Wednesday, May 13, 2009

บทที่ 2 ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

บทที่ 2
ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

การรัฐประหาร 8 กันยายน 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นอำนาจของฝ่ายราชสำนัก และเข้มแข็งขึ้นในการรัฐประหารปี 2500 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายอย่างอังกฤษตามแนวทางที่คณะราษฎรสถาปนาขึ้นแปรเปลี่ยนไป และพัฒนากลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

2.1 ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชดั้งเดิมเป็นเช่นไร

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช(Absolute Monarchy) เป็นระบอบการปกครองอันเป็นผลแห่งพัฒนาการทางการผลิตของมนุษย์ในอดีตที่ยังล้าหลัง และมีจำนวนประชากรไม่มาก เป็นรัฐขนาดเล็ก ผลผลิตหลักยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เน้นการผลิตเพื่อการกินอยู่เป็นหลัก มิใช่การผลิตเพื่อเป็นสินค้า และเพื่อการตลาด การผลิตทั้งหมดใช้แรงงานคนและสัตว์ เช่น การไถนาด้วยควาย ถากถางไร่ด้วยแรงงานคน ไม่ได้ใช้เครื่องจักรทุ่นแรง ดังนั้นด้วยขนาดของจำนวนประชากรและวิถีชีวิต และการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อนทำให้การปกครองที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียว ที่เรียกว่า “กษัตริย์”Ù โดยอาศัยวัฒนธรรมความเชื่อทางไสยศาสตร์ว่าเป็นสมมุติเทพ เป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิด จึงทำให้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตามขนาดและความเจริญของชุมชน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของไทยในยุคต้นได้จัดระบบบริหารที่ก้าวหน้าที่สุดในขณะนั้น โดยแบ่งงานของรัฐออกเป็น 4 งาน คือ เวียง, วัง, คลัง, และนา
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของไทยก่อกำเนิดเริ่มต้นที่เด่นชัด เมื่อประมาณ 500 กว่าปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งนับว่าเป็นระบบคิดในการบริหารรัฐขนาดเล็กที่ก้าวหน้าที่สุดในยุค 3,000 ปีก่อนที่แบ่งงานหรือแบ่งอาชีพคนเป็นชนชั้นถาวร โดยอ้างพระเจ้าเป็นผู้กำหนด มี 4 ชนชั้น ที่เรียกว่าวรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ ทำหน้าที่เป็นนักบวชคล้ายนักวิชาการในปัจจุบัน ที่กล่อมเกลาความคิดผู้คนให้เชื่อในเทพเจ้าเหมือนกับที่พวกเขาได้แต่งนิยายไว้เพื่อให้ผู้คนในสังคมยอมจำนน และยอมทำงานหาเลี้ยงคนชั้นสูงซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ พวกวรรณะพราหมณ์ กับวรรณะกษัตริย์ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม คนสองวรรณะนี้จึงร่วมกันกดขี่คนส่วนใหญ่ของสังคมอีกสองวรรณะคือวรรณะแพศย์ ผู้เป็นพ่อค้า และศูทร ผู้เป็นเกษตรกร ด้วยการหลอกลวงให้เชื่อและยอมจำนนในชะตากรรมของตนที่เกิดมายากจนและทุกข์ยาก และให้เกรงกลัวต่อการลงโทษของพระเจ้าที่มีพราหมณ์และกษัตริย์เป็นตัวแทนหากใครจะคิดนอกกรอบจากที่พราหมณ์ได้สั่งสอนไว้ ดังนั้นคำสั่งสอนของพราหมณ์จึงเหมือนระบบกฎหมายที่ใช้เทพเจ้ามาหลอกลวงให้ผู้คนยอมรับ แต่เมื่อวิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้นและสังคมมนุษย์ขยายใหญ่โตขึ้น การกดขี่ด้วยการหลอกลวงให้เชื่อในเทพเจ้าก็เสื่อมลง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่เป็นผลพวงมาจากความงมงายของมนุษย์ก็เสื่อมทรุดตามไปด้วย ระบอบกษัตริย์จึงเริ่มทยอยสูญสิ้นไปจากโลก และเหลือเพียง 20 กว่าประเทศเท่านั้น ซึ่งแม้นักวิชาการปัจจุบันจะพยายามอธิบายคุณงามความดีของระบอบกษัตริย์อย่างไร ก็ไม่อาจทำให้ระบอบกษัตริย์ฟื้นชีวิตขึ้นมาในโลกได้อีก ในประเทศก็เช่นเดียวกันระบอบกษัตริย์หรือระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมก็ได้สิ้นสุดเมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่คณะราษฎรไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในทันทีคือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความเชื่อซึ่งเป็นรากฐานอำนาจของระบอบการเมือง จึงเป็นผลให้โครงสร้างอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชพัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ในภาวการณ์ของโลกสมัยใหม่ จึงทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทุนนิยมเสรีที่สร้างแนวคิดเสรีนิยม แต่ระบบการเมืองกลับเป็นอำมาตยาธิปไตยที่ไม่ชอบเลือกตั้ง และชอบประนามนักธุรกิจ(วรรณะแพศย์) เป็นพวกเลวร้ายและประนามชาวนากรรมกร(วรรณะศูทร) ว่าโง่เง่าเลือกตั้งไม่เป็น จึงเกิดความชอบธรรมที่ขุนนางจะเข้ามายึดอำนาจเป็นระยะๆ โดยหลอกลวงให้ผู้คนยอมรับว่านี้คือ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
เพื่อทำความเข้าใจกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังคงมีกรอบความคิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมเป็นพื้นฐานอยู่ ดังนั้นเราควรจะทำความเข้าใจกับระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ของไทย โดยแยกศึกษาในกรอบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม โดยสังเขปได้ดังนี้
ในกรอบการเมือง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นผู้บริหารรัฐที่เรียกว่า “ราชอาณาจักร” (รัฐของราชา) โครงสร้างการปกครองแห่งอำนาจรัฐทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร, อำนาจนิติบัญญัติ(อำนาจออกกฎหมาย) และอำนาจตุลาการ(อำนาจในการพิพากษาคดี) จะรวมอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีองค์กรอำนาจอื่นมาเคียงคู่ถ่วงดุล, คำพูดของพระมหากษัตริย์คือกฎหมายที่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชพัฒนาสูงขึ้นก็มีการรวบรวมคำพูดและคำตัดสินของพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นระบบกฎหมายที่เรียกว่า “ระบบกฎหมายตราสามดวง” แต่แม้มีระบบกฎหมายไว้แล้วพระมหากษัตริย์ก็ยังทรงไว้ซึ่งอำนาจในการออกกฎหมายหรือยกเลิกกฎหมายที่เรียกว่าพระบรมราชโองการตามอำเภอใจ และทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะสั่งประหารชีวิตผู้ใดก็ได้ที่กษัตริย์ไม่พึงพอใจ หรือเห็นว่าผู้นั้นจะเป็นภัยต่อพระองค์ รวมตลอดทั้งสั่งประหารชีวิตผู้คนที่มิได้กระทำผิดเพียงแต่เป็นญาติพี่น้องของบุคคลที่กษัตริย์ไม่พึงพอใจในลักษณะล้างเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่าประหารเจ็ดชั่วโคตร คือนับสายญาติจากตัวผู้ถูกลงโทษขึ้นไป 3 ชั้น ได้แก่ พ่อ-แม่,ปู่ย่า-ตายายทวด และนับสายญาติจากตัวผู้ถูกลงโทษลงมาอีก 3 ชั้น ได้แก่ ลูก-เมียหลาน, เหลน รวมตลอดทั้งมีอำนาจสั่งยึดทรัพย์ผู้ที่ถูกประหารชีวิตเข้ามาเป็นของตนซึ่งมีฐานะเป็นรัฐ การใช้อำนาจในการล้างเผ่าพันธุ์เช่นนี้มักจะกระทำต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีหรือกษัตริย์เห็นว่าบุคคลนั้นเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง เป็นกบฏต่อแผ่นดินหรือผิดศีล ผิดธรรม เป็นต้น
ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไม่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ราษฎรทุกคนเป็นข้าทาส และบ่าวไพร่ มีฐานะต่ำ เป็นผู้อยู่ใต้ฝุ่นละอองเท้าของกษัตริย์โดยต้องประกาศตนขณะอยู่ต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ทุกครั้งว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” เมื่อราษฎรมีฐานะต่ำกว่าฝุ่นที่อยู่ใต้พระบาทขององค์พระมหากษัตริย์ ราษฎรจึงไม่มีสิทธิเสนอแนะหรือโต้แย้งความเห็นใดๆ กับองค์พระมหากษัตริย์ รวมตลอดทั้งห้ามเกี่ยวข้องใดๆ กับอำนาจรัฐหรือกิจการของรัฐ ดังนั้นอำนาจรัฐและรัฐจึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ถึงแก่ความตาย อำนาจรัฐและทรัพย์สินแห่งรัฐทั้งหมดก็จะตกทอดแก่รัชทายาทโดยราษฎรไม่มีสิทธิแม้แต่จะคิดว่าผู้ที่จะขึ้นเถลิงถวัลย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปนั้นเหมาะสมหรือไม่ แม้ว่าการขึ้นครองราชย์นั้นจะต้องมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองก็ตาม
ในกรอบเศรษฐกิจ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมีระบบการผลิตที่เรียกว่าระบบศักดินา โดยแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไม่เท่าเทียมกัน ชนชั้นปกครองคือกษัตริย์เป็นผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดและมีกลุ่มขุนนางเป็นฐานอำนาจกษัตริย์และขุนนางเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ถือครองที่ดินที่เรียกว่า “ศักดินา” ส่วนราษฎรเป็นผู้ใช้แรงงานทำการผลิตให้ชนชั้นผู้ปกครองโดยราษฎรมีฐานะทางสังคมเป็นทาสหรือไพร่ ไม่มีสมบัติใดๆ ติดตัว และอาศัยทำนาหากินอยู่ในไร่ของขุนนางโดยต้องอยู่ในบังคับดูแลของกษัตริย์ หรือขุนนางผู้มีศักดินา รวมทั้งเมื่อเกิดศึกสงครามขุนนางก็จะเกณฑ์คนในไร่นาของตนนี้ไปเป็นทหารรบกับข้าศึก ดังนั้นการมีศักดินามากหรือน้อยโดยนับจำนวนที่ดินที่อนุญาตให้ถือครอง เช่น มีศักดินา 400 ไร่ จึงไม่ใช่มีแต่ภาระหน้าที่ในการผลิตธัญญาหารเท่านั้น แต่มีหน้าที่ในทางการทหารควบคู่ไปด้วย
ลำดับของขุนนางแบ่งชั้นตามฐานันดรของศักดินา โดยแบ่งตามฐานะของการถือครองที่ดิน โดยมีประชาชนเป็นขี้ข้าที่มีฐานะเป็นทาส และบ่าวไพร่เป็นผู้ทำงานอยู่ในไร่นาของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์และขุนนาง เพื่อเลี้ยงชนชั้นสูงเหล่านี้ เมื่อผลผลิตส่วนใหญ่ทั้งแผ่นดินรวมศูนย์เป็นของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการค้าขายทั้งในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศจึงเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว พระองค์จึงเป็น ผู้ผูกขาดทางการค้า จากหลักฐานบันทึกจดหมายเหตุของเดอ ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ของฝรั่งเศสที่เข้ามาประเทศไทยในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราชเมื่อ 300 กว่าปีที่ผ่านมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้บันทึกถึงการใช้อำนาจผูกขาดทางการค้าของกษัตริย์สยาม อันเป็นหลักฐานยืนยันถึงอำนาจของระบบ สมบูรณาญาสิทธิราชของไทยว่า
“ธรรมดาการค้าขายนั้นย่อมต้องการเสรีภาพที่แน่ชัด ไม่มีใครตกลงใจไปสู่กรุงสยามเพื่อขายสินค้าที่ตนนำเข้าไปให้แก่พระมหากษัตริย์ด้วยความจำเป็นจำใจแล้ว และซื้อสินค้าที่ตนต้องการได้จากพระองค์ท่านเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น แม้ว่าสินค้านั้นจะมิได้ทำขึ้นในราชอาณาจักรเอง ก็ตาม ยิ่งกว่านั้นยามเมื่อมีเรือกำปั่นต่างประเทศไปถึงกรุงสยามพร้อมหลายลำด้วยกันเล่า ก็ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายกันเองระหว่างลำต่อลำ หรือขายให้แก่ชาวเมืองไม่เลือกว่าจะเป็นคนพื้นเมืองหรือคนต่างด้าว จนกว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอ้างบุริมสิทธิ์อันควรแก่พระราชอิสริยศักดิ์ ทรงกว้านซื้อเอาสินค้าที่ดีที่สุดในระวางเรือไปหมดตามสนนราคาที่โปรดกำหนดพระราชทานให้แล้ว เพื่อทรงนำเอาไปขายต่อไปด้วยราคาที่ทรงกำหนดขึ้นตามพระราชอัชฌาสัย”Ù
จากจดหมายเหตุของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ ที่เดินทางร่วมมากับคณะของเชอวาลิเอร์ เดอโชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศสคนแรกที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.2228 ก็ได้บันทึกถึงความร่ำรวย พระมหากษัตริย์ที่เก็บสะสมเงินทองไว้จำนวนมากโดยไม่นำออกมาใช้จ่ายพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งเป็นการยืนยันถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองที่เป็นจริงโดยไม่มีใครโต้แย้งดังนี้
“พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตโดยทิ้งพระราชทรัพย์สมบัติไว้มากมายก่ายกองนั้นได้รับความยกย่องนับถือยิ่งกว่าองค์ที่ทรงมีชัยในงานพระราชสงครามมาเสียอีก เป็นนโยบายการปกครองที่ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย เพราะทองคำและเงินนั้นจะเอาไปลงทุนทำมาค้าขายก็ไม่ได้ และมิเป็นการดีกว่าหรือที่พระมหากษัตริย์จักทรงสละพระราชทรัพย์สักสองล้านเพื่อสร้างน้ำพุขึ้น แทนที่จะนำเอาพระราชทรัพย์ไปฝังไว้ แล้วละให้ประชาชนพลเมืองลำบากยากแค้น? เพราะที่นี่เขาไม่แตะต้องกับพระราชทรัพย์เลย การใช้จ่ายของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ชักจากผลประโยชน์ที่พระองค์ทรงได้รับ และเมื่อเหลือจ่ายแล้วก็เก็บสะสมเข้าไว้ในท้องพระคลัง ปีใดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าเป็นด้วยไปรบชนะมาหรือมีกำไรจากการค้า พระองค์ก็จะทรงรุ่มรวยยิ่งขึ้น”Ù
ในกรอบวัฒนธรรม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ใช้วัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาที่เป็นไสยศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถือครองอำนาจ และสืบต่ออำนาจโดยใช้ความเชื่อทางศาสนาครอบงำความคิดของประชาชนเพื่อให้ยอมรับการมีอำนาจรัฐของกษัตริย์ และการสืบอำนาจต่อโดยรัชทายาทในฐานะผู้ทรงคุณธรรม และเป็นผู้มีบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนโดยราษฎรห้ามโต้แย้ง การสงสัยและโต้แย้งอำนาจของกษัตริย์และองค์รัชทายาทผู้สืบต่ออำนาจ นอกจากเป็นความผิดทางกฎหมายที่มีโทษรุนแรงถึงประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรแล้ว ยังมีโทษเป็นบาปติดตัวราษฎรไปเมื่อสิ้นชีวิต ต้องตกนรกหมกไหม้ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกด้วย
วัฒนธรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของไทย ก็คล้ายกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ผ่านมาแล้ว แต่ของไทยใช้ศาสนาพราหมณ์เป็นฐานความเชื่อครอบงำความคิด ของประชาชนเพราะศาสนาพราหมณ์ได้สร้างวาทะกรรมว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพ และเทพเจ้าสูงสุดคือพระพรหม ซึ่งเป็นผู้สร้างโลกและมนุษย์(ซึ่งคล้ายกับความเชื่อของฝรั่งว่าพระยะโฮวาในศาสนายูดาและศาสนาคริสต์ หรือตามความเชื่อของพวกอาหรับที่ออกเสียงเรียกพระเจ้าองค์เดียวกันว่าพระอัลเลาะในศาสนาอิสลามซึ่งเป็นผู้สร้างโลกและมนุษย์) และเป็นผู้ประทานพระเจ้าจากสวรรค์ลงมาจุติเป็นกษัตริย์ปกครองมนุษย์ ดังนั้นพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์และราชวงศ์ล้วนแล้วแต่เป็นเชื้อสายของพระเจ้าที่อยู่บนฟากฟ้า และศาสนาพราหมณ์ยังได้จัดโครงสร้างสังคมโดยแบ่งชนชั้นมนุษย์ในโลกออกเป็น 4 ชนชั้น(คือการแบ่งงานเมื่อก่อน 2,500 ปีที่แล้ว) โดยเรียกว่า วรรณะ ได้แก่ กษัตริย์, พราหมณ์, แพศย์(พ่อค้า) และศูทร(ชาวนา กรรมกร) ซึ่งชนชั้นเหล่านี้ถูกกำหนดอย่างตายตัวโดยพระพรหมซึ่งเป็นมาตั้งแต่ชาติที่แล้วสืบต่อถึงปัจจุบันนี้ และเมื่อตายแล้วเกิดใหม่ในชาติหน้าก็ต้องอยู่ในชนชั้นเดิมนี้อีก และหากใครแต่งงานข้ามชนชั้นก็จะเป็นบาปอย่างยิ่ง ลูกที่เกิดขึ้นเรียกว่า “จัณฑาล” ห้ามคนในสังคมไปยุ่งเกี่ยว หรือไปถูกเนื้อต้องตัวพวกจัณฑาล เพราะจะเป็นบาปติดตัว และหากพวกจัณฑาลมาถูกเนื้อต้องตัวกษัตริย์ก็จะต้องถูกฆ่า ดังนั้นเพื่อให้การครอบงำความคิดประชาชนมีความสมจริงสมจังและฝังรากลึกแห่งความเชื่อให้มากยิ่งขึ้น จึงมีการสร้างวัฒนธรรมการใช้สรรพนามที่นำหน้าชื่อของกษัตริย์ และรัชทายาท ให้เป็นเช่นเดียวกับการเรียกพระเจ้าด้วยคำขึ้นต้นว่า “พระเจ้า” เหมือน กัน เช่น เรียกพระมหากษัตริย์และรัชทายาทว่า “พระเจ้าอยู่หัว” “พระองค์เจ้า” หรือแม้แต่ในระดับรุ่นหลานก็เรียกว่า “พระเจ้าหลานเธอ” เป็นต้น รวมตลอดทั้งชื่อของกษัตริย์ ก็จะนำชื่อของพระเจ้าที่สังคมเคารพนับถือมาใช้ประกอบด้วย เช่น พระราม, พระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้า มาเป็นองค์ประกอบสำคัญของชื่อที่ให้ประชาชนเรียกขาน เช่น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (ต้นราชวงศ์อยุธยาหรือที่รู้จักในนาม พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่ 1 ต้นราชวงศ์จักรี) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้สร้างวัฒนธรรมทางภาษาที่ราษฎรจะต้องใช้สื่อสารกับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ทุกพระองค์ ให้แตกต่างไปจากภาษาพูดที่ราษฎรใช้กันเองในชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่า “ราชาศัพท์” เมื่อราษฎรจะพูดถึงหรือจะต้องพูดกับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ต้องใช้ราชาศัพท์ แต่ถ้าพระมหากษัตริย์และราชวงศ์จะพูดกับราษฎรก็ใช้ภาษาพูดธรรมดา ทั้งนี้เพื่อสร้างผลทางจิตวิทยาหลอกลวงให้ราษฎรเชื่ออย่างเป็นจริงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกษัตริย์,ราชวงศ์ กับราษฎร กล่าวคือกษัตริย์และราชวงศ์คือ “เทพ” ที่อยู่บนฟ้า ราษฎร คือ “มนุษย์” ที่เดินอยู่บนดินและในระบบการศึกษาก็จะมีการสั่งสอน เรียนรู้เกี่ยวกับราชาศัพท์และพงศาวดาร เกี่ยวกับระบบคิดและประวัติความเป็นมาของพระเจ้าที่เรียกว่า “เทวะวิทยา” โดยจะให้ข้อมูลเผ่าพงศ์ของเทพเจ้าว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง ผู้ที่รู้เรื่องราชาศัพท์ และเทวะวิทยาดีก็จะมีโอกาสที่ดีทางสังคมได้เข้าไปทำงานในรั้วในวัง ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจ ก็จะได้เป็นเจ้าคนนายคน
แม้หลักการพื้นฐานของศาสนาพุทธ จะแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์อย่างยิ่ง กล่าวคือ ศาสนาพุทธไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ความดีหรือความเลวเกิดจากผลแห่งการกระทำของแต่ละคน แต่ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่ามีพระเจ้า ความดีหรือความเลวเป็นผลมาจากวรรณะทางสังคม กล่าวคือ กษัตริย์และราชวงศ์จะเป็นคนดีเพราะเป็นเทพ ไม่สามารถจะกระทำผิดได้ แม้กระทำผิดใครไปกล่าวก็จะเป็นบาปติดตัว ส่วนพวกศูทรและจัณฑาลเป็นคนเลวมาตั้งแต่ชาติที่แล้วถึงได้เกิดมาเป็นผู้ใช้แรงงานที่ต้องรับใช้คนชั้นสูงตลอดชีวิต หลักการนี้ปรากฏในพระไตรปิฎก อัคคัญญสูตร ว่าวรรณะทั้ง 4 จะดีจะชั่วก็อยู่ที่การกระทำของแต่ละคน ไม่ใช่อยู่ที่วรรณะ ความว่า
“ดูก่อนผู้สืบวงศ์แห่งวาสิษฐะและภารัทวาชะทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ที่เป็นกษัตริย์ก็มี เป็นพราหมณ์ก็มี เป็นแพศย์ก็มี เป็นศูทรก็มี ย่อมฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด (ยุให้เขาแตกร้าวกัน) พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มักได้ มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด เมื่อวรรณะทั้งสี่ยังดาษดื่นทั้งสองทางยังประพฤติทั้งในธรรมที่ดำและขาว ที่ผู้รู้ติเตียนและสรรเสริญอยู่อย่างนี้ คำใดที่พวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่าวรรณะพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐสุด วรรณะอื่น ๆ เลว, วรรณะพราหมณ์เท่านั้นขาว วรรณะอื่น ๆ ดำ, พราหมณ์ทั้งหลายเท่านั้นย่อมบริสุทธิ์ คนที่มิใช่พราหมณ์ย่อมไม่บริสุทธิ์, พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตร เป็นโอรสของพรหม เกิดจากปากพรหม มีพรหมเป็นแดนเกิด เป็นผู้อันพรหมสร้างสรรค์ เป็นทายาทของพรหม ดังนี้. วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรู้คำกล่าวของพราหมณ์เหล่านั้น”Ù
แม้ศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาประจำชาติแต่ผลทางวัฒนธรรมภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์ก็ได้บิดเบือนหลักการของศาสนาพุทธโดยนำอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มาเจือปนอย่างมาก จนทำให้แก่นแห่งศาสนาพุทธที่เป็นวิทยาศาสตร์หมดสิ้น กลายเป็นศาสนาแห่งไสยศาสตร์คล้ายกับศาสนาพราหมณ์ที่ต้องรับรองความเป็นเทพของกษัตริย์และราชวงศ์ มีความเชื่องมงายในสวรรค์ นรก และมีความเชื่อในชาติกำเนิดเหมือนกับศาสนาพราหมณ์ และได้ส่งผลเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดกับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนในการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น โดยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้วประชาชนกับกษัตริย์และราชวงศ์ ล้วนแล้วแต่เกิดมาโดยธรรมชาติ เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงของชีวิตประจำวันไม่อาจจะพูดถึงความเสมอภาคกันระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ได้ ทั้งนี้เพราะมีวัฒนธรรมครอบงำความคิดไว้ หากใครไม่เชื่อและยังกล้าฝ่าฝืนก็จะถูกสังคมประณามและรังเกียจ ไม่คบหาสมาคมด้วย รวมตลอดทั้งอาจจะถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมดำเนินคดี เป็นต้น

2.2 ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่เป็นอย่างไร?

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่(Neo Absolute Monarchy) เป็นการวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในนานาอารยะประเทศ เช่น อังกฤษ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น เป็นต้น กล่าวคือโดยหลักแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นของประชาชน แต่สำหรับประชาธิปไตยของประเทศไทยอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนนั้นเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น แต่เนื้อหาที่แท้จริงแล้วอำนาจอธิปไตยยังเป็นของพระมหากษัตริย์อยู่ โดยทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่รวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีต ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อระบบการปกครองที่เป็นจริงของไทยในปัจจุบัน และเพื่อประโยชน์ทางวิชาการในการสื่อความหมาย และทำความเข้าใจต่อปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงเรียกระบบการปกครองที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” แทนที่จะเรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ
เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นจริงของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันตามที่กล่าวข้างต้น ผู้อ่านจะต้องเปิดใจกว้างและกล้าที่จะมองปัญหาผ่านม่านทางวัฒนธรรมที่ครอบงำความคิดของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดได้ทรยศต่อวิชาชีพของตน กล่าวคือสื่อมวลชนและนักวิชาการไม่กล้าพูดความจริง และบางคนไม่เพียงแต่ไม่กล้าพูดความจริงเท่านั้น แต่ได้สร้างความอัปยศต่อวงการด้วยการพูดบิดเบือน หลอกลวงประชาชนว่าการปกครองของไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะพิเศษของตัวเองเรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือเลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็โจมตีว่าระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อยู่กันทั้งโลกนี้ไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะนักการเมืองของไทยเลวเกินกว่าที่จะนำระบอบประชาธิปไตยของตะวันตกมาใช้ได้ จึงเห็นสมควรต้องสร้างการเมืองใหม่ คือคืนอำนาจทั้งหมดกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์ และให้พระองค์เป็นผู้ใช้พระราชอำนาจนั้นตามพระบรมราชวินิจฉัยเอง เพราะพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ล้วนแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นผู้ประกอบแต่คุณงามความดี ประดุจดังเทพเจ้าจึงเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ และชี้ขาดความถูกต้องทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์และเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็นเนื้อหาของระบอบการปกครองในปัจจุบันนี้ว่าแท้จริงแล้วมิใช่ประชาธิปไตย หากแต่เป็นระบอบการปกครองที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีตเป็นอย่างมาก ดังนั้นในที่นี้จึงขอเรียกว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ดังนี้
ในกรอบการเมือง แม้อำนาจอธิปไตยของไทยในปัจจุบันจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็นของประชาชนโดยแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ ถ่วงดุลกันอันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารผ่านทางรัฐบาล และใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือพระมหากษัตริย์และรัชทายาททุกพระองค์ทรงอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 60 กว่าปีในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญสูงสุดเพราะเป็นกฎหมายแม่บทที่ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่กลับมีผู้กระทำผิดโดยทำการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีโทษถึงประหารชีวิต แต่พระองค์กลับรับรองการฉีกรัฐธรรมนูญนั้นโดยลงพระปรมาภิไธยรับรองการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นมาโดยตลอดโดยถือเป็นพระราชอำนาจของพระองค์ ซึ่งก็แสดงให้เห็นได้ชัดแล้วว่าพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจอยู่เหนือกฎหมายสูงสุด จึงมีอำนาจรับรองการฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และเป็นผลให้เกิดการร่างกฎหมายโดยบุคคลคนเดียว โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนที่เรียกว่า ประกาศคณะปฏิวัติบ้าง, ประกาศคณะปฏิรูปบ้าง(แล้วแต่ว่าผู้ยึดอำนาจจะเรียกตัวเองว่าอะไร) เป็นต้น
พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญมิใช่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การรับรองรัฐธรรมนูญที่คณะปฏิวัติคณะต่างๆ ร่างขึ้นโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมนั้นแสดงถึงพระราชอำนาจที่พระองค์ทรงสร้างรัฐธรรมนูญได้เอง
นอกจากนี้ประมวลกฎหมายรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในการเรียกเก็บภาษีแก่คนไทยทุกคนที่มีรายได้ แต่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์และรัชทายาททุกพระองค์ที่มีรายได้ในรูปเงินเดือนจากเงินภาษีอากรของประชาชน และจากการรับบริจาค รวมทั้งจากการประกอบธุรกิจในฐานะที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทธุรกิจมากมายในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่กลับไม่ต้องเสียภาษี โดยกรมสรรพากรไม่กล้าดำเนินการเรียกเก็บหรือฟ้องร้อง ความเป็นจริงที่สามารถพิสูจน์ได้นี้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งไม่ต่างอะไรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีต
ส่วนอำนาจอธิปไตยที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับกล่าวอ้างว่าเป็นของประชาชนนั้น ก็ไม่เป็นความจริงทั้งรูปแบบและเนื้อหากล่าวคืออำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ หากดูจากเปลือกนอกก็จะเห็นภาพสวยหรูว่าเป็นอิสระ และเป็นอำนาจที่มาจากประชาชน แต่หากเจาะลึกมองเข้าไปข้างในก็จะเห็นความจริงว่าทั้ง 3 อำนาจนี้ถูกครอบงำโดยราชสำนักทั้งหมด ดูจากภายนอกจะเห็นว่ามีเพียงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเท่านั้นที่มีรูปแบบมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่อำนาจตุลาการนั้นทั้งรูปแบบและเนื้อหาไม่มีส่วนใดที่เชื่อมโยงกับประชาชนเลย
อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร แม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกตัดทอนด้วยการรัฐประหารล้มระบบการเลือกตั้งอยู่เสมอ และเมื่อรวมระยะเวลาแห่งการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่มาจากประชาชนด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็จะมีระยะเวลาที่สั้นกว่าอำนาจที่มาจากการกระทำผิดกฎหมายของคณะปฏิวัติที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และยิ่งกว่านั้นทุกครั้งที่ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะตัดอำนาจของประชาชนและเพิ่มอำนาจให้แก่ข้าราชการ โดยเฉพาะอำนาจของฝ่ายทหารให้มากขึ้นทุกครั้งไป โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่อยู่เสมอ ด้วยรูปแบบที่ปกปิดหลอกลวง อาทิเช่น กำหนดที่มาและวิธีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาให้มีความลำบากมากขึ้นเพื่อมิให้เกิดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่เป็นปึกแผ่นและมิให้เกิดระบบพรรคการเมืองที่มั่นคง รวมทั้งกำหนดในรัฐธรรมนูญเพื่อตัดสิทธิอำนาจของผู้แทนราษฎร และจำกัดสิทธิอำนาจของรัฐมนตรีในฐานะของฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชนเลือกตั้ง มิให้เข้าไปควบคุมระบบราชการที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ โดยเฉพาะอำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรทหารและตำรวจมิให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแตะต้องได้เลย อีกทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารและของสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ราชสำนักก็จะใช้ระบบราชการควบคุม โดยใช้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการที่มีประวัติการทำงานเป็นผู้มีแนวคิดจารีตนิยม และเป็น ผู้ใกล้ชิดราชสำนัก และโดยเฉพาะในขณะนี้ยังใช้ศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาควบคุมรัฐบาลและสภาอีกชั้นหนึ่ง
ดังนั้นอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติจึงถูกครอบงำจากราชสำนักอย่างเข้มแข็ง
อำนาจตุลาการนั้นนับตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ยังคงเป็นอำนาจเฉพาะของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดโดยเป็นผู้แต่งตั้งโดยตรงที่เรียกว่า “โปรดเกล้า” โดยมีกระบวนการคัดเลือกตามระบบงานราชการก่อนการโปรดเกล้า โดยทั้งกระบวนการของการแต่งตั้งผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการนั้นตั้งแต่ผู้พิพากษาธรรมดาจนถึงประธานศาลฎีกา ไม่มีส่วนยืดโยงหรือเกี่ยวข้องใดๆ กับอำนาจของราษฎรเลย ซึ่งแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ตั้งมั่นอยู่ในยุโรปและอเมริกา ที่ต้องมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาด้วยวิธีการพิเศษกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บางประเทศเลือกตั้งโดยตรง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศก็เลือกตั้งโดยอ้อม เหตุผลสำคัญที่โครงสร้างอำนาจของไทยไม่ยอมให้ราษฎรมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจตุลาการทั้งทางตรง และทางอ้อม แท้จริงก็คือการรักษาอำนาจโดยสมบูรณ์ไว้กับองค์พระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีใครกล้าที่จะพูดความจริงเช่นนี้ หากแต่ได้ให้เหตุผลหลอกลวงราษฎรว่าหากราษฎรมีส่วนเลือกตั้งผู้พิพากษา ทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว ก็จะทำให้ศาลเสียความเป็นกลาง ไม่อาจจะประสิทธิประสาทความยุติธรรมได้ แต่จากความเจริญทางการสื่อสารของโลกก็ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าข้ออ้างเหล่านี้เป็นเรื่องโกหก เพราะก็ปรากฏหลักฐานของประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วว่าอำนาจตุลาการที่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงก็สามารถให้ความยุติธรรมแก่ราษฎรได้ และได้ดีกว่าระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่ในประเทศไทยเสียอีก ดังจะเห็นจากข่าวมีการฉ้อราษฎร์ของผู้คนในวงการตุลาการไม่น้อยหน้าไปกว่าหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ
จากตัวอย่างที่เป็นจริงของระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในโลกนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอำนาจอธิปไตยที่เป็นของราษฎรนั้นเกิดขึ้นได้จริง และให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้ ซึ่งเป็นการตบปากนักวิชาการทั้งหลายที่โฆษณาหลอกลวงราษฎร
เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การผูกขาดอำนาจตุลาการไว้กับองค์พระมหากษัตริย์ ระบบความยุติธรรมของไทยจึงต้องสร้างกรอบความคิดให้เห็นว่าความยุติธรรมที่แท้จริงต้องเป็นเสมือนหนึ่งลอยมาจากสรวงสวรรค์ ด้วยการแต่งตั้งจากสมมุติเทพคือองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้นจึงจะเป็นความยุติธรรมที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ระบบยุติธรรมหรืออำนาจตุลาการของไทยจึงบิดเบี้ยวและมีอำนาจกระทำต่อราษฎรเสมือนหนึ่งเป็นข้าทาสเช่นอดีต ส่วนตัวผู้พิพากษามีฐานะเหมือนขุนนาง ผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ เราจึงเห็นผู้พิพากษาดุและตวาดราษฎรที่ไปขอความเป็นธรรม ไม่เว้นแม้แต่ทนายความและอัยการเมื่ออยู่ในศาลเยี่ยงข้าทาส และเป็นที่ประจักษ์ชัดที่สุดว่าอำนาจตุลาการนั้นเป็นเครื่องมือของกษัตริย์และราชวงศ์ จะเห็นได้ว่าตลอดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาทั้งในระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชดั้งเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราจึงไม่อาจจะเห็นการดำเนินคดีกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายที่มีการกระทำผิดกฎหมายได้เลย เชื้อพระวงศ์แห่งราชสำนักทั้งหมดจึงกลายเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือระบบกฎหมาย เหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมทุกประการ
การที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้นนี้มิได้กล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะเป็นผู้กระทำผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการกล่าวโดยหลักการเพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อระบบยุติธรรมหรืออำนาจ ตุลาการถูกจัดวางเช่นนี้ อีกทั้งมีวัฒนธรรมครอบงำความคิดของคนที่เป็นผู้พิพากษาด้วย ให้เคารพสักการะองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นดั่งองค์สมมุติเทพด้วยแล้ว อำนาจตุลาการจึงไม่อาจจะดำรงอยู่อย่างเป็นกลาง เป็นธรรม และอย่างเสมอภาคกันกับมนุษย์ทุกคนในประเทศนี้ได้ และในความเป็นจริงที่ทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ ก็อาจจะมีการกระทำผิดได้ทุกคน ตัวอย่างความไม่เป็นธรรมก็ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในสังคมนี้แล้ว กรณีการกระทำผิดทางเพศ ข่มขืนกระทำชำเราต่อเด็กผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญาถือว่าเป็นความผิดที่รุนแรงและไม่อาจจะยอมความได้ ก็ปรากฏขึ้นกรณีหม่อมลูกปลาที่เชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่ง(น้องชายของสมเด็จพระราชินี)ได้เก็บเด็กผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่งที่ชื่อลูกปลามาเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เพื่อมาบริการทางเพศให้แก่ตนเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี แต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีจนกระทั่งข้อเท็จจริงได้ปรากฏแดงขึ้นในภายหลัง, หลังจากที่เกิดกรณีฆาตกรรมเชื้อพระวงศ์คุณชายท่านนั้น สังคมจึงได้รับทราบความจริงอันขมขื่นที่เด็กผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่งถูกกระทำอย่างไร้ซึ่งคุณธรรมและต้องตกเป็นจำเลยในข้อหาฆ่า เชื้อพระวงศ์ท่านนั้น เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์อันไม่ถูกต้องโดยกระบวนการยุติธรรมไม่อาจจะเข้าไปประสาทความยุติธรรมได้ในลักษณะนี้ยังมีอีกมากก็กลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทากันทั้งสังคม เช่น การหายตัวอย่างลึกลับของนางศิรินทิพย์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และการตายอย่างมีปริศนาด้วยโรคหัวใจล้มเหลวของ พ.ท.ณรงค์เดช ทั้งๆ ที่เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งนักวิชาการจะอธิบายกระบวนการยุติธรรมของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างไร
นอกจากอำนาจตุลาการไม่อาจจะให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนในกรณีที่เชื้อพระวงศ์เป็นผู้กระทำผิดเท่านั้น จากโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ อำนาจตุลาการได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ในการกล่าวหาใส่ร้ายประชาชนหรือนักการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กันด้วยข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษรุนแรง อีกทั้งมาตรานี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชนห้ามมิให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น รวมตลอดทั้งใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอยู่เสมอมา ซึ่งปัจจุบันก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้ข้อหานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฐานของพรรคการเมือง พรรคไทยรักไทย และทำลายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมชมชอบจากราษฎร แต่ด้วยสำนักพระราชวังหวั่นเกรงว่าจะมีอำนาจบารมีมากขึ้นมาเทียบหรือมาแข่งอำนาจของกษัตริย์ได้ ด้วยการตัดสินลงโทษจำคุก ยึดทรัพย์ ยุบพรรคเพื่อทำลายฐานอำนาจทั้งหมดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น
ส่วนอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารนั้น แม้จะมาจากประชาชนโดยตรงดังที่กล่าวในเบื้องต้น แต่ในการบริหารอำนาจรัฐบาล และรัฐสภาก็ไม่อาจกระทำการใดๆ ขัดพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ทั้งในกิจการส่วนพระองค์หรือในกิจการของรัฐ เช่นโครงการตามพระราชดำริต่างๆ รัฐบาลต้องตอบสนอง และรัฐสภาไม่อาจจะตรวจสอบการใช้เงินของโครงการได้เสมือนหนึ่งว่าการประมูลงานการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริที่ปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นผู้ดำเนินการนั้นมีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง รวมตลอดทั้งกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาจะขัดพระราชประสงค์ก็ไม่ได้ แม้กระทั่งพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินที่ผู้แทนราษฎรจะใช้อำนาจราษฎรในการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนตัวเงินและความเหมาะสมของโครงการพระราชดำริที่แฝงอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ก็ไม่ได้ด้วย มีคำสั่งลับในทุกรัฐบาลห้ามอภิปรายงบประมาณของสำนักพระราชวังและงบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริโดยเด็ดขาด ดังนั้นกฎหมายที่ก้าวหน้าหลายฉบับโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี, กฎหมายการถือครองที่ดิน และภาษีมรดกที่จะมีผลทำให้ได้เม็ดเงินจำนวนมากมาดูแลคนยากจน, ที่ในต่างประเทศล้วนแต่มีระบบจัดเก็บภาษีดังกล่าวอย่างก้าวหน้า แต่สำหรับประเทศไทยไม่อาจออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ ด้วยเพราะพระมหากษัตริย์มีที่ดินมากที่สุดในประเทศไทยและมีสินทรัพย์ที่เป็นมรดกตกทอดมากที่สุดในประเทศไทย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงของอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่อาจจะกระทำได้ด้วยเหตุผลที่วัฒนธรรมและกฎหมายในสังคมไทยสร้างขึ้นปิดกั้นไว้โดยถือว่า “เป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท”
กล่าวโดยสรุปก็จะเห็นได้ว่า ที่กล่าวอ้างว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร โดยผ่านระบบการเลือกตั้งตัวแทนนั้นจึงเป็นเพียงรูปแบบซึ่งมิใช่ความเป็นจริงแต่โดยเนื้อหาแห่งความเป็นจริงนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ โดยเป็นพระราชอำนาจตามที่นายประมวล รุจนเสรี อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้บันทึกความเป็นจริงไว้ในหนังสือเรื่องพระราชอำนาจ
ในกรอบเศรษฐกิจ พระมหากษัตริย์ของไทยเป็นผู้มีสินทรัพย์อันเป็นมรดกตกทอดทั้งที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ธุรกิจการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทองคำ เพชรนิลจินดา เครื่องประดับต่างๆ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน รวมแล้วมีมากมายมหาศาล โดยนิตยสารฟอร์บ(FORB) ได้เสนอบทความราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2551 โดยระบุว่า พระมหากษัตริย์ของไทยมีพระราชทรัพย์มากที่สุดในบรรดา 15 ราชวงศ์ที่อยู่ในทำเนียบการจัดอันดับของฟอร์บโดยมีพระราชทรัพย์ประมาณการได้ล่าสุดกว่า 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าร์ = 34 บาท)Ù
ความมากมายของจำนวนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไทย มีมากจนต้องตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ทรัพย์สินที่เป็นที่รู้จักดีของราษฎร ก็คือที่ดินของพระมหากษัตริย์ที่ตั้งอยู่กลางเมืองในย่านธุรกิจของทุกจังหวัดในประเทศไทยที่มีการเก็บค่าเช่าในแต่ละเดือนมีมูลค่ามหาศาล กิจการขนาดใหญ่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ศูนย์การค้าดิโอลด์ พลาซ่าเจริญกรุง เป็นต้น และนอกจากนี้ก็มีการถือหุ้นในบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อีกจำนวนมาก ซึ่งรายได้หลักของพระมหากษัตริย์ที่มาจากกิจการต่างๆ อันได้แก่ ค่าเช่าที่ดินและธุรกิจต่างๆ แล้วยังมีรายได้หลักจากเงินบริจาคต่างๆ จากราษฎร และจากบริษัทห้างร้านต่างๆ ในโอกาสวันสำคัญๆ อีกมากมายในแต่ละปี
ธุรกิจของพระมหากษัตริย์ นอกจากจะไม่มีความเสี่ยงต่อการขาดทุนตามกลไกตลาดของระบบการค้าแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองจากระบบอำนาจการเมืองที่ทุกรัฐบาลจะต้องดูแลคุ้มครองให้ เช่น การขอขึ้นราคาปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมจะมีอยู่เสมอในทุกๆ ปี หรือกรณี เกิดวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทในปี 2540 เป็นผลให้ธุรกิจของพระมหากษัตริย์ เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ต้องประสบกับภาวะล้มละลาย ก็ปรากฏหลักฐานเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ารัฐบาลของนายชวน หลีกภัย โดยนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้นำเงินภาษีของประชาชนไปอุ้มกิจการดังกล่าวจนพ้นวิกฤต
หากจะพิจารณาถึงอำนาจเศรษฐกิจในประเทศไทย ก็สามารถสรุปได้ว่ากลุ่มธุรกิจการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดก็คือกลุ่มทุนของราชสำนัก ซึ่งมีทั้งทุนและอำนาจทางการเมืองให้ความคุ้มครอง ลักษณะทุนเช่นนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของระบบทุนนิยมในประเทศไทย ซึ่งมีศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “ระบอบทุนนิยมขุนนาง” กล่าวคือได้มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จำนวนมากได้นำหุ้นของบริษัทตนจำนวนหนึ่งถวายให้แก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมทั้งแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองหรือเกิดความเกรงใจของหน่วยงานราชการในการจัดเก็บภาษีและบังคับใช้กฎหมาย บริษัทเอกชนในลักษณะนี้ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มความหมายของระบอบ ทุนนิยมขุนนางด้วย จะสังเกตได้ง่ายโดยดูจากรูปตราครุฑที่ติดอยู่หน้าบริษัทนั้นๆ
จากข้อสรุปการวิเคราะห์ความเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่โดยมองจากกรอบอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็จะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยยังทรงมีอำนาจพิเศษทางเศรษฐกิจสูงสุดของรัฐไทย เฉกเช่นเดียวกับเมื่อครั้งอาณาจักรสยามยังคงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิม
ในกรอบวัฒนธรรม แม้คำพูดของพระมหากษัตริย์ไทยจะมิใช่กฎหมายดังที่เรียกว่าพระบรมราชโองการ เหมือนอย่างแต่ก่อนเมื่อครั้งปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชก็จริง แต่โดยการสร้างระบบวัฒนธรรมที่รวมศูนย์อำนาจความเชื่อถือไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์ประดุจดังสมมุติเทพ และอำนาจทางกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่มีโทษรุนแรง ได้สร้างอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมขึ้น ทำให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่มีความเข้มแข็งยิ่งกว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชดั้งเดิมเสียอีก กล่าวคือ ไม่เฉพาะแต่คำพูดของพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตามเสมือนหนึ่งเป็นกฎหมาย เพียงแต่แค่แนวคิดก็กลายเป็นกฎหมายเช่นเดียวกัน เช่น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสังคมเรียกว่า “แนวพระราชดำริ” ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ใครๆ จะโต้แย้งไม่ได้ และจากอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมนี้ รัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ ที่มาจากการยึดอำนาจหรือเรียกว่ารัฐบาลพระราชทานก็ได้แปรแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรม เป็นอำนาจเผด็จการทางกฎหมายโดยไม่มีใครโต้แย้งได้ โดยการนำแนวพระราชดำริไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นแนวนโยบายเศรษฐกิจหลักแห่งรัฐซึ่งเป็นผลให้ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างจากพระราชดำริต่อราษฎรแม้ว่าจะได้รับความเห็นชอบจากราษฎรในการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่อาจจะดำเนินการได้เพราะเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งจะถูกอำนาจตุลาการ คือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ถอดถอนออกจากการเป็นรัฐบาลได้
หากจะวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงรากฐานวัฒนธรรมทางศาสนา รัชกาลปัจจุบันแห่งราชวงศ์จักรี แม้จะอยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกทั้งโลกเจริญด้วยเทคโนโลยี ราษฎรในทุกประเทศแข่งขันทางด้านการศึกษาและพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ แต่วัฒนธรรมของประเทศไทยโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำ ดูเสมือนจะหันหลังให้แก่โลกทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2549 ต่อ 2550 ซึ่งเป็นช่วงการรัฐประหารยึดอำนาจโดยการนำของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่มีผลทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ปรากฏว่ายอดการซื้อขายจตุคามรามเทพ เครื่องรางของขลัง สัญลักษณ์แห่งศาสนาพราหมณ์มีตัวเลขสูงจนช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้น รวมตลอดถึงการใช้ชื่อราชวงศ์ว่าราชวงศ์จักรี และสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์เป็นครุฑก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนาพราหมณ์ และมีพราหมณ์ประจำราชสำนักในการดูฤกษ์ดูยามและผูกดวงชะตาราศีในการกำหนดพระราชพิธีต่างๆ ทั้งหมด โดยคนในราชวงศ์ชั้นสูงก็เชื่อมั่นในกรอบแนวคิดแบบพราหมณ์มากกว่าพุทธ จนกระทั่งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น เช่นสมเด็จ พระราชินีก็ทรงเชื่อว่าพระองค์คือพระนางศรีสุริโยทัย(ผู้เคยช่วยพระสวามีจนกระทั่งสิ้นพระชนม์บนคอช้างเมื่อสมัยอยุธยาเป็นราชธานี)กลับชาติมาเกิดในปัจจุบันนี้ และทรงสนับสนุนให้สร้างภาพยนตร์เรื่อง สุริโยทัยเพื่อประกาศเกียรติคุณของสมเด็จพระราชินีที่จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ให้ประชาชนได้รับรู้ และในชาตินี้พระองค์ก็จะมาช่วยกอบกู้บ้านเมืองเหมือนเช่นอดีตอีกจนกลายเป็นปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ด้วยเพราะเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตชาติเป็นพระเจ้าตากสินกลับชาติมาเกิดเพราะมีชื่อที่สะกดเป็นภาษาอังกฤษ(TAKSIN) ออกเสียงเหมือนกัน และจะมาล้างแค้นราชวงศ์จักรีอันเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตชาติ
ปัจจุบันนี้ แม้ราษฎรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเพราะจากสภาพความเป็นจริงหากจะกล่าวว่า “ประเทศไทยมีศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาประจำชาติ” น่าจะมีเหตุผลมากกว่า
การคงรักษาวัฒนธรรมทางไสยศาสตร์ดั้งเดิมไว้ในภาวะที่โลกกำลังค้นคว้าพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และโลกกำลังพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมเก่ากับใหม่ขึ้นในประเทศไทย แต่สถาบันกษัตริย์ก็ได้พยายามระดมนักคิดนักวิชาการเพื่อสร้างระบบคิดหาเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้แก่ข้อคิดทางไสยศาสตร์ เพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่นชาติกำเนิด,โลกนี้และโลกหน้า, เมื่อตายแล้วจะต้องกลับชาติมาเกิดใหม่ และเรื่องเทพยาดาฟ้าดินโดยจะรู้ความลึกลับเหล่านี้ได้จะต้องฝึกสมาธินั่งทางในจึงจะรู้อดีตชาติได้ โดยมีเกจิอาจารย์ตามวัดต่างๆ ที่ราชสำนักกำหนดขึ้นว่าเป็นผู้วิเศษหลายคนที่หลงเชื่อก็เดินทางไปสู่สำนักเกจิอาจารย์เพื่อฝึกฝน ถ้ายังไม่เห็นสวรรค์เกจิอาจารย์ก็อ้างว่ายังฝึกฝนไม่เพียงพอ, ถ้ายังไม่เห็นอดีตชาติก็อ้างว่าจิตยังหยาบ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนยอมรับการมีอำนาจรัฐของพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ที่ทำบุญมาแต่ชาติปางก่อนจึงมีสิทธิที่จะเสพสุขจากเงินภาษีอากรของราษฎรได้อย่างชอบด้วยเหตุผล ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่แม้ยากจน แต่ก็จำยอมด้วยระบบคิดที่ถูกสร้างขึ้นและไม่อาจจะโต้แย้งได้ด้วยเหตุผลกำปั้นทุบดินว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” หรืออาจจะเจอข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ก็ได้ ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพโดยไม่โต้แย้ง
ในกระบวนการทางวัฒนธรรมความเชื่อนับว่าเป็นแนวรบที่ทางราชสำนักให้ความสำคัญ เพื่อสร้างระบบคิดครอบงำสังคมให้ราษฎรเชื่อถือและยอมรับทั้งการดำรงอยู่และแนวคิดของพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้จึงมีการระดมนักวิชาการผู้ขายจิตวิญญาณมาร่วมคิดเพื่อหาเหตุผลมาสนับสนุนแนวคิดของกษัตริย์ให้เลอเลิศ เช่น แนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงก็เห็นกันอย่างตำหูตำตาว่าพระองค์สอนให้ราษฎรประหยัด แต่การใช้ชีวิตของพระองค์และราชวงศ์ก็ใช้จ่ายกันอย่างฟุ่มเฟือย ไม่มีพระองค์ใดประหยัดเลย และพวกนักวิชาการหรือองคมนตรี, รัฐมนตรีทั้งหลายที่สั่งสอนชาวบ้านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นก็ล้วนแต่เป็นมหาเศรษฐี มีทรัพย์สินเกินพอทั้งสิ้น ในขณะที่ราษฎรที่ฟังคนพวกนี้พูดนั้นวันๆ ไม่พอจะกิน หรือแม้แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสเตือนรัฐบาลว่าให้ใช้เงินงบประมาณด้วยความประหยัด ให้รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่จากความเป็นจริงในงานพระราชพิธีพระราชทางเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ใช้จ่ายเงินอย่างมากมาย เฉพาะพระเมรุมาศที่สร้างแล้วก็ต้องรื้อทิ้งมีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมดในการจัดงานประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา สูงถึงประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของราษฎร จำนวนเงินนี้สูงเกือบเท่ากับงบประมาณประจำปีของกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงต่างประเทศทั้งปี ซึ่งขัดแย้งกับพระราชดำรัสที่เตือนรัฐบาล แต่พวกนักวิชาการผู้ทรยศต่อวิชาชีพก็ต่างปิดปากเงียบทำไม่รู้ไม่เห็นแล้วก้มหน้าก้มตาหาเหตุผลจากมุมมองแปลกๆ มาเชียร์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกันตะพึดตะพือ ทั้งๆ ที่นักวิชาการก็รู้แก่ใจว่าการเสนอแนวคิดนี้แท้จริงคือ การหลอกลวง
เมื่อมองทั้งในกรอบโครงสร้าง อำนาจ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แล้วก็จะเห็นว่าที่มาแห่งอำนาจในปัจจุบันนี้มีแต่เพียงรูปแบบเท่านั้นที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่เนื้อของอำนาจที่แท้จริงเป็นของพระมหากษัตริย์ จึงไม่อาจจะกล่าวเป็นอย่างอื่นได้ว่าระบอบการปกครองของไทยวันนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่แท้จริง คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่





2.3 วันชาติภาพสะท้อนรัฐคือกษัตริย์

หากจะมองระบอบการปกครองผ่านสัญลักษณ์ของรัฐคือวันชาติ ก็จะเห็นชัดเจนว่า รัฐนี้ไม่ใช่รัฐของราษฎร แต่รัฐนี้เป็นรัฐของกษัตริย์ เพราะวันชาติคือวันที่ 5 ธันวาคม คือวันเกิดของกษัตริย์
ประเทศทุกประเทศจะมีวันชาติซึ่งเป็นวันสำคัญของรัฐซึ่งส่วนมากจะถือเอาวันที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชาติมากที่สุด เช่น วันประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคม วันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันชาติอเมริกาที่ประเทศได้เอกราชจากอังกฤษ หรือวันที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองรัฐใหม่ เช่น วันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติรัสเซียที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งประเทศไทยก็เคยประกาศใช้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันชาติ เมื่อครั้งคณะราษฎรซึ่งเป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบอังกฤษ แต่เมื่อสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร และเข้าสู่ยุคร่วมมือกันระหว่างราชสำนักกับทหารอย่างเข้มแข็งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็รื้อฟื้นอำนาจราชวงศ์ขึ้นโดยใช้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลปัจจุบันเป็นวันชาติ และก็ใช้สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าวันสำคัญของรัฐไทยนี้คือวันของกษัตริย์นั่นก็คือวันต่างๆ ที่สำคัญในรัฐนี้รวมศูนย์อยู่ที่ตัวพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นวันชาติ,วันขึ้นครองราชย์,วันแต่งงาน รวมตลอดทั้งวันสำคัญในรัชกาลก่อนๆ ก็นำมารวมเป็นวันสำคัญของประเทศด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ มิใช่ราษฎร และสิ่งนี้คือสัญลักษณ์แห่งระบอบปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช นั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ก็คือระบอบการปกครองที่กลไกอำนาจทั้งหลายของรัฐรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์และครอบครัว เพียงแต่มีองค์กรอำนาจอื่นๆ ของรัฐ ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นของราษฎร เช่น องค์กรรัฐบาล,องค์กรรัฐสภาองค์กรศาล แต่แท้จริงทำงานภายใต้ตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์

2.4 ประชาธิปไตยพระราชทานคือสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่

มีการถกเถียงกันมากในทางประวัติศาสตร์ว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีแนวคิดประชาธิปไตย และเตรียมจะมอบอำนาจการปกครองตัวเองให้แก่ประชาชนแล้ว แต่คณะราษฎรใจร้อนเกินไปที่ทำการปฏิวัติแย่งอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และปัจจุบันเมื่อมีการตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐสภา แต่ปรากฏว่าหน้าที่หลักของผู้บริหารสถาบันคือทำหน้าที่ทำลายระบอบการปกครองประชาธิปไตย เพราะผลงานของสถาบันพระปกเกล้าที่เด่นชัดคือสนับสนุนการยึดอำนาจล้มระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 19 กันยายน 2549 และนับแต่ตั้งขึ้น สถาบันฯ ก็ทำหน้าที่บิดเบือนป้ายสีความผิดให้แก่คณะราษฎรมาตลอด โดยเชิดชูพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7 ว่าเป็นนักประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดมีเพียงความจริงบางส่วนเพียงน้อยนิด กล่าวคือที่สถานการณ์ปลายรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เกิดวิกฤตต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง และรัชกาลที่ 7 ก็รู้พระองค์เองว่าไม่อาจจะประคับประคองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบดั้งเดิมต่อไปได้แล้วด้วยในขณะนั้นเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่ 6 กับรัชกาลที่ 7 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของโลกกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณได้เกิดการขาดดุลติดต่อกันตั้งแต่ปี 2465 ถึง 2568 และเกิดการตื่นตัวทางการเมืองของ ผู้มีการศึกษาในเขตเมืองหลวง และการเฟื่องฟูของสื่อมวลชนมีการเปิดกิจการหนังสือพิมพ์และวารสารจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ราย
วันในขณะนั้นมีมากถึง 35 ฉบับ และมีวารสารประมาณ 130 กว่า ฉบับÙทำให้เกิดการแพร่ขยายแนวคิดทางการเมืองออกไปมากโดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษา(คล้ายเหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่สื่อขยายตัวอย่างมากในรูปแบบใหม่คืออินเตอร์เน็ต และแนวคิดการเมืองขยายตัวลงสู่รากหญ้า) และได้มีบทความในหน้าหนังสือพิมพ์โจมตีราชสำนักเชิงกระทบกระเทียบอยู่เสมอ เช่น บทความเรื่อง “เห็นว่าเจ้าเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญ” ในหนังสือพิมพ์ราษฎร ฉบับวันพุธที่ 9 มกราคม 2471
ด้วยเหตุแห่งสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้นรัชกาลที่ 7 จึงพยายามจะหาทางออกที่จะผ่อนคลายโดยสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ขึ้น โดยเป็นประชาธิปไตยภายใต้อำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราช, มี 3 อำนาจ คล้ายๆ ทุกวันนี้คือมีคณะรัฐมนตรี(อำนาจบริหาร) มีรัฐสภา(อำนาจนิติบัญญัติ), และศาล (อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เดิมจนถึงปัจจุบันนี้) ซึ่งระบบ 3 อำนาจนี้ ในขณะนั้นก็เป็นที่รู้จักกันทั้งโลกเพราะได้ตั้งมั่นในยุโรปและอเมริกา และถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ทั้ง 3 อำนาจตามแนวคิดของรัชกาลที่ 7 นั้นมิใช่เป็นประชาธิปไตยแบบที่โลกใช้กันอยู่ในขณะนั้น หากแต่เป็นอำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งเอง และมีอำนาจถอดถอนได้
พระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 มีที่ปรึกษาคนสำคัญเป็นฝรั่งสัญชาติอเมริกัน คือ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ (Mr.Francis B.Sayre) ซึ่งได้รับพระราชทินนามเป็นพระยากัลยาณไมตรี โดยพระองค์ได้เขียนหนังสือด้วยลายมือของพระองค์ (พระราชหัตถเลขา) ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2469 เล่าความเน่าเฟะในพระราชสำนักให้นายฟรานซิส บี.แซร์ และพยายามหาทางออก ปรากฏอยู่ในหนังสือเอกสารวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยนายชัยอนันต์ สมุทวาณิช ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลันธรรมศาสตร์ ปี 2522 ในหน้า 226 ความว่า
“ตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเด็ดขาดในทุกสิ่งทุกอย่าง หลักการข้อนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก และเหมาะกับประเทศนี้อย่างยิ่ง ตราบเท่าที่เรามีพระมหากษัตริย์ที่ดี ถ้าพระมหากษัตริย์เป็นอเนกนิกรสโมสรสมมติจริงก็เป็นที่หวังได้ว่าพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีพอประมาณ แต่ความคิดเรื่องอเนกนิกรสโมสรสมมตินี้ แท้ที่จริงเป็นแต่ทฤษฎีเท่านั้น ตามความเป็นจริงแล้ว กษัตริย์ของสยามครองราชย์โดยการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งก็มีผู้จะให้เลือกที่จำกัดมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่แน่นอนว่าเราจะมีกษัตริย์ที่ดีเสมอไป ฉะนั้นอำนาจเด็ดขาดอาจกลายเป็นภยันตรายโดยตรงต่อประเทศก็เป็นได้ นอกจากนี้เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปมาก ในสมัยก่อนนั้นไม่มีการตั้งข้อสงสัยใดๆ ในพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เลย เพราะจะเป็นการไม่ปลอดภัยเลยที่จะทำเช่นนั้น พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพนับถืออย่างแท้จริง และพระราชดำริของพระองค์ก็คือกฎหมายเราดีๆ นี่เอง แต่สิ่งเหล่านี้เริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นที่เกรงกลัวและ เคารพนับถือ แม้กระนั้นในปลายรัชสมัยของพระองค์ก็ยังมีคนหนุ่มคณะหนึ่งเริ่มวิจารณ์พระองค์ในหลายเรื่องด้วยกัน แต่ก็มิได้กระทำอย่างเปิดเผย ในรัชกาลที่เพิ่งจะสิ้นไปเร็วๆ นี้สภาพการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปมากด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งล้วนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเล่าต่อท่าน เพราะท่านคงจะทราบดีอยู่แล้ว พระมหากษัตริย์กลายเป็นผู้ที่ถูกหว่านล้อมชักจูงได้โดยใครก็ได้ ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับผู้ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ ข้าราชการทุกคนก็มักจะถูกสงสัยว่าทำการฉ้อฉลหรือไม่ก็เล่นพรรคเล่นพวก แต่ยังนับว่าเป็นโชคที่เจ้านายชั้นสูงยังคงได้รับความเคารพนับถือว่าเป็นผู้ ที่มีความซื่อสัตย์อยู่ สิ่งที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การที่ราชสำนักถูกดูหมิ่นดูแคลน และในระยะใกล้จะสิ้นรัชกาลก็กำลังจะเริ่มถูกเยาะหยัน กำเนิดของหนังสือพิมพ์ที่มีอิสระเสรีทำให้สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ย่ำแย่ลงไปอีกมาก ฐานะของพระมหากษัตริย์ต้องตกอยู่ในความยากลำบากอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศนี้ชี้ให้เห็นสัญญาณอันแน่ชัดว่าวันเวลาของการปกครองแบบผู้นำถืออำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวใกล้จะหมดลงทุกที ถ้าราชวงศ์นี้จะอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ก็จะต้องทำให้ฐานะของพระมหากษัตริย์มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่จะต้องหาหลักประกันบางอย่างในการป้องกันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ฉลาดนัก”
ในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาพระยากัลยาณไมตรีด้วยว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนรูปการปกครองไปเป็นประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา และควรจะมีรัฐธรรมนูญในรูปใด พระยากัลยาณไมตรีตอบพระราชปรารภว่าในเวลานี้ยังไม่ควรมีการปกครองระบอบรัฐสภา และเสนอให้ใช้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชต่อไป แต่แนะนำให้นำระบอบการมีนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินมาใช้ และได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ถวาย ซึ่งมีเพียง 12 มาตราเท่านั้น และเพื่อเป็นบทศึกษาตอบโต้สถาบันพระปกเกล้าให้เห็นว่าเรื่องประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 7 จะมอบให้นั้นเป็นเรื่องจอมปลอมทั้งสิ้น จึงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ ที่มีการกล่าวอ้างกันมากว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 จะพระราชทานให้เพื่อให้มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มาตีพิมพ์เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่าประชาธิปไตยพระราชทานนั้นมีจริงหรือไม่ ดังนี้


ร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรี
มาตรา ๑ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจสูงสุดตลอดพระราชอาณาจักร
มาตรา ๒ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งจะรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา ๓ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ และรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ในการบริหารของทุกกระทรวง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ที่รับมอบหมายไปจากพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้ประสานงานระหว่างนโยบายเหล่านี้กับการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวของกระทรวงต่างๆ
มาตรา ๔ รัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในการบริหารงานของกระทรวง และช่วยนายกรัฐมนตรี ในการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บรรลุผลตามที่ได้รับมอบหมาย
มาตรา ๕ คณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษากันโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาหารือกันในกิจการทั่วไป แต่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจในทุกเรื่องอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
มาตรา ๖ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำผลการตัดสินใจในปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายทั่วๆไป ขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ แต่การตัดสินใจในปัญหาเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๕ นาย นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่รัฐมนตรีผู้อื่นไม่อาจเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาได้ อภิรัฐมนตรีสภาไม่ มีอำนาจในการบริหารใดๆ หน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภาจำกัดอยู่เฉพาะการถวายคำปรึกษาเมื่อพระมหากษัตริย์ ทรงขอความเห็นหรือคำปรึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายทั่วไป หรือนโยบายอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นเรื่องของราชการประจำ อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจที่จะถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการหรือเรื่องเกี่ยวกับข้าราชการประจำ แต่มีอำนาจในการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ
มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกสภาอภิรัฐมนตรี
มาตรา ๙ ภายในเวลาสามวันนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกรัชทายาทโดยการถวายคำปรึกษา และการถวายความยินยอมจากอภิรัฐมนตรีสภา การเลือก (รัชทายาท) นี้จะต้องเลือกจากพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีนาถ หรือจากพระบรมวงศานุวงศ์ โดยไม่จำกัดลำดับชั้นยศหรืออาวุโส การเลือกรัชทายาทไม่ถือว่าเด็ดขาดซึ่งจะเปลี่ยนแปลงมิได้ แต่อาจทบทวนได้ทุกๆ ห้าปี นับแต่วันเลือกครั้งแรก โดยการถวายคำปรึกษาและการถวายความยินยอมจากอภิรัฐมนตรีสภา (หมายเหตุ: หรือในบางกรณีระยะเวลานี้อาจนานกว่าห้าปีก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร) ในกรณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะมีการเลือกรัชทายาท อภิรัฐมนตรีสภาจะเป็นผู้เลือกรัชทายาททันทีภายหลังการสวรรคต ทุกกรณีจะต้องใช้คะแนนเสียงสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาอภิรัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักรขณะนั้นในการเลือก
มาตรา ๑๐ อำนาจตุลาการซึ่งอยู่ภายใต้พระราชอำนาจสูงสุด ของพระมหากษัตริย์ใช้ทางศาลฎีกา และศาลอื่นๆตามที่ทรงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งขึ้นตามเวลาอันสมควร
มาตรา ๑๑ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติแต่ ผู้เดียว
มาตรา ๑๒ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จะกระทำได้โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของจำนวนสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา
จากร่างรัฐธรรมนูญนี้ นายชัยอนันต์ สมุทวาณิช ได้เขียนโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญไว้ด้วยเพื่อเข้าใจได้โดยง่ายว่า ประชาธิปไตยในแนวคิดของพระมหากษัตริย์นั้น อำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มีรัฐธรรมนูญ 300 กว่ามาตราก็จริง แต่ปรัชญาแนวคิดยังคงเดิมเช่นแนวคิดในสมัยรัชกาลที่ 7 ตามแผนภาพดังนี้

แผนภาพที่ ๑
แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์, อภิรัฐมนตรีสภา
และนายกรัฐมนตรี

อภิรัฐมนตรีสภา
นายกรัฐมนตรี
พระมหากษัตริย์
ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษา

รัฐมนตรี
รัฐมนตรี


เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่นั้นเป็นแนวคิดของราชสำนักมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเมื่ออำนาจของคณะราษฎรเพลี่ยงพล้ำถูกทำลายในช่วงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างราษฎร กับขุนนางอำมาตย์ ราชสำนักจึงฟื้นกลับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นใหม่ โดยมีประชาธิปไตยเป็นเพียงรูปแบบ แต่เนื้อหาอำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่ราชสำนัก และเมื่อใดที่อำนาจของรัฐสภาจะเข้มแข็ง ราชสำนักก็จะส่งสัญญาณให้กองทหารล้มระบอบรัฐสภา แล้วก็ว่างเว้นสักระยะหนึ่งเพื่อออกกฎหมายตัดอำนาจฝ่ายราษฎรในนามประกาศขณะปฏิวัติซึ่งออกได้เร็ว แล้วหลังจากนั้นก็จัดตั้งระบอบสภากันขึ้นใหม่ รัฐบาลที่มาจากราษฎรเลือกตั้งเข้ามา ก็ถูกจำกัดอำนาจโดยกฎหมายของคณะปฏิวัติ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้อำนาจของราษฎรเกิดขึ้นได้จริง และทุกครั้งของการยึดอำนาจก็จะใส่ร้ายป้ายสีหลอกลวงโลกตลอดเวลาว่า “ราษฎรยังไม่มีความพร้อมที่จะปกครองตัวเอง”
เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย จึงเกิดอยู่ร่ำไปโดยความเห็นชอบของราชสำนักด้วยข้ออ้างว่า “พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง”

Ù กษัตริย์ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน นอกจากจะมีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังหมายถึงคนในวรรณะที่ 2 แห่งสังคมฮินดู ซึ่งมีอยู่ 4 วรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร
Ù บันทึกจดหมายเหตุ เดอ ลาลูแบร์,หน้า 338 สันต์ ท.โกมลบุตร ผู้แปล.สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, นนทบุรี

Ù จากจดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ.1685 และ 1686 ของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์, หน้า 248 สันต์ ท.โกมลบุตร ผู้แปล, สำนักพิมพ์ศรีปัญญานนทบุรี

Ù ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกฉบับประชาชนของมหามกุฎราชวิทยาลัย, สุชีพ ปุญญานุภาพ จัดทำ ตีพิมพ์ครั้งที่ 17/2550 หน้า 133

Ùแปลภาษาไทย ตีพิมพ์ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/13273 วันที่ 22 สิงหาคม 2551

Ù การเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่, ชัยอนันต์ สมุทวาณิช หน้า 219, 2522 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

No comments:

Post a Comment