Wednesday, May 13, 2009

บทที่ 1 ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

บทที่ 1
ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถึงปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญมากที่สุด ข้ออ้างการฉีกรัฐธรรมนูญก็วนเวียนแต่ข้อกล่าวหาว่าผู้นำรัฐบาลไม่จงรักภักดี และทุจริตประพฤติมิชอบ ข้อถกเถียงในการร่างรัฐธรรมนูญก็วนเวียนอยู่แต่เรื่องเดิมๆ กลัวแต่จะกระทบอำนาจพระมหากษัตริย์ และกลายเป็นระบบประธานาธิบดี จนไม่สามารถจะเกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ภาวะความปั่นป่วนของบ้านเมืองเช่นนี้ถูกขนานนามว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แท้จริงคือระบอบอะไรกันแน่?

1.1 ปฏิวัติสลับฉากประชาธิปไตย


ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการฉีกและร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 หากนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบันนี้ ก็เฉลี่ยอายุของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับประมาณฉบับละสี่ปี ซึ่งก็ใกล้เคียงกับอายุของรัฐบาลแต่ละสมัย เพราะนายกฯ คนปัจจุบันคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 เฉลี่ยระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็ใช้นายกรัฐมนตรีเปลืองมากคือเฉลี่ยสามปีเศษต่อหนึ่งคน ในขณะที่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลกทุกประเทศจะกำหนดให้ผู้นำรัฐบาลมีอายุในการบริหารสมัยละสี่ปีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้การบริหารประเทศชาติมีความต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร แต่อายุรัฐบาลของประเทศไทยมีอายุสั้นกว่ามาตรฐานอายุของรัฐบาลทุกประเทศในโลก และล่าสุดได้ทำลายสถิติโลกคือในปี 2551 ปีเดียวประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 4 คน คือ 1.พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์(ม.ค.-ก.พ.), 2.นายสมัคร สุนทรเวช(ก.พ.-ต.ค.), 3.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์(ต.ค.-ธ.ค.) และ 4.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ(ธ.ค.-ปัจจุบัน) ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของราษฎร
ก็เมื่อระบบการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพแล้ว ระบบเศรษฐกิจของไทยจะมีเสถียรภาพได้อย่างไร
ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีของประชาธิปไตยไทย ได้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของราษฎรเป็นอย่างมาก

เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้คนหิวโหย การฉกชิงวิ่งราว ปล้นฆ่าชิงทรัพย์ จึงเป็นวิถีชีวิตปกติของสังคมไทย รวมตลอดถึงการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยราษฎรผู้ทุกข์ยากคนยากคนจนที่ ปากท้องหิวไม่สามารถจะดำรงชีวิตตามมาตรฐานขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ได้ ต่างก็พากันบุกรุกป่าสงวน ที่ภูเขาชายทะเล รวมตลอดถึงพื้นที่ทางเดินเท้า หาบเร่แผงลอยของชีวิตคนในเมืองก็ไม่อาจจะบังคับให้เป็นไปตามระบบกฎหมายได้ด้วยปัญหาความยากจนของผู้คน แต่สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาอธิบายใหม่ว่าเป็นลักษณะพิเศษของคนไทยที่ไม่เหมือนกับผู้คนชาติใดๆ ในโลกนี้ว่า “ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้” นั่นก็คือผู้ปกครองรัฐได้กล่าวหาราษฎรว่าเป็นสันดานของคนไทยที่ไม่มีระเบียบแบบแผน ชอบทำอะไรตามใจตัวเองนั่นเอง ทั้งที่แท้จริงแล้วต้นตอของวิถีชีวิตทั้งหมดมาจากปัญหาที่ระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ได้สร้างความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลจนสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งสะสมมานานเกือบศตวรรษแล้วยังไม่อาจจะแก้ไขได้ จึงทำให้สภาวะสังคมไทยเกิดภาวะความไร้ระเบียบ เกิดความปั่นป่วนถึงขั้นกลายเป็นประเทศแห่งมิคสัญญี ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกกำลังพัฒนาจัดระเบียบประเทศของตนให้ก้าวเข้าสู่ประเทศที่ทันสมัยด้วยการสร้างความเจริญเติบโตทางระบบเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบสังคม แต่ประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพพื้นฐานในด้านการพัฒนาดีกว่าอีกหลายประเทศในโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนกลับกลายต้องเป็นประเทศที่ล้มลุกคลุกคลานพายเรือวนอยู่ในอ่างเช่นนี้ ซึ่งหากยังเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปประเทศไทยเราจะได้พบความจริงว่าในอนาคตอันไม่ไกลเราจะถอยหลังมาเป็นเพื่อนกับประเทศพม่าและก้าวไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน แม้แต่ลาวและกัมพูชา

ท่านจะยอมให้ประเทศไทยของเราเป็นเช่นนั้นหรือ?

1.2 หมิ่นสถาบันฯ ข้อหายอดนิยม

การล้มรัฐบาลด้วยความรุนแรง นอกกติกาประชาธิปไตยเป็นภาวะปกติของสังคมไทยและข้อกล่าวหาว่าผู้นำรัฐบาลไม่จงรักภักดี คิดตั้งตัวเป็นประธานาธิบดีก็เป็นปกติที่ใช้ล้มล้างรัฐบาลกันมาตลอด
หากจะทบทวนประวัติศาสตร์ดูจะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิวัติใช้กล่าวหาในการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 กันยายน 2549 ก็ไม่ได้แตกต่างจากข้อกล่าวหาที่ใช้โค่นล้มรัฐบาลก่อนๆ ทั้งที่กล่าวหาอย่างเป็นทางการและกล่าวหาใส่ร้ายใต้ดินว่า “รัฐบาลไม่จงรักภักดี” บ้าง “ผู้นำคิดจะเป็นประธานาธิบดี” บ้าง เช่น การปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็ด้วยข้อกล่าวหาว่า “ปรีดีวางแผนลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 และคิดจะตั้งระบอบมหาชนรัฐ ตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี”× ก็คือระบอบสาธารณรัฐที่ใช้เรียกอยู่ในปัจจุบันนี้ จอมพลถนอม กิติขจร ถูกพลังมวลชนนิสิตนักศึกษาเดินขบวนขับไล่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็ถูกข้อกล่าวหาร่ำลือไปทั้งสังคมว่า พ.อ.ณรงค์ กิติขจร(ลูกชายจอมพลถนอม) คิดจะเป็นประธานาธิบดี, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่เรื่องขึ้นค่ารถเมล์จนต้องลาออก ก็ถูกกล่าวหาไม่เคารพในหลวงว่า “ชอบเมาเหล้าเข้าเฝ้า ในหลวง” แม้แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานติดต่อกันถึง 8 ปี ในปีสุดท้ายก็ถูกราษฎรและนักศึกษาเดินขบวนขับไล่จนตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีก ก็ถูกกล่าวหาว่า “เทียบพระบารมี” เพราะมีภาพปรากฏในสื่อมวลชนหลายครั้งว่าพลเอกเปรมเดินเหยียบผ้าขาวม้าที่ราษฎรมาต้อนรับ โดยนำผ้าขาวม้าปูให้เหยียบเพื่อนำไปใช้กราบด้วยความเคารพ เป็นต้น
1.3 ทำไม! ต้องยึดอำนาจล้มประชาธิปไตยอยู่เสมอ?


“นักการเมืองเลวจึงต้องยึดอำนาจ หรือระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ เลว จึงจ้องแต่จะยึดอำนาจ?”
คนเลวหรือระบอบเลว?
“นักการเมืองเลว” ก็เป็นข้อกล่าวหายอดนิยมควบคู่ไปกับข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ที่ใช้ในการยึดอำนาจล้มระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็นวาทกรรมที่พูดต่อๆ กันมาไม่รู้จักจบสิ้น
ความล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยได้ถูกวางไว้ที่ตัวนักการเมืองว่าเป็นคนเลวและมีความคิดมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับระบอบการเมืองไทยที่พิกลพิการที่เราขนานนามหลอกตัวเองว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แต่ในระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีการสื่อสารของโลกก้าวหน้าขึ้นทำให้ราษฎรสามารถรับรู้ความจริงของรากเหง้าแห่งปัญหาได้ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงแต่จับข้อมูลข่าวสารเปรียบเทียบคุณภาพของนักการเมืองไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ไทยกับมาเลเซีย หรือไทยกับฟิลิปปินส์ เป็นต้น ก็เห็นได้แล้วว่านักการเมืองในบ้านเมืองอื่นๆ ก็คล้ายกับบ้านเรา รวมทั้งราษฎรในประเทศเพื่อนบ้าน คุณภาพด้านการศึกษาก็ใกล้เคียงกัน ทำไมบ้านเขาถึงปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกันได้ราบรื่น แล้วทำไมของเราจึงไม่ราบรื่น ความจริงก็ปรากฏชัดเจนว่าบ้านเมืองที่เขาเป็นประชาธิปไตยนั้น เขาไม่มีระบอบกษัตริย์ หรือหากมีระบอบกษัตริย์ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย กษัตริย์หรือสุลต่าน(กรณีมาเลเซีย) ก็อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง และสถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เป็นประมุขแห่งรัฐ ส่วนการบริหารเป็นเรื่องของประชาชนที่เลือกตั้งตัวแทนกันเข้ามาสู่สภาตามวาระ
แท้จริงแล้วปัญหาการไม่มีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาของความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างอำนาจของประชาชนที่มีฐานอยู่ที่ระบอบพรรคการเมือง กับอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีฐานอยู่ที่ระบอบข้าราชการ ดังนั้นถ้าระบอบพรรคการเมืองเข้มแข็ง ระบอบประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง อำนาจของราษฎรก็จะเข้มแข็ง รัฐบาลที่มาจากราษฎรก็จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และจะส่งผลให้ระบอบข้าราชการ(ระบอบเจ้าขุนมูลนาย)อ่อนแอ โดยถูกราษฎรควบคุมผ่านระบอบพรรคการเมือง การแต่งตั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบพรรคการเมืองเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย อันจะทำให้การใช้อำนาจแทรกแซงของกษัตริย์ลดลง ส่งผลทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจจริงในสังคมไทยเกิดกระทบกับการใช้อำนาจของพรรคการเมือง
ในสภาวการณ์ของความเป็นจริงทางอำนาจเช่นนี้ แกนนำของระบอบราชการอันได้แก่ ผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ผบ.ทบ., ผบ.ทร. ผบ.ทอ., บรรดาปลัดกระทรวงและอธิบดีทั้งหลาย ก็อยากคงอำนาจของพวกเขาไว้ทั้งๆ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาใกล้จะร้อยปีแล้ว พวกเขาจึงพยายามจัดโครงสร้างอำนาจของตนขึ้น เพื่อขัดขวางการขยายตัวของระบอบพรรคการเมือง และความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย โดยพวกเขาทุกคนรู้ดีว่าหลังพิงของพวกเขาก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์
ระบอบราชการแทนที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารงานรัฐเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนนานาอารยประเทศ ก็กลับกลายเป็นเครื่องมือที่คอยบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองอยู่ร่ำไป
ด้วยเหตุแห่งความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างอำนาจเช่นนี้ ประชาธิปไตยของไทยจึงล้มลุกคลุกคลาน รัฐบาลของราษฎรจึงมีภาวะสามวันดีสี่วันใคร่ พอมีปัญหานิดหน่อยก็จะมีพวกข้าราชการนักวิชาการสอพลอออกมาเรียกร้องเปิดเงื่อนไขให้ทหารออกมายึดอำนาจอยู่ร่ำไป และทุกครั้งที่ลากรถถังออกมายึดอำนาจสำเร็จ พระมหากษัตริย์ก็ลงพระปรมาภิไธยรับรองกันร่ำไปเช่นกัน
สภาวการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริงเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ เข้าใจได้ในสังคมไทย แต่เราไม่ยอมพูดความจริงกัน เพราะมีกฎหมายอาญาปิดปาก โดยศาลได้ทำหน้าที่ตีความกฎหมายมาตรา112 เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้อย่างกว้างขวางตามแนวบรรทัดฐานศาลฎีกา จนกลายเป็นว่าไม่ว่าพูดอะไรที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ก็จะผิดกฎหมายเสียทั้งนั้น กลายเป็นว่าสังคมไทยไม่อาจจะศึกษาปัญหาทางการเมืองที่พูดถึงความจริงได้ ด้วยเหตุนี้ปัญหาความขัดแย้งของอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันพรรคการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลัก จึงถูกปกปิดไว้มองไม่เห็น และถูกเบี่ยงเบนไปว่าเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย และสรุปเรียกให้งงๆ ว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

1.4 อัศวินม้าขาว : วาทกรรมเผด็จการทหาร

การจะล้มระบอบประชาธิปไตยเพื่อช่วงชิงอำนาจของทหารที่ทำกันอยู่สม่ำเสมอ จนขนานนามว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องหาความชอบธรรมให้แก่ตนที่เข้ามามีอำนาจโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน โดยสร้างวัฒนธรรม “อัศวินม้าขาว” ขึ้น
อัศวินม้าขาวจึงกลายเป็นวาทกรรมที่เล่าขานต่อๆ กันมาว่า ทุกครั้งที่มีปัญหาของประเทศชาติก็จะมีอัศวินขี่ม้าขาวออกมาแก้ปัญหา ก็คือ ทหารขี่รถถังออกมายึดอำนาจนั่นเอง ดังนั้นอัศวินม้าขาวจึงกลายเป็นวีรบุรุษในความฝันของสังคมไทย แต่จากบทเรียนของประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลับต้องเจ็บปวดกับอัศวินม้าขาวทุกคน เพราะทุกคนที่ขี่ม้าขาวเข้ามายึดอำนาจเริ่มต้นก็จะกล่าวว่า “รักชาติจนน้ำตาไหล” และสุดท้ายกลายเป็น “รักชาติจนน้ำลายไหล” เป็นเช่นนี้เสียทุกคนนับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิติขจร, พลเอกสุจินดา คราประยูร และล่าสุดคือพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ตอนเข้ามาเป็นอัศวิน แต่ตอนออกไปเป็นอาชญากร เข้าทำนองว่า “เริ่มต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”
ในที่สุดอัศวินม้าขาวก็กลายเป็น “อัศวินม้าคาว” ที่เหม็นคาวคละคลุ้งไปด้วยการทุจริต ประพฤติมิชอบ ยิ่งกว่านักการเมืองที่เขากล่าวโจมตีด้วยเหตุเพราะระบอบอัศวินม้าขาวเป็นระบอบเผด็จการสมบูรณ์แบบไม่อาจจะตรวจสอบได้ โดยกล่าวอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เป็นเวทมนต์ที่ใช้หลอกลวงประชาชน และใช้กฎหมายกดหัวประชาชน และสื่อมวลชนถูกปิดปากห้ามวิพากษ์วิจารณ์
ต้องยอมรับความจริงว่าไม่มีระบอบการปกครองใดหรือไม่มีการบริหารของรัฐบาลใดในโลกที่ไม่ประสบปัญหาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินขบวนของประชาชนซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งเกิดขึ้นใน ทุกประเทศ แต่แทนที่เราจะสร้างวัฒนธรรมให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาด้วยตัวของมันเอง แต่กลับทำลายระบบเสียด้วยกลุ่มอำนาจนอกระบบซึ่งประกอบไปด้วยผู้ถืออาวุธและนักวิชาการอันเป็นข้าราชการประจำที่เป็นลูกสมุนคอยป่าวประกาศอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเบี่ยงเบนไปอีกทางหนึ่งด้วยมีเป้าหมายที่แอบแฝงเพื่อจะแย่งชิงอำนาจด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเปิดทางให้แก่อัศวินม้าขาว เช่น การกล่าวหาว่ามีประชาชนประท้วงแล้วรัฐบาลจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะปกครองต่อไป หากคำกล่าวเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องก็จะเห็นได้ว่าจะไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตยใดๆ ในโลกสามารถปกครองประเทศได้เลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นนวนิยายน้ำเน่าอันทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย และที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ก็คือ บรรดาครูบาอาจารย์ที่ไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษ และนานาอารยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็ดูจะปิดหูปิดตาตัวเอง และปิดใจของตนไม่ยอมรับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย และบุคคลเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนสมุนรับใช้ของเผด็จการโดยสนับสนุนแนวทางอัศวินม้าขาว และเมื่อมีการยึดอำนาจบุคคลเหล่านี้ได้สร้างความชอบธรรมให้แก่อาชญากรรมประชาธิปไตยด้วยการเข้าไปเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ทหาร ไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติภายใต้คำกล่าวที่หลอกลวงว่า “เข้าไปช่วยเหลือประเทศชาติในระยะผ่าน” ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าชวนหัวว่าทำไมจึงผ่านไม่พ้นระบอบเผด็จการทหารเสียทีเป็นระยะเวลา 70 กว่าปีแล้ว จนก่อตัวเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นว่าอัศวินม้าขาวจะแก้ปัญหาสังคมได้
กลุ่มอำนาจนอกระบบที่ประกอบไปด้วย ทหาร ตำรวจ และนักวิชาการผู้ฝักใฝ่ระบอบเผด็จการ และต้องการจะได้รับประโยชน์จากการเข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนเหล่านี้ ในทางวิชาการได้ถูกขนานนามว่า “ระบอบ อำมาตยาธิปไตย”
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าในประเทศหนึ่งๆ นั้น การแย่งชิงอำนาจเพื่อจะไปมีอำนาจในการบริหารประเทศนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาซึ่งจะมีความขัดแย้งอยู่เสมอ หากแต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าประเทศนั้นจะต้องมีระบบการปกครองที่ชัดเจนในการเข้าสู่อำนาจและการพ้นไปจากอำนาจ ซึ่งระบบปกครองที่ประเทศทั้งโลกยอมรับเสมือนเป็นศีลธรรมใหม่ของโลก คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้กำหนดจะต้องเป็นประชาชนด้วยการเลือกตั้ง แต่ระบอบอำมาตยาธิปไตยได้สร้างวาทกรรมจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยว่าการตัดสินใจของประชาชนไม่ใช่สิ่งสำคัญ เสียงของประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์แต่ เสียงสวรรค์ที่จะทำให้ผู้มีอำนาจเป็นรัฐบาลได้นั้นคือเสียงของพระมหากษัตริย์ที่จะรับรองใครก็ได้ที่จะเป็นผู้มีอำนาจโดยไม่สนใจความถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้การยึดอำนาจทุกครั้งในการล้มระบอบประชาธิปไตยนั้นจึงถูกกล่าวอ้างอย่างเสมอว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองอยู่มิได้ขาดภายใต้วัฒนธรรมอัศวินม้าขาว และทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ของไทยก็จะลงพระปรมาภิไธยให้แก่อัศวินม้าขาวหรือหัวหน้าคณะปฏิวัติทุกครั้งไป นี่คือต้นเหตุแห่งความระส่ำระสายของระบอบการปกครองไทยที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
คนไทยเราได้ถูกสร้างวาทกรรม “พูดต่อๆ กันมา” ว่าเมื่อเกิดวิกฤตทางสังคมการเมืองแล้วก็จะเรียกหาอัศวินม้าขาวให้มายึดอำนาจ ล้มระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากการรัฐประหารตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ นั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าอัศวินม้าขาวไม่สามารถจะแก้วิกฤตของสังคมการเมืองไทยได้ และกลับยิ่งเพิ่มปัญหาทับถมอย่างฝังรากลึก และก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเหตุผลที่แท้จริงของการยึดอำนาจแต่ละครั้งนั้นมิใช่เป็นเรื่องของการแก้ “ปัญหา” หากแต่เป็นเรื่องของ “ตัณหา” ที่จะช่วงชิงอำนาจโดยไม่ยอมรับการมีอำนาจของประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง

1.5 รัฐธรรมนูญฉีกแล้วเขียนใหม่ : วนอยู่ในอ่าง

รัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศไทยพอเริ่มไอเจ็บคอ อำนาจนอกระบบ(หรืออำมาตยาธิปไตย) ก็จะทำตัวเหมือนเชื้อโรคคอยแทรกแซงทันที เริ่มต้นก็จะบีบให้ปรับคณะรัฐมนตรีถ้ายังไม่ถูกใจ ขั้นต่อไปก็จะใช้วิธีบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วเปลี่ยนตัวนายกฯ ใหม่ ถ้าไม่ได้ก็จะเพิ่มดีกรีให้แรงขึ้นโดยขอนายกฯ พระราชทาน แต่ถ้ารัฐบาลมีความเข้มแข็งและยังแข็งขืนต่อคำเตือนที่ส่งสัญญาณลงมาในรูปแบบต่างๆ แล้วอำนาจนอกระบบก็จะเริ่มก่อตัวโดยใช้กระแสมวลชน กระแสนักวิชาการ, กระแสสื่อ รวมศูนย์โจมตี แล้วก็ปิดท้ายด้วยการ ยึดอำนาจเมื่อได้โอกาส ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในระยะใกล้คือกรณีของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่างที่ทุกคนจะเห็นได้ชัด เพราะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีภาวะเศรษฐกิจดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นรัฐที่ทันสมัยในระบบโลกาภิวัตน์ ซึ่งอำนาจนอกระบบไม่อาจจะใช้มาตรการปกติบีบให้ลาออกได้ ก็จะถูกการใช้มาตรการรุนแรงทำการโค่นล้ม
เมื่อกระทำรัฐประหารโค่นล้มก็จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะตัดไม้ตัดมืออำนาจของประชาชนมากขึ้น แล้วเพิ่มอำนาจให้แก่ระบอบราชการมากขึ้น โดยใส่ร้ายป้ายสีว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเองอยู่ร่ำไป โดยเนื้อหาหลักๆ ของรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องทางให้แก่อำนาจนอกระบบเข้ามามีอำนาจให้สมบูรณ์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับ รสช.(ปี 2534) ก็ตัดอำนาจการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการที่จะโยกย้ายข้าราชการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีคำสั่งโยกย้ายได้เฉพาะปลัดกระทรวงซึ่งเป็นระดับซี 11 เท่านั้น ส่วนราชการตั้งแต่ ซี 10 ลงมาห้ามยุ่ง ซึ่งเป็นฝีมือของนายกฯ อนันต์ ปันยารชุน(ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร รสช.) หรือรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.(ปี 2550) ก็ตัดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้มากขึ้นและทำลายความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง โดยให้อำนาจ ส.ส.ที่จะไม่พังมติพรรคได้รวมตลอดทั้งการเปิดช่องทางให้ศาลและราชการเข้ามาควบคุมรัฐสภาและรัฐบาลโดยตรง โดยให้อำนาจศาลและองค์กรอิสระ(ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ) เป็นผู้ มีอำนาจในการแต่งตั้งวุฒิสภาได้ครึ่งหนึ่ง(74 คน) โดยมีอำนาจควบคุมรัฐบาลได้เสมือนหนึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นต้น
เมื่อหลักๆ ได้อำนาจเพิ่มจนพอใจแล้วก็จะมาตั้งคำถามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบพายเรือวนในอ่างจนน่าเวียนหัวกับระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องเก่าๆ เช่น เขตเลือกตั้งควรจะเป็นเขตเล็กเบอร์เดียว หรือเขตใหญ่เรียงเบอร์?, เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงดีหรือไม่? เพราะเกรงจะเป็นระบบประธานาธิบดี?, วุฒิสภาควรจะมาจากการแต่งตั้งจะดีกว่าการเลือกตั้งโดยตรงไหม?, หมวดพระมหากษัตริย์ห้ามแตะต้องเพราะจะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ เป็นต้น
จากประวัติศาสตร์พอร่างรัฐธรรมนูญตามใจผู้มีอำนาจเสร็จ ใช้ไปอีกไม่นานก็ฉีกอีก แล้วก็ร่างใหม่อีก ด้วยข้อถกเถียงเดิมๆ เหล่านี้ แม้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดว่าเป็นการร่างจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด มิได้เกิดจากความต้องการของคณะยึดอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็ยังไม่วายที่อำนาจนอกระบบยังไม่พอใจ ก็ยังให้ฉีกเสียเมื่อ 19 กันยายน 2549
การร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็ต้องเอาเงินภาษีอากรของประชาชนมาใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เฉพาะค่าใช้จ่ายในการร่างรัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ ก็หมดไปหมื่นล้านบาท(เฉพาะฉบับปี 2540+2550 ใช้จ่ายกว่า 5,000 ล้านบาท) ยังไม่นับความเสียหายจากการหยุดชะงักในการพัฒนาของบ้านเมืองอีกไม่รู้เท่าไร แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจกับการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจนอกระบบว่าหากเขาไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อไร เขาก็จะฉีกรัฐธรรมนูญนั้นเสียโดยง่าย เพื่อจะเปลี่ยนตัวรัฐบาลที่เขาไม่พอใจ และที่ประหลาดใจที่สุดที่คนไทยทุกคนมีคำถามอยู่ในหัวใจแต่ไม่กล้าถามให้มีเสียงดัง ก็คือ
“เมื่อทหารยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ทำไมในหลวงจึงยอมลงพระปรมาภิไธยรับรองคณะผู้ฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้งไป?”



1.6 ยึดอำนาจทุกครั้งทำไมในหลวงลงพระปรมาภิไธยให้ทุกครั้ง?


เป็นที่สงสัยกันไม่เฉพาะในหมู่คนไทยเท่านั้น แต่คนทั้งโลกก็สงสัยว่าการยึดอำนาจที่มักจะเรียกว่าการปฏิวัติทั้งๆ ที่แท้จริงก็คือการรัฐประหารนั้นเป็นอาชญากรรมทางการเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และนับวันยิ่งร้ายแรงยิ่งขึ้นด้วยนานาอารยประเทศไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ทุกครั้งที่มีการกระทำอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ทำไมพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของราษฎรคนไทยทั้งประเทศ จึงยอมซึ่งหากพระองค์จะมีดำรัสตักเตือนพวกทหารที่ชอบยึดอำนาจเสียบ้าง ทุกคนก็จะเชื่อฟังและทำตาม แต่ทำไมพระองค์ไม่ทรงยับยั้งการกระทำอันเป็นอาชญากรรมเช่นนี้เล่า? และไม่เพียงแต่ไม่ทรงยับยั้งเท่านั้นยังได้ทรงลงพระปรมาภิไธย(ลายเซ็น)ให้แก่การรัฐประหารที่กระทำสำเร็จทุกครั้งอีกด้วย ทำให้ผู้กระทำการรัฐประหารเหล่านั้นมีความชอบธรรมในการที่จะปกครองประเทศชาติ และประชาชนทั่วไปก็จำเป็นต้องหวานอมขมกลืนเนื่องจากเคารพสักการะในพระองค์ท่าน และไม่อาจจะโต้แย้งใดๆได้เนื่องจากมีกฎหมายอาญาปิดปากไว้ในมาตรา 112 ซึ่งมีความรุนแรงไม่เฉพาะแต่ตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดแต่ยังกระทบกระเทือนไปถึงลูกหลานวงศ์ตระกูลที่ใช้นามสกุลเดียวกันในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชา นุภาพด้วย ดังนั้นกฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นเครื่องมือปิดปากที่จะให้ราษฎรไม่ว่าใครทั้งนั้นไม่สามารถตั้งคำถามอันเป็นข้อคับข้องใจตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้
มีคนตั้งคำถามว่าหากในหลวงไม่ลงพระปรมาภิไธยให้แก่ผู้ที่ทำการยึดอำนาจบุคคลเหล่านั้นจะกระทำการยึดอำนาจได้หรือไม่? เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ได้แน่นอนและจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและคนทั้งโลกด้วย คำถามจึงยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้นว่า
“ทำไมพระองค์จึงกระทำการเช่นนั้น?”
คำตอบที่นักวิชาการทั้งหลายพยายามเสกสรรปั้นแต่งให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับก็คือ
“หากพระองค์ไม่ลงพระปรมาภิไธยให้คณะผู้ยึดอำนาจ จะเป็นอันตรายแก่พระองค์เอง...................................................จริงหรือ?”
“พระองค์ต้องทรงปฏิบัติเช่นนั้นเพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง........................................................................จริงหรือ?”
เท่าที่ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมเหตุผลของนักวิชาการที่ขาย จิตวิญญาณทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่คนทั่วไปยังขัดข้องหมองใจอยู่กล่าวคือ
1.ก็ในเมื่อราษฎรทั้งประเทศเคารพสักการะพระองค์ท่าน เชื่อในสิ่งที่ท่านทรงมีพระราชดำรัสจึงเป็นไปไม่ได้ที่อำนาจนอกระบบซึ่ง ก็คือกลุ่มข้าราชการที่ถูกบ่มเพาะมาให้ยึดมั่น เชิดชู สถาบันพระมหากษัตริย์เหนือชีวิต และจะเห็นได้ว่ากลุ่มข้าราชการต่างๆทั้งหลายจะกล่าวอ้างเสมอเมื่อมีความขัดแย้งกับนักการเมืองว่าพวกตนคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(หรือในหนึ่งก็คือเขาเป็นพวกในหลวง) บุคคลเหล่านี้จะกล้ากระทำในสิ่งที่ไม่บังควรต่อพระองค์ได้อย่างไร
2.การกล่าวว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมืองจึงต้องลงพระปรมาภิไธยรับรองการกระทำอันไม่ถูกต้องต่อระบอบประชาธิปไตย ที่คนทั้งโลกไม่ยอมรับนั้นทุกครั้งไป จึงเป็นการกล่าวที่ไม่บังควรต่อพระเกียรติยศของพระองค์ เพราะเท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าพระองค์ทรงมิต้องรับผิดชอบแก่การกระทำการใดๆ อันไม่ถูกต้องนั่นเอง ดังนั้นปัญหาอันไม่อาจจะหาคำตอบได้ จึงทำให้เกิดข้อครหาค้างคาใจในหมู่ประชาชนว่า “ทำไมระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงไม่อาจมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เลย?”
สิ่งเหล่านี้หรือที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แท้จริงมันคือระบอบอะไรกันแน่?




1.7 เข้าใจระบอบ จึงจะเข้าใจสถานการณ์

ระบอบการเมืองของไทยมีความซับซ้อนมากจนเป็นผลให้นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และผู้ที่สนใจในแวดวงการเมือง เกิดการมึนงงในการที่จะประเมินและวิเคราะห์วิกฤตการณ์ทางการเมืองว่าจะคลี่คลายไปในทางใด อย่างเช่น การประท้วงยึดทำเนียบรัฐบาลที่ยาวนานของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และขยายตัวไปยึดสนามบินซึ่งกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองเรื้อรังของไทยในขณะนี้,ไม่เพียงแต่ไม่อาจจะวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตได้เท่านั้นแต่ยังไม่อาจจะรู้ได้ด้วยว่าแท้จริงแล้วมีต้นเหตุมาจากอะไรกันแน่?
ดังนั้นการที่จะเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองของไทยได้จริงๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ให้แน่ชัดว่าแท้จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้ คือระบอบอะไรกันแน่?
หากเราดูวิวัฒนาการทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะการผลัดเปลี่ยนอำนาจรัฐบาลด้วยการโค่นล้มฉีกรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ก็จะเห็นว่าทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะมีการจัดโครงสร้างอำนาจให้รวมศูนย์ไปที่องค์พระมหากษัตริย์มากขึ้นทุกที จนกระทั่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กลายเป็นอำนาจที่ไม่อาจโต้แย้งได้ รวมตลอดทั้งพระราชดำรัสก็กลายเป็นเสมือนองค์การแห่งสวรรค์ที่พสกนิกรต้องปฏิบัติตาม ไม่อาจจะโต้แย้งหรือสงสัยได้ สภาวะเช่นนี้จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น และพระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจได้โดยตรงด้วยอำนาจทางวัฒนธรรม ที่ครอบงำอำนาจทางกฎหมายและอำนาจอธิปไตยทั้งสาม คือ อำนาจบริหาร, นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้นคำพูดหรือแนวคิดไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ประชาชนทุกคนต้องพึงสังวรและคอยรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำไปปฏิบัติ
ในภาวะแห่งโครงสร้างของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่อำนาจกลับรวมศูนย์ที่องค์พระมหากษัตริย์เช่นนี้ ไม่มีคำใดที่ให้ความหมายได้เหมาะสมกับคำว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่”
×เมื่อ 15 กันยายน 2490 พอ.พระยาวิชิตสรศาสตร์(จินดา วัชรเสถียร) อดีตนายทหารกรมช่างแสงได้แจ้งความต่อตำรวจว่าปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้บงการให้เกิดกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 (หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ 11 ตุลาคม 2490) และพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวหาปรีดี พนมยงค์ ในทางสาธารณะในขณะนั้นในลักษณะเดียวกัน (สุธาชัย ยิ้มเจริญ ,แผนชิงชาติไทย หน้า 56)

No comments:

Post a Comment