามสกุลกันมาก บุคคลสำคัญที่เปลี่ยนชื่อนามสกุลได้แก่
จอมพล หลวงพิบูลสงคราม
เป็น
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
เป็น
นายปรีดี พนมยงค์
พล.ต.ต.หลวงอดุลเดชจรัส
เป็น
พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส
หลวงโกวิทอภัยวงศ์
เป็น
นายควง อภัยวงศ์
พล.ร.ท.หลวงสินธุสงครามชัย
เป็น
พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน
พล.ต.พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ
เป็น
พล.ต.เภา เพียรเลิศ
บริภัณฑ์ยุทธกิจ
พล.อ.ต.พระเวชยันตรังสฤษฎ์
เป็น
พล.อ.ต.มุนี มหาสันทนะ
เวชยันตรังสฤษฎ์
หลวงนฤเบศร์มานิต
เป็น
นายสงวน จูฑะเตมีย์
น.อ.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
เป็น
น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
พล.ท.หลวงพรมโยธี
เป็น
พล.ท.มังกร พรหมโยธี
พล.ท.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต
เป็น
พล.ท.พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต
พล.ท.พระยาพหลพลพยุหะเสนา
เป็น
พล.ท.พจน์ พหลโยธิน
พ.อ.ขุนปลดปรปักษ์
เป็น
พ.อ.ปลด ปลดปรปักษ์
พิบูลภานุวัธน์
หลวงวิจิตรวาทการ
เป็น
นายวิจิตร วิจิตรวาทการ
พระยาศรีเสนา
เป็น
นายศรีเสนา สมบัติศิริ

ฯลฯ


3.2 คณะราษฎรล้างอำนาจกษัตริย์ไม่เสร็จสิ้น

แม้พัฒนาการทางการผลิตของสังคมไทยในขณะนั้นจะได้ก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแล้ว แต่ยังเป็นระยะเริ่มต้นÙ ราษฎรส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกร ดำรงชีวิตด้วยการผลิตเพื่อบริโภคเป็นหลัก มิใช่ผลิตเพื่อเป็นสินค้า เป็นวิถีชีวิตการผลิตแบบพออยู่พอกิน(ซึ่งก็คือวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่กล่าวติดปากกันอยู่ในปัจจุบัน) และวัฒนธรรมความคิดของราษฎรส่วนใหญ่ ยังติดยึดอยู่กับระบบเจ้าขุนมูลนายและความเชื่อเรื่องบุญทำกรรมแต่ง โดยเชื่อว่าความยากจนในชาตินี้เป็นผลมาจากชาติที่แล้ว ราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจต่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ผู้ที่เข้าใจและต้องการเห็นความเสมอภาคทางสังคมจึงเป็นคนส่วนน้อยในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้เองการปฏิวัติของคณะราษฎรจึงยังไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของกษัตริย์ได้อย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งแตกต่างจากการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน ที่ล้มสถาบันกษัตริย์อย่างสิ้นซาก เมื่อคณะราษฎรโค่นล้มอำนาจกษัตริย์ลงได้เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ก็มีการประนีประนอมกับฝ่ายเจ้าในเรื่องการใช้ธรรมนูญการปกครอง และการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนแรกโดยเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนฐานะของธรรมนูญการปกครองฉบับแรกที่ร่างโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) ที่คณะราษฎรมุ่งที่จะนำมาใช้เป็นธรรมนูญการปกครองฉบับถาวรที่เหมือนกับการปฏิวัติใหญ่เปลี่ยนแปลงการปกครองทั่วไป กล่าวคือ ตามร่างเดิมไม่มีคำว่า “ชั่วคราว” แต่เมื่อทูลเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระองค์ได้เติมด้วยลายพระหัตถ์ว่า “ชั่วคราว”Ùลงไปซึ่งคณะราษฎรก็ยินยอมเป็นผลให้ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้า และมีการมอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2475(และหลังจากนั้นมาก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และร่างใหม่เป็นของเล่น) และหนึ่งในคณะกรรมการการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายเจ้าก็ได้รับความเห็นชอบให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
เมื่อมีการประนีประนอมอำนาจการเมืองกันเช่นนี้การถอนรากถอนโคนทางอำนาจที่จะกระทำต่อฝ่ายเจ้าด้วยการยึดทรัพย์อันเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นฐานอำนาจที่แท้จริงของฝ่ายเจ้าจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นแม้ความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้ายังดำรงอยู่โดยคณะราษฎรมีอำนาจเป็นด้านหลักในฐานะเป็นฝ่ายกระทำในระยะเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ไม่อาจจะทำลายฐานอำนาจของฝ่ายเจ้าได้ และด้วยสภาวะทางสังคมดังกล่าวข้างต้น เป็นผลทำให้แนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ที่คณะราษฎรมุ่งหวังให้ระบบการปกครองของไทยเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบอังกฤษ โดยกษัตริย์และราชวงศ์ทรงอยู่เหนือการเมืองจึงเป็นไปได้โดยยาก ด้วยวัฒนธรรมของไทยยังติดยึดอยู่กับความเชื่อเรื่องชนชั้นวรรณะ เป็นเรื่องของบาปบุญจากชาติปางก่อน อันเป็นผลจากระบบเศรษฐกิจการผลิตแบบศักดินาที่ผลิตแบบพออยู่พอกินพึ่งพิงธรรมชาติ ซึ่งแม้นายปรีดี พนมยงค์ จะได้เห็นปัญหาทางวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้และพยายามจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันเป็นวัฒนธรรมใหม่ซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ด้วยการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นÙแต่แล้วก็ไม่อาจจะขัดขวางการฟื้นตัวทางอำนาจของฝ่ายเจ้าที่พัฒนาขึ้นมาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ เช่นทุกวันนี้ได้

3.3 ความขัดแย้งของคณะราษฎรเปิดเงื่อนไขเจ้าฟื้นอำนาจ

เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ามามีอำนาจทางการเมืองในระยะแรกก็ยังยืนยันในแนวทางการปฏิวัติของคณะราษฎร โดยร่วมมือกับแกนนำของคณะราษฎร คือ นายปรีดี พนมยงค์ ในการปิดกั้นการขยายตัวทางอำนาจของฝ่ายเจ้า แต่เมื่อครองอำนาจนานเข้าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ลุแก่อำนาจมากขึ้นจนผิดแนวทางกลายเป็นผู้เผด็จการด้วยการสร้างรัฐทหารให้เข้มแข็งจนเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายประชาธิปไตยพลเรือนที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นแกนนำ
เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นประกาศตัวเป็นฝ่ายอักษะและยกกำลังบุกเอเชียโดยผ่านประเทศไทยโดยฝ่ายจอมพล ป.ได้ประกาศตัวร่วมรบกับฝ่ายญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้คณะราษฎรที่มีความขัดแย้งภายในอยู่เดิมแล้ว กลายเป็นความแตกแยกและเป็นศัตรูกัน โดยฝ่ายจอมพล ป.ในฐานะรัฐบาลเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ และฝ่ายนายปรีดีได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยโดยเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาลจอมพล ป.ในประเทศไทย ซึ่งการต่อต้านญี่ปุ่นในขณะนั้นเป็นกระแสแนวคิดของฝ่ายเสรีนิยมที่ไม่ชอบระบอบอำนาจรัฐทหาร ดังนั้นคนไทยในต่างประเทศโดยเฉพาะที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็เกิดการรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.และญี่ปุ่นด้วย โดยมีฝ่ายเจ้าที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเป็นแกนนำ ตรงจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นอำนาจของฝ่ายเจ้าอย่างเป็นฝ่ายกระทำ โดยพวกเชื้อพระวงศ์ในต่างประเทศได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยการนำของมรว.เสนีย์ ปราโมช ขบวนการเสรีไทยในอังกฤษโดยมีหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี(พระราชินีในรัชกาลที่ 7) เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนขบวนการเสรีไทยในประเทศไทยหัวหน้าคณะก็คือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ในขณะนั้น
เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงครามเป็นผลให้อำนาจของรัฐทหารของจอมพล ป.ต้องอ่อนตัวลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลายเป็นอาชญากรสงคราม โครงสร้างอำนาจทางการเมืองใหม่จึงเป็นของฝ่ายเสรีไทยซึ่งเป็นฝ่ายปรีดีและฝ่ายเจ้าเป็นผู้นำ
เหตุการณ์สำคัญในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2487 เกิดขึ้นเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี เมื่อ 24 กรกฎาคม 2487 โดยหวังว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาจะเลือกจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาใหม่ แต่เสียง ส.ส.ในสภาในส่วนของปรีดี พนมยงค์ ได้ผนึกกำลังกับฝ่ายเจ้าเลือกนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี(ขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งพรรคประชาธิปัตย์) โดยนายปรีดี พนมยงค์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 8 เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ และรัฐบาลได้เสนอญัตติด่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2488 โดยมีสาระที่สำคัญคือ ให้ยกเลิกมาตรา 11 ที่ว่าด้วยการห้ามพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
จุดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ฝ่ายเจ้าเข้าสู่การเมืองได้นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการฟื้นอำนาจของฝ่ายเจ้า ที่พัฒนาขบวนการกลับมาสู่อำนาจที่เข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งจนกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ที่ขัดขวางพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอยู่ในขณะนี้
3.4 กรณีลอบปลงพระชนม์ : จากวิกฤตเป็นโอกาส

ในภาวะการณ์ที่ฝ่ายคณะราษฎรเกิดความแตกแยกกันระหว่างฝ่ายทหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับฝ่ายของปรีดี พนมยงค์ แต่ด้วยนายปรีดีมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยและมีสายตาที่ยาวไกลกว่าจึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นก่อนเพื่อเตรียมการเคลื่อนมวลชนระดมสมาชิกเพื่อปูทางสู่ชัยชนะในการเลือกที่นายปรีดีเตรียมการผลักดันให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ จึงถือเป็นพรรคการเมืองที่เป็นทางการเป็นครั้งแรกในนามพรรคสหชีพและส่งผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรคในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 ฝ่ายเจ้าก็จัดตั้งพรรคการเมืองเข้าต่อสู้ในนามพรรคประชาธิปัตย์(จัดตั้งเมื่อ 6 เมษายน 2489 ซึ่งตรงกับวันจักรี) โดยมีแกนนำสำคัญคือ นายควง อภัยวงศ์ และพี่น้องราชสกุลปราโมช และในการก้าวเข้าสู่การเมืองของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นก็ได้ประกาศนโยบายชัดแจ้งว่า “จะแอนตี้พวกผู้ก่อการ 2475 ทุกวิถีทาง”Ùและมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เองก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ด้วยการเขียนบทความลงในหนังสือประชามิตร(12 ธันวาคม 2488) เรื่อง“ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์” โดยยอมรับว่าตนเองเป็นฝ่ายเจ้าและไม่พอใจพวกคณะราษฎร ดังนั้นการปรากฏตัวของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงการฟื้นอำนาจทางการเมืองของฝ่ายเจ้าที่ขยายเติบใหญ่ขึ้นอย่างเป็นระบบนับตั้งแต่ต้องเพลี่ยงพล้ำจากการยึดอำนาจของกลุ่มสามัญชนที่ใช้นามว่า “คณะราษฎร” และเพียงสองเดือนหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดหมายมาก่อนคือกรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ด้วยพระแสงปืน(เมื่อเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน 2489) ซึ่งกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นด้วยเพราะเป็นเงื่อนงำที่ยากแก่การไขปริศนาในขณะนั้น และต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเป็นอุบัติเหตุหรือการลอบปลงพระชนม์กันแน่
จากการวินิจฉัยเหตุการณ์ครั้งแรกในวันนั้น ระหว่างอธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมการแพทย์ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เช่น กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชชนนี พระราชอนุชา ต่างก็มีความเห็นว่ากรณีนี้เป็นอุบัติเหตุ ดังนั้นสำนักพระราชวังจึงเป็นผู้ออกแถลงการณ์เมื่อ 9 มิถุนายน 2489 มีข้อความว่า “ได้ความสันนิษฐานว่าคงจะจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัฌชาศัยที่ทรงชอบ แล้วเกิดอุบัทวเหตุขึ้น”Ù แต่ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้กรณีนี้มาเป็นประเด็นการเมืองเพื่อทำลายศัตรูทางการเมืองของฝ่ายเจ้าคือ นายปรีดี พนมยงค์Ù
บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2489 ไม่ต่างจากบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันที่ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการทำลายศัตรูทางการเมืองที่ตนไม่อาจเอาชนะทางการเมืองได้คือกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้เหตุการณ์สวรรคตกล่าวโจมตีว่าเป็นเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ โดยตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์อิทธิพลของนายไถง สุวรรณทัต สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นฉบับแรก และตามติดด้วยการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์เสรีÙÙ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้ประเด็นนี้ขยายพลกลายมาเป็นการโจมตีรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ และนำประเด็นนี้ไปปราศรัยหาเสียงปลุกปั่นให้เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายเลียง ไชยกาล(ส.ส.ประชาธิปัตย์ในขณะนั้น) ได้ใช้ให้คนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”Ù ในที่สุดจากแถลงการณ์สำนักพระราชวังว่าเป็นเรื่องอุบัติเหตุก็ได้กลายเป็นกรณีลอบปลงพระชนม์โดยมีการจับตัวผู้ต้องสงสัยคือทหารมหาดเล็กในวังที่เฝ้าห้องบรรทมและพรรคพวกขึ้นศาลสืบพยานและขยายผลเป็นประเด็นการเมือง ทำลายฐานการเมืองของฝ่ายปรีดี พนมยงค์ โดยพระพินิจชนคดี พี่เขยของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ปั้นพยานเท็จขึ้นโดยจ้างนายตี๋ ศรีสุวรรณ เป็นผู้ยืนยันให้การว่าเห็นเหตุการณ์การวางแผนลอบปลงพระชนม์ของนายปรีดี พนมยงค์ และศาลได้ตัดสินประหารชีวิตมหาดเล็กที่เฝ้าห้องบรรทม 2 คน คือนายชิต สิงหเสนี, นายบุศย์ ปัทมศริน และบุคคลภายนอกคือ นายเฉลียว ปทุมรส ที่ถูกป้ายสีว่าเป็นผู้ใกล้ชิดนายปรีดี ซึ่งต่อมาก่อนที่นายตี๋ ศรีสุวรรณ จะถึงแก่ความตายด้วยโรคชราก็เกรงกลัวบาปจึงได้ไปสารภาพผิดโดยทำบันทึกเป็นเอกสารต่อท่านปัญญานันทภิกขุ เจ้าอาวาสวัดชลประทาน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2522 โดยสารภาพว่าพระพินิจชนคดี(อธิบดีกรมตำรวจ และเป็นพี่เขยของมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)ได้เกลี่ยกล่อมว่าจะให้เงินเลี้ยงนายตี๋จนตาย โดยจะให้เงินจำนวน 20,000 บาท แต่เมื่อให้การแล้ว พระพินิจได้ให้เงินเพียง 500-600 บาท และให้นายตี๋กินอยู่หลับนอนอยู่ที่สันติบาลประมาณสองปีเศษÙ

3.5 วิกฤตสวรรคตสู่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

จากวิกฤตกรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ถูกพรรคประชาธิปัตย์ฉกชิงไปขยายผลเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อทำลายศัตรูทางการเมืองคือนายปรีดี พนมยงค์ และพวก ซึ่งเป็นที่ชิงชังของฝ่ายเจ้ากลายเป็นภาวะวิกฤตทางสังคม และจากสภาวะความปั่นป่วนทางการเมืองในขณะนั้นที่กลุ่มทหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งอ่อนกำลังลงไปจากกรณีญี่ปุ่นมิตรร่วมรบของรัฐบาลทหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องแพ้ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต้องการช่วงชิงอำนาจรัฐกลับคืนมา จึงได้ทำแนวร่วมกับฝ่ายเจ้าที่เห็นว่าปรีดี พนมยงค์ เป็นศัตรูหลัก ฝ่ายทหารของจอมพล ป.จึงจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีแนวคิดนิยมเจ้าทำการยึดอำนาจในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ภายใต้การนำของจอมพลผิน ชุณหะวัณ เมื่อทำการยึดอำนาจสำเร็จแล้วก็ตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล

3.6 ความเหมือนคล้ายรัฐประหาร 8 พ.ย. 90 กับ 19 ก.ย.49


การรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 มีสถานการณ์ที่เหมือนคล้ายกับการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ในสถานการณ์ทางการเมือง สภาพแวดล้อมของสังคมโลก และตัวละครของพรรคการเมืองคู่กรณี ดังนั้นในที่นี้ผู้เขียนขอนำเหตุการณ์บางประการที่เหมือนคล้ายกันมาเพื่อศึกษาเป็นบทเรียน และเพื่อประโยชน์ต่อผู้สนใจที่จะศึกษามองอนาคตของการเมืองไทยต่อไป ดังนี้
1.มีเหตุการณ์ที่รุนแรงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ กล่าวคือในปี 2489 พรรคประชาธิปัตย์โจมตีใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 จนเป็นเหตุให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาลนายเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ กลุ่มอำนาจของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ และนายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนจบชีวิตลงในต่างประเทศ ส่วนในเหตุการณ์ปัจจุบันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดการชุมนุมเคลื่อนไหวโจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วางแผนโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในภาวะที่สถาบันกำลังเกิดวิกฤตค่อนข้างรุนแรงอันเป็นผลจากอายุและสุขภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ที่ทรงเจริญพระชนมายุมากแล้ว และสุขภาพไม่ดีซึ่งเป็นภาวะของการใกล้ที่จะผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน จนในที่สุดก็เกิดการยึดอำนาจรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยใส่ร้ายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างๆ นาๆ และสุดท้ายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ เพียงแต่ปัจจุบันละครการเมืองยังไม่จบ บทสุดท้ายของเหตุการณ์จึงยากที่จะทำนาย
2. ทหารจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 มีกลุ่มทหารร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำการยึดอำนาจและหนุนให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและอยู่ได้ไม่พอ 6 เดือน นายควงก็ถูกทหารใช้ปืนจี้ให้ออกจากนายกฯ แล้วเชิญจอมพล ป.กลับมาเป็นนายกฯ แทน เหตุการณ์การเมืองปัจจุบันตัวละครก็ยังเป็นกลุ่มทหารโดยใช้ชื่อว่า คมช.ร่วมกันกับพรรคประชาธิปัตย์ และหนุนให้นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน แต่จะจบลงเหมือนกับ นายควง อดีตหัวหน้าพรรคหรือไม่ยังไม่อาจจะทราบได้
3. ทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลของกลุ่มอำนาจนายปรีดี พนมยงค์ ในปี 2490 เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยของฝ่ายพลเรือนที่ได้อำนาจมาโดยชอบและเป็นที่ชื่นชมของประชาชน เนื่องจากเป็นรัฐบาลของกลุ่มขบวนการเสรีไทยภายในประเทศที่ต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นที่ร่วมมือกับกลุ่มทหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม และได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นประเทศมหาอำนาจเป็นรัฐบาลของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงให้การสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากขบวนการเสรีไทย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยของฝ่ายพลเรือนที่ได้มาตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ปี 2540 โดยสมบูรณ์แบบที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ด้วยอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ และเป็นที่นิยมของประชาชน ดังนั้นการยึดอำนาจของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งสองครั้งนี้ จึงเป็นที่จับตามองของประเทศมหาอำนาจมาก ผู้ยึดอำนาจจำเป็นต้องเล่นละครหลอกลวงชาวโลกและประชาชนไทยให้เป็นไปอย่างแนบเนียน ด้วยเหตุนี้ในเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ฝ่ายทหารจึงต้อง อำพรางภาพลักษณ์ของเผด็จการเพื่อมิให้เกิดการบาดหูบาดตาประเทศมหาอำนาจ เพราะจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็พึ่งหลุดจากคดีอาชญากรสงครามมาไม่นาน ด้วยเหตุนี้คณะรัฐประหารจึงได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในลักษณะที่ว่าคณะรัฐประหารนั้นไม่ต้องการอำนาจทางการเมือง แต่ก่อการยึดอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศโดยแท้จริง ปรากฏหลักฐานตามที่จอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ หน้า 88 ว่า
“วันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ได้ประชุมคณะรัฐประหารชั้นผู้ใหญ่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นประธานพิจารณาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในที่ประชุมเห็นว่านายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้เปิดอภิปรายทั่วไปโจมตีรัฐบาลปัจจุบันในรัฐสภา โดยใช้เครื่องกระจายเสียงเปิดการอภิปรายของฝ่ายค้าน ให้ราษฎรได้ฟังทั่วประเทศ ทำให้ราษฎรได้ทราบความบกพร่องของรัฐบาลอย่างมากมาย เพื่อเป็นการสนองพรรคฝ่ายค้าน ที่ประชุมจึงลงมติเอกฉันท์ให้ตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี”Ù
เหตุการณ์การเมืองในปัจจุบันนี้ก็คล้ายคลึงกัน ผู้ทำรัฐประหารก็พยายามผลักดันให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 โดยผ่านกระบวนการของรัฐบาลชั่วคราว พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากองคมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลของฝ่ายเจ้าอย่างชัดเจนมาเป็นผู้สนับสนุนปูทางให้ แต่สถานการณ์โลกและความคิดของประชาชนแตกต่างไปจากเหตุการณ์ในอดีตมาก จึงทำให้แผนการสร้างภาพฝ่ายตัวละครพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่สัมฤทธิ์ผล พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่สามารถเอาชนะพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ และล่าสุดฝ่ายรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยังใช้ความพยายามโค่นล้มรัฐบาลของกลุ่มพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วยการสมคบกันให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกปลุกระดมเคลื่อนไหวประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากภาคใต้ซึ่งเป็นฐานของพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาก่อการจลาจลเป็นเวลานานกว่าหกเดือนโดยยึดถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุสวรรณภูมิสนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ และสมคบกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จนรัฐบาลกลุ่มพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องล้มคว่ำไปถึง2 รัฐบาล คือ รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และสุดท้ายพวกทหารก็แสดงบทบาทอย่างออกหน้าออกตาเป็นนายหน้าของฝ่ายวังหนุนให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจนได้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 15 ธันวาคม 2551
4.คนใกล้ชิดปรีดี พนมยงค์ หลวงกาจสงคราม(พ.อ.กาจ การสงคราม) คนใกล้ชิดปรีดี พนมยงค์ ทรยศโดยย้ายฝากอำนาจไปอยู่กับฝ่ายเจ้าและกล่าวโจมตีว่าปรีดีคิดการใหญ่จะจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐ และตั้งตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี เป็นกรณีคล้ายกับกรณีนายเนวิน ชิดชอบ คนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทรยศย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายทหารและพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายเจ้าโดยร่วมสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อโค่นล้มฝ่ายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และที่ขาดไม่ได้ก็โจมตีพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าคิดการใหญ่คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดกับนายปรีดี พนมยงค์
เหตุการณ์ในครั้งนั้น หลวงกาจสงครามเป็นคนหนึ่งในคณะเสรีไทยโดยร่วมมือกับปรีดี พนมยงค์ ในการตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น โดยยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อตุลาคม 2486 เป็นตัวแทนเสรีไทยเดินทางไปประเทศจีน และเมื่อสงครามยุติแล้วหลวงกาจสงครามก็ร่วมกับปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งพรรคสหชีพ ซึ่งเป็นพรรคที่ก้าวหน้าที่มีนโยบายเป็นประชาธิปไตยของฝ่ายพลเรือนในขณะนั้น แต่ภายหลังจากเกิดกรณีวิกฤต กรณีสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าหลวงกาจสงครามได้แกล้งให้ร้ายปรีดี พนมยงค์ ว่ามีแผนการจัดตั้งมหาชนรัฐ(ในความหมายปัจจุบันก็คือการโจมตีว่าจะล้มสถาบันกษัตริย์ จัดตั้งสาธารณรัฐนั่นเอง) โดยจะยึดอำนาจทั่วประเทศไปสู่มหาชนรัฐ เมื่อคณะทหารทราบเข้าจึงปฏิวัติตัดหน้า(หนังสือพิมพ์เสรีภาพ 18 พฤศจิกายน 2490 อ้างในสุธาชัย ยิ้มเจริญ หน้า 114,แผนชิงชาติไทย)




3.7 ทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ ฟื้นระบอบกษัตริย์

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบอบรัฐธรรมนูญและฟื้นระบอบกษัตริย์
ความมุ่งมั่นของคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องการจะพลิกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญกับระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดการสถาปนาลัทธิรัฐธรรมนูญขึ้น โดยยกรัฐธรรมนูญให้มีฐานะสูงเด่นเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติมาแทนที่สถาบันกษัตริย์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติอยู่เดิม โดยคณะราษฎรได้ให้การศึกษาประชาชนโดยส่งกลุ่มปาฐกถาเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญ นำรูปภาพรัฐธรรมนูญไปแจกตามหมู่บ้านห่างไกล และเอาตัวบทรัฐธรรมนูญไปแจกข้าราชการอำเภอ ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นก็จัดให้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นประจำทุกปี และพยายามสร้างสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อให้อยู่ในใจของประชาชน เช่น การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่ถนนราชดำเนินÙ(ที่เรียกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน) และได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ โดยมีรูปพานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ หลังจากได้ชัยชนะจากการปราบกบฏบวรเดชซึ่งเป็นการปราบปรามการลุกขึ้นสู้ของฝ่ายเจ้าเมื่อปี 2476
การรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 นั้นถือได้ว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมฉีกรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเพราะก่อนหน้านั้นแม้จะมีการยึดอำนาจแต่ก็ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกนี้ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทยที่ร่างขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและประกาศใช้เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ในปีปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งใช้มาประมาณ 15 ปี โดยคณะราษฎรมีความมุ่งหมายที่จะให้ระบอบรัฐธรรมนูญมีความมั่นคงให้ประชาชนยึดถือเป็นระบอบกฎหมายสูงสุดตลอดไป ให้เป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกับที่เกิดขึ้นในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับดั้งเดิมมาเป็นเวลานานกว่าสองร้อยปี โดยกลายเป็นวัฒนธรรมความเชื่อซึมอยู่ในสายเลือดของประชาชนที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนั้นๆ
จากความเห็นของสุธาชัย ยิ้มเจริญ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกในหนังสือแผนชิงชาติไทย หน้า 102 เห็นว่า “ความจริงแล้วนัยยะของลัทธิรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรพยายามเสนอและผลักดัน ส่วนหนึ่งก็เป็นการลดความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติที่ตกค้างมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ด้วยเหตุนี้การพังทลายของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ ก็เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่นขึ้น”
ดังนั้นการรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 จึงมิใช่เป็นเพียงการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองโดยความร่วมมือกันของฝ่ายทหาร กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่เนื้อแท้คือการทำลายแนวคิดประชาธิปไตยของคณะราษฎรโดยการทำลายระบอบรัฐธรรมนูญเพื่อพลิกฟื้นอำนาจของฝ่ายเจ้าให้กลับคืนมาทั้งหมด และเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ที่ทรงอำนาจ และบดทำลายระบอบประชาธิปไตยอยู่ในขณะนี้
จากความเห็นของสุธาชัย ยิ้มเจริญ ใน แผนชิงชาติไทยหน้า 103 อ้างถึงหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ 29 พฤศจิกายน 2490 ว่า
คณะรัฐประหารจึงได้นำความสัมฤทธิผลมาสู่กลุ่มเจ้า-ขุนนาง
บางประการ นั่นคือ “การถวายอำนาจคืน” โดยคณะรัฐประหารเป็นผู้มอบให้ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้ สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น แม้ว่าจะเคยเป็นคู่ปฏิปักษ์กับฝ่ายเจ้าขุนนางมาก่อน แต่ก็ได้ฉวยสถานการณ์เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ดังคำให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ในนามของหัวหน้าคณะรัฐประหารว่า “รัฐประหารครั้งนี้คณะทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล จะเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น ท่านจะได้โอกาสช่วยดูแลบ้านเมือง” (การเมืองรายสัปดาห์ 25 พฤศจิกายน 2490) และในที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชหัตถเลขาในวันที่ 25 พฤศจิกายน แสดงความปิติยินดีด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้(ว.ช.ประสังสิต 2492 : 245-248)

3.8 รัฐธรรมนูญ 2490 วางระบบอำนาจฝ่ายเจ้าให้เข้มแข็ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2490 หรือที่รู้จักกันในนามรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม เนื่องจากคณะรัฐประหารได้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้าแต่ด้วยเกรงว่าจะมีคนรู้เห็นจึงซ่อนไว้ใต้ตุ่ม จากคำให้สัมภาษณ์ของ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง (ชื่อเดิมกาจ กาจสงคราม) ผู้ร่างได้กล่าวว่า
“เตรียมร่างรัฐธรรมนูญไว้วันละเล็กละน้อย โดยมิได้มีผู้ใดพึงรู้เห็นแล้วเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่มสามโคก ครั้นเมื่อทำการรัฐประหารสำเร็จลงจึงได้นำรัฐธรรมนูญที่ซ่อนไว้ใต้ตุ่มแดงออกประกาศใช้ทันที รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีฉายาว่ารัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม”Ù
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่พลิกฟื้นอำนาจของกษัตริย์ขึ้นอย่างค่อนข้างสมบูรณ์นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 กล่าวคือได้กำหนดให้มี 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยมีจำนวนเท่ากัน และเฉพาะวุฒิสภาทั้งหมดนั้นให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงคัดเลือกเอง(มาตรา 33) และกำหนดให้มีการรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรีสภาซึ่งเป็นองค์กรบริหารของเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 7 และถูกรัฐบาลคณะราษฎรยกเลิกไปแล้ว โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 มาตรา 2 กำหนดให้มีขึ้นมาใหม่ อภิรัฐมนตรีสภาก็มีฐานะคล้ายคณะองคมนตรีในปัจจุบันนี้
การมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ทั้งสภา และให้มีอำนาจเสมอเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่ามีอำนาจของกษัตริย์คุมอำนาจทางการเมืองของประชาชนอย่างชัดเจน ดังนั้นหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยทรงอยู่เหนือการเมืองตามแนวคิดของคณะราษฎรจึงไม่เป็นจริง และตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 เป็นต้นมา เมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่อำนาจของกษัตริย์ในวุฒิสภาก็ยังคงสืบเนื่องต่อไป และมาสิ้นสุดเมื่อเกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 ที่ยกเลิกการแต่งตั้งวุฒิสภาจากกษัตริย์ โดยให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจเต็มแก่ประชาชน
เมื่อนำเหตุการณ์การยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 มาศึกษาเปรียบเทียบก็จะพบประเด็นที่มาแห่งวุฒิสภาเป็นชนวนระเบิด ที่ฝ่ายเจ้าไม่พอใจรัฐธรรมนูญปี 2540 และเก็บความไม่พอใจนี้ซ่อนไว้อย่างเงียบๆ โดยปล่อยให้รัฐธรรมนูญปี 2540 ประกาศใช้ไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวใน “เครือข่ายราชสำนัก”(Royol Network) เช่น อธิบดีมหาวิทยาลัย คณบดี หรือพวกที่ตั้งชื่อตัวเองแปลกว่าราษฎรอาวุโส ก็ออกมาโจมตีเพื่อทำลายกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาว่าเป็นสภาผัวเมีย เพื่อให้เกิดการเสื่อมความนิยมในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยตรงจากประชาชน และให้หันหลังกลับมาสู่การแต่งตั้งโดยสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ในที่สุดเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยนำระบบการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกกลับมาใหม่ แต่ยังเหนียมอายถึงการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงใช้คำว่า “สรรหา” ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยฝ่ายเจ้าใช้อำนาจผ่านกลไกของประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง และประธานศาลรัฐธรรมนูญ และกลไกของระบบข้าราชการที่มาในรูปขององค์กรอิสระ และในเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ลองเชิงแต่งตั้งวุฒิสภาเพียงครึ่งสภาก่อน แต่ที่สะท้อนความต้องการของฝ่ายเจ้าที่อยากจะเห็นระบบการเมืองโดยตัดมือตัดเท้าของฝ่ายประชาชนอย่างชัดแจ้งก็คือ การนำเสนอ “การเมืองใหม่” ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นม็อบของฝ่ายเจ้า(โดยเรียกขานกันเป็นสัญลักษณ์ตามท้องตลาดว่าม็อบเส้นใหญ่) โดยเสนอให้การเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฐานอำนาจที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาให้เป็นแบบ 30:70 คือเลือกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่งตั้ง 70 เปอร์เซ็นต์ และได้กลายเป็นชนวนระเบิดในสังคมไทยในขณะนี้

3.9 แม้ฟื้นอำนาจแล้วแต่เจ้ายังคุมทหารไม่ได้

ในการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แม้จะเป็นการกำจัดฐานอำนาจของคณะราษฎรด้วยการยึดอำนาจขับไล่ปรีดี พนมยงค์ และแกนนำ ออกนอกประเทศ พร้อมกวาดล้างจับกุมพลพรรคของปรีดี พนมยงค์ แล้วก็ตาม แต่อำนาจของฝ่ายเจ้าโดยพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมฝ่ายทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ ประกอบกับในขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็ยังทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนคือกรมขุนชัยนาทนเรนทร และเนื่องจากพระองค์เพิ่งขึ้นครองราชย์ (ขึ้นครองราชย์ในตอนเย็นวันที่ 9 กันยายน 2489 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่รัชกาลที่ 8 สิ้นพระชนม์เมื่อตอนเช้า) พระบรมเดชานุภาพยังไม่แกร่งกล้าที่จะสยบอำนาจของฝ่ายทหารได้ เมื่อฝ่ายเจ้ายืมมือของฝ่ายทหารทำลายฝ่ายประชาชนภายใต้การนำของปรีดี เป็นผลสำเร็จแล้ว อำนาจการเมืองที่ขับเคี่ยวกันจึงเหลือเพียง 2 ฝ่าย คือฝ่ายเจ้าโดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฐานฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายทหารโดยมีกองทัพเป็นฐานให้แก่จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ละครน้ำเน่าที่เคยแสดงความรักอันดูดดื่มระหว่างควง อภัยวงศ์ กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขาดสะบั้นในวันที่ 6 เมษายน 2491 ด้วยการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งทหารคนสนิทคือ พล.ต.สวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติ, พ.อ.ศิลป์ รัตนพิบูลชัย, พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวช และพ.ท.ลม้าย อุทยานานนท์ มาขอเข้าพบและจี้ตัวนายควง อภัยวงศ์ ให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีภายใน 24 ชั่วโมง นายควง อภัยวงศ์ ก็ยอมลาออกแต่โดยดีโดยถวายบังคมลาในตอนเย็นวันที่ 6 เมษายน นั้นเอง โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไม่กล้าที่จะ ทัดทานÙ
กรณีความร่วมมือระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายทหารที่จับมือกันโค่นล้มฐานการเมืองฝ่ายประชาชนของปรีดี พนมยงค์ เป็นบทเรียนที่น่าศึกษาเปรียบเทียบกับการเมืองในปัจจุบัน ที่มีการจับมือกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในนามตัวแทนของฝ่ายเจ้ากับพล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ในนามตัวแทนของฝ่ายทหารที่ต่างก็อยู่ภายใต้พระบรมเดชานุภาพ โดยร่วมกันทำการโค่นล้มฐานการเมืองฝ่ายประชาชนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันโดยรูปแบบ แต่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันในเงื่อนไขเวลาของยุคสมัยและปัจจัยใหม่คือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่แม้กระนั้นต่างก็ยังอยู่ในบทสัจธรรมเดียวกันไม่เปลี่ยนแปลงคือ อำนาจเป็นสิ่งที่หอมหวน ดังนั้นการเห็นบทหวานชื่นระหว่างอภิสิทธิ์กับพล.อ.อนุพงศ์ วันนี้ก็ใช่ว่าจะราบรื่นตลอดไปไม่ ลองมาดูบทละครการเมืองอันหวานชื่นในระยะเริ่มแรกของนายควงกับจอมพล ป. แต่ก็อยู่กินกันหม้อข้าวไม่ทันดำก็เลิกร้างกันไป ลองดูบทเกี้ยวพาราสีกันระหว่างนายควง อภัยวงศ์ ,มรว.เสนีย์ ปราโมช กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วก็จะรู้เองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีประวัติการแสดงละครทางการเมืองชนิดที่เรียกว่าตลบตะแลงถึงบทจริงๆ แต่สุดท้ายก็แตกกันเพราะต่างฝ่ายต่างก็อยากได้อำนาจสูงสุดด้วยกัน
นายควง : นี่ไงกัปตัน ผมเอารายชื่อรัฐมนตรีมาให้ดู
จอมพล ป. : เอามาให้ผมดูทำไม ผมบอกแล้วว่า
ไม่ต้องการอำนาจทางการเมือง
คุณเห็นดีอย่างไรก็เอาอย่างนั้นแหละ
นายควง : แต่มีรัฐมนตรีหลายคนที่กัปตันคงไม่ชอบ
จอมพล ป. : อย่าได้ถือความเห็นผมเป็นสำคัญ....”Ù

ส่วนม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ออกมาปกป้องจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งๆ ที่ประชาธิปัตย์เคยโจมตีว่าเป็นจอมเผด็จการมาก่อน แต่วันนี้จำเป็นต้องกลับหลังหันมาจูบปากกัน, บรรพบุรุษของพรรคประชาธิปัตย์มีความสามารถพิเศษในเรื่องเหล่านี้ โดยกล่าวชื่นชมเพื่อให้สังคมวางใจในตัวจอมพล ป.โดยเปรียบเปรยว่าคนที่กลัวความเป็านเผด็จการมากที่สุดในเมืองไทยวันนี้ก็คือตัวของท่านจอมพล ป.เองโดยกล่าว ว่า “หม่อมคึกฤทธิ์ เป็นเจ้าของคำคมอีกคนหนึ่งโดยได้กล่าวว่าเวลานี้คนในเมืองไทยที่กลัวเผด็จการมากที่สุดได้แก่จอมพล ป.ข้อนี้เป็นคำกล่าวที่มีเหตุผล” Ù
ส่วนความรักอันหวานชื่นระหว่างอภิสิทธิ์ กับพล.อ.อนุพงศ์ ในปัจจุบันนี้จะจบลงอย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้อ่านจะต้องติดตามกันต่อไป

3.10 รัฐประหาร 2500 ระบอบกษัตริย์เริ่มตั้งมั่นอย่างเข้มแข็ง

การเฝ้ารอคอยโอกาสเพื่อเผด็จอำนาจทางการเมืองเป็นคุณสมบัติและประสบการณ์ที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่ใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างสมบารมีจนกลายเป็นพระบรมเดชานุภาพที่พลิกฟื้นอำนาจของกษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่จนเข้มแข็ง และพัฒนาอำนาจทำให้ระบอบการปกครองของไทยกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ในทุกวันนี้
เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับสู่อำนาจการเมืองใหม่อีกครั้ง ด้วยการจี้ให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออก ในเส้นทางการเมืองยุคสุดท้ายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ต้องประสบปัญหามากมาย และการดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจอยู่ต่อไปนั้นในแต่ละวันก็ยากเย็นแสนเข็ญ และโดยธรรมชาติทางการเมืองก็เกิดความขัดแย้งระหว่างลูกน้องของจอมพล ป. ด้วยกัน เข้าทำนองว่าเสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ นั่นคือความขัดแย้งระหว่างพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กับพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขาลงของจอมพล ป.นั้น กระแสตื่นตัวของประชาชนต่อสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เป็นกระแสการเมืองใหม่ที่เริ่มมีพลังขึ้น อันเป็นผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง อีกทั้งจอมพล ป. ต้องการจะลบภาพจอมเผด็จการที่เคยแสดงออกในอดีตเมื่อครั้งลัทธิทหารเป็นกระแสหลักของโลกโดยมีผู้นำทางทหารที่มีชื่อเสียงเช่น ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมัน มุสโสลินี ผู้นำอิตาลี และโตโจ ผู้นำญี่ปุ่น จอมพล ป.จึงหนุนระบอบประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้ง เปิดสนามหลวงให้เป็นเวทีประชาธิปไตยที่ประชาชนจะไปแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็ได้ คล้ายกับสวนสาธารณะ “ไฮด์ปาร์ค” ในอังกฤษ จนคำว่า “ไฮด์ปาร์ค”กลายเป็นคำสะแลง หมายถึง ลักษณะการเปิดปราศรัยแบบด่าแหลกและตัวท่านเองก็ตั้งพรรคการเมืองเข้าแข่งขันในนามพรรคเสรีนังคศิลา
โดยธรรมชาติแห่งระบอบประชาธิปไตยนั้นมีพลังอำนาจที่สำคัญคือ “อำนาจต้องมาจากประชาชน” ดังนั้นระบอบเผด็จการใดๆ ที่พยายามจะฉาบสีสันของประชาธิปไตยเพียงรูปแบบนั้น ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ยากที่จะดำรงอยู่ได้ และวาระสุดท้ายของจอมพล ป.ก็พบกับสัจธรรมนี้ เมื่อจอมพล ป.ไม่ยอมลงจากอำนาจทั้งๆ ที่ความนิยมของประชาชนเสื่อมลงไปมากแล้ว อีกทั้งฐานอำนาจทางทหารก็แตกกัน ดังจะเห็นได้ว่าในขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ตีตัวออกห่างจากจอมพล ป.ทั้งๆ ที่เป็นผู้คุมกำลังทหารสำคัญ แต่ก็ไม่ยอมออกคำสั่งให้ทหารในบังคับบัญชาไปลงคะแนนเลือก ส.ส.ของพรรคเสรีมนังคศิลาโดยแสดงตัวเป็นนักประชาธิปไตยเต็มใบโดยกล่าวว่า “เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ แล้ว ขออย่าได้บังคับกะเกณฑ์ให้ไปลงคะแนนให้พรรครัฐบาลเลย บุคคลอื่นๆ ที่อยู่พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็อาจจะเป็นคนดีได้”Ù
ด้วยภาวะขาลงเช่นนี้ จอมพล ป.ไม่มีทางเลือกที่จะสืบต่ออำนาจประชาธิปไตย จึงเกิดกรณีการโกงการเลือกตั้งอย่างครึกโครมในการประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อ 1 มีนาคม 2500 จึงเกิดกระแสการต่อต้าน โอกาสทองทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ จึงเกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้นความคิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเริ่มถ่ายเทลงไปสู่ขบวนการนักศึกษาอย่างมีผลแล้ว แม้จะเป็นยุคต้นๆ ก็ทำให้เกิดเงื่อนไขความชอบธรรมของผู้มีอำนาจทั้งของทหารและฝ่ายเจ้า ที่จะใช้พลังนักศึกษาประชาชนกล่าวอ้างเพื่อทำลายปฏิปักษ์ทางการเมืองและการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ในเหตุการณ์เวลานั้นพลังนักศึกษาจากจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ก็รวมตัวประท้วงการโกงการเลือกตั้งโดยยกขบวนไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะซักฟอกจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกและเป็นผู้รักษาพระนครแทนที่จะขัดขวางเพื่อปกป้องรัฐบาล ก็ทำการลอยตัว(คล้ายๆ กับพล.อ.อนุพงษ์ ผู้บังคับบัญชาการทหารบกในปัจจุบัน กรณีพันธมิตรบุกยึดทำเนียบรัฐบาลในปี 2551) และแสดงตัวเป็นนักประชาธิปไตยเต็มที่ (แท้จริงเตรียมช่วงชิงยึดอำนาจ) โดยจอมพลสฤษดิ์ปล่อยให้ฝูงชนเดินทางผ่านไปเผชิญหน้ากับจอมพล ป.นายกรัฐมนตรี เพื่อซักฟอก, แล้วจอมพลสฤษดิ์ ก็แสดงตัวเป็นพระเอกสลายฝูงชนโดยกล่าวปราศรัยบอกนัยสำคัญทางการเมืองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ฝูงชนต้องการโดยกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเป็นทหารของชาติ และขอพูดอย่างชายชาติทหารว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นใจประชาชน สิ่งใดที่มติมหาชนไม่ต้องการข้าพเจ้าจะไม่ร่วมมือด้วย” และกล่าวลงท้ายคำปราศรัยอย่างมีความหมายทางการเมืองว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”Ù
ต่อมาไม่นาน 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ก็ทำการยึดอำนาจขับไล่จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพล.อ.เผ่า ศรียานนท์ ออกนอกประเทศ แล้วจอมพลสฤษดิ์ก็ถอดหน้ากากประชาธิปไตยทิ้ง เปิดเผยโฉมหน้าจริงของตนด้วยการใช้อำนาจเผด็จการโดยปกครองประเทศด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีเพียง 17 มาตรา โดยมีมาตรา 11 เป็นอำนาจเผด็จการสูงสุดของนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าคนได้โดยไม่ต้องสอบสวน เป็นเวลานานถึง 6 ปีก่อนจะสิ้นชีวิต โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นจากนักวิชาการที่ขายตัว(ซึ่งไม่แตกต่างจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในวันนี้) โดยรับนโยบายจากจอมพลสฤษดิ์ว่าไม่ต้องร่างให้เสร็จ
บทบาททางการเมืองของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลที่ชาญฉลาดนับตั้งแต่ปลายยุคจอมพล ป.ถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ทั้งที่ยังทรงพระเยาว์นั้นไม่อาจจะปฏิเสธบทบาทของเสนาธิการใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังที่เป็นสามัญชนคือสมเด็จพระราชชนนี ที่ช่วยวางแผนประสานแนวร่วมและทำลายศัตรูทีละส่วน จนอำนาจวังกล้าแข็งและพัฒนามาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่อยู่ในขณะนี้
ดังจะเห็นความชาญฉลาดในการแสวงหาอำนาจของวัง กล่าวคือตลอดระยะเวลาการครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวของการกระทำทุจริตอย่างขนานใหญ่ รวมตลอดทั้งการตั้งฮาเร็มโดยมีหญิงสาวมาบำรุงบำเรอจอมพลสฤษดิ์และการมีเพศสัมพันธ์กับนางบำเรอนั้นจอมพลสฤษดิ์ก็ชอบนุ่งผ้าขาวม้าสีแดง แต่ก็ไม่มีข้อวิจารณ์ใดๆ จากวัง
ทำไมพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมไม่เคยตำหนิหรือว่ากล่าวกระทบกระเทือบถึงจอมพลสฤษดิ์เลยจนถึงทุกวันนี้
เป็นเพราะอะไร ?


คำตอบทางประวัติศาสตร์ที่เด่นชัดก็คือจอมพลสฤษดิ์ได้เปิดศักราชยุคใหม่ของเมืองไทยที่ฝ่ายเจ้าต้องการและรอคอยมานาน
จอมพลสฤษดิ์ได้เปลี่ยนปรัชญาของกองทัพ จากกองทัพของชาติและประชาชนภายใต้การนำของคณะราษฎรเป็นกองทัพของพระราชาโดยสมบูรณ์แบบ
จอมพลสฤษดิ์ ได้ทำลายปรัชญารากฐานความคิดของสังคมที่จะมุ่งไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่โดยทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นเพื่อมาทดแทนความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ และทำลายวันชาติจาก 24 มิถุนายน คือวันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นวันพ่อ 5 ธันวาคม คือวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และถือเป็นวันชาติของประเทศไทยโดยปริยายตั้งแต่นั้น
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ฝ่ายกษัตริย์ได้เริ่มตั้งมั่นอย่างเข้มแข็งเมื่อเกิดการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2500, จาก 2475-2500 จึงเป็น 25 ปีของการรอคอยเพื่อการฟื้นอำนาจใหม่, ดังนั้นฐานะของวังภายใต้อำนาจคณะราษฎร จึงเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนราชสำนักเป็นอย่างมาก จนส่งผลต่อการเมืองปัจจุบันนี้ที่ราชสำนักจะเกิดความระแวงโดยเกรงว่าฝ่ายการเมืองภาคพลเรือน หรือภาคทหารจะก่อตั้งสถาบันทางอำนาจขึ้นมาเข้มแข็ง แข่งกับอำนาจของฝ่ายตน
ดังนั้นการควบคุมและแทรกแซงอำนาจทางการเมืองของฝ่ายเจ้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ สิ้นชีวิตจนถึงปัจจุบันนี้ จึงเกิดขึ้นเป็นประจำอย่างใกล้ชิดและเกาะติด จนกระทั่งเกิดเป็นโครงสร้างอำนาจนอกระบบขึ้น และมีอำนาจเข้มแข็งกว่าอำนาจในระบบเลือกตั้งที่มาจากประชาชน

3.11 เข้าสู่สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่โดยกฎหมาย

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เป็นเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่แล้ว
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะยืนยันให้เห็นถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ไทยว่ามีอยู่จริงโดยวัฒนธรรมและโดยกฎหมายอย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่ถูกยึดอำนาจไปเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือการยึดอำนาจทางการเมืองที่ถูกช่วงชิงไป กลับคืนมาสู่ราชสำนักโดยปรากฏหลักฐานจากเหตุการณ์การโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งถือเป็นการสิ้นเชื้อสายพันธุ์คณะราษฎรเมื่อ 16 กันยายน 2500 โดยพระมหากษัตริย์ได้แสดงพระองค์อย่างเปิดเผยในประกาศพระบรมราชโองการตั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่แสดงออกทางอำนาจการเมืองด้วยพระองค์เองโดยไม่มีผู้ใดมารับผิดชอบแทน ซึ่งผิดจากแนวทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และโดยกฎหมายจึงถือว่าระบอบการปกครองของไทยได้กลับมาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนับแต่นั้นแล้ว, รายละเอียดของพระบรมราชโองการที่แสดงถึงพระราชประสงค์ที่มีต่อการยึดอำนาจว่า
“ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”Ù
เมื่อพิจารณาจากตัวนายกรัฐมนตรีคือนายพจน์ สารสิน ก็เห็นชัดเจนว่าพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงนับแต่นั้น เพราะนายพจน์ที่ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 9 นี้เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดราชสำนัก ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนามสกุลนี้ยังรับใช้ใกล้ชิดราชสำนักต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบันคือ นายอาสา สารสิน ในฐานะราชเลขาฯ
นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานคำสัมภาษณ์ของพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยืนยันชัดเจนว่ากษัตริย์เป็นผู้หนุนหลังการยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ โดยนายเผ่าให้สัมภาษณ์ที่กรุงการาจี ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2500 ขณะลี้ภัยว่า “รัฐประหารครั้งนี้เป็นที่คาดและทราบกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่มีใครคิดจะสู้กับทหารและกษัตริย์”Ù

3.12 การยึดอำนาจของวังมีสูตรมาตรฐาน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยในเหตุการณ์การยึดอำนาจของฝ่ายทหารตามที่คนไทยเข้าใจมาโดยตลอดนั้น หากจะพิจารณาจากรูปแบบการจัดการแล้วจะเห็นว่าการยึดอำนาจนับตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปัจจุบัน หากครั้งใดที่มีข่าวลือว่าเป็นพระราชประสงค์แล้ว รูปแบบการจัดการก่อนและหลังการยึดอำนาจจะมีรูปแบบที่คล้ายกันหมดเกือบจะเรียกว่ามีสูตรสำเร็จเป็นมาตรฐานเลยทีเดียว นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวประท้วงของประชาชน เพื่อสร้างความชอบธรรมก่อนการยึดอำนาจ, การใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจโดยรวมศูนย์เป็นเอกภาพ, การจัดตั้งรัฐบาลพระราชทานโดยให้คนใกล้ชิดมาเป็นนายกฯ และการดำรงอยู่ของรัฐบาลพระราชทานนั้น จะมีอายุอยู่ประมาณ 1 ปี โดยจัดร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบราชการ และสร้างความอ่อนแอให้แก่ระบบพรรคการเมืองโดยนักร่างมืออาชีพ แล้วหลังจากนั้นก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่ออยู่ได้สักพักหนึ่งก็จะเกิดการยึดอำนาจในลักษณะนี้อีก
กล่าวโดยสรุปแล้วการมีอำนาจของรัฐบาลนับแต่ปี 2500 เป็นต้นมา จะไม่มีรัฐบาลใดที่เข้มแข็งเลยด้วยสูตรยึดอำนาจแบบมาตรฐานสลับกับการเลือกตั้ง การยึดอำนาจครั้งสำคัญๆ ที่จะชี้ให้เห็นถึงสูตรมาตรฐานได้แก่
1. เกิดการเดินขบวนต่อต้านจอมพล ป.แล้วก็มีการยึดอำนาจเมื่อ 16 กันยายน 2500 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยให้นายพจน์ สารสิน คนใกล้ชิดมาเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ได้ประมาณ 1 ปี ก็เปิดให้มีการเลือกตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็เกิดการยึดอำนาจใหม่อีกทีเมื่อ 20 ตุลาคม 2501 แล้วก็เผด็จการยาว
2. เกิดการเดินขบวนของนักศึกษาปัญญาชนต่อต้านจอมพลถนอม แล้วพลเอกกฤษ สีวะรา ก็ยึดอำนาจในนามมวลชนเป็นผู้ขับไล่ล้มอำนาจจอมพลถนอมเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็ได้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ คนใกล้ชิดวังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 1 ปี แล้วก็เปิดการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2518 พอถึงปลายปี 2519 ก็เกิดรัฐประหารอีก
3. เกิดการเคลื่อนไหวไม่พอใจพลเอกชาติชาย มีนักศึกษาเผาตัวประท้วง แล้วก็เกิดการยึดอำนาจเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะทหาร รสช.บุกจี้ตัวนายกฯ บนเครื่องบินขณะที่พลเอกชาติชายกำลังจะไปเข้าเฝ้าที่เชียงใหม่แล้ว ก็ได้นายอานันท์ ปัณยารชุนคนใกล้ชิดวังเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ปี แล้วก็เปิดเลือกตั้งทั่วไปต้นปี 2535 พล.อ.สุจินดา ตั้งรัฐบาลได้ 45 วัน ก็ถูกเดินขบวนขับไล่โดยการนำของพล.ต.จำลอง คนสนิทพลเอกเปรม แล้วก็ได้นายอานันท์ ปัณยารชุน มาเป็นนายกฯ ใหม่อีกครั้งหนึ่ง แบบหักมุม แล้วก็มีรัฐบาลแบบอ่อนแอ 8 ปี 4 รัฐบาล (2535-2543)
4. เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อน แล้วก็เกิดการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยคณะทหารที่ใช้ชื่อว่า คปค.แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็น คมช.โดยมีนายกรัฐมนตรีมาจากองคมนตรีโดยตรงคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่ได้ 1 ปี แล้วก็เปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แล้วก็มีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพทำลายสถิติโลกคือ ภายใน 1 ปี (2551) มี 4 รัฐบาล
สูตรสำเร็จทางการเมืองที่สรุปได้คือ ยึดอำนาจโดยกำลังทหาร แล้วตั้งรัฐบาลพระราชทานประมาณ 1 ปี ในระหว่างนี้จัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วเปิดเลือกตั้ง แล้วหลังจากนั้นถ้าได้รัฐบาลที่วังพอใจก็อยู่ได้นานหน่อย แต่ไม่นานมากก็ต้องเปลี่ยนนายกฯ แต่ถ้าได้รัฐบาลที่วังไม่พอใจ รัฐบาลก็จะอายุสั้น
การเมืองไทยก็จะมีวังวนเช่นนี้
จากสูตรมาตรฐานทางการเมืองของราชสำนักนี้เป็นผลให้การดำรงอยู่ของราชสำนักมีความเข้มแข็งแผ่บารมีไพศาล ไม่มีสถาบันอำนาจการเมืองใดเติบโตมาเทียบบารมีได้ นับเป็นสูตรสำเร็จทางการเมือง ที่บ่งบอกถึงลักษณะเด่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ที่ชัดเจน

3.13 อำนาจนอกระบบ : เครื่องมือสำคัญ

อำนาจนอกระบบที่มีทั้งองค์กรมวลชน, ทหาร, ข้าราชการเกาะกลุ่มกันเป็นเครือข่าย โดยตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบรัฐสภา ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของราชสำนักในการทำลายรัฐบาลที่ราชสำนักไม่พึงพอใจจนกลายเป็นเส้นทางใหม่
นับแต่การสิ้นชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิติขจร ก็ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างสมบูรณ์แบบแทน แต่การมีอำนาจของจอมพลถนอมมีลักษณะเป็นเครือข่ายทางทหารที่เข้มแข็งโดยมีจอมพลประภาส จารุเสถียร ก้าวเคียงคู่มาด้วย ขุนศึกทั้งสองมีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง และผูกติดเป็นเครือญาติกันโดยถือเป็นขุนศึกยุคสุดท้ายที่ได้ผงาดขึ้นอย่างเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันอำนาจของฝ่ายเจ้าก็เริ่มตั้งมั่นเข้มแข็งแล้วเช่นกันในช่วงระยะเวลาสิบกว่าปีนับแต่ปี 2490 ฝ่ายเจ้าได้สร้างเครือข่ายอำนาจของตนขึ้นครอบงำสังคมไทย โดยรวบรวมนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และตามกระทรวง ทบวง กรม รวมตลอดทั้งทหาร ตำรวจ สื่อสารมวลชน ที่มีแนวคิดจารีตนิยมกลุ่มหนึ่งขึ้นแล้ว โดยมีองคมนตรีเป็นกลไกอำนาจสูงสุดในการเชื่อมโยงโครงข่าย และกลายเป็นอำนาจนอกระบบที่เข้มแข็งขึ้นตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การล้มรัฐบาลของจอมพลถนอมจึงเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลเท่ากับเป็นการทดลองการใช้เครื่องมือใหม่ที่ฝ่ายเจ้าได้ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นคือ “อำนาจนอกระบบ” โดยใช้ทหารที่เปลี่ยนปรัชญามาเป็นทหารของพระราชา แล้วเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนโดยประสานกับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญในขณะนั้นคือม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนนักศึกษาปัญญาชน แล้วทุกอย่างก็สำเร็จตามประสงค์
อำนาจนอกระบบที่ควบคุมโดยราชสำนักจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมือง ดังนั้นตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมานับแต่ปี 2500 อำนาจนอกระบบนี้ก็ได้แสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งโดยบดขยี้ทุกอำนาจในระบอบรัฐสภาและอำนาจเผด็จการทหารแปลกปลอม ที่ไม่ยอมขึ้นต่ออำนาจฝ่ายเจ้า หรือมีทีท่าว่าจะเข้มแข็ง มาตีเสมอและทัดเทียมฝ่ายเจ้า อำนาจการเมืองนั้นก็จะถูกบดขยี้อย่างแนบเนียนเสมือนหนึ่งว่าการพังทลายของอำนาจนั้นเกิดขึ้นเพราะความเลวร้ายของผู้ถืออำนาจนั้นเองนับตั้งแต่รัฐบาลของจอมพลถนอม-ประภาส เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่เหยื่อรายล่าสุดคือรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดูเหมือนว่าเครื่องมือสำคัญคือ “อำนาจนอกระบบ” นี้จะล้าสมัยไปเสียแล้ว เนื่องจากยุคสมัยของเทคโนโลยีทางข่าวสารได้เปลี่ยนไปในทางที่ก้าวหน้ามาก ประกอบกับเป็นรัฐบาลที่มีผลงานและนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนระดับล่างได้อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจนและสมบูรณ์แบบในยุคโลกาภิวัฒน์ ประกอบกับเป็นช่วงปลายของรัชกาลปัจจุบันที่วังเองก็เกิดความขัดแย้งกันภายในรุนแรง จึงเกิดสภาวะการเปิดโปงตัวเองทางประวัติศาสตร์ กลายเป็นบทศึกษาทางการเมืองให้แก่ประชาชนได้เห็นระบอบการปกครองปัจจุบันที่แท้จริงว่า“ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย”

3.14 วังเข้มแข็งเป็นภาวะวิสัยทางประวัติศาสตร์

นักการทหารและปัญญาชนไทยส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นโอกาสที่จะหลุดพ้นจากระบบเผด็จการทหารในอดีตได้ส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจเข้าป่าไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ด้วยหวังที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยมวลชนด้วยมือของราษฎรเอง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ โผเข้าสวามิภักดิ์ต่อวัง ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อินโดจีนในยุคสงครามเย็น
อำนาจเผด็จการทหารได้สร้างความหวาดกลัวโดยก่อตัวมายาวนานตั้งแต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำประเทศชาติเข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อเผด็จการทหารจอมพล ป.ล้มลง เผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สืบต่ออีก ความโหดร้ายของเผด็จการทหารได้ปรากฏชัดเจนเช่นการลอบฆาตกรรมศัตรูทางการเมือง กรณีการฆ่านายเตียง ศิริขันธ์ รัฐมนตรีและคณะ, ที่ทุ่งรังสิตโดยอ้างข้างๆ คูๆ ว่าเกิดจากการแย่งชิงตัวรัฐมนตรีที่ถูกจับกุมตัวเป็นนักโทษในขณะนั้นโดยกลุ่มโจรจีนเข้าแย่งชิงตัวและถูกลูกหลงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และเหตุการณ์ลอบทำร้ายอื่นๆ อีกมากจนทำให้กลุ่มปัญญาชนและนักการทหาร อย่างเช่น พ.ท.โพยม จุลานนท์ (บิดาพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน) ได้ร่วมทำการยึดอำนาจจากจอมพล ป.แต่ไม่สำเร็จจึงกลายเป็นกบฏที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ว่า “กบฏเสนาธิการ” และได้ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองเข้าสู่ เขตป่าเขาชนบท ร่วมสมทบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2485 ไว้ก่อนแล้ว และจัดตั้งกองกำลังทหารในนาม “กองทัพปลดแอกประชาชนไทย” เข้าต่อสู้กับรัฐบาลโดยใช้นโยบายชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 เปิดฉากใช้กำลังอาวุธอันเป็นสัญญาณของสงครามประชาชนที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม โดยมีการเรียกขานเชิงสัญลักษณ์ของวันที่ 7 สิงหาคม ว่า “วันเสียงปืนแตก” ซึ่งถือเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดของประเทศไทยด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนำเสนอแก้ปัญหาของชาวนาคนยากคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินคือ “การปฏิวัติที่ดิน” เป็นผลให้มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากซึ่งไม่เคยมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ที่เป็นระบบพรรคการเมืองในประเทศไทยที่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีระบบการจัดตั้งที่เข้มแข็ง เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ฯ นี้ในประเทศไทยมาก่อนเลย อีกทั้งการก่อตัวของสงครามประชาชนดังกล่าว ก็เชื่อมต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน และขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ซึ่งเป็นกระแสความขัดแย้งของโลกในยุคสงครามเย็นที่แบ่งโลกเป็นสองค่ายระบบเศรษฐกิจการเมืองคือค่ายสังคมนิยม ที่มีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ กับค่ายทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยที่เชื่อมต่อกับความขัดแย้งของโลกเช่นนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาเชื่อใน “ทฤษฎีโดมิโน” ว่าเมื่อประเทศในอินโดจีนถูกเปลี่ยนระบบเป็นคอมมิวนิสต์แล้วประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบโดยเปลี่ยนเป็น “คอมมิวนิสต์” ด้วย และจะเกิดผลกระทบต่อๆ ไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเหมือนกับตัวโดมิโนที่ล้มลงต่อๆ กันไป ด้วยเหตุนี้สหรัฐอเมริกาจึงยื่นมือมาจับกับระบอบเผด็จการทหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และหนุนสถาบันกษัตริย์ที่มีวัฒนธรรมสืบทอดมายาวนานให้สูงเด่นขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติให้เป็นสถาบันหลักของชาติในการต่อต้านการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นความลงตัวที่สอดคล้องกันของผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายเจ้า และฝ่ายทหาร เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะโค่นล้มอำนาจทั้งสองฝ่ายเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่ระบบสังคมนิยมตามอุดมการณ์
ในสถานการณ์ความขัดแย้งของโลกดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยที่กำลังฟื้นชีวิตจากการเสื่อมทรุดลงหลังเหตุการณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เกิดความเข้มแข็งขึ้นด้วยการอัดฉีดของสหรัฐอเมริกาอีกทางหนึ่งเพื่อให้ทรงพลานุภาพและจูงใจอำนาจฝ่ายทหารให้สยบต่อฝ่ายเจ้า สหรัฐอเมริกาก็หนุนช่วยงบประมาณทางการทหารอย่างมหาศาลให้แก่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีทิศทางสนับสนุนฝ่ายเจ้าด้วย โดยในขณะนั้นสหรัฐอเมริกาไม่สนใจว่ารัฐบาลจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะสถานการณ์โลกในขณะนั้นเป็นสถานการณ์ทางการทหารที่กำลังเผชิญหน้ากันหลังจากเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้วยเหตุนี้อำนาจของฝ่ายเจ้าจึงขยายตัวครอบงำสังคมไทย และพัฒนาบทบาททางอำนาจเด่นชัดขึ้นจนกลายเป็น “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” อยู่ในขณะนี้
Ù นายดิ่น ท่าราบ เป็นตาของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีสมัย คมช.และดำรงตำแหน่งองคมนตรีปัจจุบัน
Ùประกาศของกรมโฆษณาการ คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ.2482 เรื่องกบฏ หน้า 16-17 (พระนคร : โรงพิมพ์พาณิชศุภผล)
Ù ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อใด? นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าน่าจะเริ่มต้นเมื่อรัชกาลที่ 4 ได้ลงนามในสนธิสัญญาพระราชไมตรีกับเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เอกอัครราชทูตจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ.2398 ที่เรียกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

Ù ทิพยวรรณ บุญแท้ 2528 หน้า 133-134 “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ระยะเริ่มแรก(พ.ศ.2443-2477) วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Ù ชื่อเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นายปรีดี ต้องการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นเพื่อเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ถูกวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายของกษัตริย์ครอบงำอีก ด้วยวัฒนธรรมพระราชทานปริญญาบัตรที่มีความสำคัญสูงสุดของการศึกษายิ่งกว่าความรู้จากการเรียน และการมีงานทำ

Ùฟรีเพรส (นามแฝง) 2493, หน้า 17 ใน “นักการเมืองสามก๊ก ตอนที่ 2” (พระนคร: โรงพิมพ์เอกการพิมพ์)

Ùสรรใจ แสงวิเชียร และวิมลพรรณ ปิตธวัชชัย 2517. หน้า 5 “กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489” (กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์)
Ù นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และราชวงศ์อย่างรุนแรง และเป็นที่ชิงชังของราชสำนัก และต้องลี้ภัยในกรณีลอบปลงพระชนม์ ไปอยู่ต่างประเทศตลอดชีวิต ล่าสุดพำนักอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส และไม่อาจจะกลับมาตายในผืนแผ่นดินไทยได้ คงกลับมาได้เฉพาะกระดูกเท่านั้น
ÙÙ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 2550.หน้า 56 “แผนชิงชาติไทย” พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพ: บริษัท พี.เพรส. จำกัด)

Ù สมุทร สุรักขกะ 2507.หน้า 364 “ปฏิวัติไทยและรัฐประหารสมัย 2489 ถึง 2507 (พระนคร: สื่อการพิมพ์)

Ùบันทึกสำเนาจดหมายขอขมาของนายตี๋ ศรีสุวรรณ ดูรายละเอียดในหนังสือ “ผู้วางแผนปลงพระชนม์ ร.8 ตัวจริง” สุพจน์ ด่านตระกูล 2551 (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด)
Ù ผิน ชุณหะวัณ,จอมพล 2513 “ชีวิตกับเหตุการณ์” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพจอมพลผิน ชุณหะวัณ (กรุงเทพมหานคร: อรุณการพิมพ์), 2516
Ùรัศมี ชาตะสิงห์ 2521 หน้า 384 “บทบาทพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะนายกรัฐมนตรี 6 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Ù สุตมัย ศรีสุข 2510.หน้า 80 ในหนังสือ “ฯพณฯ พลโทหลวงกาจสงคราม (นายพลตุ่มแดง) ยังไม่ตาย” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ท.กาจ กาจสงคราม 20 เมษายน 2510 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมสื่อสารทหาร)

Ù สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร 2521.หน้า 359 “บทบาททางการเมืองของนายควง อภัยวงศ์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึง 2491” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Ù หนังสือพิมพ์ศรีกรุง 12 พฤศจิกายน 2490

Ù แมลงหวี่(นามแฝง) 2490 หน้า 72,”เบื้องหลังประวัติศาสตร์ทางการเมืองของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” (พระนคร:ไทยวัฒนาพานิช),2511
Ù เฉลิม มะลิลา 2517 หน้า 139 “รัฐประหาร พ.ศ.2500 ในประเทศไทย” วิทยานิพนธ์แผนกวิชาภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Ùประยุทธ สิทธิพันธ์ 2507 หน้า 58 “ชีวิตและงานของจอมพลสฤษดิ์” (ธนบุรี :สำนักพิมพ์กรุงธน)

Ù ผศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ สายธารประวัติศาสตร์ฯ หน้า 86
Ù ไทยน้อย และ กมล จันทรสร 2500, หน้า 337 “วอเตอร์ลูของจอมพลแปลก” (พระนคร: แพร่วิทยา)