Wednesday, May 13, 2009

บทที่ 9 บทพยากรณ์ : การกำเนิดรัฐไทยใหม่

บทที่ 9
บทพยากรณ์ : การกำเนิดรัฐไทยใหม่

สภาวการณ์ของรัฐไทยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในกระแสระบอบทุนนิยมโลก โดยสภาพการแห่งภาวะวิสัยได้ทำให้รัฐไทยอ่อนแอไม่อาจจะแข่งขันในโลกเสรีทางการค้า ที่มีภาวการณ์ความขัดแย้งทางการค้าอย่างรุนแรงเสมอด้วย “สงคราม” ได้ ด้วยเพราะปรัชญาแนวคิดหลักของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่เน้นให้ราชการเป็นใหญ่นั้น มุ่งตอบสนองราชสำนักเป็นหลัก จึงเกิดกระบวนการสร้างกฎระเบียบของสังคมที่ซับซ้อนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของราชสำนัก และปิดกั้นอำนาจของรัฐบาลที่มาจากความต้องการของประชาชน
แม้รัฐบาลที่มาจากการอุ้มสมของราชสำนักก็ไม่อาจจะก้าวผ่านกรอบความซับซ้อนของกฎระเบียบราชการนั้นได้ ด้วยเพราะเจตนาที่แท้จริงของราชสำนักที่ไม่อาจจะปิดบังได้ต่อไปแล้วก็คือ ไม่ต้องการให้สถาบันพรรคการเมืองเข้มแข็ง และไม่ต้องการให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นสถาบันทางการเมืองหลักในการบริหารประเทศและขับเคลื่อนระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ด้วยเพราะราชสำนักได้มีบทสรุปทางประวัติศาสตร์ชัดเจนแล้วว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแนวทางทุนนิยมนี้ได้ผลักดันให้เกิดสังคมเมืองแห่งยุควัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่ประชาชนจะเรียกร้องการมีสิทธิ เสรีภาพ และความ เสมอภาค ไม่เฉพาะแต่ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องที่จะก้าวเข้าสู่สิทธิแห่งการเฉลี่ยสุขในสังคมที่เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ” อีกด้วย
ระบบรัฐสวัสดิการนั้น จะต้องเปิดเสรีให้ผู้ที่เข้มแข็งในสังคมขยายการผลิตและจะต้องเร่งสร้างระบบการจัดเก็บภาษีที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะภาษีที่ดิน และภาษีมรดก มากกว่าที่จะหลอกลวงประชาชนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือจะต้องสร้างระบบกฎหมายภาษีที่เข้มแข็ง ซึ่งจำเป็นจะต้องลิดรอนความสุขที่เกินปกติ ที่ราชสำนักกำลังเสพสุขกันอยู่ในขณะนี้ ด้วยการเก็บภาษีที่ดิน และเก็บภาษีมรดกของราชสำนักอย่างเสมอภาคกับมหาเศรษฐีคนอื่นๆ เพื่อนำไปเฉลี่ยสุขให้แก่ประชาชนผู้ทุกข์ยากแทนการเรียกร้องให้ทำบุญและเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ
การก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่จะสร้างสันติสุขในการอยู่ร่วมกันของชาติไทยย่อมจะต้องกระทบถึงฐานอำนาจทางทรัพย์สินของราชสำนักในฐานะเจ้าที่ดินใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในฐานะกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลกในปี 2551 และที่สำคัญที่สุดสังคมที่พัฒนาแล้ว และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งโลกนี้ ล้วนแล้วแต่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่เลย หรือดำรงอยู่ก็เป็นเพียงสถาบันเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
ความเป็นจริงนี้เองที่เตือนใจราชสำนักมายาวนาน ดังนั้นการสกัดกั้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐไทย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงถูกสกัดกั้นด้วยการใช้วัฒนธรรมหลอกลวงกล่อมเกลาว่า
“ความทุกข์ยากของประชาชนนั้นเป็นเรื่องของกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน มิใช่เกิดจากระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม”
สิ่งสำคัญสิ่งเดียวที่รัฐไทยจารีตนิยมจะไม่ยอมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองคือ ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ และความเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลของประชาชน ซึ่งจะก้าวมากับความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และระบอบการเมืองประชาธิปไตย
กระบวนการสกัดกั้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเมือง จึงเกิดขึ้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะบีบคั้นให้ประชาชนถอยหลังเข้าบ้าน และเก็บตัวเองไว้ในท้องนาด้วยปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้จำนนต่อชีวิต รวมตลอดถึงการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยตัวเองเพื่อทำลายความเข้มแข็งของรัฐบาลประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามทศวรรษที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้แสดงบทบาทเป็นด้านหลักของระเบียบโลกใหม่
ภาวการณ์ทางการเมืองที่ปรากฏโฉมในช่วงปี 2548-2551 ได้เปิดโปงให้เห็นจึงเจตนารมณ์ของราชสำนักอย่างชัดเจน ภายใต้ความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของการกระทำที่เย้ยกฎหมาย และระเบียบโลกใหม่ด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบิน โดยไม่ผิดกฎหมาย ที่ผู้กระทำผิดเรียกขานตัวเองอย่างไพเราะว่า “ปรากฏการณ์สนธิ”
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และบรรดาองคมนตรีทั้งหลายในฐานะคนใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตามกฎหมายห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่กลับออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่การโหมโจมตีด้วยคำพูด ประสานงานกับกองกำลังทหาร-ตำรวจ และสถาบันตุลาการ เพื่อใช้กำลังและกฎหมายโค่นล้มรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะที่ “โค่นล้มแล้วโค่นล้มอีก” ล้ม 3 รัฐบาลประชาธิปไตยติดต่อกัน การกระทำดังกล่าวได้เข้าสู่เขตอันตรายอย่างยิ่ง ด้วยการดึงสถาบันตุลาการในนาม “ตุลาการภิวัฒน์” เข้าร่วมการรัฐประหารด้วย ทั้งนี้เพราะสถาบันศาลเป็นเพียงสถาบันเดียวใน 3 อำนาจอธิปไตยที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชนเลย
ยังจะเหลืออะไรอีกเล่าที่จะปิดบังว่าราชสำนักไม่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางวิวัฒนาการของสังคมไทย
ท่ามกลางการเปิดเผยตัวเองเช่นนี้ ในกระแสวิกฤตเศรษฐกิจโลก ความทุกข์ยาก อดอยาก ของประชาชนที่กำลังเกิดขึ้น และจะยิ่งรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ปฐมเหตุแห่งความทุกข์ยากนั้นมาจากระบอบการปกครองที่เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” นี้เอง
ไม่เพียงแต่ปัญญาชนคนเมืองเท่านั้นที่มองเห็นปัญหาที่เป็นต้นตอ แต่ด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีการรับรู้สัจธรรมนี้ ได้ขยายตัวสู่มวลชนคนรากหญ้าทั้งในชนบท และป่าเขา และสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดเลย ก็คือกระแสแห่งสัจธรรมได้ซัดลงลึกเข้าไปสู่กองกำลังผู้ถืออาวุธของราชสำนักเองแล้ว
ความเข้มแข็งแห่งรัฐไทย ปัจจุบันจึงเป็นภาพลวงตาที่มีเสาหลักเพียงเสาเดียว ที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังศรัทธาในภาพถ่ายคุณงามความดีที่มีต่อประชาชนที่ทำการโฆษณามายาวนานกว่า 60 ปี และด้วยความ ชาญฉลาดของการกระทำด้วยรูปแบบที่นิ่งเฉย หรือการกล่าวแนะนำใน ที่สาธารณะ ซึ่งผู้คนทั่วไปไม่สามารถจะรู้ได้ว่าท่านต้องการอะไร? เห็นด้วยกับใคร? แต่สรุปได้อย่างเดียวว่าพระราชดำรัสนั้น “เป็นภาษาของเทพเจ้า” ที่ต้องเคารพและไม่ท้วงติง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความปั่นป่วนเพราะกลุ่มผลประโยชน์ทางสังคม ต่างนำไปใช้โดยตีความเข้าข้างผลประโยชน์ของตนเอง
สภาวะเช่นนี้ดูเหมือนบ้านเมืองจะมั่นคง แต่หากมองด้วยสายตาแห่งทัศนะวิทยาศาสตร์สังคมแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่แก่นแท้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชน และเป็นความขัดแย้งที่รอวันระเบิด
ดังนั้นความคุกรุ่นของการเมืองวันนี้ จึงสรุปได้ชัดเจนว่า เป็นวิกฤตของ “การเมืองปลายรัชกาล” และเป็นวิกฤตของระบอบ อำมาตยาธิปไตยที่ยึดโยงอยู่กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่
สัญญาณแห่งการปรับเปลี่ยนอันเป็นวิทยาศาสตร์สังคม ได้ดังขึ้นอย่างเร่งเร้า ขบวนการประชาชน องค์กรมวลชนต่างๆ จะเริ่มปรับทิศทางที่เห็นเป็นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนนั้น จะเป็นเพียงรูปแบบเปลือกกะพี้ที่ไม่มีแก่นสาร แต่เนื้อหาที่เป็นความทุกข์ยากของประชาชนที่เป็นจริงคือ ความขัดแย้งของประชาชนที่เผชิญหน้ากับราชสำนัก
บทพยากรณ์นี้จะเป็นสัจธรรมต่อการกำเนิดรัฐไทยใหม่อย่างแน่นอนในระยะเวลาไม่เกินปี 2555 การเปลี่ยนแปลงทางปริมาณจะขึ้นสู่กระแสสูงเพื่อจะก้าวสู่คุณภาพใหม่ แต่การทำนายที่ท้าทายนี้มีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่อาจจะกำหนดได้คือ
จะเกิดขึ้นด้วยแรงระเบิดอย่างรุนแรง หรือประนีประนอม
ผู้ปกครองจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไข มิใช่ประชาชน

No comments:

Post a Comment