Wednesday, May 13, 2009

บทที่ 5 การบริหารอำนาจของราชสำนัก รูปธรรมจาก ถนอม ถึง สุจินดา

บทที่ 5
การบริหารอำนาจของราชสำนัก รูปธรรมจาก ถนอม ถึง สุจินดา

บทบาทการบริหารอำนาจทางการเมืองของราชสำนักมีความเด่นชัดมากขึ้นนับตั้งแต่การโค่นล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยใช้พลังมวลชน และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเครื่องมือโดยผ่าน “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” เพื่อไม่ให้กลุ่มการเมืองใดมีอำนาจเข้มแข็ง แข่งกับอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” จึงสถาปนาขึ้นโดยสมบูรณ์ และนับแต่นั้นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งจึงไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่รัฐบาลของพล.อ.เปรมเองก็ต้องมีอันเป็นไป

5.1 บริหารอำนาจผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ

ลักษณะพิเศษของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ก็คือการบริหารอำนาจผ่านตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นบุคคลที่มีฐานะหรือฐานันดรทางสังคม เพื่อผลักดันกลไกทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ให้ตอบสนองอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นการใช้อำนาจโดยตรงขององค์พระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ เพื่อให้สังคมได้หลงเชื่ออย่างจริงจังตามปรัชญาทางการเมืองว่า “พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง” บุคคลที่ถูกถ่ายทอดอำนาจเชิงสัญลักษณ์นี้มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีใครบัญญัติศัพท์เรียกขานได้ชัดเจนเท่ากับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้บัญญัติขึ้น คือคำว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”
พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้คำว่าผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญแทนการกล่าวถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง ปี 2548-2549 ด้วยเพราะในขณะนั้นพล.อ.เปรม มีบารมีล้นฟ้า การเอ่ยอ้างชื่อตรงๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะทำได้ ทั้งๆ ที่พล.อ.เปรมได้เข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะประธานองคมนตรี ด้วยเหตุนี้จึงได้ประดิษฐ์ใช้คำแทนความหมายถึงตัว พล.อ.เปรมว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” แต่แท้จริงแล้วผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญมีมาช้านานแล้ว และที่เด่นชัดในปี 2516 ก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยสังคมถูกทำให้เชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ภูมิพล โดยการแสดงออกของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทางข้อเขียน บทความและการกล่าวปราศรัยในที่สาธารณะที่จะอ้างอิงถึงความใกล้ชิด ความจงรักภักดีอยู่เสมอ รวมตลอดทั้งพระมหากษัตริย์เองก็ทรงแสดงความห่วงใยในตัวม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในโอกาสต่างๆ เช่น พระราชทานแจกันดอกไม้เยี่ยมไข้ เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ป่วย และบางโอกาสก็ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมด้วยพระองค์เอง ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นในทางสาธารณะของคึกฤทธิ์ก็ถูกตีความว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการจะถ่ายทอดถึงพสกนิกร
แต่หากจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยในช่วง ห้าทศวรรษตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญนั้นมิใช่มีเพียงคนเดียว หากแต่ได้ถูกสร้างขึ้นหลายคนใน แต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ โดยคำพูดของบุคคลที่สังคมเชื่อว่าเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเหล่านั้นจะถูกตีความจากสังคมว่าเป็นการพูดแทนพระมหากษัตริย์ หรือเป็นคำพูดที่แสดงถึงความต้องการทางการเมืองของพระองค์, ฐานะของผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญจึงคล้ายกับศาสดาพยากรณ์ในศาสนายูดา หรือศาสนายิว ที่เป็นผู้ถ่ายทอดความประสงค์ของพระยะโฮวา ซึ่งเป็นพระเจ้าผู้อยู่บนสรวงสวรรค์ซึ่งจะไม่ลงมาเกลือกกลั้วกับมนุษย์บนแผ่นดินนี้, ดังนั้นฐานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองไทยจึงมีฐานะเทียบได้กับพระเจ้า อีกทั้งวัฒนธรรมทางภาษาของไทยก็สอดคล้องกับระบบศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเทวะนิยม กล่าวคือคนไทยจะเรียกกษัตริย์โดยต้องมีคำว่าพระเจ้านำหน้าอยู่เสมอ เช่น พระเจ้าอยู่หัว “ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากพระเจ้าบนฟากฟ้านั่นเอง และเมื่อใครได้ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้รับมอบอำนาจเชิงสัญลักษณ์จากกษัตริย์ หรือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญแล้ว สังคมก็จะให้ความเชื่อถือต่อผู้นั้นในฐานะผู้มีเกียรติ์สูงยิ่งขึ้นไปจากเดิมที่ตนเคยมี ด้วยเหตุนี้เองในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา จึงเกิดความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นที่จะเป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” หรือ นัยหนึ่งก็เหมือนอยากเป็นศาสดาพยากรณ์ เพื่อจะเป็นผู้แสดงความประสงค์ของพระเจ้าซึ่งบุคคลที่อยากจะเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเหล่านั้นจะมีทั้งผู้ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นทหาร ตำรวจ และสามัญชน รวมทั้งพระสงฆ์ด้วย เราจะสังเกตได้ว่าในหมู่บุคคลเหล่านี้พยายามจะสร้างกิจกรรมเพื่อเชิดชูเกียรติ์ของพระองค์ เช่น เป็นกรรมการมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช, หรือเป็นกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา, หรือจัดกิจกรรมแข่งรถเฉลิมพระเกียรติ์ หาเงินเพื่อถวายเงินเป็นส่วนพระองค์บ้าง เป็นพระราชกุศลบ้าง เป็นต้น และหลายคนที่เฝ้าถวายงานก็จะถูกเลือกสรร และกำหนดบทบาททางสังคมให้เข้ามาอยู่ใกล้ชิด และหากมีความเหมาะสมมีความสามารถในระดับสูงก็จะพัฒนาไปเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ และในแต่ละยุคสมัย แต่ละสถานการณ์ทางการเมือง ตัวละครทางการเมืองที่เรียกว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ก็จะถูกสร้างให้แตกต่างกันไป ซึ่งผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญนี้จะมีอำนาจทำการผิดกฎหมาย หรือท้าทายอำนาจการบริหารของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการก็ได้หากมีความจำเป็นเพื่อตอบสนองกับเป้าหมายทางการเมืองของราชสำนัก เช่น การกำจัดบุคคลทางการเมืองที่ราชสำนักคิดว่าจะเป็นอันตรายหรือกระทบกระเทือนต่ออำนาจของราชสำนัก แม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะเคยอยู่ในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญมาก่อนก็ตาม หากมีพฤติกรรมทางการเมืองที่น่าสงสัย ไม่สอดรับกับอำนาจของราชสำนักก็จะมีอันเป็นไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือแม้แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่ออยู่ในฐานะที่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดก็ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองไปเช่นกัน

5.2 บทบาท “ผู้มีบารมี ฯ” ในแต่ละสถานการณ์

“ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ที่แสดงบทบาทเด่นชัดในการควบคุมและกำกับการทางการเมืองที่เป็นบุคคลสำคัญที่ควรจะกล่าวถึง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิวัฒนาการของการเมืองไทยมีดังนี้
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตผู้พิพากษาซึ่งมีความใกล้ชิดกับราชสำนัก เคยเป็นผู้ดูแลคำให้การของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ในคดีการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8Ù และในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็พอดีเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีบทบาทโดดเด่นในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเมื่อเทียบกับม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ว่าราชสำนักได้บริหารอำนาจทางการเมืองอย่างเงียบๆ กับนายสัญญา ธรรมศักดิ์มาก่อนตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา และเมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลของมวลชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ลงได้ เครือข่ายราชสำนักก็เริ่มปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพทันที โดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในภาวะฉุกเฉินทันที ถือได้ว่าเป็นนายกพระราชทานคนแรกในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ และหลังการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ แล้วนายสัญญาก็ทำการบริหารการเมืองโดยได้รับแนวคิดของกษัตริย์ไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนในฐานะผู้เคยเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญมาก่อน โดยจัดตั้งสมัชชาประชาชนเพื่อเตรียมรองรับการจัดทำรัฐธรรมนูญ เสมือนหนึ่งจะรู้กันว่าจะให้ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริงคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อจากตน, และหลังจากบริหารจัดการทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพจนได้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ ตามพระราชประสงค์แล้ว นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี
การเคลื่อนไหวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อปี 2516-2517 หลังจากโค่นล้มรัฐบาลถนอม-ประภาส ที่เป็นเสี้ยนหนามราชสำนักแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจของราชสำนักผ่านตัวแทนหรือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญในขณะนั้นก็พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบและกระทำการควบคุมระบบงานของรัฐมากขึ้น แต่เป็นไปอย่างแนบเนียนยากที่ใครจะมองเห็นดังเช่นในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ถือได้ว่าเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญรุ่นคลาสสิคยุคแรกๆ ที่เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ขึ้นครองราชย์ในตอนเย็นของวันที่ 9 มิถุนายน 2489(พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สิ้นพระชนม์เช้าในวันเดียวกันนั้น) โดยเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ยุคแรกเมื่อ 6 เมษายน 2489 และเป็นแกนนำคนหนึ่งที่พลิกสถานการณ์จากการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 กลายเป็นเรื่องลอบปลงพระชนม์เพื่อทิ่มแทงนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของราชสำนักโดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้มีบทบาททางการเมืองทั้งในฐานะนักการเมืองในยุคแรกๆ และนักคิดนักเขียน เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ที่คอยปกป้องคุ้มครองราชย์สำนักมาตลอดตั้งแต่เริ่มบทบาทอย่างเป็นทางการโดยจัดตั้งพรรคก้าวหน้าขึ้นก่อน และประกาศตัวอย่างเปิดเผยในเวลานั้นว่าเป็นผู้นิยมเจ้า(Royalist) ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศตัวเผชิญหน้ากับคณะราษฎร และกลุ่มอำนาจทหารในปี 2489 ผ่านยุค จอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลเริ่มมีความมั่นคงทางการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว
ในช่วงรัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส นั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีบทบาทเป็นตัวแทนอำนาจเชิงสัญลักษณ์อย่างชัดเจนในการบริหารทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยการปลุกระดมพลังมวลชน นิสิต นักศึกษาปัญญาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เนื่องจากราชสำนักได้เคยมีบทเรียนที่เป็นอันตรายอันเกิดจากอำนาจรัฐของสามัญชนผู้ถืออาวุธอย่างเจ็บปวดมานานเกือบ 40 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475, ดังนั้นเมื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ทำงานรับใช้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทางการเมืองมาอย่าง ซื่อสัตย์และเด็ดเดี่ยว อีกทั้งเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วย เมื่อโค่นล้มจอมพล ถนอม-ประภาส ได้แล้วบำเหน็จรางวัลอย่างงามก็ตกแก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นผู้จัดดำเนินการให้เกิดสภาสนามม้าÙ โดยพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้แต่งตั้ง หลักฐานที่ปรากฏเด่นชัดได้แก่บุคคลที่ถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาสนามม้าหลายคน ต่อมาก็กลายมาเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เช่น นายประทีป เสียงหวาน นายกสมาคมสามล้อเครื่องแห่งประเทศไทย เป็นต้น และในที่สุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ได้รับเลือกจากสภาสนามม้าให้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นเพื่อจัดเตรียมกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางให้ตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ได้ตามความประสงค์ ซึ่งการเตรียมการจัดการอำนาจในลักษณะปรุงเองกินเองของราชสำนักในขณะนั้นก็มีผู้อ่านเกมส์ออก ดังจะเห็นได้จากหน้าปกและบทความของนิตยสารรายสัปดาห์ “มหาราช” ซึ่งมีนายปรีชา สามัคคีธรรม เป็นบรรณาธิการ โดยนักเขียนการ์ตูนชื่อดังคือ ชัย ราชวัตร ได้วาดรูปม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังเปิดม่านโรงลิเกเพื่อโชว์ตัวนายกฯ ซึ่งผู้ที่แต่งตัวเป็นนายกฯ อยู่หลังม่าน ก็มีหน้าตาเหมือนคึกฤทธิ์นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามการขึ้นเป็นนายกฯ ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ทุลักทุเลเพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกิจสังคมได้พ่ายแพ้แก่พรรคประชาธิปัตย์อย่างไม่เป็นท่าคือได้ ส.ส.เพียง 18 คนเข้าสภา แต่ก็ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมในสภาตลบหลังจนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คือมรว.เสนีย์ ปราโมช พี่ชายของตัวเองต้องพ่ายแพ้กลางสภาอย่างไม่เป็นท่าแล้วตัวเองก็ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ชอบธรรมจนได้ฉายานามจากสื่อมวลชนว่า “เฒ่าสารพัดพิษ” กล่าวคือม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ปฏิบัติการอย่างอุกอาจในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่งด้วยการล้มพรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียงข้างมาก โดยเปิดประวัติศาสตร์ต้นแบบการเมืองน้ำเน่าโดยประกาศชัดเจนว่าใครรวม ส.ส.ได้ 5 คน ก็จะแจกตำแหน่งรัฐมนตรีให้ 1 ตำแหน่ง จากแผนนี้ก็ทำให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกอย่างสมใจในปี 2518 และพระเจ้าอยู่หัวก็ลงนามรับรองความถูกต้องให้ไม่ต่างจากที่นายชวน หลีกภัย ตั้งรัฐบาลงูเห่าที่ล้มอำนาจของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ราชสำนักไม่ได้วางใจเมื่อปี 2540 และไม่ต่างจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งรัฐบาลงูเห่ารอบสองในปี 2551 เมื่อล้มรัฐบาลตัวแทนของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ราชสำนักไม่ชื่นชอบเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าราชสำนักได้บริหารอำนาจในระบอบประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญมีมานานแล้ว และ ราชสำนักจะไม่สนใจความถูกต้องของครรลองประชาธิปไตย เพียงแต่ขอให้เป็นรัฐบาลที่สยบต่อราชสำนักก็แล้วกัน ถ้าแปรเปลี่ยนหรือไม่พอพระทัยเมื่อใด รัฐบาลก็จะถูกโค่นล้ม ดังนั้นภาวะการณ์ของรัฐบาลที่มีลักษณะทุลักทุเลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจึงเกิดขึ้นเสมอ และได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอันเนื่องมาจากการไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลมาตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งมีพรรคกิจสังคมเป็นแกนนำโดยมีเสียงอยู่เพียง 18 เสียงเข้าบริหารประเทศได้ จึงถูกพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงมากกว่าบีบเอาผลประโยชน์อย่างมูมมาม จึงทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างล้มลุกคลุกคลาน แต่เมื่อบริหารต่อไปได้สักระยะหนึ่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ได้ส่อแววว่าจะไม่ตอบสนองแนวทางทางการเมืองของราชสำนัก เพราะพยายามแก้ปัญหาประเทศชาติด้วยการจับมือกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งราชสำนักเชื่อว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจคือ เวียตนาม และจีน คอมมิวนิสต์ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปจับมือกับเมาเซตุง ซึ่งราชสำนักเชื่อมั่นว่ามีเจตนาล้มราชวงศ์ของพระองค์ และในขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เปิดฉากสงครามประชาชนในประเทศอย่างเข้มแข็ง ประกอบกับเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมขนานใหญ่ของชาวนา และกรรมกร โดยการปลุกระดมของนักศึกษา ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงเกิดขบวนการฝ่ายขวาที่มีแนวความคิดอนุรักษ์นิยม เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น กลุ่มกระทิงแดงที่มี พล.ต. สุดสาย เทพหัสดิน กลุ่มลูกเสือชาวบ้านซึ่งนำโดย พล.ต.ท.สุรพล จุลละพราหมณ์ และกลุ่มนวพลมีแกนนำ เช่น นายวัฒนา เขียววิมล และพระกิตติวุฒโท ผู้ประกาศฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป (ซึ่งผู้มีชื่อเหล่านี้กลายมาเป็นตัวละครตัวใหม่ในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ) ก็ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างรุนแรง และบ่อยครั้งกระทำการต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษาที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่คนยากจนและถึงขั้นลอบสังหารผู้นำนักศึกษา กรรมกรและชาวนา โดยเฉพาะกรณีการลอบฆ่า 9 ผู้นำชาวนาภาคเหนือ ที่ลุกขึ้นนำชาวนาต่อต้านการขูดรีดค่าเช่านาอย่างทารุณ จนกลายเป็นเรื่องสะเทือนขวัญของสังคมไทยในขณะนั้นโดยกลุ่มขวาจัดเหล่านี้ได้กระทำการอย่างผิดกฎหมาย พกอาวุธทำร้ายนักศึกษา ก่อกวนผู้ชุมนุมอย่างเปิดเผย (คล้ายม็อบเส้นใหญ่พันธมิตรเช่นในปัจจุบันนี้) โดยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ทำอะไรไม่ได้ และล่าสุดม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ได้ทำการยกเลิกสัญญาการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ยิ่งสร้างความวิตกกังวลต่อราชสำนักว่าจะไม่สามารถยันกองทัพของคอมมิวนิสต์ที่จะรุกเข้าประเทศไทยได้ และในที่สุดรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ต้องล้มลงด้วยการยุบสภา รวมเวลาอยู่ได้ไม่พอปี เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเคยชนะลอยลำในเขต 1 กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเขตอำเภอดุสิต ซึ่งมีค่ายทหารมีคะแนนนอนก้นถุงอยู่ประมาณ 20,000 เสียง ก็พลิกคว่ำโดยแพ้คู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นคือนายสมัคร สุนทรเวช ตัวละครตัวใหม่ของราชสำนักที่ปั้นขึ้นมาเป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ในเวลานั้นอีกคนหนึ่งโดยเป็นดาวเด่นและเป็นคนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อจากคึกฤทธิ์และได้เป็นรัฐมนตรีร่วมในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลมรว.เสนีย์ ปราโมช (ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ที่ก้าวขึ้นมาแทนคึกฤทธิ์ และจากการแพ้การเลือกตั้งครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ไว้หนวดยาวตั้งแต่นั้นมาจนสิ้นชีวิตเสมือนหนึ่งว่าจะประท้วงใครสักคนที่เคยเคารพนับถือแต่ไม่อาจจะพูดถึงได้
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาผู้มีแนวความคิดทางการเมืองแบบขวาจัด ซึ่งแสดงตัวอย่างโดดเด่นในขณะที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พี่ชายของคึกฤทธิ์ที่ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และจากข้อมูลในหนังสือ เดอะ คิง เนฟเวอร์ สไมส์ ในบทที่ 12 ก็ให้ข้อมูลว่านายธานินทร์เป็นคนใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งนายธานินทร์ก็ได้แสดงบทบาทในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญร่วมมือกับนายดุสิต ศิริวรรณÙ อาจารย์หนุ่มจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นที่แตกแถวออกมาแสดงบทบาทรับใช้ราชสำนักอย่างเต็มที่โดยทำการประสานงานกับกลุ่มขวาจัดในขณะนั้นอย่างชัดเจน เพื่อเตรียมการล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และกวาดล้างขบวนการนักศึกษา ซึ่งราชสำนักเชื่อมั่นว่ากลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าได้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อโค่นล้มระบอบกษัตริย์ซึ่งเป็นอันตรายแก่ราชสำนัก และไม่อาจจะปล่อยไว้ได้แล้ว แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ นายกฯ ก็ไม่ตอบสนอง
บทบาทของนายสมัครในฐานะรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยได้เคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายกับนายธานินทร์ และกลุ่มมวลชนขวาจัดต่อต้านนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชที่อ่อนแอเกินไปที่จะปราบปรามขบวนการนักศึกษา อีกทั้งยังแสดงความโลเลที่จะปกป้องราชสำนักโดยประกาศนโยบายเศรษฐกิจว่าเป็น “สังคมนิยมอ่อน” ตามกระแสสูงของแนวคิดสังคมนิยมในขณะนั้น
สัญญาณโค่นล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงเกิดทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่รับใช้ราชสำนักมาแต่ต้น, แต่ในสถานการณ์ขณะนั้นไม่อาจตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของราชสำนักได้ และแล้วสถานการณ์ก็ถูกสร้างขึ้นจากสื่อเครื่องมือสำคัญของราชสำนัก โดยเฉพาะสถานีวิทยุยานเกราะประสานกับกลุ่มขบวนการทางการเมืองขวาจัดทั้งหมด อาทิเช่น กระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน และส่วนราชการคือ ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน ทหาร ก็ประสานงานกันระดมล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเข่นฆ่านักศึกษา ประชาชน อย่างโหดเหี้ยม ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ (ลุงของภรรยาพลเอกวินัย ภัททิยกุล แกนนำ คมช.ที่ยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549) ก็ยึดอำนาจล้มรัฐบาลมรว.เสนีย์ ปราโมช แล้วนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีบนคราบเลือดที่นองสนามหลวง พร้อมคู่หูคนสำคัญคือนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เหตุการณ์ทรยศของนายสมัคร สุนทรเวช ที่กระทำต่อพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองของราชสำนักที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2519 ก็คล้ายกับกรณีการทรยศของนายเนวิน ชิดชอบ ที่ทรยศต่อพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อไปหนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ตามความประสงค์ของราชสำนัก เหตุการณ์ 6 ตุลาคมได้สร้างความเคียดแค้นให้แก่ปีกซ้ายของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีหัวก้าวหน้าโดยมีนายชวน หลีกภัย ส.ส.ตรัง นายวีระ มุสิกพงศ์ ส.ส.กทม.และนายสุรินทร์ มาศดิษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นแกนนำ ได้กล่าวประนาฌนายสมัคร สุนทรเวช โดยให้ฉายาใหม่ว่า “ไอ้ซ่าจอมเนรคุณ” และมีการกล่าวกระทบกระเทียบภายในพรรคประชาธิปัตย์ถึงราชสำนักที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารโหด โดยนายสุรินทร์ มาศดิษฐ์ ได้เกิดช็อคเส้นโลหิตในสมองแตกเป็นอัมพาตนอนป่วยจนถึงแก่ชีวิต จากเหตุการณ์ทางการเมืองนี้ ดังนั้นการที่สังคมและนักวิชาการมักจะประณามนักการเมืองว่าไม่มีอุดมการณ์ ชอบย้ายพรรค หาประโยชน์เฉพาะตัวนั้นแท้จริงเป็นการมองปัญหาด้านเดียวและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่นี้ นักการเมืองเป็นเพียงของเล่นของราชสำนักที่กษัตริย์จะบีบบังคับเอาอย่างไรก็ได้เพื่อสนองตอบการบริหารอำนาจของพระองค์โดยไม่สนใจว่าระบอบประชาธิปไตยจะเดินไปตามครรลองหรือไม่ และก็ไม่สนใจว่านักการเมืองเลวหรือดี แต่ขอให้ยินยอมก้มหัวรับใช้อำนาจทางการเมืองของราชสำนักก็แล้วกัน ดังนั้นภายใต้ร่มเงานี้ภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่ดีในระบบเลือกตั้งจึงถูกใส่ร้ายป้ายสี จนเสียหายไปทั้งระบบและเปิดทางให้นักการเมืองเลวขยายบทบาทและฉกชิงผลประโยชน์ได้โดยมิชอบ และยากที่นักการเมืองที่ดี มีอุดมการณ์ เพื่อประชาชนจะยืนอยู่ได้ แม้หากนักการเมืองที่มีอุดมการณ์จะแข็งขืนยืนหยัดตามอุดมการณ์เพื่อประชาชนของตนก็จะถูกป้ายสีว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดี และไม่มีแผ่นดินจะอยู่ เช่น นายปรีดี พนมยงค์, พ.ท.โพยม จุลานนท์ (บิดาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์), นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่ผ่านมา เป็นต้น รายล่าสุดก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
สุดท้ายเหตุการณ์ฆาตกรรมการเมืองที่สะเทือนขวัญคนทั้งโลก เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ก็กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งหาคนผิดไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์เข่นฆ่าประชาชนในเวลาก่อนและหลัง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม 2535 ก็ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ฆ่าประชาชน และล่าสุดก็ทำนายได้ว่าการก่อจลาจลยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT และยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมตลอดถึงการฆาตกรรมในเหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดคนบาดเจ็บล้มตายเพียงเพื่อจะทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่เป็นที่โปรดปรานของราชสำนักก็จะไม่มีการสอบสวนนำคนผิดมาลงโทษทั้งสิ้น นี้คือตัวอย่างเชิงประจักษ์ของอำนาจในระบอบการปกครองที่เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่”
หลังจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามความประสงค์ของราชสำนักแล้ว ธานินทร์ก็สะท้อนแนวคิดของราชสำนักที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากตะวันตก คือเป็นประชาธิปไตยแบบคลั่งชาติขวาจัดโดยยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, โดยนายธานินทร์ได้ประกาศขอเวลาอยู่ในอำนาจ 12 ปี โดยไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพื่อจะใช้เวลาฝึกฝนเยาวชนให้มีอุดมคติดังกล่าว แต่สุดท้ายอยู่ได้ประมาณ 12 เดือน ก็ถูกคณะทหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ คนเดิมเป็นหัวหน้า แต่คนคุมกำลังจริงคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองทำการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลของราชสำนักลง ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ไม่พอพระทัยอย่างยิ่งโดยแสดงออกทันทีในขณะนั้นโดยตั้งให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดเป็นองคมนตรีตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ และต่อมาพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็ครองอำนาจอยู่ได้ประมาณ 3 ปี ก็ถูกโค่นล้มด้วยพลังมวลชนนำโดยนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง ปลุกระดมประชาชนเดินขบวนขับไล่เนื่องจากรัฐบาลอนุญาตให้ขึ้นราคาน้ำมัน(ขณะนั้นราคาน้ำมันถูกควบคุมมิใช่ลอยตัวเหมือนทุกวันนี้) และทำให้รถเมล์ขึ้นราคา 50 สตางค์ เป็นผลให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งพลังมวลชนที่เดินขบวนนั้นก็เป็นเพียงแต่เงื่อนไขสร้างความชอบธรรมที่จะขับไล่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เพื่อให้บทละครการเมืองแนบเนียนเท่านั้น แท้จริงแล้วผู้ที่ทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ต้องตัดสินใจลาออกก็คือคนที่ชื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ราชสำนักสนับสนุนในฐานะผู้บัญชาการทหารบกที่กลุ่มทหารยังเตอร์กผู้คุมกำลังตัวจริงหันหลังกลับจากพลเอกเกรียงศักดิ์ มาหนุนพลเอกเปรม แล้วนายกคนใหม่ก็คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายทหารที่ใกล้ชิดราชสำนักและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง จากอดีตถึงปัจจุบันได้เริ่มฉายแสงตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 คุมกำลังทหารภาคอีสาน พื้นที่อันตรายที่สุดในการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ถูกดึงตัวเข้ามาอยู่ส่วนกลางจนเป็นผู้บัญชาการทหารบก และเข้ามาอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุดต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในปี 2523
ในช่วงเส้นทางทางการเมืองของพลเอกเปรม ตั้งแต่ก่อนและหลังปี 2523 เป็นช่วงเวลาที่ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญคนเดิม อย่างเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่ในช่วงปลายชีวิต เป็นช่วงเวลาที่ผู้มีบารมีฯ ทั้งสองทับซ้อนอำนาจกันอยู่ ดูเหมือนว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะตกอันดับอับแสงเสียแล้ว ในขณะนั้นเราจึงเห็นภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างบุคลทั้งสองอยู่เสมอแต่ส่วนมากจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ทิ่มแทงอย่างรุนแรงต่อพลเอกเปรมในเชิงประชดประชันเกี่ยวกับแนวทางความจงรักภักดีของพลเอกเปรมจนสิ้นชีวิตของท่าน แต่ก็ไม่อาจขัดขวางเส้นทางอำนาจของพลเอกเปรมได้
การสร้างนิยายทางการเมืองเพื่อเสริมสร้างบารมีให้ตัวเองของพลเอกเปรมในบทที่สำคัญที่ควรจะกล่าวไว้ในที่นี้เพราะละครบทนี้ยังทรงอิทธิพลให้พลเอกเปรมเป็นผู้ใกล้ชิดราชสำนัก ไม่ใช่เฉพาะว่าเป็นประธานองคมนตรีในขณะนั้น แต่ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างยิ่งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถ นั่นก็คือละครชีวิตทางสังคมเบื้องหลังชีวิตพลเอกเปรมถือครองความเป็นโสด ไม่ยอมแต่งงานมาตลอดชีวิตนั้นก็เพราะหลงรักผู้หญิงสูงศักดิ์คนหนึ่ง แล้วผิดหวัง ซึ่งเรื่องซุบซิบการเมืองนี้ถูกทิ้งท้ายไว้ให้เป็นที่สงสัยเป็นเสมือนคำตอบของการซุบซิบว่าผู้หญิงสูงศักดิ์นั้นก็คือ องค์สมเด็จฯ นั่นเอง
แม้การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม จะเป็นที่พึงพอใจของราชสำนัก รวมตลอดทั้งมีผลงานยุติสงครามประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ยืดเยื้อยาวนานและเป็นที่วิตกกังวลของราชสำนักด้วยนโยบาย 66/ 2523 โดยใช้การเมืองนำการทหารซึ่งก่อประโยชน์ต่อราชสำนักอย่างมาก, แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพลเอกเปรมอยู่ครองอำนาจในตำแหน่งนายกฯ นานถึง 8 ปี ผลพลอยได้ก็เกิดขึ้นคือเกิดบารมีแผ่ไพศาลจนเกิดบทกลอนเชียร์พลเอกเปรมให้เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาล ไม่ว่าจะไปตรวจการในจังหวัดใด ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็จะสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเกณฑ์มวลชนมาถือป้ายเชียร์ด้วยข้อความว่า “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกเป็นของเปรม”, ความมั่นคงทางการเมือง และการมีบารมีไพศาลเช่นนี้ ก็ถูกเขม่นและไม่พอใจจากวังเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีทุกคนที่ผ่านมา
ดูเหมือนว่าพลเอกเปรมจะรู้แนวคิดของราชสำนักดีว่าไม่ต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีคนใดมีอำนาจและมีเสถียรภาพยาวนาน ดังนั้นในวันแรกที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรมก็ประกาศต่อสาธารณะเพื่ออำพรางความคิดของตน เพื่อให้ราชสำนักสบายใจว่า “ผมไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง” แต่จากการครองอำนาจปรากฏว่าพลเอกเปรมได้แสดงออกถึงความมักมากในอำนาจอย่างซ่อนเร้น โดยทำลายคู่แข่งที่คาดหมายว่าจะเข้ามาแย่งตำแหน่งของตน เช่น ในขณะนั้นนายเกษม จาติกวนิช(ลุงของนายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเป็นคนเก่ง มีผลงานบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฝผ.) ได้เจริญก้าวหน้าจึงตกเป็นข่าวว่าจะเข้ามาเป็นนายกฯ(ขณะนั้นนายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส.) พลเอกเปรมก็จัดการทำลายชื่อเสียงโดยจับกุมน้องชายชื่อนายไกรศรี จาติกวนิช(พ่อนายกรณ์) อธิบดีกรมศุลกากร ในข้อหาโกงภาษีนำรถยนต์โตโยต้าเข้าประเทศ และอีกหลายคนที่ต้องมีชะตาชีวิตเช่นนี้ จนพลเอกเปรมได้รับสมยานามจากสื่อมวลชนว่า “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”
แท้จริงโดยส่วนลึกพลเอกเปรมมีความทะเยอทะยานทางการเมืองอย่างสูง แต่ปกปิดไว้ได้แนบเนียนด้วยคำพูดว่า “ทดแทนบุญคุณแผ่นดิน”
เมื่อการอยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรมยาวนานถึง 8 ปี ต่อมความระแวงของราชสำนักก็เริ่มทำงานโดย “เครือข่ายราชสำนัก” ก็รับรู้สัญญาณนั้นโดยเริ่มทำหน้าที่โจมตีและบ่อนเซาะทำลายอำนาจของพลเอกเปรมโดยมีการกล่าวหาว่าพลเอกเปรมกระทำการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เหมาะสม โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนบทความโจมตีแนวคิดประชาธิปไตยแบบนายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของพลเอกเปรมที่แอบอิงสถาบัน และแล้วในวันหนึ่งพลเอกเปรมก็เกิดพลาดขึ้นแบบไม่คาดคิด นั่นก็คือระหว่างออกเยี่ยมประชาชน ได้มีชาวบ้านที่เลื่อมใสพลเอกเปรมต่างเอาผ้ามาปูให้พลเอกเปรมเดินเหยียบเพื่อนำไปกราบสักการะ คล้ายๆ กับที่ชาวบ้านกระทำกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เท่านั้นเอง “เครือข่ายราชสำนัก” ก็ได้ที ประกอบกับผู้มีบารมีฯ อื่นๆ ที่ยังไม่อับแสงเสียทีเดียว เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายสมัคร สุนทรเวช ก็ประสานเสียงโจมตีว่าไม่เหมาะสมเป็นการ “เทียบบารมีในหลวง” และนับแต่นั้นก็มีขบวนการมวลชนต่อต้านพลเอกเปรมมาตลอด ถึงขนาดเด็กนักศึกษารามคำแหงก็โดดชกหน้าพลเอกเปรมขณะไปประกอบพิธีกรรมเปิดงานที่สนามกีฬาเป็นข่าวฮือฮามาก และนับแต่นั้นพลเอกเปรมก็เริ่มอยู่ในฐานะที่คล้ายกับ พ.ต.ท.ทักษิณในวันนี้คือ “ทำอย่างไรก็ไม่ถูกใจราชสำนัก” เหมือนกับคำพังเพยโบราณว่า “ผีซ้ำด้ามพลอย” กล่าวคือผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ หรือผู้ที่เสียผลประโยชน์ทั้งหลายจากการครองอำนาจและจากนโยบายของพลเอกเปรมก็ประสานเสียงกันโจมตี โดยเฉพาะในส่วนนักการเมืองที่เด่นชัดก็คือนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน และล่าสุดเมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เมื่อรู้ผลการเลือกตั้งแล้ว ก็มีกลุ่มประชาชนที่เกลียดพลเอกเปรมและเหมือนจะรู้ว่าราชสำนักคิดอย่างไรก็ได้รวมตัวกันเดินขบวนขับไล่ไม่ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีก ซึ่งพลเอกเปรมรู้วัฒนธรรมการเมืองไทยที่ส่งสัญญาณมาจากราชสำนักดีว่าหมายถึงอะไร? จึงประกาศวางมือทางการเมือง แล้วหนุนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวท่านเองเมื่อลาออกจากการเมืองในตำแหน่งนายกฯ แล้วก็หมอบกราบให้แก่ราชสำนัก จึงได้รับการโปรดปราณไว้เนื้อเชื่อใจ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี และเป็นประธานองคมนตรีต่อมาโดยแทนนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เมื่อถึงแก่อสัญกรรม แล้วนับแต่นั้นบทบาททางการเมืองใหม่ของพลเอกเปรมก็เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญจนถึงทุกวันนี้
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อยู่ในอำนาจอย่างยาวนานมาก และต่อเนื่องนับตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการทหารบกจนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นนายกฯ และเป็นประธานองคมนตรีจนถึงปัจจุบัน รวมอยู่ในอำนาจนานกว่า 30 ปี และเมื่อไม่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มาเป็นคู่แข่งบารมี คอยถ่วงดุลแล้ว พลเอกเปรมจึงสามารถแสดงบทบาทของผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่และเป็นระบบที่สุด โดยแสดงบารมีอย่างเด่นชัดคือการโค่นล้มรัฐบาลพลเอกชาติชาย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534, โค่นรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อ พฤษภาคม 2535 และต่อจากนั้นเข้าควบคุมจัดการทุกรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาบริหารประเทศ ในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นยุคผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเฟื่องฟูที่สุด เพราะพลเอกเปรมได้แสดงอำนาจเหนือรัฐอย่างชัดเจนและเป็นระบบ ดังจะเห็นได้จากการเปิดไฟเขียวให้กลุ่มพันธมิตรดำเนินการท้าทายกฎหมายอย่างอุกอาจโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่กล้าแตะต้อง เพียงเพื่อต้องการล้มรัฐบาลนายสมัคร และนายสมชาย รวมตลอดถึงใช้ศาลเป็นเครื่องมือตัดสินเอาผิดจนนายกฯ ถึงสองคนต้องหลุดจากตำแหน่ง ทำให้ประเทศไทยทำลายสถิติโลกคือปีเดียว “ป๋าเปรม” บริหารจัดการจนมีนายกฯ ได้ถึง 4 คนÙ และเมื่อได้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ สมใจนึกแล้ว “ป๋า” ก็เปิดบ้านต้อนรับกล่าวชื่นชมว่า
“ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ”
ถ้าเช่นนั้นการที่ประเทศไทยได้พ.ต.ท.ทักษิณ, นายสมัคร, นายสมชายเป็นนายกฯ ตามครรลองประชาธิปไตยนั้นเป็นความโชคร้ายหรือ? คงจะด้วยเหตุนี้ “ป๋า” ถึงได้ใช้อำนาจโค่นล้มรัฐบาลของประชาชนจนบ้านเมืองป่วนมาทุกวันนี้ใช่หรือไม่?
เมื่อเป็นเช่นนี้ถนนทุกสายจึงวิ่งหาพลเอกเปรมเพราะบุคคลในแวดวงการเมืองได้พบเห็นช่องทางลัดของการขึ้นสู่อำนาจการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้นจึงมีแต่คนโง่เท่านั้นที่ต้องการมีอำนาจทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งของประชาชน เพราะทั้งต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงทรัพย์ และเสี่ยงภัยสายตัวแทบขาด ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงพยายามมีอำนาจการเมืองด้วยการแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หรือนัยหนึ่งก็คือพยายามจะโหนสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าสู่อำนาจทางการเมือง ซึ่งง่ายกว่าและเบาแรงกว่ากันมาก และมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนแล้ว ดังนั้นทุกคนจึงมุ่งที่จะวิ่งเข้าหาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แล้วทุกคนก็จะไม่ผิดหวังดังเช่น หลังการยึดอำนาจ 19 ก.ย. 49 คนในเครือข่ายของพลเอกเปรมได้ดิบได้ดีกันเป็นแถว พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ลูกเลี้ยงก็ได้เป็นนายกฯ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ลูกน้องก็ได้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นาวาอากาศเอกประสงค์ สุ่นสิริ ลูกน้องก็เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายชาญชัย ลิขิตจิตกะ ประธานศาลฎีกาที่ให้ความร่วมมือในการตัดสินจำคุกลงโทษ กกต. และไม่ให้ประกันตัวจนต้องหลุดจากตำแหน่งตามแผน ก็ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายอารีย์ วงศ์อารยะ ลูกน้องอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย นายบัญญัติ จันทร์เสนะ อดีตผู้ว่าสงขลาเมื่อปลดเกษียณ แล้วก็ทำตัวเป็นรับใช้คอยเฝ้าบ้านที่สงขลาให้ก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย, นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัฐ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ที่ช่วยดูแลเศรษฐกิจการเงินให้และเคยร่วม ค.ร.ม.กับ พลเอกเปรมก็ได้เป็นรองนายกฯ และแม้แต่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรัฐบุรุษ ก็ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานะทางการเมืองเป็นทิวแถว หลังการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ด้วยเหตุที่มีตัวอย่างการได้ดิบได้ดีเช่นนี้ จึงเกิดบุคคลมากมายต่างก็พยายามแสดงตัวเป็นผู้ใกล้ชิดราชสำนักกัน ด้วยหวังจะเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญกับเขาบ้าง ซึ่งมีทั้งจริงบ้าง เท็จบ้าง ตัวอย่างเช่นนายสุเมธ ตันติเวชกุล (เลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา) ซึ่งอ้างว่ารับใช้ใกล้ชิดและรู้เรื่องแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด นายแพทย์ประเวช วะสี ผู้ตั้งฐานันดรทางสังคมของตนเองขึ้นมาว่า “ราษฎรอาวุโส” ซึ่งอ้างว่าเป็นแพทย์ผู้ใกล้ชิด, นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี ที่อ้างว่าเป็นหมอหลวงผู้ใกล้ชิด, นายโสภณ สุภาพงศ์ ก็อ้างว่าเป็นคนใกล้ชิดเนื่องจากทำธุรกิจในนามเรมอนฟาร์มของปั๊มบางจาก เป็นการรับใช้แนวพระราชดำริ, ม.ล.ปีย์ มาลากุล ที่อ้างตัวเป็นตลกหลวงผู้ใกล้ชิดพระองค์ทรงโปรดให้เข้านอกออกในสำนักพระราชวังได้ และรายล่าสุดที่ดูจะกะเลวกะราชมากกว่าเขาก็คือนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรที่พยายามจะแอบอ้างกับสังคมในหลากหลายกรณีว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับราชสำนักสายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เช่น อ้างว่าได้รับพระราชทานผ้าพันคอสีฟ้าซึ่งเป็นสีพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ เพื่อมาใช้ในการสร้างความชอบธรรมในการปลุก ม๊อบโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น
เมื่อเล่นนอกกติกาประชาธิปไตยเช่นนี้ บ้านเมืองจึงปั่นป่วน ประชาชนก็เดือดร้อน
ผู้มีรายชื่อดังกล่าวข้างต้นได้แสดงบทบาททางสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐบาลในแต่ละยุคที่มีความเข้มแข็งหรือเป็นรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีไม่เป็นที่โปรดปราน และในที่สุดต้องมีอันเป็นไป ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลก็จะล้มลงด้วยการเดินขบวน หรือด้วยการรัฐประหาร หรือรัฐประหารซ้อนรัฐประหาร แล้วแต่กรณี ส่วนรัฐบาลที่จะอยู่รอดปลอดภัยก็คือรัฐบาลที่อ่อนแอ หรือรัฐบาลที่ไม่มีโอกาสจะสร้างความระคายเคืองเบื้องยุคลบาทได้เลย เช่น รัฐบาลผสมที่ดูแล้วอายุไม่ยืนยาว เช่น รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย หรือรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นต้น
ด้วยเหตุการณ์ที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นแก่หลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้ถูกกระบวนการนอกระบบประชาธิปไตยคือขบวนการของผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญแทรกแซงได้โดยเปิดเผยและระบบกฎหมายไม่อาจเอาผิดกับผู้มีบารมีฯ ได้แม้แต่คนเดียวเช่นนี้จึงเป็นการยืนยันให้เห็นถึงระบอบการเมืองที่แท้จริงของไทยคือ “สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” ไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้นจึงไม่อาจจะมีกลุ่มการเมือง หรือสถาบันการเมืองใดๆ ก้าวขึ้นมามีบทบาทนำทางสังคมที่เข้มแข็งได้ เพราะเครือข่ายราชสำนักจะเป็นองค์กรเฝ้าระวังไม่ให้สถาบันการเมืองของประชาชนเติบโตขึ้นมาแข่งบารมีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

5.3 บริหารอำนาจผ่านข้อจำกัดของทุกรัฐบาล

โดยโครงสร้างทางสังคมของประเทศด้อยพัฒนาทุกประเทศจะมีลักษณะปัญหาร่วมทางสังคมที่คล้ายคลึงกันคือ มีช่องว่างทางสังคมระหว่างคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กับคนร่ำรวย ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ส่วนคนกลุ่มที่เข้ามาสู่อำนาจรัฐก็จะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของคนรวย แต่เฉพาะของสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนทางโครงสร้างยิ่งกว่านั้นไปอีกกล่าวคือจะมีกลุ่มผลประโยชน์แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ขัดแย้งกัน คือ
1.กลุ่มพลเรือนคนยากจนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ส่วนมากเป็นเกษตรกร และเป็นกรรมกรรับจ้างผู้ไร้สมบัติ ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในชนบท
2.กลุ่มพลเรือนพ่อค้านายทุน รวมถึงคนระดับกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศเมื่อเปรียบกับคนกลุ่มแรกและ ส่วนมากประกอบอาชีพค้าขายจะอยู่ในเมืองหลวง และชุมชนเมืองตามอำเภอและจังหวัด
3.กลุ่มขุนนางซึ่งเป็นคนหยิบมือเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 คนกลุ่มนี้เป็นข้าราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร แม้จะเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ในสังคม แต่เนื่องจากมีระบบจัดตั้งเป็นองค์กร และมีวัฒนธรรมองค์กรที่สืบเนื่องมายาวนานกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีการกล่อมเกลาทางสังคมวัฒนธรรม(Socialization) ที่เข้มแข็งให้มีสำนึกผูกพันและรับใช้โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์
จากโครงสร้างของกลุ่มผลประโยชน์ 3 กลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่ากลุ่มขุนนางแม้จะเป็นคนกลุ่มน้อยที่สุด แต่กลับเป็นกลุ่มชนที่มีอำนาจมากที่สุด เพราะได้รับการสนับสนุนทางอำนาจโดยตรงจากพระมหากษัตริย์เช่นการให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสัญลักษณ์เกียรติยศทางสังคม ซึ่งพ่อค้านายทุน และชาวนาชาวไร่จะไม่ได้รับเกียรติ์เช่นนี้ รวมตลอดทั้งการให้โอกาสแก่กลุ่มข้าราชการเข้าเฝ้าใกล้ชิดอยู่เสมอ อีกทั้งมีพิธีกรรมที่ให้ข้าราชการเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อประชาชนก้มหัวให้แก่พระมหากษัตริย์ก็ต้องก้มหัวให้แก่ทหาร ตำรวจ และข้าราชการผู้ใกล้ชิดพระองค์ด้วย และการก้มหัวให้นั้นเองก็คือการยอมรับอำนาจที่อยู่เหนือกว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มขุนนางมีเงื่อนไขทางสังคมที่ดูดเอาผลประโยชน์และทรัพยากรจากสังคมไปหล่อเลี้ยงพวกตนได้มากที่สุด ทำให้บ่อน้ำแห่งผลประโยชน์ทางสังคมเหลือน้อย จำต้องแย่งกันระหว่างกลุ่มพลเรือนกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มพลเรือนกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีความเข้มแข็งกว่า จึงเป็นผลให้เกษตรกรคนยากจนทุกข์ยากยิ่งขึ้น และเกิดความขัดแย้งกัน แต่ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมานี้ กลุ่มพ่อค้านายทุนได้เติบใหญ่เข้มแข็งขึ้นมาก และนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มพลเรือนพ่อค้านายทุนนี้ได้แสดงบทบาทนำทางการเมืองเด่นชัดมากขึ้น จากเดิมต้องแอบผู้อยู่ข้างหลังกลุ่มขุนนาง แต่ปัจจุบันกลับยืนอยู่หน้ากลุ่มขุนนาง โดยอาศัยระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่อำนาจในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง และเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้านายกลุ่มขุนนางโดยอาศัยระบอบการเมืองแบบรัฐสภา ผ่านการเลือกตั้ง ดังจะเห็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีส่วนมากที่มาจากนักธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากการเมืองก่อนปี 2500 ที่มีแต่นายทหารและขุนนางเป็นผู้นำอย่างเด่นชัด ซึ่งย่อมจะเกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มขุนนาง ข้าราชการทั้งหลาย อีกทั้งกลุ่มพลเรือนพ่อค้าได้ใช้อำนาจรัฐแย่งชิงทรัพยากรจากขุนนางที่เคยอิ่มหมีพีมันมาแบ่งปันให้แก่กลุ่มชาวนาชาวไร่คนยากจน เพื่อช่วงชิงให้เป็นพรรคพวกหรือนัยหนึ่งก็เพื่อขอแรงสนับสนุนทางการเมือง ในรูปของคะแนนเสียงโดยเสนอนโยบายที่เด่นชัดเช่นนโยบายประชานิยมของทักษิณ ยิ่งทำให้กลุ่มขุนนางไม่พอใจกลุ่มพลเรือนพ่อค้าที่ครองอำนาจมากยิ่งขึ้น ดังนั้นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มพ่อค้านายทุน กับกลุ่มขุนนาง จึงเป็นความขัดแย้งที่ชิงความเป็นใหญ่ในกรอบอำนาจทางการเมืองอยู่เสมอ ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมานี้นับตั้งแต่ความขัดแย้งในระดับที่ประนีประนอมกันได้ เช่นการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างข้าราชการกับนักการเมือง ในการบริหารงานราชการในภาวะที่มีการเลือกตั้ง และความขัดแย้งในระดับที่ประนีประนอมกันไม่ได้ เช่นการทำรัฐประหารยึดอำนาจล้มอำนาจของพรรคการเมือง และความขัดแย้งยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อกลุ่มพลเรือนพ่อค้าได้พยายามจะหยั่งรากลึกสู่กลุ่มพลเรือนเกษตรกรเพื่อจะผนึกกำลังทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งหากปล่อยให้พัฒนาไปโดยสันติก็จะพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงก็คือตัวแทนกลุ่มพลเรือนเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่สุด ที่จะต้องขึ้นมามีอำนาจจากการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากระบอบปกครองของไทยยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อำนาจการเมืองยังรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์และขุนนางด้วยเหตุนี้กลุ่มขุนนางซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวแต่มีการจัดตั้งเข้มแข็ง จึงไม่อาจจะยอมให้เกิดการพัฒนาอำนาจของพลเรือนให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองอย่างมั่นคงได้ ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยจึงนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น
ดังนั้นเหตุผลของการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนในทุกครั้งที่กล่าวอ้างนั้นจึงเป็นเรื่องโกหก และความจริงที่เป็นเนื้อแท้ของความขัดแย้งก็คือการทำลายฐานอำนาจของกลุ่มพลเรือนพ่อค้านายทุนไม่ให้ก้าวขึ้นมาปกครองและเพื่อรักษาประโยชน์ทางสังคมของกษัตริย์และขุนนางไว้เท่านั้น
ในสภาพความเป็นจริงกลุ่มพลเรือนของพ่อค้านายทุนก็มีความขัดแย้งกัน แบ่งเป็นหลายกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งกลุ่มอาชีพ และกลุ่มการเมือง ได้แก่การจัดตั้งพรรคการเมืองที่แบ่งกันเป็นหลายพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสภาพธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย แต่แทนที่กษัตริย์และกลุ่มขุนนางจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยยืนดูอยู่ห่างๆก็กลับกลายเป็นใช้เงื่อนไขแห่งธรรมชาติความแตกต่างทางความคิดนี้ขยายผลให้เป็นความแตกแยกและเข้าแทรกแซงหนุนหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้กลุ่มขุนนางกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญในทางการเมือง และสุดท้ายก็จบลงด้วยที่ทำการยึดอำนาจและใส่ร้ายป้ายสีบิดเบือนการเมืองระบอบประชาธิปไตยเสมอมา
ในการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองกันระหว่างกลุ่มพลเรือนพ่อค้า รูปธรรมก็คือพยายามช่วงชิงกลุ่มคนยากจนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของสังคมเป็นพรรคพวก ในโครสร้างอำนาจของพรรคการเมืองด้วยทั้งโฆษณาใส่ร้ายซึ่งกันและกัน และพยายามจะหาคะแนนเสียงด้วยการอวดอ้างว่ากลุ่มตนเป็นผู้ให้ผลประโยชน์แก่กลุ่มคนยากจนมากกว่าโดยมองไม่เห็นภัยของกลุ่มขุนนาง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทุกครั้งก็จบลงด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจ และในระยะต้นฝ่ายขุนนางพวกทหาร ในฐานะหัวหน้าขุนนางก็จะพยายามหลอกลวงทำดีกับคนยากจนเช่นเดียวกับพวกพรรคการเมืองด้วยนโยบายแจกผลประโยชน์ และอวดอ้างคุณธรรม พร้อมทั้งโจมตีพวกพ่อค้านายทุนที่เป็นผู้นำพรรคการเมืองว่าเป็นผู้คิดคดทรยศต่อบ้านเมือง หาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นนายทุนขูดรีดขูดเนื้อประชาชน แต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็ให้บทเรียนแก่ประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าพวกขุนนางที่เข้ามายึดอำนาจนั้นสุดท้าย คือฝูงเหลือบตัวจริงที่ครองอำนาจโดยการหลอกเรื่องคุณธรรมและความเชื่อทางไสยศาสตร์ว่าพวกเขามีอำนาจด้วยบุญบารมีและห้ามตรวจสอบ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มพลเรือนพ่อค้าที่มีอำนาจโดยขอความชอบธรรมจากประชาชนในรูปของนโยบายทางการเมือง และตรวจสอบได้ทุกๆ สี่ปี
แต่อย่างไรก็ตามแม้คนในกลุ่มพ่อค้านายทุนด้วยกันเองจะขัดแย้งกันในทางการเมือง และจะขัดแย้งกับกลุ่มขุนนางก็ตามที แต่คนทั้งสองกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มคนที่ได้เปรียบทางสังคม เป็นเศรษฐีและเจ้าที่ดินซึ่งมีฐานะที่ดีกว่า คนส่วนใหญ่ของสังคม ดังนั้นคน 2 กลุ่มนี้จึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน และจะไม่แบ่งผลประโยชน์หลักให้แก่คนยากจนดังจะเห็นได้ว่า 50 กว่าปีที่ผ่านมานี้ไม่ว่าคนกลุ่มไหนจะไปมีอำนาจในสภา ก็จะไม่มีการออกกฎหมาย การจัดเก็บภาษีมรดก และการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ก้าวหน้าได้เลย ด้วยเพราะกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของคนทั้ง 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 2 กับกลุ่มที่ 3 ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์เดียวกันกับของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยที่รวยทั้งทรัพย์สินที่เป็นเงินสด ประกอบกับสินทรัพย์ และรวยที่ดินมากที่สุดในประเทศ ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มพ่อค้านายทุน และกลุ่มขุนนาง จึงแย่งชิงสะสมสินทรัพย์ เงินทอง และที่ดินกันอย่างบ้าคลั่ง เพราะนอกจากเก็บภาษีการสะสมที่ดินเพียงนิดหน่อยเท่านั้น และไม่ต้องเสียภาษีมรดกอีกด้วย กลุ่มบุคคลผู้ได้เปรียบเหล่านี้ จึงระดมสะสมที่ดินกัน จึงทำให้ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนจนกับคนรวยห่างกันยิ่งขึ้นไปอีก ผลประโยชน์ที่คนกลุ่มที่ 2 กับกลุ่มที่ 3 (เมื่อเป็นรัฐบาล) จัดให้แก่คนกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นคนยากคนจนนั้น ก็เป็นเพียงเนื้อข้างเขียง ซึ่งเป็นเศษผลประโยชน์เพียงนิดหน่อยเท่านั้น เนื่องจากไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ในสภาวะของประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศไทยเรานี้ ก็ล้วนแต่เก็บภาษีได้น้อย ดังนั้นเมื่อนำภาษีไปจัดแบ่งเป็นผลประโยชน์ของเงินเดือนข้าราชการ การซื้ออาวุธ และครุภัณฑ์แล้ว ก็เหลือเงินจำนวนไม่มากที่จะผลักให้แก่ประชาชนในรูปเงินรัฐสวัสดิการ หรือเงินภาคบริการสังคม ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์หลักๆ จากการเก็บภาษี การถือครองทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดิน และภาษีมรดกด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นฐานของรายรับของรัฐที่จะนำไปจัดบริการให้แก่คนยากคนจน,ในภาวะแห่งความขัดแย้งเช่นนี้ จึงเกิดการเรียกร้องผลประโยชน์ทางสังคมของคนยากคนจนอยู่ไม่ขาดสาย
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงเกิดภาวะความขัดแย้งของกลุ่มคนทางสังคมทั้ง 3 กลุ่มอันเป็นปกติตลอดเวลา 70 กว่าปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็จะมีข้อจำกัดด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่พอเพียงเกิดอยู่ร่ำไป ด้วยเหตุนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจมากที่สุดในสังคม จึงอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบที่จะกำจัดอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ตนไม่พึงพอใจ และเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดทางการเมือง คือไม่ให้กลุ่มการเมืองใดมีความเข้มแข็งทางการเมืองอันอาจจะเป็นอันตรายต่ออำนาจสูงสุดทางการเมืองของตนได้โดยการบริหารจัดการตามทฤษฎี “แบ่งแยกแล้วปกครอง” แต่ดำเนินการอย่างแนบเนียนในฐานะที่เสมือนเทพยาดาที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยการบริหารอำนาจผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยข้อจำกัดทางอำนาจของทุกรัฐบาล
การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในภาวะโครงสร้างการเมืองปัจจุบันจึงกลายเป็นการสร้างความแตกแยกทางการเมืองมากกว่าที่จะสร้างสามัคคีทางการเมือง
ด้วยภาวะของการบริหารอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่เช่นนี้เอง เราจึงไม่อาจจะมีรัฐบาลใดที่มีเสถียรภาพได้เลย รวมตลอดทั้งไม่อาจจะมีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและพัฒนาระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็งเพื่อเป็นฐานของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งล่าสุดในต้นศตวรรษที่ 21 (ระหว่างปี 2544-2551) แม้จะเกิดระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และมีรัฐบาลที่เข้มแข็งในการแก้ปัญหาของประเทศปกติได้แล้วก็ตาม ก็ถูกอำนาจของกลุ่มขุนนางข้าราชการ ทำการก่อกวนและยึดอำนาจในที่สุด เมื่อ 19 กันยายน 2549 พร้อมทั้งยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการการบริหารในปี 2550 ซึ่งเท่ากับกลุ่มขุนนาง ทำลายกระบวนการเติบโตของกลุ่มพลเรือนที่เข้มแข็งขึ้นเกินกว่าที่ราชสำนักจะคุมได้เช่นในอดีตแล้ว
การบริหารอย่างมีข้อจำกัดของรัฐบาลทุกรัฐบาลนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลทุกรัฐบาลไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการบริหารประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตที่มีความขัดแย้งทางความคิดและทางผลประโยชน์ของกลุ่มคนด้วยแล้ว เราจึงเห็นรูปธรรมที่เป็นจริงว่าหากเกิดการรวมตัวของฝูงชนประท้วงรัฐบาลเมื่อใดแล้ว ก็จะเป็นสัญญาณที่จะบ่งบอกถึงการพังทลายของรัฐบาลนั้นทันที โดยรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะจัดการทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น แม้จะมีตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ทุกรัฐบาลก็ไม่อาจจะใช้กลไกของทางราชการ ทหาร ตำรวจ เข้าจัดการได้ เหมือนอย่างเช่นในนานาอารยะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะตามความเป็นจริงแล้วทหาร ตำรวจ ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาล แต่เป็นเครื่องมือของกษัตริย์ ดังคำกล่าวเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า “จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า ม้าเป็นของเจ้าของคอก ม้าไม่ต้องฟังคำสั่งจ๊อกกี้” อีกทั้งในอดีตก็พิสูจน์มาแล้วว่าแม้รัฐบาลมาจากทหารอาชีพซึ่งเปรียบเหมือนเป็นจ็อกกี้ ก็ไม่อาจจะบังคับบัญชาม้านั้นได้ เช่น รัฐบาล คมช.ในช่วงระหว่างปี 2549-2550 ก็ไม่อาจจะจัดการกับกลุ่ม นปช.ผู้ประท้วงได้ และหากรัฐบาลใดฝ่าฝืนกฎเกณฑ์นี้โดยใช้กำลังทหาร ตำรวจ เข้าปราบปรามการประท้วงรัฐบาลนั้นก็จะพังทลายเร็วขึ้นกว่าเดิมดังเช่นรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์ปราบจลาจลพฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เหตุการณ์จลาจลในปี 2551 ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์ NBT และยึดสนามบิน เพียงเพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาลก็ไม่กล้าดำเนินการใดๆ จนแม้ว่าเป็นการจลาจลอันไม่อาจจะทนได้โดยแม้รัฐบาลจะได้สั่งการโดยประกาศภาวะฉุกเฉินให้อำนาจแก่ทหารและตำรวจแล้ว แต่ทั้งทหารและตำรวจก็ไม่กล้าดำเนินการใดๆ เช่นกัน ด้วยเพราะทุกคนฟังอำนาจจากเบื้องบนเป็นหลัก จนเกิดการกล่าวขานว่า “ม็อบเส้นใหญ่” โดยนำมาจากคำตอบกระทู้ในสภาของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

5.4 รูปธรรมกำจัดอำนาจรัฐบาลถนอม-ประภาส

แม้รัฐบาลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้สืบต่ออำนาจจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สนับสนุนให้อำนาจของราชสำนักเข้มแข็งและมั่นคงขึ้น แต่โดยเนื้อแท้ของรัฐบาลถนอม กิตติขจร เป็นรัฐบาลของทหารที่ยังสืบต่อวัฒนธรรมทหารที่เป็นตัวของตัวเองไม่ขึ้นต่อกษัตริย์ และทั้งจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ก็เป็นทหารที่เคยสู้รบกับฝ่ายเจ้าในสงครามปราบกบฏพระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อปี 2476 อีกทั้งได้แสดงศักยภาพในความเข้มแข็งที่จะสืบต่ออำนาจอันยาวนานในอนาคตด้วยการผนึกกำลังโดยอาศัยวัฒนธรรมเครือญาติโดยการแต่งงานระหว่าง พันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม กับลูกสาวจอมพลประภาส โดยเห็นชัดถึงการถ่ายทอดอำนาจต่อให้แก่ทายาทคือพันเอกณรงค์ กิตติขจร อย่างแน่นอน จึงเป็นที่หวาดระแวงของกษัตริย์ภูมิพลเป็นอย่างมาก
ตลอดระยะเวลาการครองอำนาจของจอมพลถนอม และจอมพลประภาส ตั้งแต่ปี 2506 เป็นต้นมานับตั้งแต่การสิ้นชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงปลายปี 2516จอมพลถนอมกิติขจร และจอมพลประภาสได้แสดงบทบาทของการสืบทอดอำนาจแบบไร้กติกาโดยต่ออายุราชการให้จอมพลถนอม ให้มีอำนาจในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดถึง 2 ครั้ง และในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แท้ๆ ก็ยังปฏิวัติตัวเองเพื่อรวบอำนาจทั้งหมดไว้กับตนโดยใช้อำนาจคณะปฏิวัติบริหารประเทศนานถึง 13 เดือนโดยไม่ขออำนาจจากราชสำนักเพื่อออกธรรมนูญการปกครองด้วย เท่ากับประเทศชาติบริหารโดยไม่มีกฎหมายอีกทั้งยังขยายอำนาจครอบงำทุกองค์กร แม้แต่องค์กรศาลที่เป็นฐานอำนาจอันเดียวของราชสำนักที่เป็นหนึ่งเดียวใน 3 อำนาจอธิปไตยที่ที่ปลอดจากอำนาจก้าวก่ายของทหารที่ขณะนั้นคุมสภาและคุมฝ่ายบริหารอย่างเหนียวแน่นโดยจอมพลถนอมในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ที่กำหนดให้รัฐบาลเข้ามาครอบงำอำนาจศาลได้ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น “กฎหมายโบว์ดำ”และจากจุดนี้เองรูปธรรมความขัดแย้งกับราชสำนักก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น โดยขบวนการต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมได้ก่อตัวขึ้นจากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญในขณะนั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นทั้งนักคิดนักเขียนเป็นนายทุนธนาคารเจ้าของกิจการธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็ได้ใช้กระบอกเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลถนอม อย่างไม่กลัวเกรงและได้ส่งผลสะเทือนให้กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนซึ่งนอนสงบนิ่งมานานนับแต่ปี 2500 ที่ถูกปราบปรามสมัยจอมพลสฤษดิ์ ก็เริ่มฟื้นตื่นขึ้น และก่อตัวร่วมกันระหว่างจุฬาและธรรมศาสตร์ ทำการประท้วงแบบค้างคืนต่อเนื่องยาวนานหลายวัน ณ ที่ทำการศาลที่สนามหลวงโดยอาจารย์กฎหมายในมหาวิทยาลัยสายราชสำนักให้การสนับสนุนจนได้รับชัยชนะ และนับแต่นั้นขบวนการนักศึกษาเติบใหญ่และเชื่อมต่อกับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญซึ่งในขณะนั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์กษัตริย์ภูมิพลฯ ทั้งในฐานะเชื้อพระวงศ์ และผู้ใกล้ชิด ข้อคิดเห็นทางการเมืองของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่แสดงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จึงเป็นธงนำการต่อต้านรัฐบาลของจอมพลถนอม โดยประชาชนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เสียประโยชน์จากนโยบายการบริหารราชการของรัฐบาลจอมพลถนอม ต่างก็ติดตามข่าวสารจากสยามรัฐแต่ทำอะไรไม่ได้ก็ได้แต่เก็บสะสมความชิงชังโดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่ไม่สามารถเกาะสายอำนาจได้ รวมตลอดถึงนโยบายการคุมอำนาจแบบเผด็จการ ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน รวมตลอดทั้งครู อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากยิ่งขึ้น ดังนั้นกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่พึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาลจอมพลถนอม จึงเกิดการถักทอประสานมือกัน ซึ่งในขณะนั้นกลุ่มแกนนำการเคลื่อนไหวยังอยู่ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน เป็นหลัก
ในด้านพรรคการเมือง ก็มีพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายเจ้ามาแต่เดิม และมีราชนิกูลคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ก็ทำการประสานเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก็เป็นที่สะสมกำลังพลนักคิดนักเขียนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลของจอมพลถนอม, สยามรัฐจึงเป็นแหล่งขุมกำลังสำคัญซึ่งกำลังส่วนหนึ่งก็เชื่อมต่อกับพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายวีระ มุสิกะพงศ์ (เดิมเป็นนักเขียนค่ายสยามรัฐ) นามปากกา “ไข่มุกดำ” นายสมัคร สุนทรเวช นักเขียนนามปากกา “นายหมอดี” และบางคนก็เชื่อมต่อกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เช่น ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเมื่อโค่นล้มจอมพลถนอมแล้ว ดร.เกษม ก็ร่วมจัดตั้งพรรคกิจสังคมกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นต้น
ขบวนการต่อต้านรัฐบาลถนอมได้สร้างภาพลักษณ์ที่น่าเกลียดน่าชังให้แก่รัฐบาลจอมพลถนอม ด้วยการเรียกขานว่าเป็นรัฐบาลครอบครัวบ้าง รัฐบาลทรราชบ้าง แต่ที่ติดปากจนถึงทุกวันนี้คือ “รัฐบาลถนอม-ประภาส” และจากจุดอ่อนทั้งภาพลักษณ์ และเนื้อหาความเป็นเผด็จการที่ผูกขาดทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมือง การทหาร ที่เตรียมปูทางให้พันเอกณรงค์ กิตติขจร ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และเป็นนายกฯ คนต่อไปแต่พ.อ.ณรงค์เป็นคนที่มีอุปนิสัยมุทะลุดุดัน จึงถูกเครือข่ายราชสำนักปล่อยข่าวเพื่อเตรียมโค่นล้มอำนาจว่าพันเอกณรงค์ เหิมเกริมคิดจะล้มล้างราชวงศ์เพื่อเตรียมตัวขึ้นเป็นประธานาธิบดี และอุกอาจถึงขนาดเคยชักปืนขึ้นยิงในพระบรมมหาราชวัง ข่าวลือในทางร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นหนาหูมากขึ้นทุกวัน จนสร้างกระแสเกลียดชังในหมู่ประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงปี 2513 ถึง 2516 ได้เกิดกรณีเดินขบวนของนักศึกษาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่ เช่น การเดินขบวนต่อต้านการทุจริตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น, เดินขบวนต่อต้านการล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่ของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และพรรคพวก, เดินขบวนต่อต้านการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และเริ่มเข้าสู่ประเด็นการต่อต้านทางการเมืองชัดเจนขึ้น เช่น การเดินขบวนต่อต้านการยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 การเดินขบวนต่อต้านกฎหมายโบว์ดำที่ริดรอนอำนาจศาล จนกระทั่งเกิดการเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญจนเกิดเหตุการณ์จลาจลเมื่อ 14 ตุลาคม 2516
การเดินขบวนของนักศึกษาในช่วงตั้งแต่ปี 2513-2516 นี้ได้กลายเป็นสัญญาณทางสังคมที่บ่งบอกให้ราชสำนักมองเห็นถึงช่องทางการพังทลายของ “ระบอบถนอม-ประภาส” และแล้วสัญญาณที่จะพุ่งชนอำนาจทหารของถนอม-ประภาสก็ปรากฏชัดเจนขึ้น และเมื่อมีนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาฯ และประชาชนรวมตัวกันลงลายมือชื่อรวม 99 คน ถวายฎีกาต่อกษัตริย์เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (อาจารย์หลายคนในนั้น วันนี้ก็แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นเครือข่ายราชสำนัก เช่น นายชัยอนันต์ สมุทรวานิช เป็นต้น) และก็นัดชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้พิพากษาผู้ใกล้ชิดวังเป็นอธิการบดี (ซึ่งช่างเป็นเรื่องพอเหมาะที่ลงตัวจริงๆ), ได้เกิดการจับกุมตัวแกนนำผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คน จึงเกิดการชุมนุมใหญ่ขึ้นที่ธรรมศาสตร์ และในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ขบวนนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับทั้ง 13 คน ก็เคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้การนำของนายเสกสรร ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษา ซึ่งมีผู้คนเต็มถนนราชดำเนินประมาณไม่น้อยกว่า 5 แสนคน โดยไม่มีใครคาดฝันว่าจะมีคนมากถึงขนาดนี้ นายเสกสรร ก็ไม่สามารถจะควบคุมผู้คนที่มากมายขนาดนี้ได้ สุดท้ายนายเสกสรรจึงนำขบวนไปขอพึ่งบารมีที่วังสวนจิตรลดาแน่นไปหมด ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นก็ได้ปรากฏชัดถึงความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลถนอม-ประภาส กับกษัตริย์ภูมิพลแล้ว ทุกฝ่ายจึงระมัดระวังตัวกันต่างคุมเชิงทางการเมืองกัน อีกทั้งก็เกิดความสงสัยว่านายเสกสรร ประเสริฐกุล ผู้นำมวลชนนักศึกษาในขณะนั้น และพรรคพวกเป็นคอมมิวนิสต์Ù และถนอม-ประภาส ก็เชื่อว่ามีกลุ่มทหารพราน และตำรวจ ตชด.ที่มีวังหนุนหลังอยู่เข้าแทรกแซงด้วย ดังนั้นในช่วงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม 2516 รัฐบาลถนอม-ประภาส ก็ยอมปล่อยแกนนำทั้ง 13 คน และพอตกค่ำก็ผ่อนปรนโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน โดยแกนนำประกาศในที่ชุมนุมหน้าวังสวนจิต ผู้ชุมนุมต่างพอใจ และเตรียมการสลายตัวกลางดึกของคืนนั้น แต่กลัวจะเกิดอันตรายจึงรอให้ฟ้าสางก่อน จึงจะแยกย้ายกันกลับบ้าน พอฟ้าเริ่มสางประมาณ 6 โมงเช้าของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และยังหาคำตอบไม่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งให้ตำรวจที่ตรึงฝูงชนอยู่หน้าวังสวนจิตรลดา เป็นผู้เปิดศึกใช้กระบองตีนักศึกษา จนฝูงชนแตกฮือ และกลายเป็นจลาจลขึ้น และมีเหตุการณ์สำคัญที่ยืนยันได้ก็คือนักศึกษาหน้าวังที่แตกฮือนั้น ส่วนหนึ่งกระโดดลงคูน้ำรอบวัง และวิ่งหลุดเข้าไปในรั้วสวนจิตรลดาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากราชสำนัก และในคืนของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ท่ามกลางความโกลาหล จอมพลถนอมได้เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ และมีพระบรมราชโองการให้ออกไปนอกประเทศ และรับปากว่าเหตุการณ์สงบแล้วจะให้กลับมาใหม่ จอมพลถนอมและจอมพลประภาสจึงหนีออกนอกประเทศ แล้วเหตุการณ์ก็ค่อยๆ เริ่มสงบลง แต่สิ่งที่น่าสังเกตและเป็นที่สงสัยตลอดมาในทุกเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อขับไล่รัฐบาลที่ราชสำนักไม่โปรดนั้น มักจะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซึ่งจะคล้ายกับเหตุการณ์ล้มอำนาจรัฐบาลที่เกิดขึ้นในภายหลังจนถึงปัจจุบัน คือ
— หลังจากถนอม-ประภาส-ณรงค์ หมดอำนาจแล้ว ก็ติดตามมาด้วยการยึดทรัพย์ทั้งหมดเป็นการตัดอำนาจ
— ทำท่าว่าจะดำเนินคดีกับถนอม-ประภาส-ณรงค์ กรณีสังหารประชาชน แต่แล้วก็ล้มเลิกกันไป
อดีตนายกฯ ทุกคนที่ถูกขับไล่หรือถูกยึดอำนาจ สุดท้ายก็ไม่มีอะไร และทุกคนจะมาเข้าเฝ้าในพระราชพิธีสำคัญ โดยนั่งอยู่ในปรัมพิธีเดียวกัน ดูคล้ายๆ สุสานนายกรัฐมนตรี

5.5 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลสังคมนิยมอ่อนๆ

เมื่อรัฐบาลถนอม-ประภาส-ณรงค์ ถูกกำจัดอย่างสิ้นซาก ก็ถือได้ว่าราชสำนักก็หมดเสี้ยนหนามแล้ว และรัฐบาลที่เกิดขึ้นใหม่ก็เป็นรัฐบาลที่ขึ้นต่อราชสำนัก คือรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ รัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ แต่เนื่องจากพลังนักศึกษาที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารถนอม-ประภาส-ณรงค์ ตามความต้องการของราชสำนักนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนผนึกกำลังกัน และโค่นล้มรัฐบาลได้อย่างฉับพลันจึงยังไม่มีใครทำนายได้ว่าพลังนี้จะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด รวมทั้งราชสำนักก็ไม่อาจจะควบคุมได้ ปรากฏว่าพลังนักศึกษาประชาชนได้พัฒนากลายเป็นพลังประชาธิปไตยที่ต้องการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางสังคม โดยพลังนักศึกษาเหล่านี้ได้เกิดการจัดองค์กรมากมายหลากหลายรูปแบบ แต่มีอุดมการณ์หลักๆ เหมือนกัน คือต้องการเห็นความเป็นธรรมทางสังคม ทุกกลุ่มมุ่งเข้าหาประชาชน มุ่งสู่ชนบทเพื่อต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ทำกิน ต่อต้านการขูดรีดค่าเช่านา มุ่งสู่โรงงาน สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม และสิทธิการรวมตัวจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงาน และมุ่งสู่คนยากจนในแหล่งชุมชนแออัดในเมือง ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัย และส่วนที่ก้าวหน้ามากๆ ก็เห็นปัญหาว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการกดขี่ ขูดรีด และหลอกลวงของสถาบันกษัตริย์ จึงเดินทางเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้เพื่อโค่นล้มอำนาจของราชสำนักก็มี
ในสภาวการณ์ที่กระแสเรียกร้องความเป็นธรรมขึ้นสู่กระแสสูงจึงเกิดการตื่นตัวทางความคิดเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยม ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่เหมาะกับประเทศไทยเพราะมีคนยากจนอยู่มาก ควรจะนำระบบเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมมาใช้ในประเทศไทยเพื่อเฉลี่ยสุขจากคนรวยให้แก่คนจน และในทางการเมืองก็เกิดพรรคแนวนโยบายสังคมนิยมขึ้นได้แก่พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2517 ประชาชนในชนบทก็พึงพอใจนโยบายสังคมนิยม จึงมี ส.ส.ของทั้ง 3 พรรคนี้ เข้ามาจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ฉวยโอกาสเน้นการโหนกระแสเป็นหลัก และขณะนั้นรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในช่วงท้ายก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงประกาศตัวเป็นสังคมนิยมอ่อนๆ จึงทำให้ราชสำนักไม่ไว้วางใจ ยิ่งก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีนคอมมิวนิสต์ โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปกรุงปักกิ่ง จับมือเมาเซตุงศัตรูหมายเลข 1 ของราชวงศ์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ราชสำนักไม่มั่นใจต่อบทบาทของพี่น้องสกุลปราโมช ในขณะนั้น ในสภาพการเช่นนี้จึงเกิดการผลักดันให้จัดตั้งองค์กรอุดมการณ์ขวาจัดขึ้นมามากมาย เป็นเครือข่าย เพื่อปกป้องราชสำนัก มีการถ่ายเทพลังสู่บุคคลให้มีอำนาจเชิงสัญลักษณ์ เช่น พล.ต.สุดสาย เทพหัสดิน หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนอาชีวะที่มีพฤติกรรมเป็นนักเลงเพื่อเอาไว้ต่อสู้ทำลายองค์กรนักศึกษา พันโทอุทาน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าสถานีวิทยุยานเกราะ ผู้ทำหน้าที่ปลุกระดมทางความคิดโดยใช้วิทยุยานเกราะเป็นกระบอกเสียง(คล้ายกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ใช้สถานี ASTV ปลุกระดมในวันนี้) พล.ต.ต.สุรพล จุลพราหมณ์ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ในฐานะแกนนำองค์กรลูกเสือชาวบ้าน ดร.วัฒนา เขียววิมล แกนนำกลุ่มนวพล และพระกิตติวุฒโท เจ้าอาวาสวัดจิตภาวัน แกนนำกลุ่มสงฆ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และกลุ่มบุคคลในกลุ่มอาชีพที่น่าเชื่อถือ คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกา และเป็นอาจารย์ สอนกฎหมายพร้อมเครือข่าย เช่น นายดุสิต ศิริวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนักการเมืองที่มีแนวความคิดขวาจัด ในขณะนั้นได้รวมศูนย์การโจมตีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นรัฐบาลโดยประกาศนโยบายสังคมนิยมอ่อนๆ ในขณะนั้นว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น” ทั้งนี้เพื่อสร้างเอกภาพทางความคิดให้ฝ่ายขวาจัดรังเกียจแนวความคิดทางการเมืองทุกชนิดที่จะมีผลกระทบต่ออำนาจของราชสำนัก ดังนั้นบุคคลผู้เป็นแกนนำขวาจัดที่กล่าวถึงข้างต้นเหล่านี้ก็ได้แสดงบทบาทเป็นกลุ่มผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่กระทำการเคลื่อนไหวอยู่เหนือกฎหมาย มีอาวุธติดตัว ขว้างระเบิด ยิงปืนใส่กลุ่มนักศึกษา มีการลอบฆาตกรรมผู้นำชาวนา กรรมกร และผู้นำนักศึกษา รวมตลอดทั้งฆ่าผู้นำทางการเมือง เช่น การฆ่า ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับผู้กระทำผิด (คล้ายกับเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในขณะนี้) รวมตลอดทั้งพระกิตติวุฒโฑ ที่กล่าวถ้อยคำอย่างผิดพระวินัยอย่างชัดเจนว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปคล้ายกับฆ่าปลาทำแกงไปถวายพระ”(คล้ายกับพระโพธิรักษ์แห่งสันติอโศกที่เป็นแกนนำขึ้นเวทีปราศรัยการชุมนุมของพันธมิตรฯ) ก็ไม่ถูกดำเนินการทางวินัยสงฆ์และทางกฎหมาย การเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดต่างๆ เหล่านี้ บ่อยครั้งที่องค์พระมหากษัตริย์ลงไปร่วมงานด้วย เช่นการไปมอบธงเมื่อเสร็จการอบรมลูกเสือชาวบ้าน การไปทำบุญที่วัดจิตตภาวัน เป็นต้น(คล้ายกับที่สมเด็จพระราชินีไปร่วมงานกับพันธมิตรฯ โดยไปเป็นประธานเผาศพน.ส.อังคณา หรือน้องโบ) แล้วในที่สุดก็ถึงเหตุการณ์สำคัญ คือ การกลับมาของจอมพลถนอมตามคำสัญญาจากราชสำนัก โดยจอมพลถนอมได้บวชเป็นเณรเข้ามาในประเทศไทย และหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าราชสำนักมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงก็คือพระที่เป็นอุปัฌชาโดยเดินทางไปรับถึงสนามบินดอนเมืองในขณะนั้น คือพระญาณสังวร จากวัดบวร ซึ่งเป็นพระที่มีความใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอย่างยิ่ง(ในอดีตก่อนหน้านั้นเป็นพระพี่เลี้ยงของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลขณะทรงผนวชที่วัดบวร และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และอีกไม่นานพระญาณสังวรก็ได้รับสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช)
การกลับมาของเณรถนอม และการจัดพิธีกรรมการบวชพระให้เป็นที่เรียบร้อยได้กลายเป็นชนวนระเบิดก่อให้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญที่เป็นรอยด่างทางประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เลวร้ายที่สุด คือเหตุการณ์สังหารหมู่นิสิตนักศึกษากลางเมืองที่เรียกปากต่อปากว่า “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการเตรียมการสังหารหมู่มากกว่าอุบัติเหตุทางการเมือง ด้วยเหตุผล 3 ประการคือ
1.ขณะนั้นสถานการณ์มีความวุ่นวายทางการเมืองจากการประท้วงเรียกร้องทางเศรษฐกิจของกรรมกร และชาวนา เนื่องจากชีวิตที่ทุกข์ยากของพวกเขาท่ามกลางกลิ่นไอสงครามประชาชนจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบทที่ชูธงการปฏิวัติที่ดินโดยจะยึดที่ดินของกษัตริย์ และเจ้าที่ดินทั้งหลายมาแบ่งให้แก่ชาวนาผู้ยากไร้ทั้งหมด และสถานการณ์ในเมืองที่มีการปลุกระดมองค์กรมวลชนฝ่ายขวา โดยสร้างกระแสขวาพิฆาตซ้าย โดยมีสถานีวิทยุยานเกราะโดย พท.อุทาน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นแกนนำ ปลุกใจให้ประชาชนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมรวมพลังออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพุ่งเป้าไปที่นิสิต นักศึกษา โดยกล่าวหาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์และตรียมการกวาดล้างนิสิต นักศึกษาครั้งใหญ่ (ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ในปี 2549-2552 ที่สถานีโทรทัศน์ ASTV ทำหน้าที่เหมือนวิทยุยานเกราะ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทำหน้าที่คล้ายกับ พท.อุทานฯ) และเกิดการลอบฆาตกรรมผู้นำนักศึกษา เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 เกิดการลอบสังหารนายปรีดี จินดานนท์ และนายอมเรศ ไชยสะอาด ผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล, 28 กุมภาพันธ์ 2519 ลอบสังหารนายบุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยม และเกิดการขว้างระเบิดเข้าไปในการชุมนุมขับไล่ฐานทัพอเมริกาหน้าโรงหนังสยาม เมื่อ 21 มีนาคม 2519 มีคนเสียชีวิต 4 คน เป็นต้น
2.หลังจากถูกขับออกนอกประเทศเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 แล้วการกลับมาของจอมพลถนอม เป็นความพยายามที่แสดงออกมาหลายครั้ง และทุกครั้งที่เหยียบแผ่นดิน นิสิต นักศึกษาก็จะประท้วงรุนแรงทุกครั้งด้วยเคียดแค้นที่รัฐบาลถนอม-ประภาส สั่งฆ่านักศึกษา ประชาชน เมื่อเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม และรัฐบาลประชาธิปัตย์ในขณะนั้นไม่ยอมดำเนินคดีกับฆาตกร ดังนั้นการกลับมาครั้งล่าสุดด้วยการบวชเณร และบวชพระโดยพระญาณสังวร(สังฆราชองค์ปัจจุบัน) ผู้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดำเนินการจึงเป็นการสร้างความชอบธรรมเชิงสัญลักษณ์ว่าราชสำนักได้เห็นชอบแล้วและเพื่อเรียกร้องความเห็นใจว่าสังคมควรยินยอมเพราะ จอมพลถนอมยอมแล้วด้วยการห่มผ้าเหลืองเพื่อชี้ให้เห็นว่านิสิต นักศึกษา เป็นฝ่ายที่ไม่มีศาสนา และต่อต้านสถาบันกษัตริย์หมายถึงพวกคอมมิวนิสต์ตามที่รัฐเผด็จการในขณะนั้นได้สร้างภาพไว้
3.รู้ทั้งรู้ว่าเมื่อจอมพลถนอมกลับมาต้องเกิดเรื่องแน่แต่ราชสำนักก็ยังยอมเพราะหากไม่ยอมถนอมก็จะกลับเข้ามาไม่ได้ จึงเป็นเรื่องเจตนาที่ประสงค์ต่อผล(เปรียบเทียบกับปัจจุบันนี้เมื่อราชสำนักไม่ยินยอมทักษิณก็กลับเข้าประเทศไม่ได้)
แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อนิสิต นักศึกษา รวมตัวประท้วงใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งเกิด จุดปะทุที่อยู่ๆระหว่างการชุมนุมก็ที่มีภาพการเล่นละครในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แสดงภาพเลียนแบบการแขวนคอกรรมกร 2 คนที่ร่วมการประท้วงขับไล่การกลับมาของจอมพลถนอมที่นครปฐม แต่หน้าตัวแสดงคนหนึ่งกลับกลายไปมีหน้าคล้ายพระพักตร์ของเจ้า ฟ้าชายโดยหนังสือดาวสยาม ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แนวขวาจัดในขณะนั้นเป็นผู้ตีพิมพ์เป็นฉบับแรก และในภาวะชุลมุนนั้นความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง ก็ขยายตัวที่ยากจะควบคุมแล้วก็เกิดเงื่อนไขการฉวยโอกาสของกลุ่มการเมืองขวาจัดกลุ่มต่างๆ ที่สร้างเครือข่ายไว้แต่เดิมแล้ว ก็ได้จุดกระแสร่วมมือกันโดยสร้างเอกภาพทางความคิดผ่านศูนย์กลางที่สถานีวิทยุยานเกราะ โดยปลุกระดมให้องค์กรขวาจัด และมวลชนลูกเสือชาวบ้าน ออกมาปกป้องราชบัลลังก์โดยล้อมปราบ เข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างบ้าคลั่ง และในขณะเดียวกันนายสมัคร สุนทรเวช ก็ป่าวประกาศว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอุโมงค์สะสมอาวุธ และมีพวกเวียตนามร่วมชุมนุมประท้วงด้วย และนอกจากกล่าวหานักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว นายป๋วย อึ้งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(เป็นอธิการบดีต่อจากนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) ซึ่งเคยเป็นอดีตเสรีไทย และเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เชื่อว่าเป็นการทำงานของเครือข่ายราชสำนักทั้งสิ้น
ภาพเหตุการณ์ฆาตกรรมกลางสนามหลวงด้วยการจับนักศึกษาแขวนคอ จับเผาทั้งเป็นด้วยยางรถยนต์ นักศึกษาถูกยิง ถูกแทงอย่างสยดสยอง นักศึกษาหญิงที่เสียชีวิตถูกเอาไม้ตำที่ช่องคลอดดูน่าอเนจอนาถ ด้วยฝูงชนฝ่ายขวาเชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อรักษาราชบัลลังก์เมื่อ 6 ตุลาคม 19 ได้กลายเป็นคราบเลือดทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลบเลือนได้
ในตอนค่ำของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการยึดอำนาจล้มรัฐบาลนโยบายสังคมนิยมอ่อนๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ และกวาดล้างพรรคการเมืองแนวคิดสังคมนิยมทั้งหมด โดยมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นผู้นำการยึดอำนาจ และมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นเลขาธิการของคณะผู้ยึดอำนาจในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการเห็นชอบอย่างวางเฉยทางการเมืองจากกษัตริย์ภูมิพลเช่นเคยแต่ก็ปรากฏว่าบุคคลผู้ใกล้ชิดราชสำนักคือนายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้รับโปรดเกล้าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) และในวันรุ่งขึ้นราชสำนักก็ส่งพระบรมวงศานุวงศ์ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ และพวกลูกเสือชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บจากการไปล้อมปราบทำร้ายนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนนิสิต นักศึกษาและประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการเหลียวแลเลย แล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับฆาตกรที่เข่นฆ่านิสิต นักศึกษาประชาชน อีกด้วย
การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั้น นายบุญชนะ อัตถากร นักการเมืองอาวุโสในยุคนั้นได้ยืนยันว่าเป็นการชี้แนะมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวÙ
เหตุการณ์โหดร้ายในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับการล้มรัฐบาล มรว.เสนีย์ ปราโมช และการเกิดรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ประเภทม้วนเดียวจบเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของเครือข่ายราชสำนักอย่างแน่นอน


5.6 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์

เมื่อรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับการแต่งตั้งแล้วก็รับสนองแนวคิดของราชสำนักอย่างชัดเจน โดยทำการกวาดล้างแนวคิดสังคมนิยมทั้งหมดตามคำกล่าวหาของฝ่ายขวาที่ว่า “สังคมนิยมทุกชนิด เป็นคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น” โดยออกกวาดจับนักศึกษา ประชาชนทุกคน โดยเข้าตรวจค้นทุกบ้านที่มีหนังสือแนวคิดสังคมนิยม ซึ่งขณะนั้นมีวางขายเกลื่อนกลาดทั่วไป เป็นผลทำให้เกิดความหวาดกลัว ประเทศไทยกลายเป็นอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว โดยนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่แสดงความสะทกสะท้านแต่อย่างใดต่อสายตาชาวโลกเลย แถมยังประกาศด้วยว่าจะใช้เวลาครองอำนาจ 12 ปี เพื่ออบรมให้เยาวชนมีความเข้าใจต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเยาวชนจะต้องรู้จักหน้าที่และรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการสร้างประชาธิปไตยใหม่ในแนวทางของเขา ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการรับแนวคิดมาจากราชสำนัก และจากนโยบายขวาจัด ปราบปรามนักศึกษา ประชาชน ที่มีแนวคิดต่างจากรัฐบาลเช่นนี้ ทำให้มีผู้คนหวาดกลัวหนีตายไปเข้าร่วมกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่าเขาที่มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทยเต็มไปหมด
ในขณะนั้นทำให้กองทัพที่ติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเติบใหญ่ขึ้นทันที เมื่อรัฐบาลของนายธานินทร์ได้แสดงฤทธิ์เดชไปสักระยะหนึ่งประมาณ 12 เดือน เท่านั้น ก็มีนายทหารกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของรัฐบาลนายธานินทร์ นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่(หัวหน้าคณะปฏิรูปเจ้าเก่า) และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะผู้ยึดอำนาจอยู่เดิม โดยร่วมกับกลุ่มนายทหารยังเตอร์ก ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการคุมกำลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตรียมทหารรุ่น 7 เป็นฐานกำลังให้แก่พลเอกเกรียงศักดิ์ก็เข้ายึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งโดยล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อ 20 ตุลาคม 2520 โดยให้เหตุผลว่า “นโยบายพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปีนั้น เป็นเวลาที่นานเกินความจำเป็น และไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน คณะทหารตำรวจ และพลเรือนเห็นสมควรให้ปรับปรุงระยะเวลาที่จะพัฒนาประชาธิปไตยเสียใหม่ คือกำหนดเป้าหมายให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2521”Ù การกระทำของคณะทหารที่ล้มแผนการวางรากฐานประชาธิปไตยที่ให้เยาวชนเกิดความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตามแนวทางของราชสำนักนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจของราชสำนัก กล่าวคือทันทีที่นายธานินทร์ หลุดจากนายกรัฐมนตรีด้วยการยึดอำนาจนี้กษัตริย์ภูมิพลก็แต่งตั้งให้นายธานินทร์ขึ้นเป็นองคมนตรีนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกของสภานโยบายที่พลเอกเกรียงศักดิ์แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520 ซึ่งต้องใช้เวลาหลังการยึดอำนาจถึง 21 วัน ทำให้เป็นที่น่าสังเกตมากว่าเกิดการต่อรองกันภายใน อันเป็นผลมาจากความไม่พอใจของราชสำนัก และเมื่อขึ้นบริหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ได้หักล้างแนวคิดของราชสำนักทั้งหมดด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปูทางไว้ก่อนหน้านี้ โดยต้อนรับการมาเยือนของรองนายกฯ เติ้ังเสี่ยวผิงเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2521 และเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียตนาม โดยเชิญนายกรัฐมนตรีฟ่ามวันดง ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ตัวฉกาจในสายตาราชสำนัก มาเยี่ยมเมืองไทยเมื่อ 6 กันยายน 2521 พร้อมทั้งออกประกาศนิรโทษกรรมให้แก่นิสิต นักศึกษา ที่หนีเข้าไปร่วมปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อ 16 กันยายน 2521 และให้มีโครงการ “คืนสู่เหย้า” หรือ “กลับคืนสู่ห้องเรียน” ก็ได้มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งกลับคืนสู่เมือง โดยกลับมาเรียนหนังสือต่อในมหาวิทยาลัย โดยพลเอกเกรียงศักดิ์ ได้จัดเลี้ยงอาหารให้แก่ผู้นำนักศึกษาชุดแรกโดยถ่ายภาพร่วมกันตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ
จากนโยบายที่กลับหลังหันของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เช่นนี้ ดูจะไม่ได้รับความพึงพอใจจากราชสำนักอย่างมาก และแล้วเครือข่ายราชสำนักก็เริ่มทำงานอีก โดยเกิดกระแสข่าวลือทั่วไปว่า
“พลเอกเกรียงศักดิ์ไม่เคารพในหลวง”
“พลเอกเกรียงศักดิ์ชอบเมาเหล้าเข้าเฝ้าในหลวง”
เนื่องจากพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็นคนชอบดื่มบรั่นดี เป็นชีวิตจิตใจ และชอบทำกับข้าว และบ่อยครั้งสื่อมวลชนก็จะลงภาพการทำกับข้าวที่พลเอกเกรียงศักดิ์เวลาออกหาเสียงทางการเมืองโดย แสดงฝีมือทำกับข้าวเลี้ยงประชาชน และเลี้ยงแขกทั่วไป ด้วยภาพการเทบรั่นดีลงในกระทะขณะกำลังปรุงอาหาร, กับข้าวที่ขึ้นชื่อของพลเอกเกรียงศักดิ์ คือแกงเขียวหวานใส่บรั่นดี และในวันที่ 5 ธันวาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญที่นายกรัฐมนตรีทุกคนจะต้องเป็นผู้นำถวายพระพรพระมหากษัตริย์ที่กลางท้องสนามหลวง ปรากฏว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็นำถวายพระพรแตกต่างจากอดีตนายกฯ ทุกคน คือจะถือแก้วบรั่นดีดื่มถวายพระพร ดังนั้นข่าวลือจากเครือข่ายราชสำนักที่ว่า “พลเอกเกรียงศักดิ์ ไม่เคารพในหลวง ชอบเมาเหล้าเข้าเฝ้า” ก็เป็นเรื่องจริงจังมีเหตุผล
ในที่สุดจุดจบของพลเอกเกรียงศักดิ์ ก็มาถึงในลักษณะที่ทุกรัฐบาลจะต้องพบก็คือข้อจำกัดของทุกรัฐบาลในการบริหารประเทศคือปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ตามที่ได้กล่าวข้างต้น แต่หากราชสำนักยังหนุนหลังอยู่ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีนี้ดูเหมือนว่าราชสำนักไม่เป็นที่พึงพอใจเสียแล้ว ในที่สุดรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ก็เดินเข้ากับดักของวิกฤตเศรษฐกิจ, โดยรัฐบาลได้อนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมัน (ขณะนั้นรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมราคาน้ำมัน ราคาไม่ได้ลอยตัวอย่างเช่นปัจจุบัน) ทำให้ข้าวของขึ้นราคา และรถเมล์ขึ้นราคาตั๋วอีก 50 สตางค์ จึงเกิดการกดดันนอกสภาโดยเกิดการเดินขบวนประท้วงการขึ้นค่ารถเมล์ โดยการนำของนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ผู้นำสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง จากสนามหลวงไปยังสภาผู้แทนราษฎร ประสานกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และที่สำคัญที่สุดก็คือ กลุ่มทหารยังเตอร์กที่เคยเป็นฐานกำลังให้แก่พลเอกเกรียงศักดิ์ก็ได้แปรภักดิ์มาหนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายทหารที่ใกล้ชิดกับราชสำนัก ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย
จากแรงกดดันสามประสานก็เป็นสัญญาณที่ทำให้พลเอก เกรียงศักดิ์รู้ชะตากรรมของตนดีจึงประกาศลาออกกลางสภาเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2523 เปิดทางให้แก่พลเอกเปรม ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฐานการเมือง ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2533 และความผูกพันระหว่างพลเอกเปรมกับพรรคประชาธิปัตย์ ยังแนบแน่นมานับแต่นั้น จนถึงบัดนี้
เป็นเรื่องน่าอายของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่พิกลพิการอีกเรื่องหนึ่งคือนายกฯ ของไทยต้องหลุดจากตำแหน่งเพราะตั๋วรถเมล์ขึ้นราคา 50 สตางค์
อะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้ร่มพระบารมี

5.7 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลพลเอกเปรม

รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอีกประจักษ์พยานหนึ่งว่า แม้จะมีความใกล้ชิดราชสำนักอย่างไรก็ตาม หากนายกฯ ผู้นั้นมีความมั่นคงในอำนาจของรัฐบาล และได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนมาก ก็จะต้องมีอันเป็นไปด้วยข่าวลือที่ไม่เป็นมงคลว่า “เป็นผู้ไม่จงรักภักดี” ด้วยผลงานแห่ง “เครือข่ายราชสำนัก” ทุกครั้งไป
ในช่วงแรกของรัฐบาลพลเอกเปรม ได้แสดงบทบาทที่ราชสำนักชื่นชมคือการดับไฟสงครามคอมมิวนิสต์ที่เป็นอันตรายกับวังด้วยนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ตามแนวคิดใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ โดยมีนายทหารคู่ใจคือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นแกนนำ คือใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่านโยบาย 66/23แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว น่าจะเป็นความโชคดีของพลเอกเปรมมากกว่าความมีฝีมือในการปราบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จตามนโยบาย 66/23 เพราะขณะนั้นเกิดความแตกแยกภายในโลกคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยพลเอกเปรมได้ฉวยโอกาสเปิดให้ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในป่าที่อ่อนล้าทางอุดมการณ์เข้ามอบตัวในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”Ù แต่นโยบายต่อคอมมิวนิสต์ต่างประเทศ รัฐบาลพลเอกเปรมยังแข็งกร้าวจากพื้นฐานความเชื่อเดิมว่าเวียตนามคือศัตรูสำคัญ ที่จะรุกรานไทยตามทฤษฎีโดมิโนของสหรัฐอเมริกาที่ว่า เมื่อไทยเป็นคอมมิวนิสต์ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์หมด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลพลเอกเปรมจึงกลับหลังหัน ต่างจากรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ โดยสิ้นเชิง โดยรับใช้แนวคิดของราชสำนักอย่างเต็มที่ กล่าวคือเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนแตกกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามซึ่งมีความใกล้ชิดกับคอมมิวนิสต์รัสเซียและกองทัพเวียตนามได้บุกเข้าไปล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับจีนเมื่อ มกราคม 2522 ทำให้จีนไม่พอใจ จีนจึงทำสงครามสั่งสอนเวียตนรามโดยยกกำลังทหารบุกข้ามพรมแดนเวียตนามตอนเหนือเข้ามาทำลายฐานกำลังเวียตนามเหนือสมใจ แล้วก็ยกกำลังกลับซึ่งทำความเสียหายให้แก่เวียตนามมากซึ่งก็เป็นที่พอใจของไทยด้วยเกรงว่ากองทัพเวียตนามจะรุกคืบเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของไทยจึงจับมือทอดสะพานกับฝ่ายจีนที่หันมากระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา โดยเปิดทางให้จีนขนอาวุธเข้ามาไทยเพื่อสนับสนุน เขมรแดง ภายใต้การนำของพอลพตที่ทำสงครามต่อต้าน เวียตนาม มีฐานที่มั่นอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทยกับกัมพูชาเพื่อกันกองกำลังเวียตนามที่เชื่อว่าจะบุกเข้ามาประเทศไทยในขณะนั้น เป็นผลให้ประเทศไทยกับเวียตนามเผชิญหน้าเป็นศัตรูกัน
เมื่อพลเอกเปรมบริหารประเทศไปได้สักระยะหนึ่งก็เกิดข้อจำกัดอันเป็นปกติของรัฐบาลในประเทศด้อยพัฒนาคือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตภายในกลุ่มทหารโดยเฉพาะทหารยังเตอร์กที่เป็นฐานกำลังให้แก่พลเอกเปรม แต่เกิดความไม่พอใจในการแบ่งผลประโยชน์ โดยมีพอ.มนูญ รูปขจร, พอ.ประจักษ์ สว่างจิต และพอ.พัลลภ ปิ่นมณี เป็นแกนนำทำให้กลุ่มยังเตอร์กแตกเป็นสองฝ่าย, ฝ่ายหนึ่งมีพอ.พัลลภ ปิ่นมณี, พอ.มนูญ รูปขจร และพอ.ประจักษ์ สว่างจิต เป็นแกนนำ และอีกฝ่ายหนึ่งยังสวามิภักดิ์กับพลเอกเปรมอยู่ โดยมีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำแต่เป็นกลุ่มข้างน้อย จึงเกิดการรัฐประหารโดยทหารยังเติร์กลูกป๋าหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ถึงขนาดเกิดการลอบสังหารพลเอกเปรมที่ลพบุรี และมีเหตุการณ์เตรียมการลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยเป็นคดีออกหมายจับพอ.มนูญ รูปขจร ในขณะนั้นด้วย วิกฤตเศรษฐกิจที่กระหน่ำรัฐบาลพลเอกเปรมอย่างรุนแรงที่สุด คือวิกฤตค่าเงินบาท ที่ทำให้รัฐบาลพลเอกเปรมต้องประกาศลดค่าเงินบาทจาก 23บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ มาเป็น 27 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2527 และเปลี่ยนระบบค่าเงินจากเดิมไทยใช้ระบบอิงค่าเงินดอลล่าร์เป็นหลัก มาเป็นระบบตะกร้าเงิน โดยอิงเงินจากหลายสกุล แต่แม้รัฐบาลพลเอกเปรมจะพบกับมรสุมอย่างไร แม้ในสภาก็ปั่นป่วน ถูกฝ่ายค้านฝีปากกล้าอย่างนายสมัคร สุนทรเวช และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง โจมตีอย่างหนักพลเอกเปรมก็ยังประคับประคองตัวอยู่รอดปลอดภัยเพราะพลเอกเปรมรับใช้ใกล้ชิดราชสำนัก
ในระหว่างนั้นก็เกิดคลื่นลมในสภา มีการยุบสภาหลายครั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรมก็ประคองตัวไปได้ ทำให้บารมีของนายกฯ พลเอกเปรม ขยายตัวไปทั่วทั้งแผ่นดินจนดูเหมือนว่าจะเป็นนายกฯ ตลอดกาล เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็จะมีผู้คนออกมาต้อนรับแห่แหนแน่นไปหมดพร้อมกับชูป้ายข้อความที่สร้างความพอใจให้แก่พลเอกเปรม แต่อาจจะกระเทือนใจราชสำนักว่า “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกเป็นของเปรม” การโฆษณาความโดดเด่นในภาพลักษณ์ของพลเอกเปรมทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นฝีมือของปลัดกระทรวงมหาดไทยคู่ใจคือ นายพิศาล มูลศาสตร์สาธร และสุดท้ายเหตุการณ์ที่กระทบจุดอ่อนของราชสำนักก็เกิดขึ้น คือที่ภาคอีสานมีประเพณีว่าเมื่อผู้มีอำนาจวาสนาไปตรวจเยี่ยม ชาวบ้านถือว่า “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” จะนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นตน ทุกคนก็จะเอาผ้าขาวม้ามาผูกมัดสะเอวเป็นการต้อนรับ แต่กรณีของพลเอกเปรมนั้นใครๆ ก็เอาผ้าขาวม้ามามัดจนล้นถึงคอแล้ว ในที่สุดก็มีชาวบ้านเอาผ้ามาปูให้พลเอกเปรมเหยียบเพื่อนำไปกราบบูชา คล้ายกับที่ประชาชนกระทำต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยภาพที่จี้จุดอ่อนของราชสำนักนี้ได้เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลพลเอกเปรม อีกทั้งรัฐบาลก็สืบทอดอำนาจติดต่อกันมายาวนานถึง 8 ปี ความวิตกกังวลว่าพลเอกเปรมจะกลายเป็นขุนศึกผู้มากบารมี และเป็นอันตรายกับราชสำนักก็เกิดขึ้น ดังนั้นจากการครองอำนาจยาวนานและรูปธรรมการเหยียบผ้าขาวม้าเอาไว้ให้ประชาชนนำไปบูชานี้เอง “เครือข่ายราชสำนัก” ก็เริ่มทำงาน ข่าวลือเริ่มเกิดขึ้นจากปากต่อปากขยายตัวไปทั้งสังคมว่าการกระทำของพลเอกเปรมไม่เหมาะสม โดยมีข้อความติดปากทำลายพลเอกเปรมว่า
“พลเอกเปรมกำลังเทียบบารมีในหลวง”
ตั้งแต่นั้นยุคเสื่อมของพลเอกเปรมก็มาถึง กระแสความเบื่อหน่ายพลเอกเปรมระบาดทั่วไปโดยเฉพาะในกรุงเทพ จะมีกระแสสูงเพราะใกล้ชิดข่าวสารมากที่สุด สื่อมวลชนต่างๆ ก็ทำหน้าที่ของตนเสมือนเป็นเครือข่ายราชสำนักชั้นดี การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี 2531 พรรคมวลชนที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หาเสียงเลือกตั้งโดยง่ายว่า
“ใครต้องการให้เปรมเป็นนายกฯ ให้เลือกประชาธิปัตย์ ใครไม่ต้องการให้เปรมเป็นนายกฯ ให้เลือกพรรคมวลชน”
เพียงแค่คำขวัญง่ายๆ ของพรรคมวลชนที่เป็นปฏิปักษ์กับพลเอกเปรมมาแต่ต้น ก็ได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงเทพโดยเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคมวลชนเข้าไปในสภาเกินคาดในกรุงเทพมหานคร
ดูเหมือนพลเอกเปรมจะรู้สัญญาณความไม่พอใจของราชสำนัก เพราะหลังการเลือกตั้งแล้ว แม้เสียงสนับสนุนของพลเอกเปรม จากพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายพิชัย รัตตกุล พรรคชาติไทย ภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ และพรรคกิจสังคม ภายใต้การนำของพลอากาศเอกสิทธิ์ เศวตศิลา รวมกันแล้วยังเป็นเสียงข้างมากสนับสนุนพลเอกเปรมให้เป็นนายกฯ ต่อไป แต่พลเอกเปรมก็ตัดสินใจประกาศไม่รับตำแหน่งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2531 และผ่องถ่ายให้พลเอกชาติชาย ชุณหวัน ขึ้นเป็นนายกคนที่ 17 ต่อไป
การลงจากเวทีนายกฯ ของพลเอกเปรม ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากวังทันที พลเอกเปรมต้องรออีกระยะเวลาหนึ่งเสมือนรอตรวจสอบความจงรักภักดี แล้วก็ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรีต่อมา

5.8 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลพลเอกชาติชาย

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นความลงตัวของบุคคล 2 คนที่เห็นร่วมกันต้องกล่าวไว้ในที่นี้คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ด้วยเพราะท่าทีที่หน่อมแน้มของพลเอกชาติชาย
เมื่อพลเอกเปรมตัดสินใจลงจากตำแหน่งด้วยรู้สัญญาณจากราชสำนัก ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องเลือกบุคคลที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนตน ซึ่งขณะนั้นตามรัฐธรรมนูญนายกฯ จะเป็นใครมาจากไหนก็เป็นนายกฯ ได้ทั้งนั้น ดังตัวอย่าง 8 ปีที่ผ่านมา พลเอกเปรมไม่มีเสียงในสภาเลยก็ยังเป็นได้ เพราะเสียงชี้ขาดที่จะหนุนให้ใครเป็นนายกฯ นั้นคือ ราชสำนักและปืนของทหาร ดังนั้นเมื่อภาพที่เปิดเผยคือทหารหนุนใคร พรรคการเมืองก็จะเฮละโลมาหนุนคนนั้น เพื่อจะได้กระโดดขึ้นรถไปเป็นรัฐมนตรีกับเขาด้วย ดังนั้นการตัดสินใจของพลเอกเปรมที่จะหนุนพลเอกชาติชายให้ขึ้นเป็นนายกฯ จึงเป็นความซับซ้อนที่ควรจะบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้ ณ ที่นี้
พลเอกชาติชาย ได้เล่าในโอกาสสรวลเสเฮฮากับพรรคพวก และ ส.ส.ลูกพรรคบ่อยครั้งอย่างเปิดเผยถึงการตัดสินใจของพลเอกเปรม หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยคนใกล้ชิดพลเอกชาติชายได้ถ่ายทอดข้อมูลให้ฟังว่า
“พลเอกเปรมนั้นตัดสินใจว่าจะลงจากตำแหน่งนายกฯ ก่อนแล้ว และจะหาคนมาเป็นนายกฯ แทนตน ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็ได้ถาม พลอากาศเอกสิทธิ์ เศวตศิลา ในฐานะหัวหน้าพรรคกิจสังคมก่อนว่า หากพลเอกเปรมไม่รับตำแหน่งนายกฯ พลเอกสิทธิ์ จะเป็นนายกฯ แทนได้ไหม พลเอกสิทธิ์ก็ตอบว่า เป็นได้ครับ ไม่มีปัญหาและพร้อมจะเป็น ต่อมาหลังจากนั้นวันหนึ่งขณะพลเอกชาติชายไปตีกอล์ฟร่วมก๊วนกับพลเอกเปรม, พลเอกชาติชาย ก็ได้รับคำถามในทำนองเดียวกันว่า”
พลเอกเปรม : “ท่านผู้การÙหากผมไม่รับตำแหน่งนายกฯ ท่านผู้การจะรับเป็นนายกฯ แทนได้ไหม”
พลเอกชาติชาย : “โอ้! ไม่ได้หรอกครับ แค่คิดผมก็ผิดแล้ว
ผมมันเพลย์บอย เป็นนายกฯ ไม่ได้หรอก ท่านเป็นนายกฯ เหมาะแล้วครับ”
“ปรากฏว่า พลเอกเปรมกลับมาหนุน ผมเป็นนายกฯ เมืองไทยเรานี้แปลก ไอ้คนที่อยากได้จะไม่ได้ ไอ้คนที่ไม่อยากได้มักจะได้”
เรื่องเล่าตลกทางการเมืองที่มีนัยสำคัญเรื่องนี้ ทุกครั้งที่เล่าจบจะมีเสียงฮาตามมาตลอด
เหตุผลสำคัญที่พลเอกเปรมเลือกหนุนพลเอกชาติชายเป็นนายกฯ เพราะดูเป็นคนหน่อมแน้ม ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งพลเอกเปรมคิดว่าจะคุมได้โดยง่าย ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะไม่ชอบเลือกคนที่เก่งกว่าตนมาแทนตำแหน่งตัวเอง เพราะจะบดบังรัศมีบารมีของตน และยากที่จะควบคุมสั่งการ ซึ่งในขณะนั้นพลอากาศเอกสิทธิ์ ดูจะเป็นคนที่มีความเหมาะสม และพร้อมกว่าพลเอกชาติชายมาก แต่ด้วยท่าทางที่ฉลาดเหมาะสมนี้เอง พลเอกเปรมก็ไม่เลือก
อีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสนับสนุนก็คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งวางแผนไว้ลึกซึ้งแบบขงเบ้งในสามก๊ก โดยหนุนพล.อ.ชาติชาย ด้วยเหตุผลคล้ายกันกับพลเอกเปรม แต่ลุ่มลึกกว่าเพราะตัวเองจะเข้ามาเสียบนายกฯ แทนต่อจากชาติชายอีกที โดยพลเอกชวลิตเห็นว่าความไม่เอาไหนของพลเอกชาติชายนั้นเป็นความเหมาะสมแล้ว และประเมินว่ารัฐบาลของพลเอกชาติชายจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ก็จะพอดีกับเวลาที่พลเอกชวลิตจะออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่รัฐบาลพลเอกชาติชายก็จะถึงกาลอวสาน ในเรื่องนี้ พลเอกชาติชายก็เล่าเบื้องหลังให้หลายคนในวงสนทนาฟังด้วยความสนุกสนานเช่นกันว่า
“ไอ้จิ๋ว มันกะว่ารัฐบาลผมจะอยู่ได้เพียงแค่ 6 เดือน แล้วมันจะมาเป็นนายกฯ แทน ปรากฏว่าพอรัฐบาลผมอยู่ได้ครบ 6 เดือน สถานการณ์บ้านเมืองยิ่งดี รัฐบาลผมยิ่งลอยลำ ผมก็เลยทำถ้วยกาแฟเป็นที่ระลึกโดยมีคำว่า ลอยลำ ไว้ด้วยÙ
แต่ความเห็นร่วมกันของหลายฝ่ายโดยเฉพาะพลเอกเปรม และพลเอกชวลิต ล้วนแต่อ่านหมากการเมืองผิดหมด ปรากฏว่าพลเอกชาติชายกลายเป็นมีดคมอยู่ในฝัก ซึ่งไม่มีใครมองเห็น และวันแรกที่พลเอกชาติชายรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี วลีแรกที่พลเอกชาติชายประกาศก็เกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่น จากวันนั้นถึงวันนี้คือคำว่า
“ผมจะแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า”
ตลอดระยะเวลาการเป็นนายกฯ ของพลเอกชาติชาย ตั้งแต่ก้าวแรกก็ได้ปฏิเสธแนวคิด และแนวนโยบายของพลเอกเปรม และปฏิเสธแนวคิดหลักของราชสำนักทั้งหมด เริ่มจากพลเอกชาติชายไม่ให้ความสำคัญกับชุดพระราชทานที่ออกแบบในสมัยของพลเอกเปรมที่ พลเอกเปรมภูมิใจมาก โดยตลอดการเป็นนายกฯ พลเอกชาติชายใส่สูทอย่างดีของอิตาลี และเนคไทแบรนเนมส์ โดยปฏิเสธชุดพระราชทาน เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของพลเอกเปรม จากการเป็นศัตรูกับเวียตนามและประเทศในอินโดจีน โดยหันมาจับมือเพื่อทำการค้าตามนโยบายแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า และผลักดันประเทศให้เจริญก้าวหน้าในระบบทุนนิยม ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของราชสำนัก โดยประกาศว่าประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย หรือนัยหนึ่งก็คือผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เหมือนประเทศเกาหลีใต้หรือไต้หวัน หรือที่เรียกกันว่า NIC(New Industrial Country) โดยผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศขนานใหญ่ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการเปิดแหล่งลงทุนใหม่ในภาคตะวันออก คือการลงทุนสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเปิดประตูการส่งออกแทนท่าเรือคลองเตยเป็นผลสำเร็จ เป็นผลให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกหลายแห่งในเขตจังหวัดชลบุรี, ระยองจนถึงจันทบุรี และตราด เพื่อรองรับทุนต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ที่ดินราคาแพงขึ้น ชาวนาชาวไร่ขายที่ดินในเขตอุตสาหกรรม และเขตใกล้ถนน ร่ำรวยกันมหาศาลซึ่งเป็นครั้งแรกที่ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา รวมตลอดทั้งรัฐบาล พลเอกชาติชายได้ทำการปริวัติเงินตราโดยลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศให้การไหลเข้าออกของเงินสะดวกขึ้น อันเป็นผลให้เงินบาทกลายเป็นเงินสกุลสากล
จากผลงานที่เกินความคาดหมายของพลเอกเปรม พลเอกชวลิต และความตกใจของราชสำนักทำให้ผลงานของรัฐบาลพลเอกชาติชาย กลายเป็นความวิตกกังวลของทุกฝ่าย โดยเฉพาะราชสำนักมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรงในเรื่องการถือครองที่ดิน ยิ่งจากผลของการพัฒนา ทำให้ชาวนาชาวไร่ขายที่ดิน ทิ้งถิ่นทำกินของตนมากขึ้น ยิ่งทำให้ราชสำนักไม่พึงพอใจนายสุเมธ ตันติเวชกุล ผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท ได้ออกมาแสดงความเห็นเบรกแนวทางเศรษฐกิจของพลเอกชาติชายหลายครั้งที่ว่าประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ว่า
“เป็นคนอยู่ดีๆ ไม่ชอบ ชอบเป็นสัตว์เดรัจฉาน”
เพราะแนวทางเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียคือ พัฒนาประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ รองมาจากญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน นั้นเป็นแนวทางที่ขัดกับราชสำนัก ที่เน้นการผลิตแนวเกษตรกรรมแบบพออยู่พอกิน ด้วยเชื่อว่าการมีชาวนาที่ทำการผลิตขนาดเล็กแบบพออยู่พอกินนั้นจะเป็นฐานความเชื่อมั่นต่อแนวคิดแบบจารีตนิยมที่เชื่อผีสางเทวดา และจะจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่าที่คนส่วนใหญ่จะเป็นกรรมกรในภาคอุตสาหกรรม เพราะมีตัวอย่างแล้วว่าในประเทศที่มีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักนั้น จะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ ไม่มีอำนาจจริง ประกอบกับโครงการพัฒนาของรัฐบาลชาติชายเริ่มไม่ให้ความสนใจต่อผลประโยชน์ของราชสำนักจากหลักฐานในหนังสือ The King never smiles บทที่ 17 ได้ให้ข้อมูลว่า
“นักธุรกิจพวกพ้องของชาติชายอย่างเช่น ประชัย เลี่ยวไพรัตน์จากกลุ่มทีพีไอได้รับอนุญาตให้เฉือนแบ่งชิ้นเนื้อจากเครือซีเมนต์ไทยของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในตลาดวัสดุก่อสร้างกับปิโตรเคมี ประชัยซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายแรกของประเทศ ไม่พอใจที่เครือซีเมนต์ไทยได้เข้ามาทำลายการผูกขาดของเขาไปก่อนหน้านี้ เขาเกลี้ยกล่อมรัฐบาลชาติชายอนุญาตให้เขาผลิตปูนซีเมนต์ และทำการช่วงชิงลูกค้าของเครือซีเมนต์อย่างดุเดือด และเขายังได้สิทธิพิเศษเหนือเครือซีเมนต์ในการลงทุนทางปิโตรเคมีใหม่ๆ อีกด้วย ในทำนองเดียวกันบริษัทอื่นๆ ก็ได้รับโอกาสที่ดีกว่าเครือซีเมนต์ในการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กและโทรคมนาคม บางครั้งชาติชายก็ไม่เหลือบแลผลประโยชน์ของวัง รัฐบาลของเขาสนับสนุนโครงการขนส่งมวลชนที่เรียกว่า โฮปเวลล์ ซึ่งเป็นทางรถไฟยกระดับวิ่งผ่านสวนจิตรลดากับสถานที่สำคัญๆ ของพวกเจ้า อันจะเป็นการล่วงล้ำความศักดิ์สิทธิ์ วังถือเป็นการลบหลู่และบริวารในระบบราชการก็ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับโฮปเวลล์
รัฐบาลชาติชายยังปฏิเสธบทบาทครอบงำเชิงสังคมการเมืองของกองทัพอีกด้วย ชาติชายพยายามลดอำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งยังคงเต็มไปด้วยทหาร ตำรวจและข้าราชการหัวอนุรักษ์ แม้ว่าจะไม่สามารถลดจำนวนวุฒิสภาลงได้ แต่ชาติชายก็ต้องการให้ประธานรัฐสภามาจากสส. ไม่ใช่จากวุฒสภาอย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากประธานรัฐสภาเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ แก่กษัตริย์ บทบาทสำคัญนี้จึงจะเปลี่ยนจากมือของอำนาจเก่ามายังนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” จากข้อมูลนี้ก็ตอบปัญหาค้างคาใจให้กับคนไทยได้หมดประเทศว่า ทำไมโครงการรถไฟโฮปเวลจึงค้างเติ่งหยุดนิ่งทันทีหลังพลเอกชาติชายถูกยึดอำนาจ? และค้างคากลายเป็นอนุสาวรีย์นิรนามที่ไม่รู้จะเอาผิดกับใครมาถึงทุกวันนี้ และโครงการโรงปูน PTI ของคุณประชัยที่ล้มละลาย และมีการปรับปรุงหุ้นใหม่ไม่อาจกลับมาเป็นของคุณประชัยได้อีกต่อไป เพราะอะไร?
อีกรูปธรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าราชสำนักไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของพลเอกชาติชาย ก็คือการปรับ ค.ร.ม.โดยเอาพลอากาศเอกสิทธิ์ เศวตศิลาที่มีความใกล้ชิดกับราชสำนัก ออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว หลังจากนั้นราชสำนักจึงได้ส่งสัญญาณความไม่พอใจโดยประกาศตั้งพลเอกสิทธิ์ เป็นองคมนตรี (คล้ายกับเหตุการณ์ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่นายแพทย์เกษม ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา และกรณีนายพลากร สุวรรณรัตน์ ถูกย้ายออกจากการเป็นผู้อำนวยการ ศอ.บต.จากภาคใต้ในสมัยนายกฯ ทักษิณ ราชสำนักก็ตั้งบุคคลทั้งสองนี้เป็นองคมนตรีทันที) และอีกรูปธรรมหนึ่งก็คือการดึงตัว พอ.มนูญ รูปขจร กลับเข้ามาประเทศไทยให้มาช่วยราชการของรัฐบาลพลเอกชาติชาย โดยเลื่อนยศให้เป็นพล.ต.และยุติเรื่องคดีลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระราชินีฯ ของ พ.อ.มนูญ ให้ด้วย
กลุ่มทหาร จปร.รุ่น 5 ที่เติบโตขึ้นมาเป็นใหญ่พร้อมๆ กันอันได้แก่พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก(พลเอกชวลิต ลาออกจาก ผบ.ทบ.ไปร่วมรัฐบาลพลเอกชาติชาย ตำแหน่งนี้จึงตกแก่ พลเอกสุจินดา คราประยูร) พลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี (ญาติที่เป็นคู่เขยกับพลเอกสุจินดา) ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารเรือครบ 3 เหล่าทัพ รวมทั้งพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รุ่นพี่ที่รักน้องและใจนักเลงเจ้าของคำขวัญประจำใจ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เมื่อได้รับสัญญาณจากราชสำนักเช่นนี้ และกลุ่มพวกตนในฐานะข้าราชการก็เห็นว่าหากปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวไปมากเช่นนี้ ก็จะทำให้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเข้มแข็งมากขึ้น ประเทศชาติจะเจริญ คนจะฉลาด และในที่สุดโอกาสที่ข้าราชการทหารจะขึ้นเป็นใหญ่อย่างในอดีตก็จะถึงกาลอวสานเพราะเมื่อประชาชนฉลาดก็จะกดหัวได้ยาก อีกทั้งเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างพลเอกชวลิต กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งต่างก็เป็นรัฐมนตรีร่วมอยู่ในรัฐบาลด้วยกัน โดยพลเอกชวลิตได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทุจริตในรัฐบาลของนายกฯ ชาติชาย อย่างหนักว่าเป็น “บุฟเฟ่แคบิเนต” ร.ต.อ.เฉลิม จึงตอบโต้ไปที่ภรรยาของพล.อ.ชวลิตว่าเป็น “ตู้เพชรเคลื่อนที่” ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ พล.อ.ชวลิตมาก และลามไปถึงกลุ่มทหาร จปร.5 ที่ไม่พึงพอใจ ร.ต.อ.เฉลิม พร้อมกับเครือข่ายราชสำนักก็เริ่มทำงาน โดยเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนอย่างหนักโดยเอาคำกล่าวโจมตีของพลเอกชวลิตไปขยายผลว่าเป็นรัฐบาลที่มีการทุจริตอย่างมาก หรือ “บุฟเฟต์แคบิเนท” ดังนั้นฝ่ายทหารจึงรวมศูนย์กดดันให้ปลด ร.ต.อ.เฉลิม ออกจากรัฐมนตรีสำนักนายกฯ เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม ทำหน้าที่เป็นโฆษกพิเศษของพลเอกชาติชาย ในการตอบโต้ทหารอย่างไม่ลดราวาศอก ในที่สุดพลเอกชาติชายก็ดูเหมือนว่าจะทำตามคำเรียกร้องของฝ่ายทหารเพื่อปลดเงื่อนไขความขัดแย้งโดยปรับ ครม.เอา ร.ต.อ.เฉลิม ออกจากรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีตามคำเรียกร้องของทหารจริง แต่แต่งตั้งใหม่ให้ ร.ต.อ.เฉลิม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาแทน ยิ่งทำให้ฝ่ายทหารเคียดแค้นเป็นการใหญ่


เหตุการณ์เริ่มประทุรุนแรงขึ้นเมื่อพลเอกชวลิต ลาออกจาก ค.ร.ม.ของพลเอกชาติชายÙ และดึงนายประสงค์ สุ่นสิริ คนสนิทของ พลเอกเปรมอีกคนหนึ่งมาตั้งพรรคความหวังใหม่ เพื่อเข้าต่อสู้โดยประกาศเดินทางไกลหมื่นลี้ เพื่อจะกลับเข้ามาเป็นนายกฯ ก็เป็นจุดแตกหักที่ร้อนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสายสัมพันธ์ระหว่างพลเอกชาติชายกับพลเอกเปรม และทหาร ขาดสะบั้นแล้วเพราะพลเอกชวลิตเป็นคนสนิทของพลเอกเปรม และเป็นตัวเชื่อมต่อกับฝ่ายทหาร จปร.5 ให้แก่รัฐบาลชาติชาย
ในช่วงปลายของรัฐบาลพลเอกชาติชายดูเหมือนว่าพลเอก ชาติชายพยายามที่จะเอาใจราชสำนักด้วยการปรับ ค.ร.ม.ในเดือนสิงหาคม 2533 โดยนำคนของพลเอกเปรม(ขณะนั้นพลเอกเปรมได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีแล้ว) คือนายวีระพงษ์ รามางกูร และคนของราชสำนักคือนายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตผู้บริหารบริษัทเครือซีเมนต์ไทยของราชสำนัก และนายวิสิษฐ์ เดชกุญชร นายตำรวจผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท ด้วยหวังว่าจะลดแรงกดดันจากวัง ส่วนความขัดแย้งกับฝ่ายทหารนั้น พลเอกชาติชายไม่ใยดีและไม่เกรงกลัวเลยเพราะพลเอกชาติชายพูดอยู่เสมอว่าเขาเติบโตมาในโรงทหาร และล่าสุดยังจะตั้งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งมีความขัดแย้งกับ จปร.รุ่น 5 อย่างรุนแรงมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อมาคุม จปร.5 ด้วย
กรณีข่าวจะตั้งพลเอกอาทิตย์ มาเป็น รมช.กลาโหมนี้เอง จึงทำให้ จปร.5 ตัดสินใจฉวยโอกาสจี้จับตัวพลเอกชาติชายบนเครื่องบินขณะเดินทางจะขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ที่เชียงใหม่ และประกาศการยึดอำนาจทันทีในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยความฉุกละหุก โดยสังเกตการณ์ตั้งชื่อคณะยึดอำนาจก็แปลกๆ ว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทั้งๆ ที่ขณะนั้นบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตดีๆ แท้ๆ ด้วยข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นว่าการยึดอำนาจดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกโดยบังเอิญ แต่เหตุใดทำไมหลังการยึดอำนาจจึงได้รับพระปรมาภิไธยจากพระมหากษัตริย์อันเป็นการยอมรับการยึดอำนาจโดยง่าย ในขณะที่ พลเอกเปรมเป็นองคมนตรีอีกทั้งการยึดอำนาจโดยทำการจับตัวพลเอกชาติชาย ขณะกำลังนั่งบนเครื่องบินเพื่อจะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวตามหมายกำหนดการของราชสำนักถือได้ว่าเป็นการปล้นอำนาจที่หน้าวังเลยทีเดียว ซึ่งแทนที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพิโรธแต่กลับทรงพระเกษมสำราญ ดังนั้นหากจะวิเคราะห์เจาะลึกจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ก็จะเห็นว่ามีสัญญาณบ่งบอกมากมายว่ากลุ่มทหารน่าจะกระทำได้ราบรื่น ซึ่งแตกต่างจากการยึดอำนาจครั้งก่อนๆ ที่มักจะมีข่าวลือที่ไม่เป็นมงคลเกี่ยวกับตัวนายกฯ ว่าไม่จงรักภักดี เพราะในกรณีของพลเอกชาติชายนั้นส่วนตัวของพลเอกชาติชายมีแต่ประวัติที่ผูกพันใกล้ชิดกับราชสำนักทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พลเอกชาติชายก็ยืนอยู่ฝ่ายราชสำนัก และภรรยาของท่าน คือ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ก็มีศักดิ์เป็นหลานที่สมเด็จย่าเป็นผู้เลี้ยงมา จึงไม่มีข่าวลือทางด้านนี้ แต่จากความเห็นของพอล แฮนด์ลี(Paul Handley) ผู้เขียน The King never smiles ในบทที่ 17 ก็ยืนยันว่า “มีการเปิดทางสำหรับการรัฐประหารจากราชสำนักมาหลายเดือนก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมีหลักฐานว่าพลเอกชาติชายวิ่งเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ทุกครั้งที่ถูกพลเอก สุจินดาข่มขู่ และเป็นการเห็นร่วมกันกับพลเอกเปรมว่าการรัฐประหารเป็นทางการเลือกที่วังยอมรับได้ในการเมืองไทยสมัยใหม่”
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ก็คือ การเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก และไม่อาจจะนำรัฐนาวาสู่ความมีเสถียรภาพได้ ดังตัวอย่างของรัฐบาลพลเอกชาติชายมีภูมิหลังผูกพันลึกซึ้งอยู่กับวังแท้ๆ อีกทั้งได้บริหารประเทศจนนำประเทศไปสู่ความเจริญจนรุ่งเรือง แต่ก็จะต้องพบกับข้อจำกัดความขัดแย้งอันไม่อาจประคองตัวได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน
รัฐบาลพลเอกชาติชายก็ถึงกาลอวสานด้วยการยึดอำนาจของ จปร.5 .ในนาม รสช. เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534

5.9 รูปธรรมการกำจัดอำนาจรัฐบาลพลเอกสุจินดา

เมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ทำการยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จแล้วก็ได้กระทำการเสมือนหนึ่งเป็นการสนองพระราชประสงค์ของ ราชสำนัก โดยแต่งตั้งให้พลเรือนที่เป็นที่โปรดปรานคือ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และจากหลักฐานที่น่าเชื่อว่านายอานันท์ เป็นที่โปรดปรานโดยแท้จริงก็จากกรณีหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในกลางปี 2535 นายอานันท์ ก็ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความฉงนงุนงงที่รถยนต์ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรวิ่งผ่านบ้านของพล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ซึ่งเป็นผู้กุมเสียงสนับสนุนของส.ส.ข้างมากในสภา และเป็นที่คาดหมายว่าจะต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน โดยรถยนต์วิ่งผ่านนำพระบรมราชโองการไปยังบ้านนายอานันท์ ปันยารชุน แทน
ในระยะเวลา 1 ปี ในปี 2534 ที่นายอานันท์เข้ามาบริหารประเทศ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะสืบทอดอำนาจได้เลย จึงเป็นรัฐบาลที่ปลอดภัยจากโรคแทรก แต่นายอานันท์ก็รักษาความสัมพันธ์กับคณะทหาร รสช.อย่างดียิ่ง ด้วยการตามใจคณะรสช.ในการจัดตั้งงบประมาณซื้ออาวุธให้เพื่อให้ทหารหาเงินในการสืบต่ออำนาจทางการเมืองในนามพรรคสามัคคีธรรม และอนุมัติโครงการ “ทหารเสือประชาธิปไตย” โดยให้ทหารและตำรวจ จัดหน่วยผสม หน่วยละ 3 คน ไปประจำทุกหมู่บ้านในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเผยแพร่ความคิดประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วเป็นการวางฐานใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหัวคะแนนให้พรรคสามัคคีธรรมโดยใช้เงินหลวงเพื่อทำการควบคุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้กุมเสียงประชาชนตัวจริงทั้งหมดให้สนับสนุนพรรคทหารของรสช.ที่ใช้ชื่อว่าพรรคสามัคคีธรรม
ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่นายอานันท์บริหารประเทศชาติ พลเอก สุจินดาได้แสดงบทบาทที่ดูจะไม่แนบเนียนนักว่าตนเองนั้นไม่มักใหญ่ ใฝ่สูง โดยปฏิเสธชัดเจนว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบของราชสำนักเพราะราชสำนักนั้นจะคอยระมัดระวังตลอดเวลาไม่ให้มีกลุ่มการเมืองใดพัฒนาจนเข้มแข็งอันจะเป็นปฏิปักษ์ต่อวังได้ โดยเฉพาะการรวมตัวของกลุ่มทหารที่เข้มแข็งก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อวังมากดังเช่นในอดีตสมัยจอมพล ป.และจอมพลถนอม อีกทั้งการที่คณะ รสช.ประกาศยึดทรัพย์รัฐมนตรีทุกคนในคณะของพลเอก ชาติชาย ก็เป็นประโยชน์ต่อวังและเป็นสูตรสำเร็จในทุกสมัยเพื่อทำลายฐานทางการเมืองของกลุ่มการเมือง เพราะยิ่งกลุ่มการเมืองพลเรือนพังทลาย การสร้างฐานอำนาจการเมืองในระบบพรรคการเมืองก็จะทิ้งห่าง สถาบันกษัตริย์ และสถาบันทหาร ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในการทำลายกลุ่มอำนาจของพลเรือน เพราะว่ากลุ่มนักการเมืองขาใหญ่จะรวมตัวกันใหม่อีกทีก็ต้องใช้เวลาอีกนาน วิธีการนี้ถูกใช้อีกครั้งในการยึดอำนาจของคณะคมช.เมื่อ 19 กันยายน 2549 และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเมื่อใช้ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการตัดสินยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 5 ปี เสริมเข้าไปอีก ซึ่งเป็นผลให้ตระกูลการเมืองที่มีบารมีในต่างจังหวัดจำนวนมากต้องสะดุดหัวขมำทางการเมืองไปตามๆ กัน
แม้การแสดงตัวของคณะรสช.จะเอาอกเอาใจราชสำนักอย่างไร ก็ไม่สามารถจะทำโดยตรงได้ เพราะสถานการณ์ในขณะนั้นจนถึงปัจจุบันอยู่ในยุคผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ที่มีประสิทธิภาพที่สุดแล้ว คือพลเอกเปรมที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากราชสำนัก ด้วยประวัติการทำงานรับใช้ราชสำนักที่ผ่านมายาวนาน ประกอบกับเป็นโสด ไม่มีทายาท และอายุมากแล้ว ดูจะปลอดภัยต่อราชสำนักมากที่สุด ดังนั้นทุกอย่างของคณะ รสช.ที่จะติดต่อกับพระเจ้าอยู่หัวก็จะต้องผ่านบุคคลสำคัญท่านนี้ก่อน……คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ในเบื้องต้นที่ รสช.โค่นล้มรัฐบาลพลเอกชาติชาย และตัดรากถอนโคนอำนาจของกลุ่มพลเรือนด้วยการยึดทรัพย์ ดูจะเป็นที่พึงพอใจของพลเอกเปรม และพลเอกชวลิต ซึ่งได้พัฒนาเป็นกลุ่มอำนาจตัวจริงทางการเมืองของราชสำนักไปเสียแล้ว โดยทุกคนในกลุ่มอำนาจของ พลเอกเปรมต่างก็คิดว่ากลุ่มรสช.จะเข้ามาอยู่ในกลไกการควบคุมของ พลเอกเปรม โดยเฉพาะพลเอกชวลิต ฝันว่าน้องๆ รสช.จะเอาตำแหน่งนายกฯ มามอบให้แก่ตนในฐานะหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เมื่อเปิดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2535 แต่ปรากฏว่าระหว่างที่นายอานันท์ตัวแทนราชสำนักบริหารงานในฐานะนายกฯ อยู่นั้น คณะรสช.ก็ออกลายให้เห็นว่า “อำนาจทางการเมืองนั้น พวกฉันจะเอาเอง” ด้วยการส่งตัวแทนของตนเข้าไปกุมพรรคการเมืองแนวร่วมในตำแหน่งเลขาธิการพรรคไว้ เกือบทั้งหมดเพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เช่นพรรคชาติไทยพลอากาศเอกสุมบุญ ระหงส์ มือประสานสิบทิศมาดูแล และพรรคกิจสังคมส่ง ร.อ.ขจิต เพื่อนของพล.อ.สุจินดามาเป็นเลขาธิการพรรค และตัวเองก็จัดตั้งพรรคหลักไว้ในการเดินเกมการเมืองคือพรรคสามัคคีธรรม โดยมีข้อแลกเปลี่ยนโดยปลดการยึดทรัพย์ให้แก่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคมด้วย โดยเฉพาะพรรคชาติไทย นายบรรหารได้ต่อเชื่อมขอความช่วยเหลือจากทั้งพลเอกเปรม และยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของรสช.โดยเป็นพรรคอะไหล่รับฝาก ส.ส.ที่รสช.ส่งเข้ามาเก็บ สต๊อกไว้เตรียมการเลือกตั้ง ดังนั้นนายบรรหารจึงหลุดจากการยึดทรัพย์เป็นรายแรก และเมื่อรัฐบาลนายอานันท์ที่เข้ามาขัดตาทัพ จัดการเคลียร์หน้าเสื่อให้แล้วก็เปิดการเลือกตั้งทั่วไปตามแผนของราชสำนักแต่ดูเหมือนว่าหน้าตาของรัฐบาลใหม่นั้นจะเป็นอันตรายต่อวังยิ่งกว่ารัฐบาลพลเอกชาติชายในสายตาของพลเอกเปรมและพลเอกชวลิต เพราะเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่า รสช.ทำการสืบต่ออำนาจโดยสร้างอำนาจทางการเมืองใหม่ที่แข็งแกร่งและควบคุมยากยิ่งกว่ารัฐบาลพลเอกชาติชายเสียอีก ด้วยการเป็นรัฐบาลโดยการเลือกตั้งที่มีทั้งพรรคการเมืองของตัวเองและกองทหารของตัวเอง โดยมีกองทัพหนุนหลังอย่างเต็มที่ ด้วยการควบคุมกำลังผ่านรุ่น 5 และผ่านเครือญาติ และทันทีที่ผลการเลือกตั้งปรากฏขึ้น เสียงข้างมากที่ผ่านกลไกของทุนที่รสช. ตุนไว้สมัยนายกฯ อนันต์อนุมัติ และกลไกของทหารโดย “สามทหารเสือ” ประจำหมู่บ้านที่นายกฯ อนันต์อนุมัติให้เพื่อใช้เป็นหัวคะแนนทุกหมู่บ้านก็บรรดาลผลให้พรรคสามัคคีธรรมเป็นเสียงข้างมากอันดับหนึ่งขึ้นมาทันที และเริ่มแสดงบทบาทขึ้นมาทันที่และเริ่มแสดงบทบาท โดยเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล และทันทีที่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม ก็จับมือกันค้านโจมตีว่านายณรงค์ วงศ์วรรณว่ามีบัญชีดำเป็นผู้ค้ายาเสพติดเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้จึงเกิดความโกลาหลแล้ว อำนาจนายกรัฐมนตรีคนใหม่ล่าสุดจึงมาตกอยู่ที่พลเอกสุจินดา คราประยูร(เพราะรัฐธรรมนูญขณะนั้นมิได้กำหนดว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส.) เมื่อภาพปรากฏชัดเช่นนั้น ความวิตกกังวลว่ากลุ่มรสช. จะกลายพันธุ์เป็นราชวงศ์รสช. เช่นกลุ่มทหารการเมืองในอดีต จึงมาหลอกหลอน ดังนั้นเครือข่ายราชสำนักซึ่งปัจจุบันบังคับบัญชาโดยพลเอกเปรม ก็ทำงานประสานกันทันที โดยกลไกของพลเอกเปรมทั้งหมดตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม ก็ประสานตีกระหน่ำพรรคสามัคคีธรรมทั้งในสภาและนอกสภา โดยมีตัวละครในเครือข่ายผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่สำคัญคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เตรียมทหารรุ่น 7 ที่ขัดแย้งกับรุ่น 5,นายประสงค์ สุ่นสิริ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ก็ทำการเชื่อมต่อกับกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตย เช่น นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, นพ.เหวง โตจิราการ, นายไพศาล พืชมงคล เจ้าของสำนักงานทนายความธรรมนิติ คนสนิทพลเอกชวลิต(ปัจจุบันเป็นแกนนำพันธมิตร) และเชื่อมต่อกลุ่มมวลชน มอเตอร์ไซด์รับจ้าง กลุ่มกรรมกรของสหภาพแรงงาน โดยรวมกำลังกันประท้วงขับไล่ พล.อ.สุจินดา ทันทีอย่างเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ
จากเหตุการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากโดยมีทั้งกำลังจัดตั้งนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม ที่เสียประโยชน์ พร้อมด้วยกำลังจัดตั้งของสันติอโศก พร้อมด้วยนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายเดิมที่แปรรูปมาเป็นคนชั้นกลาง และประชาชนทั่วไปผู้รักความเป็นธรรม รวมกำลังกันเป็นเรือนแสน ประท้วงกดดันให้พลเอกสุจินดาลาออก และวาระสุดท้ายของสุจินดาก็มาถึง เมื่อกระสุนนัดแรกลั่นออกไป การปราบปรามก็เกิดขึ้นจากจุดกลางถนนราชดำเนินโดยทหารก็บุกเข้าจับตัว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำม็อบ แต่แทนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลง ก็กลับเขม็งเกลียว และขยายตัวออกรอบๆ บริเวณนั้นกลายเป็นจลาจล จนรัฐบาลพลเอก สุจินดาอยู่ในฐานะลำบากที่จะปราบปรามอย่างต่อเนื่องจนจบขบวนการได้
เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือรสช. ยังมีราชสำนักคอยคุมเกมส์ เมื่อลูกบอลไหลเข้าเท้าตรงบริเวณหน้าประตูพอดีเช่นนี้พลเอกเปรมจึงเตะลูกเข้าโกล์ทันที
ดังนั้นอำนาจจากราชสำนักโดยพลเอกเปรมผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริงก็แสดงบทบาทโดยการเรียกตัวทั้งพลเอกสุจินดา และพล.ต.จำลอง ซึ่งกลายเป็นคู่พิพาท ทั้งๆ ที่พลเอกสุจินดาพึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศมาหมาดๆ ไม่พอเดือน เพียงแต่มีคนนำม็อบมาขับไล่นายกฯ ก็มีอำนาจที่จะดำเนินการปราบปรามใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเกิดเลือดตกยางออกเข้า พลเอก สุจินดาผู้มีอำนาจทางการทหารเข้มแข็งก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นจำเลยทางการเมือง ต้องคลานเข้าไปกราบแทบเบื้องยุคลบาทของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
บรรยากาศที่ทั้งพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองหมอบกราบต่อหน้าพระมหากษัตริย์ และถูกต่อว่าสั่งสอนโดยถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจทุกช่องนั้น กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ทำลายเกียรติภูมิของผู้ที่มีอำนาจตามตัวหนังสือในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยอย่างยิ่ง เป็นความเจ็บปวดของพลเอกสุจินดามาจนทุกวันนี้ และเป็นการยืนยันให้เห็นถึงระบอบการปกครองของไทยว่า คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ อำนาจมิใช่อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ โดยใช้ผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ มิใช่ใช้ผ่านนายกรัฐมนตรี
ความเจ็บปวดของพลเอกสุจินดาที่ฝังลึกนานกว่า 10 ปี ไม่เลือนไปจากความทรงจำก็ได้แสดงออกที่คำพูดของพลเอกสุจินดาที่เตือนทหารรุ่นน้องในเหตุการณ์ประท้วงของพันธมิตรขับไล่รัฐบาลสมัครในช่วงเริ่มต้นที่ปกครองมาได้ไม่พอ 3 เดือน เช่นเดียวกับที่เกิดกับตนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 เป็นการสะท้อนความเจ็บปวดของฝ่ายทหารที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยได้รับความเห็นชอบจากราชสำนักก็คือ
“ทหารอย่าเข้าไปยุ่ง ทหารมีประสบการณ์ครั้งสำคัญเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 และประสบการณ์ครั้งล่าสุดก็เมื่อ 19 กันยายน 2549”
จากคำเตือนนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พลเอกอนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกไม่นำทหารเข้าไปจัดการใดๆ กับการประท้วงของพันธมิตร รวมตลอดทั้งไม่ทำการยึดอำนาจตามความประสงค์ของวังโดยทำการวางเฉยต่อสถานการณ์มาโดยตลอด เข้าทำนองตามสุภาษิตไทยว่า
“เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ได้แต่กระดูกแขวนคอ”
จะด้วยเป็นบทเรียนของทหารหรือเป็นเพราะ “ม็อบส้นใหญ่” ก็เป็นเรื่องที่จะศึกษาข้อเท็จจริงกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ คือรัฐไทยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่นี้ ได้พัฒนาไปสู่รัฐอนาธิปไตยแล้ว

5.10 รอยแผลทางสังคมของสายสกุลแห่งอำนาจ

เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลา 70 กว่าปีที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยอยู่ในอำนาจอย่างมั่นคงโดยมองไม่เห็นในขณะนั้นว่าจะล่มสลายลงได้อย่างไร ได้กลายเป็นฉากละครทางการเมืองที่เจ็บปวดที่สุดที่ฝังรากลึกในทุกสายสกุลของอดีตนายกฯ ทั้งที่มาจากพลเรือนและนายกฯ ที่มาจากทหาร นับตั้งแต่พระยาพหลพลพยุหะเสนา (พหล พหลโยธิน) จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ หรือแม้แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์(ที่มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นอำนาจของราชสำนักอย่างมั่นคง เมื่อตายก็ถูกยึดทรัพย์) จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พลเอกสุจินดา คราประยูร พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี และล่าสุดสายสกุลชินวัตร เราจะสังเกตได้ว่าสังคมจะไม่เคยได้ยิน บุคคลรุ่นหลังที่ใช้นามสกุลเหล่านี้เข้าไปรับใช้ในวังในฐานะเป็นนางสนองพระโอฐ หรือในฐานะเจ้าหน้าที่ในสำนักราชเลขาในราชสำนักเลย
เพราะอะไร ?
Ù จากหนังสือ The King never smiles บทที่ 12
Ù สภาสนามม้า เป็นชื่อเรียกที่สื่อมวลชนขนานนามให้ เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลได้ใช้อำนาจของพระองค์เองคัดเลือกบุคคล 2,347 คน และแต่งตั้งให้เป็นสมัชชาประชาชนขึ้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2516 หลังจากล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร แล้ว โดยใช้คนเหล่านี้เลือกกันเองให้มาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 299 คน โดยจัดประชุมกันที่สนามม้านางเลิ้ง ล่าสุดรัฐบาลเผด็จการ คมช.ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในปี 2550 ก็เลียนแบบเดียวกันนี้อีก เสมือนหนึ่งเป็นหนังม้วนเก่าของราชสำนัก

Ù นายดุสิต ศิริวรรณ ได้โปรดเกล้าเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังเหตุการณ์สังหารนักศึกษาปัญญาชน 6 ตุลาคม 2519 และต่อมาก็ถูก พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ และพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลนายธานินทร์แล้ว ความสัมพันธ์ที่เป็นเครือข่ายระหว่างนายธานินทร์-นายดุสิต-นายสมัคร ก็ยังดำรงอยู่ โดยนายดุสิตก็ได้รับโบนัส และเป็นหูเป็นตาให้ราชสำนักสายนายธานินทร์ องคมนตรีโดยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตลอดมา และเกาะกลุ่มผลประโยชน์กับบริษัทซีพี ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจใหญ่ที่รับใช้ราชสำนัก
Ù ในปี 2551 ต้นปี เดือนมกราคมยังเป็นนายกฯ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์, เดือนกุมภาพันธ์ มีนายกฯ ชื่อนายสมัคร สุนทรเวช, ตุลาคมมีนายกฯ ชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และธันวาคมมีนายกฯ ชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
Ù เหตุการณ์ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 นักศึกษาประชาชนชุมนุมอยู่หน้าวังสวนจิตรลดาฝั่งตรงข้ามสวนสัตว์ ได้ยินนายธีรยุทธ บุญมี ที่เป็นหนึ่งในแกนนำ 13 คนที่ถูกปล่อยตัวพูดผ่านเครื่องกระจายเสียงหลังกำแพงในสวนสัตว์โดยหลงเชื่อการใส่ความของฝ่ายทหารว่า “นาย簠N籈N䀔而�禄ϔ꿬Tꟈ䞑����끰T끰T끸T끸T V䱀T꫆⤹T蠀넀T뀠T너T뀨T놀T뀰T�燚ᖪ燚退�@B櫨N欐N䀔而�彘瞮㪔L볯䕉����냠T냠T냨T냨T↸V⇨V꫈⤹c蠀녰T낐T노T나T덀T놀T�濻㠭濻ꀀ>@綈N綰N䀔而�늌T᭤Lꞿ䞑����념T념T녘T녘T⍐VℨV꫺⤹�蠀뉐T넀T뉘T너T널T날T�瑪찪瑪뀀 >@緐N緸N䀖而�덬T彸瞮饶䠻����뇀T뇀T뇈T뇈T⋀V∘Vꫬ⤹�蠀肘癢��P��薏幬ย䝠ﺚ㏪똗獱P㝸ϓ��脸QM����������������������ꪞ⤹�蠀댰T녰T댸T노T뎰T덀T�病䈱病倀@B毘N氀N䀔而 �穤ϔ넼T욞䣶����늠T늠T늨T늨T꽘ϓ꺘ϓꪀ⤹�蠀肘癢��껸ϓ������������������������������������������(�ꪲ⤹�蠀뎠T뉐T뎨T뉘T뉠T널T�瘌ᕋ瘌瀀�:@繠N纈N䀔而�甤ϔ඼Oꝵ䞑����돰T돰T돸T돸T뀀ϓ꽰ϓ꩖⤹�蠀肘癢��뀘ϓ������������������������������������������$�꩘⤹�蠀肘癢��箐ϓ������������������������������������������+�ꩊ⤹�蠀肘癢��痠ϓ��皢젪䵣檐䑖䖬蕳뀰ϓ����艘Q��浨ϓ�������������������ꩼ⤹�蠀肘癢��P��➅澺俏喝蹻ᕿ酰P����芸Q����������������������;�ꩮ⤹�踀shell:::{89D83576-6BD1-4C86-9454-BEB04E94C819}\*����ꨐ⤹�蠀肘癢��P������������뗐T������������������������������ꨂ⤹�蠀룠T뎠T루T뎨T룰T뎰T�犪吺犪뀀�<>缸N罠N䀔耈�竔ϔོOꝵ䞑����뜀T뜀T뜈T뜈T남ϓ끠ϓꨴ⤹�蠀肘癢��紐ϓ��嶂披ﷁ䷃ഇ䤝靝羀N����茘Q�����������������������ꨦ⤹�蠀肘癢��냀ϓ������������薸Q������������������������������ꨨ⤹�蠀肘癢��ꔨϓ��薏幬ย䝠ﺚ㏪똗獱냘ϓ괐ϓ蘘Q虸QM��� ���������ﯟ䚚ࡏ䷉侐芞䡌㞼�ꯚ⤹�蠀肘癢��睈ϓ��藛㺶旹䳶㪠牥㶟蛘Q��������������������������������ꯌ⤹�蠀瓨ϔ뚰T瓰ϔ뚸T畨ϔ뛀T�疙샨疛ꀀ68PP䀔而�瘄ϔৌOꜿ䞑����뤰T뤰T뤸T뤸T념ϓ냰ϓ꯾⤹�蠀肘癢��ᚸT������������������������������������������,�ꯠ⤹�蠀肘癢��绰ϓ������������궸ϓ����������������������������1�ꮒ⤹�蠀肘癢��燐ϓ������������䷸ϓ�����������������������������ꮄ⤹�言@%ProgramFiles%\Windows Sidebar\Sidebar.exe,-10000��ꮶ⤹�蠀肘癢��녨ϓ��➅澺俏喝蹻ᕿ酰汸N��몠T��≨ϓ������������������������ꮸ⤹�蠀肘癢��ꕈϓ��薏幬ย䝠ﺚ㏪똗獱ꕨϓ曐ϓ蜸Q螘QM��� ���������ﯟ䚚ࡏ䷉侐芞䡌㞼'���������������������⚳㥈ఀ밤T������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������{CC29EC69-7BC2-11D1-A921-00A0C91E2AA2}�������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������䶳㬼ࠀ睞瓬睝瘬睝瘄睝睞���㩐㏅䢄䦰ﶅ㹤ware\Cla���CLSID\{33C53A50-F456-4884-B049-85FD643ECFED}����P�����箐N����������������������������炲㭗�䱈ϓᣠQ��ꔀϝ쥨Ϝꕀϝ計U鉠Ϝ瘐֒矰֒ၠϝ眀֒猐֒琀֒釰Ϝ莠U錈Ϝ祰֒瑠֒鐠Ϝ閨Ϝ睠֒钐Ϝ覐Uϡ销Ϝ鏨Ϝ瓀֒鍀Ϝ癰֒瓰֒畐֒錘Ϟ輸֑검֑碰֒鍸Ϝ禠֒璐֒葀U鈨Ϝ砠֒甠֒瞐֒觠Uᾀ֙硐֒碀֒眰֒秐֒磠֒鑘Ϝ限Ϝ皠֒痠֒镰Ϝ鋐Ϝ醸Ϝ醀Ϝ铈Ϝ遨Ϝ阘Ϝ辈Ϝ祀֒锸Ϝ鎰Ϝ荸U틺劻㭫ࠀѨTⓐT�타à꓌⤹1耀ގERNEL32.dll�s\system32\SAMLIB.dll�ce\Office12\SAMLIB.dll�tm����������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������㍠Qꑷ⤹�ꀀ쪀T佈T��ᓐʩᶨ͇°ϻㆠǶ��ીʣ��������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������ꐲ⤹�耀݉Ϝ柨Ϝ����������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������ꗽ⤹�ꀀT컐T��좀輸͍��㠀Ƕ��⒠ʣ����������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������꼰ϖꖸ⤹�ꀀ컐T쐈T��址⤈C��ರǶ��௰ʣ����������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������縐ϖꕣ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮ǔ�ฐ����㏨Ϝᐤ���� �∤࠻ᐼ���� �∼࠻Ᏼ�0��� �⇴࠻࿤�€��� �ᷤ࠻ၤ�ΐ��� �Ṥ࠻ᑘ�Ȁ��� �≘࠻ᙘ�㜨��� �⑘࠻䶀�Ȭ��� �宀࠻侬�Ð��� �嶬࠻������ �෿࠻偼�Ĩ��� �幼࠻冤�T��� �徤࠻������ �෿࠻������ �෿࠻�� � �Q����$�����枑ɼ�ᗘ��� ����� �€���鸘W貘֒�����࿤���฀࠻鞔W�$�့�漐֒��셀ϡ읰ϡ솘ϡ������觰֒�����������������伀昀昀椀挀攀�ᘀ�堀Qꔮ⤹�ꀀ졘T쪀T��쌘贘͍ս㗠Ƕ��ಈʣ��������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������shdocvw.dll�ꛩ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ő�Ĭ����XSϤ� ��� �稘Ԕϰ���� �稤Ԕϔ���� �稈Ԕɼ�€��� �碰Ԕ˼�Ø��� �礰ԔЌ�Ȁ��� �穀Ԕ،�ΐ��� �籀Ԕজ�D��� �翐Ԕৠ� ��� �耔Ԕ������ �瘳Ԕ਀�T��� �耴Ԕ੔�$��� �肈Ԕ������ �瘳Ԕ������ �瘳Ԕ��Љ���A�����������)�Ũ�������� �€���埈ϘჰW�����ɼ���瘴Ԕ汴Y�����X��뚈ϓ뜌ϓ뛠ϓ������ᄘW�����������������伀昀昀椀挀攀�ᘀ�㌀QꚔ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ŵ�Ұ����蛸Yࡤ���� �후࠼ࡼ���� �훜࠼ࠤ�@��� �횄࠼ؤ�€��� �풄࠼ڤ�ƀ��� �프࠼࢘�Ȁ��� �훸࠼ઘ�ȴ��� �࠼ೌ���� �࠼೜���� �࠼������ �칟࠼������ �칟࠼������ �칟࠼������ �칟࠼������ �칟࠼�� � �Y��� ��������Č��������� �€� ��檘֒臸֒�����ؤ���칠࠼[� ���������TTT������诐֒������������������������፤戹㌀Qꙟ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ŕ�Ɛ����뫐YѴ� ��� �ӲҀ���� �ˆӲє� ��� �\Ӳˤ�€��� �ﻬӱͤ�ð��� �ャӱҜ�Ȁ��� �¤Ӳڜ�Ӕ��� �ʤӲ୰�T��� �ݸӲ௄�(��� �ߌӲ������ �ﰇӱ௬�T��� �ߴӲీ�$��� �ࡈӲ������ �ﰇӱ������ �ﰇӱ��Љ���A�����������7�ǵ�������� �€���䨀T舀ϗ�����ˤ���ﰈӱऄϔ�����X��钸ϗ镨ϗ��������舨ϗ������������������������፤戹㍠Qꘚ⤹�ꐀ������������������������Ѐ���������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������Ā�������������������������������������������������������Ʂ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ǭ�ၨ����尀Y������ �ʯӳ������ �ʯӳᙌ�P��� �᣼ӳቔ�€��� �ᔄӳዔ�͸��� �ᖄӳ᚜�Ȁ��� �᥌ӳᢜ�ິ��� �ᭌӳ❐�ô��� �⨀ӳ⡄�ň��� �⫴ӳ⦌���� �ⰼӳ������ �ʯӳ������ �ʯӳ������ �ʯӳ������ �ʯӳ��Љ���A����*�������¨�׋��������� �€�Ɛ���W艐ϗ�����ቔ���ʰӳℴϓ�*�့������么Ϙ喀Ϙ亠Ϙ������艸ϗ�����������������伀昀昀椀挀攀�ᘀ�堀QꞀ⤹�谀�स���.ȈTC:\Users\STK\Documents\�.exe�䤹⚙�一ʑ�ᰀ����㈀唀猀攀爀猀�䀀猀栀攀氀氀㌀㈀⸀搀氀氀Ⰰⴀ㈀㄀㠀㄀㌀�᐀䈀㄀��褀넺Ⴒ匀䭔 ܀Ѐ膾䤹覙넺⚲�攀ˇ�਀�����匀吀䬀�ሀ一㄀��脀嘹ኙ䄠灰慄慴㠀܀Ѐ膾䨹膙嘹⚙�뼀ˇ�ऀ�����䄀瀀瀀䐀愀琀愀�ᘀ一㄀��ꈀ఺ၚ删慯業杮㠀܀Ѐ膾䨹ꊙ఺♚�쀀ˇ�ഀ�����刀漀愀洀椀渀最�ᘀ吀㄀��稀ᐕ䴠䍉佒繓1㰀܀Ѐ膾䨹窙☕�섀ˇ�ऀ�����䴀椀挀爀漀猀漀昀琀�᠀䰀㄀��ꌀ逺၍传晦捩e㘀܀Ѐ芾혹ꌋ逺♍�ꠀѿ�܀�����伀昀昀椀挀攀�ᘀ���ꝋ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ŕ�Ɛ����쓘XѴ� ��� �ԎҀ���� �Ԏє� ��� �Ԏˤ�€��� �Ԏͤ�ð��� �ԎҜ�Ȁ��� �Ԏڜ�Ӝ��� �滑Ԏ୸�`��� ��Ԏ௘�(��� �﹀Ԏ������ �Ԏఀ�T��� �﹨Ԏ౔�$��� �ﺼԎ������ �Ԏ������ �Ԏ��Љ���A�����������7�ǻ�������� �€���嗨ϘࡘW�����ˤ���Ԏ鐄ϗ�����X��镰ϗ阠ϗ��������ࢀW�����������������伀昀昀椀挀攀�ᘀ���ꃶ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ƅ�ـ����妈Ϙ਌� ��� �਌ԑਘ���� �ਘԑ������ ��Ԑ߄�€��� �߄ԑࡄ�Lj��� �ࡄԑ਴�Ȁ��� �਴ԑఴ�ด��� �ఴԑᩈ�(��� �ᩈԑᩰ�è��� �ᩰԑ������ ��Ԑ᭘�€��� �᭘ԑᯘ�0��� �ᯘԑ������ ��Ԑ������ ��Ԑ��Љ���A����������‡�܅�������$� �€���溨ϗಐW�����߄����ԑ阬ϗ�����X��忐Ϙ抐Ϙ悀Ϙ������ಸW�����������������伀昀昀椀挀攀�ᘀ���ꂱ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮ƈ�ڤ����Xૄ� ��� �梼Ԙૐ���� �棈Ԙੴ�P��� �桬Ԙࠬ�€��� �昤Ԙࢬ�Lj��� �暤Ԙ૬�Ȁ��� �棤Ԙ೬�ཤ��� �櫤Ԙ᱐�¤��� �穈Ԙ᳴�è��� �竬Ԙ������ �巷Ԙᷜ�T��� �篔ԘḰ�$��� �簨Ԙ������ �巷Ԙ������ �巷Ԙ��Љ���A�����������™�ݪ�������� �€���ꎨϖᒈW�����ࠬ���巸Ԙ胤Sᬏ⌎����X��︰XĜYﺈX������ᒰW����������������㈀⸀ᨀᜎᤎ㌎ᘀ��㍠Qꁼ⤹�ꐀ�������������������������������������������������������������������������������������Ā�����@�����Ā�������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������塨Qꀧ⤹�ꐀ�T����������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������ꇢ⤹�ꐀ������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������ꆭ⤹�ꀀ丈Ϝ졘T��߈ʩ酘͍��⭀Ƕﯰ૱ࣸʣ���������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������伀昀昀椀挀攀�ᘀ�㌀Qꅨ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ŕ�Ɛ����괘ϙѴ� ��� �ՅҀ���� �Յє� ��� �Յˤ�€��� �Յͤ�ð��� �ՅҜ�Ȁ��� �Յڜ�Ә��� �Յ୴�X��� �Յௌ�(��� �Յ������ �혯Յ௴�T��� �Յై�$��� �Յ������ �혯Յ������ �혯Յ��Љ���A�����������7�ǹ�������� �€���￘V冘W�����ˤ���혰Յ⁔ϖ�����X��顐ϗ餀ϗ��������净W����������������������������ꄓ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮Ő�Ĭ����슘ϗϤ� ��� �렘Ոϰ���� �려Ոϔ���� �레Ոɼ�€��� �뚰Ո˼�Ø��� �뜰ՈЌ�Ȁ��� �례Ո،�Θ��� �멀Ոত�L��� �뷘Ոৰ� ��� �븤Ո������ �됳Ոਐ�T��� �비Ո੤�$��� �뺘Ո������ �됳Ո������ �됳Ո��Љ���A�����������)�ŭ�������� �€���øW啘W�����ɼ���됴Ո气Ϙ�����X��뜘ϓ랜ϓ띰ϓ������喀W����������������������������ꋞ⤹�頀䦐眮䣸眮铌眮ь�팠T����������ta\RoaTng\Microsoft\Office\Tcent\index.dat�าคผนวT5.4.ภาคผนวก 5.doc�覙T�攀ˇ�਀�����匀吀䬀�ሀ一㄀��脀T䄠灰慄慴㠀܀Ѐ膾䨹膙嘹⚙�뼀ˇ�ऀ��T�䄀瀀瀀䐀愀琀愀�ᘀ一㄀��ꈀ఺ၚ删慯業T܀Ѐ膾䨹ꊙ఺♚�쀀ˇ�ഀ�����刀漀T椀渀最�ᘀ吀㄀��稀ᐕ䴠䍉佒繓1㰀܀ЀT䨹窙☕�섀ˇ�ऀ�����䴀椀挀爀漀猀T琀�᠀䰀㄀��ꌀ逺၍传晦捩e㘀܀Ѐ芾혹��♍�ꠀѿ�܀�����伀昀昀椀挀攀�ᘀ�堀Qꊙ⤹�阀������������������������������������������������������������������������㔈ϓ��������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������፤戹��ꉄ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮ଘ�����Ⱈ֙⏔಴��� �⚄۫よP��� �㌸۫⋴à��� �▤۫Ì€��� �ͼ۫Ō↨��� �ϼ۫ヘȀ��� �㎈۫㋘�� �㖈۫ฐ4��� �Ⴠۮไ㜸��� �ჴۮ������ �ʯ۪䕼Ӑ��� �䠬ۮ䩌Ԑ��� �䳼ۮ������ �ʯ۪������ �ʯ۪��Љ���Q���ɵ�������ᢳ�賏��$����� �€��ď�ຸ֙詀֒�����Ì��ʰ۪깄ϗ�ɵ�့ď�墐Ϡ��⾀֮鮜֮ム֮������橸֑����������������❁䄧耐肀堽ᱍ幀䁛怵M㍠Qꈏ⤹�退�����€�˼�ジ֮绾���esktop.ini�������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������㍠Qꏊ⤹�ꀀ乘眮儨眮儔眮ࠬ�겨����趨֔칄�x��� �ꯔॷ캼���� �걌ॷ쵔�ð��� �ꫤॷ듔�€��� �鉤ॷ땔�᠀��� �鋤ॷ컘�Ȁ��� �걨ॷ탘�㒜�� �깨ॷմଘ��� �ॹႌ᠐��� �ॹ������ �ॶ⢜ǰ��� �جॺ⪌ ��� �ࠜॺ������ �ॶ������ �ॶ��Љ���Q���ƺ������ኜ�㦅��(����� �€�� �֖柸֑�����듔���ॶྔX�ƺ���������⇘֚淐֚⇘֚������楠֑����������������������������ꍵ⤹�耀??\C:\Windows\system32\en-US\urlmon.dll.mui�2\NTMARTA.DLL�age092.gif�les\Content.MSO\6DE66F75.wmf��������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������፤戹㌀Qꌰ⤹�耀�癣���C:\Users\STK\AppData\Local\Temp\desktop.ini���������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������崸ϡ��������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������宻㍈ࠀ픀ϡHॄ �타à䶤⪌ാ谀Ῠ睯�Ὸ睯��������䤎᝱�಴���䷝⪌⼸踀/05web/th/home/13273���䰀䷖⪌慭踀/05web/th/home/13273�挮浯漯䷏⪌⽥谀㩌睯�所֒,�����ꮠ�������찊㴐捥楴䷈⪌慶耀3借俠⃐㫪ၩ〫鴰䌯尺�����������䷁⪌瑯耀瘴쫔瘵���� ���鄐瘴䪴瘴��๘V����䷺⪌⸳耀:借俠⃐㫪ၩ〫鴰䌯尺����������⸀䷳⪌杲耀,借俠⃐㫪ၩ〫鴰䌯尺�����������䷬⪌㰠耀A潤畣敭瑮瑡潩㹮਍†⼼獸愺湮瑯瑡潩㹮਍†砼㩳湡潮䷥⪌湯耀H†㰠獸携捯浵湥慴楴湯ാ ††吠楨⁳捳敨慭搠晥湩䴞⪌瑴耀O整⁳湡⁤湡愠瑴楲畢整朠潲灵਍†††畳瑩扡敬映牯䴗⪌戠耀V††猠档浥獡眠獩楨杮琠污潬⁷浸㩬慬杮‬浸㩬灳䴐⪌牯耀]戺獡⁥瑡牴扩瑵獥਍†††湯攠敬敭瑮⁳桴祥搠晥湩䴉⪌†耀d潔攠慮汢⁥桴獩‬畳档愠猠档浥⁡畭瑳映物瑳搠捥慬䴂⪌敨耀k਍†††慮敭灳捡ⱥ愠摮琠敨浩潰瑲琠楨⁳捳敨慭䴻⪌†耀r⁲桴⁥䵘⁌慮敭灳捡ⱥ攠朮‮獡映汯潬獷ഺ ††☠䴴⪌档耀y‮‮‮浸湬㩳浸㵬栢瑴㩰⼯睷⹷㍷漮杲堯䱍ㄯ㤹⼸慮䴭⪌捡耀€ ††⸠⸠⸠਍†††氦㭴浩潰瑲渠浡獥慰散∽瑨灴䴦⪌睷耀‡牯⽧䵘⽌㤱㠹港浡獥慰散ഢ ††猠档浥䱡捯瑡潩㵮䵟⪌㩰耀Ž⹷㍷漮杲㈯〰⼰〱砯汭砮摳⼢ാ ††匠扵敳畱湥汴䵘⪌慵耀•摥爠晥牥湥散琠湡⁹景琠敨愠瑴楲畢整൳ ††漠䵑⪌⁥耀œ⁰敤楦敮⁤敢潬⁷楷汬栠癡⁥桴⁥敤楳敲⁤晥敦瑣‬䵊⪌਍耀£†氦㭴祴数⸠⸠⸠ാ ††⸠⸠⸠਍†††氦㭴瑡牴䵃⪌䝥耀ª爠晥∽浸㩬灳捥慩䅬瑴獲⼢ാ ††眠汩敤楦敮愠䵼⪌⁥耀±⁨楷汬猠档浥ⵡ慶楬慤整愠椠獮慴据൥ ††攠敬敭䵵⪌瑩耀¸⁹景琠潨敳愠瑴楲畢整㱳砯㩳潤畣敭瑮瑡潩㹮਍††䵮⪌愺耀¿瑡潩㹮਍††砼㩳瑡牴扩瑵⁥慮敭∽慬杮•祴数∽獸䵧⪌畧耀Æാ ††㰠獸愺湮瑯瑡潩㹮਍††††砼㩳潤畣敭瑮䵠⪌㹮耀͆†††湉搠敵挠畯獲ⱥ眠⁥桳畯摬椠獮慴汬琠敨爠䲙⪌湡耀Ô⁏ⴲ愠摮㌠氭瑥整൲ ††††挠摯獥愠⁳桴⁥湥浵䲒⪌摥耀Û楳汢⁥慶畬獥⸠⸠⸠⼼獸携捯浵湥慴楴湯ാ †††䲋⪌㩳耀â慴楴湯ാ ††㰠砯㩳瑡牴扩瑵㹥਍†††砼㩳瑡牴䲄⪌⁥耀é∽灳捡≥搠晥畡瑬∽牰獥牥敶㸢਍††††砼㩳楳灭䲽⪌数耀ð††††㰠獸爺獥牴捩楴湯戠獡㵥砢㩳䍎慎敭㸢਍†䲶⪌†耀÷砼㩳湥浵牥瑡潩慶畬㵥搢晥畡瑬⼢ാ †††††䲯⪌攺耀�慲楴湯瘠污敵∽牰獥牥敶⼢ാ ††††㰠砯㩳敲瑳楲瑣潩㹮ྲ㩈�뀈V竈֒㫪ၩ〫鴰䌯尺���������瀀㄀��脀䤹ᆙ唀敳獲尀܀Ѐ抾儵腚䤹⚙�一ʑ�ᰀ����㈀唀猀攀爀猀�䀀猀栀攀氀氀㌀㈀⸀搀氀氀Ⰰⴀ㈀㄀㠀㄀㌀�᐀䈀㄀��褀넺Ⴒ匀䭔 ܀Ѐ膾䤹覙넺⚲�攀ˇ�਀�����匀吀䬀�ሀ瘀㄀��글쨺ᄪ䐀獥瑫灯怀܀Ѐ膾䨹꺙쨺☪�븀ˇ�ࠀ����㘀䐀攀猀欀琀漀瀀�䀀猀栀攀氀氀㌀㈀⸀搀氀氀Ⰰⴀ㈀㄀㜀㘀㤀�ᘀ谀㄀��글ၬ䔀㥆繆1瘀܀Ѐ꺾栺긩栺☩�鰀ʜ�ఀ�����䐀ᜎ∎䌎ᔎ䤎⌎䠎ℎ⨎ℎᨎ㤎⌎ጎ㈎എ㈎⨎㐎ᜎ᠎㐎⌎㈎਎ᬎ⌎ㄎᨎᬎ⌎㠎܎䌎⬎ℎ䠎ᘀ栀㄀��글쐺ဩ㐀㠶㈶ㅾㄮ㤭一܀Ѐ꺾栺긩쐺☩�휀ʜ�ࠀ�����㐀⸀䀀ᤎ㜎䤎ⴎ⬎㈎ᨎᜎᜎ㔎䠎‎㄀ⴀ㤀�ᨀ蘀㈀�ᎈ관蔺㄀㠭ㅾ䐮䍏渀܀Ѐ꺾栺긩栺☩�ʜ�ࠀ�����䐀ᜎ∎䌎ᔎ䤎⌎䠎ℎ‎⨀ℎᨎ㤎⌎ጎ㈎എ㈎⼎‎ᨀᜎᜎ㔎䠎‎㄀ⴀ㠀⸀搀漀挀�᠀�ḀUÄL䒳㬔฀/C:/Users/STK/Desktop/ไทยใต้ร่มสมบูรณาญาสิทธิราชปรับปรุงใหม่/1.หน้าปก/หน้าปก.doc�cit䦳㭞ࠀC:\Windows\WinSxS\x86_microsoft.vc80.mfc_1fc8b3b9a1e18e3b_8.0.50727.762_none_0c178a139ee2a7ed\MFC80.DLL�傳㭓ఀ샨֑샨֑䢲㭊�첨[ᱰU䔤癢��P�Ű뀀䱨癢઼癤␁����X�Ű뀐䝔癢䠠癢␆�䗌癢��h�Pࠀ䜼癢ઌ癤⌄����x�Ű ��જ癤၁���#�p� ꀀ��બ癤၁���#�p� ꀀ��Ԁ㭞�恐N⸠ϔ\Qƌȓ�te��Ƅȓ䦳㭓ࠀ��¾À༨U̐�C:\Windows\WinSxS\x86_microsoft.vc80.crt_1fc8b3b9a1e18e3b_8.0.50727.1434_none_d08b6002442c891f\�亳㭓਀C:\Windows\WinSxS\x86_microsoft.vc80.crt_1fc8b3b9a1e18e3b_8.0.50727.1434_none_d08b6002442c891f\MSVCP80.dll��꾲㭔�ϖϡ�+������Ɛ��ȃሁAngsana New�ÍÎÏÐÑÒÓÕÕ �Angsana New�ŤÖťÖŦÕŧÕŨÔũÓŪÒūÑūÐŬÏŬÎŬÍŬÌŬœŬ›ŬšŬ™ū˜ū—Ū–ũ”ŧ“ŧ“Ŧ’ť’Ť�Regular�ţŤ‘ť‘Ŧ‘ŧ’Ũ’Ū”ū•Ŭ–Ŭ—ŭ˜ŭ�Thai�ÌŭÍŭÎŭÏŬÐŬÑūÒŪÔŨÕŧÖŦ֝׍×ţ×癤ࠀ��#×>‟+�� � ����)�Ɛ���`�`� ◦ �ᜀÞš@$က�ᖝ�м�脀��������污ࠀ��Ǥ�Ű��+������Ɛ�ÿȃሁAngsana New�™šœÌÍÎÏÑÒ�Angsana New Italic�ØţØŤØťØŦ×Ũ×ũÖŪÕŪÕŬÓŭÒŭÑŮÏŮÎŮÍŮÌŮœŮ›Ů™Ů˜ŭ—ŭ–Ŭ�Italic�‘ũ‘Ũ‘ŦťŤţŢ$ŢŽţŽŤŦ�Thai�‘ũ‘ū’ū’ŭ”ŭ”ŭ•Ů—ů˜ů™ůšůœůÌůÍ癤ࠀ��ŮÑ>‟+�� � ��� �'�Ɛ���`�`� ◦ ÿᜀÞØ$က�ᕲ�п�脀��������污ࠀ��Ǥ�Ű��,� �����ʼ��ȃሁAngsana New�$ŽŢŽ�“��“��•��•�Angsana New Bold��š��œ��Ì��Í��Î��Ï��Ñ��Ò��Ó��Õ��Õ��Ö�Bold��×� �Ø�!�Ø�"�Ø�$�Ø�Ţ�Ø�ţ�Ø�Thai��Ø�Ŧ�×�Ũ�×�ũ�Ö�Ū�Õ�Ū�Õ�Ŭ�Ó�癤ࠀ��ŭ�>‟,�� � ��� �)�ʼ���`�`� ◦ �ᜀǞ� $က�ᘩ�҂�脀��������污ࠀ��Ǥ�Ű��-� �����ʼ�ÿȃሁAngsana New��$��Ţ�Ž�ţ�Ž�Ť��Ŧ�Angsana New Bold Italic�’�ŭ�”�ŭ�”�ŭ�•�Ů�—�ů�˜�ů�™�ů�š�ů�œ�ů�Ì�ů�Bold Italic�Ñ�ŭ�Ò�ŭ�Ó�ū�Õ�ū�Õ�ũ�Thai��ŧ�Ø�Ŧ�Ù�Ť�Ù�ţ�Ù�Ţ�Ù�$�Ù�"�癤ࠀ��Ù�>‟-� � � ��� �(�ʼ���`�`� ◦ ÿᜀÞ�!$က�᚟�њ�脀��������污ࠀ��ᬀ㮻�เUᱰU�˜��–��•��”��”��’��’�悑㮴က(�����@�ໄ�ໄ��������ÿ��㿸�࿠�߀�΀�΀�Ā�Ā�Ā�Ā�Ā�΀�΀�߀�࿠�㿸���żȓ傳㭘ఀ췈[췈[㒳㭊ࠀ(�����̂�଒�଒�����邕疍屠䑶琿㜻䑱瘿彪ꞕ붖뺿ꦬ禧剖⽼耮⴬♾礪✢⥿縬⴬㑴漯涕삫귬꺰㽶茻⼯⺁献㈹捜坅䩭䑛礵⨧ⶃ簮〵뉞굵돀旬沏㕸鄯〳㪇刳殭䲄觠콉岀㡊⺊鄭Ⱜ桱捊郒삽쮕䦬斮㹲鴳〵㮕嘴碽䶋諛侔掘ⲉ鴫㈸㺒夵词즗홬䦙狆呱ꄿ〶㒟挮梡云迟劙胀㞊ꀯ㈹㖜爮膲䲐结湦ꍋ〷㞩琯嶋嚘飡岢郍㮌꘳㐿㚣蜭肤䮍蓙譞꥛〹䖳錵䩫흜岓꣮炲肬㾦뀲㝉㾬鄯説䮐諞ꕘꡬ㐿亴됻㡈岪鍅掉規ꙣ㹒䪳됹㥋䞩鰴닕홬䢙觝썏鹾㩊咺뙁䍕䒬댶〻䢾밹㽑侹괽ⴽ莜뱪쮕䢬蟛흏辍㽕劼륃䑗ꖈ瑾恻䪈輽㝄咍顅膒ᅥ엧튪泬闒袘佮侼먿㹏랞邎퓿ꗅ엟퓞ᅯ냶폱솾돬뫄禗掋傷먿㽑鮨鵸퟿ᄆ쏞ᅫ틲料뛡새얰莹螲侵뤽㽑蚰ꅧ퓽ᆴ볜ᄐ껤컬좸겱뒛瞊纬赣뫧飄럚킪䪲㬮�เU䈸Wᘁ㭊ࠀ����몭몭֨�ͤ���������������������ᴀU��ᵬU��������������������閨W���������������ᴘUᴘU�������Ԁ嶳㭑ఀ刨ȏ��クPȐ���Ȑ���ퟰȐ���Ȑ���Ȑ���Ȑ���Ȑ���Ȑ���Ȑ岲㭇�㛨ϓ뺰ϛ��Ȑ���Ȑ���Ȑ���Ȑ���Ȑ�����������������������悑㭇က(�����@�ໄ�ໄ��������ÿ��㿸�࿠�߀�΀�΀�Ā�Ā�Ā�Ā�Ā�΀�΀�߀�࿠�㿸���äȓ冲㭘�ᚸ֒楐ϡ禳㭊ࠀ쬸瘤췯覫䀀�����냔瘢ỔUỔU�⌀���䩠TỸU��篘N������ͬ�⑨T�����������❝�䩸T �����⬀ᤎ��❟�堀㈀��ǣ������ὨUὨU��������������ᾌUᾌU��ᾘUᾘU����������㬯ഀ������ῈUῈU����ῘUῘU��瀀㄀ῨUῨUἌU����Ѐ��͠�檳㭣ࠀ�‴U⁚U⁸U⃨U⅘U�����Brother PC-FAX v.2�Windows NT x86�C:\Windows\system32\spool\DRIVERS\W32X86\3\BROFX05A.DLL�C:\Windows\system32\spool\DRIVERS\W32X86\3\BROFX05a.PDD�C:\Windows\system32\spool\DRIVERS\W32X86\3\BRUFX05A.DLL�悑㭰က(�����@�ໄ�ໄ��������ÿ��㿸�࿠�߀�΀�΀�Ā�Ā�Ā�Ā�Ā�΀�΀�߀�࿠�㿸���ȓ틺劻㭘ࠀ҈T඘U�타à顛⤹�ꐀ��အᐊ���〫鴰���䀀��䀀��䀀���䀀��ᆙ唀敳獲尀܀Ѐ抾儵腚䤹⚙�一ʑ�ᰀ����㈀唀猀攀爀猀�䀀猀栀攀氀氀㌀㈀⸀搀氀氀Ⰰⴀ㈀㄀㠀㄀㌀�᐀䈀㄀��褀넺Ⴒ匀䭔 ܀Ѐ膾䤹覙넺⚲�攀ˇ�਀�����匀吀䬀�ሀ瘀㄀��글栺ᄩ䐀獥瑫灯怀܀Ѐ膾䨹꺙栺☩�븀ˇ�ࠀ����㘀䐀攀猀欀琀漀瀀�䀀猀栀攀氀氀㌀㈀⸀搀氀氀Ⰰⴀ㈀㄀㜀㘀㤀�ᘀ谀㄀��글ၬ䔀㥆繆1瘀܀Ѐ꺾栺긩栺☩�鰀ʜ�ఀ�����䐀ᜎ∎䌎ᔎ䤎⌎䠎ℎ⨎ℎᨎ㤎⌎ጎ㈎എ㈎⨎㐎ᜎ᠎㐎⌎㈎਎ᬎ⌎ㄎᨎᬎ⌎㠎܎䌎⬎ℎ䠎ᘀ倀㄀��글ၬ㄀〶㘹ㅾ㨀܀Ѐ꺾栺긩栺☩�ꐀʜ�܀�����㄀⸀⬀ᤎ䤎㈎ᬎĎᘀ堀㈀�b관蔺䐀䘴繁⸱佄C㸀܀Ѐ� �������Ɛ���`�`� ◦ �✀����>‟괴癤궘癤괤癤ƛ�궈耀借俠⃐㫪ၩ〫鴰䌯颲⤹�ꐀ��⍱㰊��� ����䀀��䀀��䀀���䀀���Ð�0>ἠ��聱°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°0@@€`°p @@`€@@@@``````````@@€€€P p`pp``pp@P`P€p€`€p``p` ```@@@€````P``@`` 0P €````@P@``€``PP@P€�`� `@```ð`@°�`�� @@P` ` P@ �P`0@````@`` P`€@ `P€PP```@`PP`°°°Ppppppp p````@@@@€p€€€€€€€pppp````````` P```` ```````€````````�� �������Ɛ���`�`�  �✀����+ഌă翽᷈�S�ƛ���������瀀㄀��脀䤹飩⤹敳ꐀ��⑃퀊��¨� ����䀀��䀀��䀀���䀀���Ð�0>ἠ��聱°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°°0@@€`°p @@`€@@@@``````````@@€€€P p`pp``pp@P`P€p€`€p``p` ```@@@€````P``@`` 0P €````@P@``€``PP@P€�`� `@```ð`@°�`�� @@P` ` P@ �P`0@````@`` P`€@ `P€PP```@`PP`°°°Ppppppp p````@@@@€p€€€€€€€pppp````````` P```` ```````€````````�� � �������Ɛ���`�`�  �✀����>‟ă翽᷈�S�ƛ�☀����������唀猀攀饀⤹�ꐀ��₥�������䀀��䀀��䀀���䀀���ǐ�0>ἠ��聱ĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀ0P€ppàÀ@PPp€0P0@ppppppppppPP€€€pÐ  €°°Pp°Ð °€° € à P@P€pPp€`€`Pp€@@€@À€p€€`PP€p pp`P0P€°pĀPppàppPà€PàĀĀĀPPppPpàPàPP Ā` 0Ppppp0pP @p€P p`€@@P€p0P@Pp p à PPPP °°°°°€° €€pppppp `````@@@@p€ppppp€p€€€€p€p�ᘩ�཭�ڼ�ة���҂�ᒍ�ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䠀鮹ꁕ鮹>‟ȃ�⯃�X�ƛ�� �����ไทยใต้馧⤹ม耀ƿ�⇒圊��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���Ġ�@>ἠ��聱ðððððððððððððððððððððððððððððððð@PpÀ ĠÀ@pp ÀP`P PPÀÀÀà °°°p€ ÐÀÀ À° ° 𠰐ppÀ €€`PPPАp€`Ð€ À� �@ pð €Ɛ `Ā���@@pp à€Ð€`ð�€°@P €à€°À`à €À€€€ P€€€°ĐĐА 𠐐ppppÀÀÀÀÀÀÀÀÀ°°°°° à€PPPPÀ䭔 ᖝ�༎�ڏ�֝���м�ᑿ�Ɛ���`�`� ◦ �ᜀ䣞鮹ꁕ鮹>‟ă翽┤�V�ƛ�☩�븀ˇ�ࠀ����㘀䐀攀猀騞⤹漀耀ݏ�������齰֛����������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������赠U����������������ⱑ䔁ၬ䔀㥆繆1瘀܀Ѐ꺾栺긩驵⤹�耀ˊ�ḅ��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���ǐ�@>ἠ��聱ĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀ@P`ppÀ°0PPp€@P@@pppppppppp@@€€€`Ð  € PP À € € Ð P@PppP`p`p`Ppp@@p@°ppppPP@pp pp`p0p€°������������������������������������������������������`���������������������������������������������������������������������������ᘩ�཭�ڼ�ة���҂�ᒍ�ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䣞鮹ꁕ鮹>‟ă翽⫊�X�ƛ�Ⓝ쨁글ၬ㄀〶㘹ㅾ㨀܀Ѐ꺾骬⤹栺耀Թ�ḁ崊��ˆ�%����䀀��䀀��䀀���䀀���ɐ�@>ἠ��聱ŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀŀ@` ĠðP`` @`@P`` ĐÐÀÐÐÀ°ààpàÀĐÐà°àÐ ÀÐÐĠÐÐÀ`P` ` € €` `` `à  €p` Ð€p@p àŀ`Ġ`Ġ `ĠŀÀŀŀ```Ġ`Ġp`Ðŀ€Ð@`@`ÐP `Аp PP` @`P`ÐÐАÐÐÐÐÐÐĠÐÀÀÀÀppppÐÐààààà àÐÐÐÐа Ð€€€€€PPPP    ܀Ѐᘩ�཭�ڼ�ة���҂�ᒍ�ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䣞鮹ꁕ鮹>‟ăﰉ⦾�X�ƛ���������������鬃⤹�耀ل�⑳휊��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���Ġ�@>ἠ��聱�������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������� ���������������������������������������������������������������������������ᘩ�཭�ڼ�ة���҂�ᒍ�ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䣞鮹ꁕ鮹>‟ă翽⫊�X�ƛ���������������魺⤹�耀҇�፟ᄊ�������䀀��䀀��䀀���䀀���ǐ�0>ἠ��聱ĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀ0P€ppàÀ@PPp€0P0@ppppppppppPP€€€pÐ  €°°Pp°Ð °€° € à P@P€pPp€`€`Pp€@@€@À€p€€`PP€p pp`P0P€°pĀPppàppPà€PàĀĀĀPPppPpàPàPP Ā` 0Ppppp0pP @p€P p`€@@P€p0P@Pp p à PPPP °°°°°€° €€pppppp `````@@@@p€ppppp€p€€€€p€p��ࣜ�ܡ�ƻ�Ü�W�̵�ᒌ�Ɛ���`�`�  �ᜀ䠀鮹ꁕ鮹>‟ȃ�┏�T�ƛ���������������鯑⤹�耀̣�ၲ金��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���ð��+఍��聱������������€�������������������00Pp` 0@@P€0P0P``````````00€€€P°€p€€``€0@p`°pp`p€p°ppp@P@€P0`p`p`@pp00`0°pppp@P@p`P`P@0@€�`�0`PPP@ð`@°�p��00PPP`À@P@°�Pp00``p`0PP°P`€P°PP€@@0p`0 @P`°°°P€€€€€€ €````0000€€€€€€ppp`````` `````0000ppppppp€ppppp`p`��� �������Ɛ���`�`�  �✀Þ���>‟ă鮱╈�S�ƛ���������������鐈⤹�耀ͼ�≖∊��¨�����䀀��䀀��䀀���䀀���ð��+఍��聱������������€�������������������00Pp` 0@@P€0P0P``````````00€€€P°€p€€``€0@p`°pp`p€p°ppp@P@€P0`p`p`@pp00`0°pppp@P@p`P`P@0@€�`�0`PPP@ð`@°�p��00PPP`À@P@°�Pp00``p`0PP°P`€P°PP€@@0p`0 @P`°°°P€€€€€€ €````0000€€€€€€ppp`````` `````0000ppppppp€ppppp`p`��� �������Ɛ���`�`�  �✀����+ഌă鮱᫸�D�ƛ���������������鑯⤹�ꐀ��ᰂ﬊���诈Ϝ���䀀��䀀��䀀���䀀������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������� �������Ɛ���`�`�  �✀����+ഌ������ƛ�ᨙ䨁������������铆⤹�耀ڝ�Ẃ樊��©�9�⎧뼡�䀀��䀀��䀀���䀀���ΐ�Ð>ἠ��聱ɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰɰÐĀŀƐƐʠɠ€ĐĐƐǀÐĐÐàƐƐƐƐƐƐƐƐƐƐàÐǀǀǀŐːȰȐȐɀǰưɀɀĐİȰǠˀɀɀǀɀȐǀǰɀɀˠɀɀǠĐàĐŰƐĀŠƀŠƐŠðƐƀÀÀƐÀɐƀƠƐƐĐİðƐƀɀƀŰŠƀ ƀưɰƐɰĐƐŐ̠ƐƐĐ̠ǀĐˀɰǠɰɰĀĀŐŠĐƐ̠Đ̐İĐɀɰŠɀÐĀƐƐƐƐ ƐĀɠÐƀǀĐɠƐİưðàðǐŠĐððĀƀɠɠɠŀȰȰȰȰȰȰːȐǰǰǰǰĐĐĐĐɀɀɀɀɀɀɀǀɀɀɀɀɀɀǀƠŠŠŠŠŠŠȐŠŠŠŠŠÀÀÀÀƐƀƠƠƠƠƠưƐƐƐƐƐŰƐŰ��9�-� ����€�Ɛ���Ĭ�Ĭ�  �ἀ㠀ﰌ��>‟ă�⒯�L�ƛ���������������锽⤹�耀׫�ឡ朊��¨�����䀀��䀀��䀀���䀀���ð��+఍��聱������������€�������������������00Pp` 0@@P€0P0P``````````00€€€P°€p€€``€0@p`°pp`p€p°ppp@P@€P0`p`p`@pp00`0°pppp@P@p`P`P@0@€�`�0`PPP@ð`@°�p��00PPP`À@P@°�Pp00``p`0PP°P`€P°PP€@@0p`0 @P`°°°P€€€€€€ €````0000€€€€€€ppp`````` `````0000ppppppp€ppppp`p`܀Ѐ� �������Ɛ���`�`�  �✀����+ഌă鮱᫸�D�ƛ���������������閔⤹�耀۶�ᷫఊ��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���Đ� >ἠ��聱��������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������@���������������������������������������������������������������������������ᘩ�཭�ڼ�ة���҂�ᒍ�ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䣞鮹ꁕ鮹>‟ă翽⦾�X�ƛ�ᖷ������������闋⤹�ꐀ��ႎ ��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���Ő�P>ἠ��聱�����������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������ᘩ�཭�ڼ�ة���҂�ᒍ�ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䣞鮹ꁕ鮹>‟ă�⮘�X�ƛ���������������阢⤹�耀ϕ�♥養��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���ð��+఍��聱������������€�������������������00Pp` 0@@P€0P0P``````````00€€€P°€p€€``€0@p`°pp`p€p°ppp@P@€P0`p`p`@pp00`0°pppp@P@p`P`P@0@€�`�0`PPP@ð`@°�p��00PPP`À@P@°�Pp00``p`0PP°P`€P°PP€@@0p`0 @P`°°°P€€€€€€ €````0000€€€€€€ppp`````` `````0000ppppppp€ppppp`p`܀Ѐ � �������Ɛ���`�`�  �✀Þ���>‟ă鮱᷈�S�ƛ���������������隙⤹�耀ɱ�♜��ˆ�����䀀��䀀��䀀���䀀���ǐ�@>ἠ��聱ĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀ@P`ppÀ°0PPp€@P@@pppppppppp@@€€€`Ð  € PP À € € Ð P@PppP`p`p`Ppp@@p@°ppppPP@pp pp`p0p€°������������������������������������������������������`���������������������������������������������������������������������������ᘩ�཭�ڼ�ة���҂�ᒍ�ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䣞鮹ꁕ鮹>‟ă翽⦾�X�ƛ���������������雰⤹�耀��ᔬ鬊��ˆ� ����䀀��䀀��䀀���䀀���Ð��+఍��聱������������p�������������������00@p`000P€0@0@``````````00€€€P°ppp€``€€0@`P €`p`P€p°`P`0@0€P0`pPp`@pp00`0pppp@P@pPPPP000€�`�0`@@@@Ð`0 �`��00@@@`°@P0 �PP00````0PP @`€@ P@€@@0pP0 @P` Pppppppp````0000€€€€€€€P````````P````0000ppppppp€pppppPpP�� � �������Ɛ���`�`�  �✀Þ���>‟ă鮱᷈�S�ƛ���������������靗⤹�耀Ŧ�ጽ⬊��©�����䀀��䀀��䀀���䀀���ǐ�0>ἠ��聱ĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀĀ0P€ppàÀ@PPp€0P0@ppppppppppPP€€€pÐ  €°°Pp°Ð °€° € à P@P€pPp€`€`Pp€@@€@À€p€€`PP€p pp`P0P€°pĀPppàppPà€PàĀĀĀPPppPpàPàPP Ā` 0Ppppp0pP @p€P p`€@@P€p0P@Pp p à PPPP °°°°°€° €€pppppp `````@@@@p€ppppp€p€€€€p€p���� ������ʼ���`�`� ◦ �ᜀ䠀鮹ꁕ鮹>‟ă鮱⤄�X�ƛ���������������鞎⤹�耀Ӡ�⎧쬊��©�����䀀��䀀��䀀���䀀���İ�@>ἠ��聱ÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀÀ@PP€€ÐÀ0PP€@`@@€€€€€€€€€€0@pð° °°°°P`ÀàÀÀÀ °°ð°°P@P€€Pp€p€p@pp0@€0°p€€€P`@pp°pp`p0€À€ÀP€`Ā€pPĀPàÀÀÀPP```€ĀPĀ`P°À`°@P€€€€0€PÀPp`À€`PPPppP@PPpÀÀÀp°°°°°°Ð°PPPP°ÀÀÀÀÀÀÀ°°°°° €pppppp°ppppp0000€p€€€€€€ppppp€p��������)�Ɛ���`�`�  �ᜀ䠀鮹ꁕ鮹>‟ă鮱◪�L�ƛ���韸⤹�耀��������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������������墳㍈ఀ틘S‐U¬Ä �ᓤ�᪤�٠�Ἲ§�����,�������������G굀Ѝ�ៀ೴둗杰뢲���懕텗㐎䵌嶞콧藀⬎����᪤�俀V獕牥������摗剴샀� ��� �HTML Format�bjectInterface�D02443C75094E129B2345823D15]�� �STK-PC\STK�����凨끖鬐䉞ᚶ촟趂놳���ソ墶ᄲ꙱죁챟�����À��䘀���྄缛膪䰏⣦ⲍ岣䐌�ៀ೴ᤸ믐랪��ĥ���ĥ�䕍坏����À��䘀̃���À��䘀��Ŵ��/�㩃啜敳獲卜䭔䑜獥瑫灯䕜㥆繆就䌳䌰繁就䙅㍆ㅾ䐮䍏＀귿Þ���������ꐀ�鸀�̀䌀㨀尀唀猀攀爀猀尀匀吀䬀尀䐀攀猀欀琀漀瀀尀䐀ᜎ∎䌎ᔎ䤎⌎䠎ℎ⨎ℎᨎ㤎⌎ጎ㈎എ㈎⨎㐎ᜎ᠎㐎⌎㈎਎ᬎ⌎ㄎᨎᬎ⌎㠎܎䌎⬎ℎ䠎導㌀⸀⨀㈎⌎ᨎㄎഎ導⨀㈎⌎ᨎㄎഎ⸎搀漀挀��ꪀ엺폏ljǪ���6\3\pdf995ps5.ppd�C:\Windows\system32\spool\DRIVERS\W32X86\3\pscript5-32.dll�Windows NT x86�PDF995 Printer Driver�Δ�������5-32.dll�Windows NT x86�PDF995 Printer����������Δ�����pt5-32.dll�Windows NT x86�PDF995 Print����������Ѐ��������">เสกสรร ประเสริฐกุล เป็นคอมมิวนิสต์”
Ùบุญชนะ อัตถากร 2526, บันทึกวิเคราะห์วิจารณ์ 16 นายกรัฐมนตรีไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เพื่อการศึกษาและวิจัย)

Ù ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย หน้า 177 (กทม: บริษัทพี.เพรส จำกัด)
Ù ปัจจุบันพลเอกเปรมก็ยังเป็นผู้ควบคุมนโยบายการปราบปรามขบวนการโจรก่อการร้ายมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วยสารพัดนโยบาย ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นการยืนยันว่าการยุติสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้านหลัก เกิดจากปัญหาภายในของพรรคคอมมิวนิสต์เองมากกว่าเกิดจากฝีมือของพลเอกเปรม
Ù พลเอกเปรมจะเรียกพลเอกชาติชายจนติดปากว่าท่านผู้การ เพราะในอดีตพลเอกชาติชายมียศเติบโตทางการทหารเป็นผู้การทหารม้าก่อนพลเอกเปรม เนื่องจากเป็นลูกของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490...และเป็นผู้บัญชาการทหารบก
Ù ถ้วยกาแฟที่พลเอกชาติชายทำไว้ในโอกาสรัฐบาลอยู่ครบ 6 เดือน มีอยู่จริงที่บ้านของพลเอกชาติชาย เป็นถ้วยกาแฟพร้อมจานรอง เป็นแก้วใส มีรูปคนพายเรือติดอยู่ด้านข้าง และมีภาษาไทยคำว่า “ลอยลำ” ติดไว้ด้วยจริง

Ù การลาออกจากคณะรัฐมนตรีของพลเอกชวลิต มีข้อน่าสังเกตทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยกล่าวคือทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ลาออกของพลเอกชวลิต ก็จะเกิดการรัฐประหารหลังจากนั้นในกรณีการรัฐประหารพลเอกชาติชายของรสช.เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และการรัฐประหารพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคมช.เมื่อ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดจากการออกจากครม.ของพลเอกชวลิต คล้ายกัน......ผู้เขียน

No comments:

Post a Comment