Wednesday, May 13, 2009

บทที่ 6 การบริหารอำนาจของราชสำนัก รูปธรรมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

บทที่ 6
การบริหารอำนาจของราชสำนัก
รูปธรรมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็จะต้องรับใช้ใต้เบื้องยุคลบาท, ทั้งทำนโยบายไปรับใช้ และนำส่วนตัวไปรับใช้ การถวายทรัพย์สินใดๆ แก่พระองค์ ถือเป็นบุญของผู้ถวายซึ่งคล้ายกับถวายปัจจัยให้พระสงฆ์ และทั้งหมดนั้นไม่มีบุญคุณ ไม่มีเมตตา ส่วนนายกฯ จะบริหารประเทศเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงไรไม่สำคัญ ที่สำคัญที่สุดคือ “อย่ามั่นคง อย่าให้คนรักมาก” ถ้าผิดจากนี้อันตรายก็จะเกิดกับตัวนายกฯ ทุกคน, รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

6.1 ธุรกิจ ไอทีวี ทั้งรับใช้และรับกรรม

เป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไป แต่ไม่มีใครกล้าพูดกันคือกรณีการทำธุรกิจโทรทัศน์ช่องไอทีวี (ITV) ซึ่งเริ่มต้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทักษิณเลย แต่ทักษิณต้องจำยอมรับใช้ และสุดท้ายก็ต้องรับกรรมเอง เพราะไอทีวีกลายเป็นธุรกิจที่สร้างศัตรูทางการเมืองมากมาย โดยทักษิณก็พูดไม่ออก ไอทีวีเป็นธุรกิจหนึ่งในหลายพันกิจการของราชสำนักที่ก่อตั้งเริ่มแรก เมื่อปี 2536 ด้วยทุนหลักมาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผ่านทางธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยการลงทุนเริ่มแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มผู้ดำเนินการคือสำนักข่าวเนชั่น มีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นหัวหน้าทีมงาน ทุกคนได้ดูโทรทัศน์ไอทีวีก็สนุกสนานตื่นเต้นกับข่าวสาร การบันเทิงดี แต่หารู้ไม่ว่าไอทีวีขาดทุนทุกเดือน แต่กลุ่มผู้ดำเนินการไม่เดือดร้อนเพราะเป็นลักษณะมือปืนรับจ้างคือถือหุ้นน้อยแต่บริหารเองและรับเงินเดือนกันสูงๆ ในที่สุดไอทีวีก็ “บักโกรก” หนี้สินล้นพ้นตัว และด้วยวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจแบบราชสำนักที่มีลักษณะพิเศษคือมีแต่กำไร แต่เมื่อเกิดการขาดทุนก็แก้ปัญหาโดยผ่องถ่ายยัดเยียดให้แก่กลุ่มทุนที่จงรักภักดี แต่ทั้งเบียร์ช้าง, ซีพี, กระทิงแดง ไม่มีใครรับ จึงถูกโบ้ยมาหาทักษิณซึ่งขณะนั้นได้กระโดดเข้ามาสู่การเมืองเต็มตัวในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และพร้อมจะก้าวขึ้นสู่นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย เป็นทั้งคนกระเป๋าหนักและใจถึง บริษัทในกลุ่มของทักษิณจึงรับผ่องธุรกิจขาดทุนมาดำเนินการต่อด้วยความภักดี เป็นเงินถึง 3,000 กว่าล้านบาท เท่ากับที่ราชสำนักลงทุนไป
ในชีวิตอันเป็นปกติของมนุษย์มีใครไหมที่จ่ายเงินมากขนาดนี้ แล้วปล่อยให้กิจการล่มสลายไปต่อหน้าต่อตาอีก

ทักษิณจึงจัดการหานักบริหารมืออาชีพมาบริหารจัดการ คณะผู้บริหารใหม่จึงเข้าแทนที่ชุดบริหารเก่า และเบียดแก๊งของสุทธิชัย หยุ่น ออก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาในวงการบริหารจัดการของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือสุทธิชัย หยุ่น เป็นขาใหญ่ที่มากบารมีในวงการสื่อสารมวลชน และตั้งแต่นั้นทักษิณก็ได้ศัตรูกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งจากค่ายเนชั่น ผู้เสียผลประโยชน์โดยทำหน้าที่ทิ่มแทงตลอดตั้งแต่นั้นมา จนถึงการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 แก๊งเนชั่นที่มีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นหัวหน้าใหญ่ ก็เปิดโปงตัวเองโดยนำนายเทพชัย หย่อง(น้องชาย สุทธิชัย หยุ่น), นายกนกรัตน์ วงศ์สกุล และพรรคพวกที่โด่งดังหลายคนร่วมมือกับคมช.เข้าไปเป็นกระบอกเสียง และหาผลประโยชน์ใน อสมท. และโทรทัศน์ช่องของทหารอย่างอิ่มหนำสำราญ
กิจการไอทีวีภายใต้การบริหารใหม่ของมืออาชีพ นำโดยนายนิวัฒน์บุญทรง ธำรงไพศาล ค่ายทักษิณ ก็ทำกำไรทำให้ไอทีวีฟื้นชีวิตขึ้นได้แต่ก็ไม่พ้นศัตรูชั้นครูอย่างสุทธิชัย หยุ่น และพรรคพวกที่จะทิ่มแทงและแย่งยึดกลับคืนได้ โดยสร้างเรื่องให้ฝ่ายทหารวิตกกังวลว่าโทรทัศน์ไอทีวีเป็นฐานอำนาจสำคัญของทักษิณที่มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชน และเป็นแหล่งสำคัญที่สนับสนุนการเมืองให้ทักษิณพร้อมทั้งชงประเด็นให้พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ในนามรัฐบาล คมช.โดยกล่าวหาว่าบริษัทไอทีวีกระทำผิด พร้อมกับยุให้ใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาล และอำนาจเผด็จการสภายึดไอทีวีไปดื้อๆ โดยออกเป็นกฎหมายอ้างว่าจะตั้งเป็นทีวีสาธารณะ พร้อมกันนั้นก็สั่งปรับบริษัทไอทีวีเป็นเงินถึง 100,000 ล้านบาท โดยไม่ยอมผ่อนผัน ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นค่าปรับที่ไม่มีใครจะมีปัญญาจ่ายแน่นอน สุดท้ายก็ยึดไอทีวีไปให้กลุ่มเนชั่นบริหารจัดการภายใต้ชื่อใหม่ที่หลอกลวงประชาชนได้เนียนว่าโทรทัศน์ไทย พีบีเอส(TPBS) หรือโทรทัศน์สาธารณะ และได้เพิ่มภาระให้แก่รัฐที่จะต้องเอาภาษีประชาชนมาจ่ายให้พวกแก๊งเนชั่นใช้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินแถมยังเก็บภาษีได้อีก
โทรทัศน์ไอทีวีจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินธุรกิจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ที่ใครจะขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองก็ต้องพร้อมที่จะรับใช้ด้วยใจภักดีทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

6.2 บริหารตามนโยบาย ยิ่งจริงจังยิ่งสร้างศัตรู

ไม่มีนโยบายของรัฐบาลใดในโลกที่ได้รับความพอใจจากประชาชนทุกคน การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลย่อมทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ และคนอีกกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็พอใจ กลุ่มที่เสียประโยชน์ก็ไม่พอใจ ตัวอย่างเช่น นโยบายนำหวยใต้ดินขึ้นบนดิน แล้วนำเงินมาสนับสนุนการศึกษา ประชาชนย่อมพอใจ แต่เจ้ามือหวยใต้ดินย่อมไม่พอใจ หรือนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังก็ย่อมทำให้เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดไม่พอใจ เป็นต้น ปัญหาจึงอยู่ที่คนเป็นนายกฯ ต้องกล้าตัดสินใจ และยึดถือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ดังนั้นถ้านายกฯ กลัวจะกระทบตัวเองโดยมีศัตรูเกลียดชัง ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้เอง ยิ่งรัฐบาลทักษิณปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้ต่อประชาชนอย่างจริงจัง รัฐบาลทักษิณก็ยิ่งก่อศัตรูมากขึ้น
ในต่างประเทศสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะจะมีอำนาจนอกระบบที่เข้มแข็งคอยช่วงชิงอำนาจโดยจะกระพือข่าวใส่ร้ายเพื่อไม่ให้รัฐบาลนั้นได้รับความพึงพอใจจากประชาชน และเมื่อเห็นว่ารัฐบาลนั้นมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชนก็จะเป็นที่จับตามองของราชสำนัก และเมื่อถึงจุดที่เห็นว่าจะกระทบต่ออำนาจเบื้องบนแล้ว เครือข่ายราชสำนักก็จะทำหน้าที่รวมศูนย์ทำลาย โดยโจมตีใส่ร้ายบิดเบือนข้อเท็จจริง รวมถึงการใช้อำนาจโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งในอดีตหลายรัฐบาลก็โดนกระทำมาเช่นนี้ แต่รัฐบาลทักษิณโดนอย่างหนักหน่วงที่สุด เพราะเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแรก นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ที่มีความเข้มแข็งที่สุด สามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และเป็นรัฐบาลแรกที่สามารถแก้ปัญหาได้โดนใจประชาชนที่สุด
ตลอดระยะเวลายาวนานของระบอบประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลาน ทำให้ระบบพรรคการเมืองไม่สามารถจะทำงานบริการประชาชนอย่างต่อเนื่องได้ ผู้นำรัฐบาลทุกคนที่ได้สัญญากับประชาชนก่อนการเลือกตั้งว่ามีนโยบายที่จะสร้างประโยชน์ต่อประชาชนอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มักจะทำไม่ได้ด้วยเพราะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคบ้าง เป็นรัฐบาลอายุสั้นบ้าง หรือนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงนักการเมืองผู้ฉวยโอกาส พูดเก่งแต่ทำงานไม่เป็น จึงไม่สามารถควบคุม และขับเคลื่อนระบบข้าราชการที่มีกฎระเบียบซับซ้อน และเปิดช่องให้ข้าราชการเฉื่อยงานได้ ระบบข้าราชการจึงเหมือนม้าดื้อที่ยากแก่การบังคับ ยิ่งราชสำนักพยายามสร้างเกราะคุ้มกันไว้หลายชั้น ในที่สุดอำนาจของรัฐบาลไม่อาจขับเคลื่อนระบบข้าราชการให้ดำเนินการตามนโยบายที่มีประสิทธิภาพในเวลาที่จำกัดได้ ประชาชนจึงเสื่อมศรัทธา ไม่เชื่อถือต่อนักการเมืองจนกล่าวกันติดปากว่า “พวกนักการเมืองดีแต่พูด” และสุดท้ายความเบื่อหน่ายที่สะสมเช่นนี้จึงกลายเป็นฐานแห่งการก่อกำเนิดการซื้อเสียง เพราะประชาชนไม่อาจจะได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากสัญญาของพรรคการเมือง จึงเรียกรับเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากที่มีความเข้มแข็งอันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ประกอบกับตัวนายกฯ ทักษิณ เป็นนักบริหารที่มีความสามารถ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ และกล้าที่จะบังคับบัญชาข้าราชการที่เป็นเสมือนม้าดื้อให้ปฏิบัติตามนโยบาย ประชาชนจึงได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลทักษิณอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งกับข้าราชการที่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก ซึ่งวัฒนธรรมข้าราชการนั้นเป็นวัฒนธรรมของขุนนางเจ้านายประชาชนที่ “กินข้าวร้อน นอนตื่นสาย” อีกทั้งนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ก็ยิ่งก่อศัตรูมากขึ้น เช่น
-นโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง ก็ทำให้เครือข่ายยาเสพติดที่มีตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ถึงเมืองหลวง มีตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดาจนถึงคนที่มีสี ที่มีทั้งตำรวจ ทหาร และข้าราชการ เสียผลประโยชน์จากนโยบายนี้ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่มีระบบการจัดตั้ง ซ้อนอยู่ในระบบของรัฐที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตาย
-นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคทำให้หมอตี๋ตามร้านขายยา และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ไม่พอใจในนโยบายของทักษิณ เพราะนับแต่ใช้นโยบายนี้ ประชาชน ทุกคนก็ถูกดึงเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของโรงพยาบาลด้วยราคาที่ถูกกว่าไปซื้อยาหมอตี๋ตามร้านขายยา ชาวบ้านได้ประโยชน์มาก แต่หมอตี๋เสียประโยชน์ และแพทย์พยาบาลทำงานหนักมากขึ้นก็ไม่พอใจ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นร้านขายยาส่วนใหญ่ และหมอ ชอบเปิดโทรทัศน์ ASTV สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร
-นโยบายกองทุนหมู่บ้าน โดยรัฐบาลให้เงิน 1 ล้านบาท แก่ทุกหมู่บ้าน และทุกชุมชนในเขตเทศบาล โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านได้นำเงินกองทุนนี้ออกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันกู้ด้วยดอกเบี้ยราคาถูก ทำให้นายทุนตามหมู่บ้านและชุมชนที่ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยมหาโหดขาดรายได้จากการปล่อยเงินกู้ ไม่พอใจนโยบายของรัฐบาล
-นโยบายนำหวยใต้ดินขึ้นบนดินโดยรัฐบาลเป็นเจ้ามือเอง ขายหวย 3 ตัว 2 ตัว แข่งกับเจ้ามือหวยใต้ดินที่เป็นเครือข่ายใหญ่ และเป็นต้นรากของระบบเจ้าพ่อมาเฟีย ที่จะต้องร่วมมือกันระหว่างเจ้าพ่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเจ้าพ่อจะทำหวยและส่งส่วยให้แก่ตำรวจโรงพัก และเจ้าหน้าที่ปกครอง เครือข่ายที่เลวร้ายนี้มีเงินหมุนเวียนกันเป็นแสนล้าน ตามผลงานวิจัยของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะเฉพาะที่รัฐบาลเพิ่งเข้าไปแย่งตลาดในปีแรกมาส่วนหนึ่งก็ได้เงินมาใช้บริหารงานของรัฐเป็นจำนวนเงินกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี เครือข่ายหวยใต้ดินนี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะฝังรากลึกมาเป็นเวลายาวนานนับ 100 ปีแล้ว และเจ้ามือหวยใต้ดินรายใหญ่สุดจะอยู่ที่เยาวราช กรุงเทพมหานคร และกระจายสายอยู่ในตัวจังหวัดทุกจังหวัด ดังนั้นเครือข่ายเจ้าพ่อเจ้าแม่หวยเถื่อนจึงเป็นศัตรูของรัฐบาลทักษิณ ที่มีอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพวกพ่อค้ายาเสพติด เพราะมีลักษณะเป็นองค์กรจัดตั้งที่ซ้อนอยู่ในองค์กรมวลชน และองค์กรจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณไฟเขียวจาก “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และยิ่งมีสัญญาณแน่ชัดว่าราชสำนักไม่พึงพอใจต่อรัฐบาลทักษิณด้วยแล้ว รัฐบาลที่เข้มแข็งของทักษิณก็ไม่อาจจะต้านทานได้

6.3 แปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือแปรประโยชน์เจ้าและสหภาพฯ

ในยุคโลกไร้พรมแดน รัฐวิสาหกิจมิได้เป็นพียงบริการสาธารณะ แต่รัฐวิสาหกิจได้กลายเป็นต้นทุนพื้นฐานทางการผลิตของสินค้าทุกชนิด โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ดังนั้นการบริหารจัดการจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ต้องมีต้นทุนต่ำสุด แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่จากความเป็นจริงรัฐวิสาหกิจก็คือ “ระบบราชการภาคธุรกิจ” ที่การบริหารจัดการไม่ได้แตกต่างจากระบบราชการไทยที่เป็นระบบขุนนางเลย จะเห็นได้ว่าข้าราชการนั้นเวลาบริการประชาชนผู้ไม่มีเส้นสายจะอืดอาดล่าช้า แต่จะบริการคนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ด้วยความรวดเร็ว และยิ่งถ้าเป็นการบริการราชสำนักก็จะยิ่งรวดเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งระบบงานรัฐวิสาหกิจก็เป็นเช่นนี้
ระบบงานรัฐวิสาหกิจจึงมีลักษณะเป็นธุรกิจคล้ายธุรกิจเครือข่ายของราชสำนัก ที่ต้องบริการราชสำนักเป็นอันดับแรก โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจก็คล้ายกับขุนนางที่ได้เงินเดือนโดยไม่ให้ความสนใจต่อลูกค้าที่เป็นประชาชน การบริการประชาชนจึงเป็นงานรอง และยิ่งรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาดด้วยแล้ว ประชาชนจึงกลายเป็นผู้ขอ “ส่วนบุญ” ในการรับบริการจากกิจการไฟฟ้า หรือโทรศัพท์ ดังจะเห็นได้เมื่อไปขอรับบริการก็จะต้องนั่งคอย และคอยรับอารมณ์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย และเพื่อให้ฝังลึกความรู้สึกแบบขุนนางเช่นนี้แก่ทุกคนในองค์กรรัฐวิสาหกิจ ก็ได้สร้างวัฒนธรรมการสร้างแรงจูงใจว่าใกล้ชิดราชสำนักด้วยการมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย และคณะกรรมการหรือบอร์ดส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการประจำเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากปลัดกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้เงินเดือนสูง เบี้ยประชุมแพงๆ อย่างน้อยประชุมครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ดังนั้นทุกคนจึงมีวัฒนธรรมที่ต้องขึ้นต่อราชสำนักเช่นเดียวกับข้าราชการ ดังนั้นในทำนองเดียวกันเมื่อ ราชสำนักต้องการประโยชน์เป็นส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย รัฐวิสาหกิจก็มีหน้าที่จะต้องควักเงิน และประโยชน์ต่างๆ มากมาย โดยไม่ต้องคำนึงถึงกำไรขาดทุน เพราะทุนทั้งหมดเป็นของรัฐ ดังตัวอย่างที่เห็นซึ่งเป็นหนึ่งในหลายตัวอย่างที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความเคยชินของสังคมไปแล้ว เช่น การเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของการบินไทยและกองสลากในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยทัย” เพื่อเชิดชูการเป็นวีรสตรีของสมเด็จพระราชินีในสมัยอยุธยาที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อช่วยพระสวามีอันเป็นการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ, การแปรพระราชฐานไปพักผ่อนตามพระราชวังต่างๆ ตามเขื่อนและตามภูเขาก็เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เจ้าของสถานที่ที่จะต้องควักเงินมาจ่าย หรือการบริการเครื่องบินเพื่อการเสด็จประพาสของพระเจ้าอยู่หัว รัชทายาท และข้าราชบริพารทั้งหมด ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งโดยเสด็จในงานราชการและเป็นการส่วนพระองค์ ดังนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นการนำรัฐวิสาหกิจเข้าสู่กลไกการตลาด คือจะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานแห่งกำไรขาดทุนในระบบธุรกิจของระบอบทุนนิยม โดยไม่อาจจะควักเงินไปใช้ตามชอบใจ หรือบริการที่ไม่มีข้อจำกัดแบบที่เป็นอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ได้ เพราะต้องถูกควบคุมเข้มงวดขึ้นจากกลไกผู้ถือหุ้นและตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการแปรรูปจึงเป็นการกระทบต่อประโยชน์ราชสำนักโดยตรง แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และต่อการผลิตของประเทศในโครงสร้างของโลกยุคไร้พรมแดนที่มีการแข่งขันกันทางการค้าที่เข้มข้นเหมือนการทำสงคราม





6.4 รัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชนจริงหรือ

เครือข่ายราชสำนักได้สร้างวาทะกรรมครอบงำสังคมไทยอย่างบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า “รัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน” ซึ่งเป็นความถูกต้องเพียงครึ่งเดียว ที่ถูกต้องนั้นต้องกล่าวว่า
“โดยรูปแบบรัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน แต่โดยเนื้อหารัฐวิสาหกิจเป็นของราชสำนัก และคณะบุคคลผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ”
ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วที่เป็นตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งในหลากหลายตัวอย่างที่สังคมได้เห็นการนำเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจไปใช้ในรูปของการ “ถวาย” เพื่อสนองตอบแนวพระราชดำริ และตามพระราชอัธยาศัยในวาระต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เลย ซึ่งทำให้ต้นทุนรัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และเมื่อประสบกับภาวะขาดทุนจนไปไม่ไหว ประชาชนก็รับภาระไปโดยรัฐบาลจะนำเงินภาษีไปโป๊ะชดเชยให้ หรือกู้หนี้ยืมสินโดยรัฐบาลค้ำประกัน
แนวคิดรัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือการขายชาติ ราชสำนักไม่เพียงแต่เป็นแกนหลักทางความคิดเท่านั้น แต่แนวคิดนี้ถูกตอกย้ำอย่างหนักแน่นด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เพราะเนื้อแท้ของการดำเนินธุรกิจในรูปของรัฐวิสาหกิจนั้น ก็คือเพื่อผลประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของกิจการคือประชาชน เพราะประชาชนโดยปัจเจกแต่ละคนต้องทำมาหากิน ขายก๋วยเตี๋ยว กล้วยแขก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบในฐานะเจ้าของกิจการ อีกทั้งประชาชนก็ไม่มีองค์กรจัดตั้งของตัวเองที่จะมีความสามารถในการตรวจสอบได้จริง ส่วนรัฐบาลในฐานะตัวแทนของประชาชน โดยกฎหมายก็ไม่อาจจะควบคุมตรวจสอบรัฐวิสาหกิจได้จริง เพราะตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาการทางการเมืองไทย ไม่เปิดโอกาสให้มีรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริงได้ รัฐบาลส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของขุนนางและกลุ่มทุนที่ร่วมมือกับพวกขุนนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งมีระยะเวลายาวนานในการปกครองประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลของไทยที่ผ่านมาก็คือกลุ่มขุนนาง อภิสิทธิชน ด้วยเหตุนี้โครงสร้างของรัฐวิสาหกิจผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หลักในลักษณะ “รุมทึ้ง” ก็คือ
ราชสำนัก + พนักงาน + รัฐบาล
ประชาชนจึงได้ภาพลวงตาแห่งผลประโยชน์ในรูปของการมีไฟฟ้าใช้ มีน้ำประปาใช้ ได้เห็นรถไฟวิ่ง แต่สิ่งที่ประชาชนต้องรับภาระตลอดการคือ ภาระหนี้สินที่เกือบทุกกิจการของรัฐวิสาหกิจขาดทุนหมด การบริหารของรัฐวิสาหกิจก็เป็นระบบเจ้าขุนมูลนายไม่แตกต่างไปจากระบบข้าราชการ ยิ่งนับวันยิ่งเลวร้าย ไม่อาจจะแก้ปัญหาการขาดทุน และปรับปรุงระบบการบริการประชาชนได้ เมื่อนานเข้าได้กลายเป็นภาระแห่งการบริหารรัฐ ยิ่งในยุคโลกไร้พรมแดนยิ่งกลายเป็นปัญหาเร่งเร้าของการบริหารรัฐสมัยใหม่มากขึ้น
หลักฐานที่แสดงความล้มเหลวของระบบรัฐวิสาหกิจแบบไทยๆ ก็คือการล้มละลายของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดทางการค้าแท้ๆ แต่ยังเจ๊ง เช่น กิจการ ร.ส.พ.องค์การแก้ว องค์การแบตเตอรี่ และอีกหลายกิจการที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอันไม่อาจฟื้นชีวิตได้แล้ว แต่ไม่ยอมล้มละลาย และไม่ยอมแปรรูป เช่น กิจการรถไฟ องค์การค้าคุรุสภา เป็นต้น
รูปธรรมการรุมทึ้งของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่กระทำต่อกิจการของตน เช่น ใครเคยเป็นบอร์ดการบินไทย แม้แต่วันเดียวได้บินฟรีตลอดชีวิตทั้งครอบครัว พนักงานการบินไทย และครอบครัวบินฟรีปีละครั้ง และบินกี่ครั้งก็ได้ เสียค่าตั๋วแค่ 10% การได้ประโยชน์จากกิจการของรัฐวิสาหกิจของพนักงานเป็นกรณีพิเศษในลักษณะ “รุมทึ้ง” เช่นนี้มีในทุกกิจการรัฐวิสาหกิจ เช่น พนักงานการรถไฟและครอบครัวนั่งรถไฟฟรี พนักงานการไฟฟ้าได้ใช้ไฟฟ้าฟรีจำนวนหนึ่ง พนักงานโทรศัพท์ได้ใช้โทรศัพท์ฟรีจำนวนหนึ่ง เป็นต้น
การจ่ายโบนัสของรัฐวิสาหกิจก็แตกต่างจากกิจการธุรกิจทั่วไป กล่าวคือกิจการค้าทั่วไปนั้นถ้าปีไหนขาดทุนก็ไม่มีโบนัส ถ้ากำไรจึงจะจัดแบ่งโบนัสให้ แต่การบริหารกิจการรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรเขาจะแจกโบนัสกันทุกปี โดยถือเอาโบนัสเป็นต้นทุนของกิจการเพียงแต่ว่าถ้าขาดทุน ก็แจกโบนัสน้อยหน่อย ถ้ากำไรก็แจกมาก รวมตลอดทั้งเงินเดือนพนักงานก็ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ เหมือนระบบราชการ(แต่ฐานเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการมาก) ดังนั้นการขึ้นเงินเดือนจึงไม่ต้องคำนึงถึงผลงานว่าดีหรือไม่ดี เช่นคนเข้าเล่มหนังสือของโรงพิมพ์คุรุสภาเงินเดือนสามหมื่นกว่าบาท หรือคนปูที่นอนบนรถไฟก็เงินเดือนใกล้เคียงกันนี้ เป็นต้น
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงรูปธรรมบางส่วนของการรุมทึ้งซึ่งเป็นเนื้อแท้ของรัฐวิสาหกิจแบบไทยๆ และปัจจุบันทั่วโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงกลายเป็นแนวทางของการบริหารรัฐสมัยใหม่ ในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็ทำกันทั้งนั้น แต่ทุกประเทศก็ต้องเผชิญกับปัญหาการต่อต้านของสหภาพแรงงาน ประเทศไทยก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษมากกว่าที่มีอำนาจนอกระบบ คืออำนาจจากราชสำนัก และอำนาจขององค์การทหาร ที่พร้อมจะเข้าช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนเสมอมา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในโครงสร้างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ได้ขยายเครือข่ายระบอบขุนนาง ทั้งรูปการจิตสำนึกและรูปการจัดตั้งองค์กร ครอบงำองค์กรต่างๆ ในสังคมไทย รวมทั้งครอบงำองค์กรรัฐวิสาหกิจด้วย โดยกรรมกรได้ถูกปูนบำเหน็จให้มีฐานะเช่นขุนนางโดยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เสมอเช่นขุนนางจนลืมกำพืดชนชั้นผู้ใช้แรงงานของตนจนหมดสิ้น, กรรมกรรัฐวิสาหกิจได้ถูกครอบงำให้มีจิตสำนึกแบบราชสำนักที่ร่วมกันกดขี่ประชาชนโดยผลักภาระหนักตกอยู่บนหลังประชาชน ซึ่งประชาชนไม่เพียงแต่ต้องทนต่อภาระหนี้สินที่ราชสำนักและพนักงาน และนักการเมืองร่วมกันก่อขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องรับกรรมจากภาระการบริการที่เลวร้ายอย่างไม่มีทางเลือกอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ภาพของสหภาพแรงงาน ซึ่งทั่วไปเป็นภาพของตัวแทนผลประโยชน์ของกรรมกรผู้ทุกข์ยาก แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจจึงเป็นภาพลวงตาว่าเป็นองค์กรตัวแทนชนชั้นกรรมกร แต่เนื้อแท้คือมือไม้ของขุนนางที่ร่วมมือกับราชสำนัก แร่เนื้อเถือหนังประชาชนนั่นเอง
ด้วยโครงสร้างที่ซับซ้อนของระบอบการปกครองของไทยปัจจุบัน จึงยากที่จะแก้ไขปัญหาต้นทุนพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกไร้พรมแดนได้ แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็งอย่างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมีเจตนาที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีประสิทธิภาพเหมือนอย่างนานาอารยะประเทศ แต่สุดท้ายราชสำนักก็ใช้กลไกสหภาพแรงงานที่กล่อมเกลากลายเป็นขุนนางใหม่ร่วมกับทหาร และพันธมิตรฯ โค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างแนบเนียน
6.5 ปฏิรูประบบราชการ กระเทือนราชสำนัก

ระบบข้าราชการนี้โดยเนื้อแท้เป็นองค์กรที่เป็นฐานอำนาจของราชสำนักโดยตรงเพราะโดยความหมายของคำว่า “ข้าราชการ” ก็แปลได้ตรงตัวว่า “ขี้ข้าแห่งกิจการของราชา” ดังนั้นปรัชญาสูงสุดของข้าราชการคือบริการพระราชา ไม่ใช่บริการประชาชน ซึ่งก็มีรูปธรรมให้เห็นเด่นชัด เช่น เอกอัครราชทูต และทูตพาณิชย์ในประเทศที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์เสด็จไปบ่อย เช่น อังกฤษ,ฝรั่งเศสเยอรมัน,อเมริกา ก็จะมีหน้าที่หลักในการเฝ้ารับเสด็จและรับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทเป็นหลัก มิใช่มุ่งหาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรกรเป็นหลัก รวมตลอดทั้งเป็นผู้จัดซื้อสินค้าข้าวของเครื่องใช้ในห้องน้ำ ห้องบรรทม ที่ทรงโปรดจัดส่งถวายเป็นระยะๆ โดยมีการบินไทยรับหน้าที่เป็นผู้ขนส่ง เป็นต้น และจะด้วยเป็นเพราะพวกหัวหน้าพรรคการเมืองที่คร่ำหวอดรู้ถึงรหัสอันตรายนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นความจำเป็นที่ต้องปฏิรูประบบราชการจึงได้ป่าวประกาศนโยบาย “ปฏิรูประบบราชการ” มานานนับสิบปี แต่แล้วก็หายไปกับสายลม อาทิเช่น นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ก็ได้ประกาศนโยบาย “ปฏิรูประบบราชการ” มาช้านาน ก่อนที่ทักษิณจะเข้าสู่วงการการเมืองว่าหากเขาได้เป็นนายกฯ เขาจะดำเนินการปฏิรูประบบราชการทันที แต่จนแล้วจนรอดนับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วก่อนที่ทักษิณจะมาเป็นนายกฯ ก็ไม่ทำกันสักทีตั้งแต่นายชวนเข้ามาเป็นนายกฯ 2 รอบ นายบรรหาร และพลเอกชวลิต ก็ปล่อยให้ระบบราชการคงเป็นระบบขุนนางถ่วงการพัฒนาประเทศสืบต่อมา ด้วยเพราะเกรงว่าจะระคายเคืองเบื้องยุคลบาท,ระบบราชการจึงกลายเป็นภาระของประชาชนที่รัฐต้องใช้ภาษีเกินกว่า 50 % ของงบประมาณประจำปี ไปเป็นเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงข้าราชการที่ทำงานบริการประชาชนแบบเช้าชามเย็นชาม
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปีแรก 2544 ก็ประกาศปฏิรูประบบราชการทันทีด้วยมาตรการ 3 ขั้น,มาตรการที่ 1 ทำการจัดหมวดหมู่กระทรวงใหม่ บางกระทรวงยุบ และบางกระทรวงก็จัดตั้งใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก และการแก้ปัญหาของประชาชนในประเทศไทย มาตรการที่ 2 ลดขนาดจำนวนข้าราชการ เปิดทางให้ข้าราชการที่เหนื่อยหน่ายต่อหน้าที่การงานลาออกก่อนกำหนดโดยให้เงินชดเชย (early retirement) ส่วนพวกที่ยังอยู่ก็เพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้น และมาตรการที่ 3 ก็ดำเนินการเร่งรัดประสิทธิภาพด้วยการจัดให้ทุกหน่วยงานตรวจวัดคุณภาพการทำงาน
เฉพาะมาตรการหลักๆ 3 มาตรการนี้ ก็ทำให้ข้าราชการส่วนหนึ่งไม่พอใจโดยเฉพาะมาตรการที่ 3 เนื่องจากระบบราชการไม่เคยมีการตรวจวัดคุณภาพกัน ข้าราชการหลายหน่วยงานมีการเคลื่อนไหว ประท้วงคัดค้านนโยบายนี้มาก
เป้าหมายการปฏิรูประบบราชการนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความมุ่งหมายชัดเจนโดยประกาศต่อสาธารณชนหลายครั้งว่า เพื่อจะเปลี่ยนระบบราชการให้เป็นระบบการบริหารแบบภาคธุรกิจเอกชน ที่ราชการจะต้องมุ่งถึงประสิทธิภาพของผลงาน ไม่ใช่เน้นแต่ความถูกระเบียบ โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น และพยายามปรับปรุงระบบงานราชการจากรัฐโบราณให้เป็นรัฐสมัยใหม่ ด้วยการใส่เทคโนโลยีระบบข้อมูลข่าวสารเข้าไป เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการบริการประชาชน เช่นการจัดทำบัตรประชาชน ซึ่งแต่เดิมมีความยุ่งยากมากโดยเฉพาะเมื่อทำบัตรประชาชนหาย ทุกคนที่ไปรับจ้างทำงานอยู่นอกภูมิลำเนาจะต้องลางานนานเป็นสัปดาห์เพื่อใช้เวลาไปทำบัตรประชาชนใหม่ โดยทุกคนจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตัวเองเพื่อขอทำบัตรใหม่ โดยจะต้องค้นหาข้อมูลจากสมุดเล่มใหญ่ๆ ที่มีเป็นสิบๆ เล่ม เพื่อดูว่าครั้งก่อนเขาเคยทำบัตรไว้เมื่อไร ซึ่งกลายเป็นช่องทางทำมาหากินของเจ้าหน้าที่บนอำเภอทุกแห่ง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติของชีวิตคนไทย ซึ่งนอกจากต้องเสียทั้งเงินทั้งเวลาทำงานแล้ว ยังจะต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้พวกข้าราชการที่คิดทุจริตรีดไถกลายเป็นการคอร์รัปชั่นประจำวันตามที่ทำการอำเภอต่างๆ แต่เมื่อปฏิรูประบบราชการโดยใช้ระบบข้อมูลออนไลน์เข้ามาใช้ การทำบัตรประชาชนใหม่ กรณีต่ออายุ หรือบัตรหาย ใช้เวลาแค่ 10 นาที โดยประชาชนสามารถไปทำที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาการลางานเพื่อกลับไปภูมิลำเนาของตนอีกเลย และเป็นการปิดช่องทางการทุจริตจากการทำบัตรของเจ้าหน้าที่บนสถานที่ราชการ
ความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัยเช่นนี้ ได้กลายเป็นความหวาดระแวงอีกเรื่องหนึ่งของราชสำนัก เพราะเป้าหมายหลักของระบบราชการนั้น เป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบรัฐให้เกิดความมั่นคงต่อราชสำนัก ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะสร้างความนิยมให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นรูปธรรมความไม่พอใจก็เกิดขึ้น เมื่อข้าราชการเหลือน้อยลงต้องทำงานหนักขึ้นในการบริการประชาชนเพื่อให้คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องมีภาระและความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น เอกอัครราชทูตก็ต้องเป็นทั้งทูตและเป็นทั้งพ่อค้า เพื่อหาเงินเข้าประเทศผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นพ่อเมืองที่ดูแลราษฎรจริงๆ โดยจะปัดภาระความรับผิดชอบว่าไม่ใช่งานของกระทรวงมหาดไทยไม่ได้ ตามโครงการผู้ว่าฯ CEO เป็นต้น ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจแก่ข้าราชการที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมขุนนาง
ภาวการณ์เช่นนี้ได้สร้างความวิตกกังวลแก่ราชสำนักว่าหากปล่อยให้ระบบราชการเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ในที่สุดระบบข้าราชการที่เป็นฐานอำนาจในการรับใช้ราชสำนัก ทั้งที่เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจและที่เป็นเครื่องมือรับใช้บริการเป็นส่วนตัวก็จะต้องแปรเปลี่ยนไป และประกอบกับความไม่พอใจของข้าราชการที่เคยแต่กินข้าวร้อนนอนตื่นสาย ใครๆ ก็ว่ากล่าวไม่ได้ ต้องกลายมาเป็นขี้ข้าประชาชนและถูกตรวจสอบติดตามผลงานอย่างเป็นระบบก็กลายเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณ และกลายเป็นประเด็นที่พันธมิตรฯ นำมาโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าได้ใช้อิทธิพลครอบงำระบบราชการเพื่อไปสนับสนุนตนเอง และที่ขาดไม่ได้ก็คือการหาเรื่องโยงให้ถึงความไม่จงรักภักดี
ในที่สุดเหตุการณ์ก็ตกผลึกทางความคิดที่ทหารพร้อมจะเข้ารับใช้โดยขับรถย้อนศรระบอบประชาธิปไตย ทำการยึดอำนาจเพื่อสนองพระราชปณิธานเมื่อ 19 กันยายน 2549, หลักฐานปรากฏชัดจากคำให้สัมภาษณ์โฟนอินของทักษิณที่ยืนยันว่าพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรีนั่งประชุมร่วมกับประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง โดยวางแผนยึดอำนาจที่บ้านของ มล.ปีย์ มาลากุล ที่บ้านในซอยสุขุมวิท (โฟนอินเมื่อ 27 มีนาคม 2552 ในการชุมนุมคนเสื้อแดงหน้าทำเนียบรัฐบาล) และต่อมาพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ที่นั่งร่วมประชุมด้วยก็ยืนยันว่าเป็นจริง


6.6 นโยบายประชานิยม แต่ราชสำนักไม่นิยม

นโยบายประชานิยมหลายโครงการได้สร้างความนิยมในตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ในหมู่ประชาชนโดยเฉพาะคนรากหญ้าในชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจและหวาดระแวงแก่ราชสำนักเป็นอย่างมาก โดยมีเสียงสะท้อนเล็ดรอดออกมาจากรั้ววัง เช่น
- นโยบายกองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านละล้าน ทำให้ประชาชนมีนิสัยฟุ่มเฟือย ชาวบ้านมักจะกู้เงินกองทุนไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ของพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินไม่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
ตามความเป็นจริงแล้วนโยบายนี้มีประโยชน์ต่อประชาชนในชนบทมาก เพราะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากระบบการกู้เงินนอกระบบที่ขูดรีดดอกเบี้ยอย่างหนัก ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีการขูดรีดดอกเบี้ยกันถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี และรัฐบาล คมช. เมื่อปฏิวัติมีอำนาจเต็ม ก็ไม่กล้าล้มเลิกนโยบายนี้
- นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกติดปากว่า โอท็อป(OTOP) ก็ถูกกล่าวหาว่าไม่มีประโยชน์ รัฐบาลน่าจะสนับสนุนกิจการศูนย์ศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ มากกว่า และคำว่า OTOP ซึ่งย่อมาจากคำว่า One Tambol One Product (วันตำบลวันโพรดักท์) ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวย่อชื่อของทักษิณและภรรยา คือ “วันทักษิณ วันพจมาน”
- นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการบริการทางด้านสาธารณสุขแนวใหม่ที่ประชาชนจะได้รับบริการจากรัฐอย่างเป็นระบบ โดยทุกครั้งประชาชนที่เจ็บป่วยก็สามารถไปใช้บริการได้เองโดยเป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งแต่เดิมประชาชนจะต้องรอหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการนานๆ สักครั้งหนึ่งเหมือนสวรรค์เทวดามาโปรด และหากว่าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ยังไม่เข้าไปดูแลรักษา ก็ต้องดูแลตัวเองด้วยความทนทุกขเวทนา ซึ่งประชาชนมีชีวิตอยู่เช่นนี้มาเป็นเวลานานแล้ว
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนแนวคิดปรัชญาจากรัฐเจ้าขุนมูลนาย ไปสู่รัฐบริการประชาชนที่ประชาชนเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับบริการ ซึ่งการบริการลักษณะนี้ได้กระทบต่อลักษณะการบริการที่ราชสำนักกระทำมาแต่เก่าก่อน โดยใช้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เช่นหน่วยแพทย์อาสาของสมเด็จพระราชชนนี เดินทางไปให้บริการประชาชนในชนบท ซึ่งนานๆ จะไปสักครั้งหนึ่งในจุดบริการหมู่บ้านเดียวกันนั้น และทุกครั้งที่ได้รับยา ประชาชนจะต้องกราบไหว้เป็นบุญคุณอย่างล้นพ้นเสมือนหนึ่งเทพผู้โปรดสัตว์ ภาพเช่นนี้คนไทยจะเห็นอยู่ทางโทรทัศน์ในข่าวพระราชสำนักตอนสองทุ่มทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นเสมือนการทำบุญด้วยเวทนามากกว่าเป็นบริการของรัฐ ดังนั้นเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ จัดระบบให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนโดยเดินทางไปรับบริการได้ทันทีในฐานะผู้ถือบัตรทองที่มีเกียร์ติและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ต้องนั่งคอยรถบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เหมือนอย่างแต่ก่อน ลักษณะนโยบายเช่นนี้ย่อมกระทบต่อการสร้างภาพการให้ทานในฐานะเจ้าบุญนายคุณที่สถิตอยู่เหนือประชาชน
- นโยบาย 1 ทุน 1 อำเภอ ที่ใช้เงินหวยใต้ดินที่นำขึ้นมาบนดิน (เป็นเงินได้เดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท) ส่งลูกคนจนในชนบทที่แยกการแข่งขันในแต่ละเขตอำเภอ เป็นผลให้เด็กชนบทที่เรียนเก่งมีโอกาสแข่งขันได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งในอดีตใครอยากชิงทุนไปต่างประเทศจะต้องเดินทางไปสอบรวมกันที่กรุงเทพ ทั้งลูกคนจน คนรวย ร่วมกันสอบแข่งขันชิงทุน “มหิดล” ของราชสำนักซึ่งทำให้ลูกคนจนต้องเสียเปรียบในการแข่งขันเพราะนอกจากจะเสียเปรียบลูกคนรวยที่อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ยังจะต้องเสียเปรียบจากการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีก ซึ่งคนจนก็ไม่มีค่าพาหนะเดินทาง และไม่มีที่พักค้างคืนในกรุงเทพฯ อีกทั้งจำนวนนักเรียนที่จะได้รับทุนในอดีตนั้นก็มีจำนวนน้อย แต่ปรากฏว่าทุนหวยบนดินตามนโยบายนี้มีจำนวนมาก เพียงปีเดียวก็มีทุนให้ไปต่างประเทศเกือบ 900 คน ซึ่งมากกว่าที่ระบบราชการเดิมเคยทำในนามทุนมหิดลถึง 10 ปี อีกทั้งผู้ที่จะเข้ารับทุนนี้ก็กำหนดรายได้ของผู้ปกครองว่าต้องเป็นคนจนเท่านั้นด้วย และให้แบ่งสอบแข่งขันแยกกันเป็นอำเภอๆ ไป จึงทำให้ลูกคนจนในชนบทได้รับโอกาส และแทนที่จะตั้งชื่อยกให้เป็นเกียรติ์แก่ราชสำนัก แต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ก็กลับไปเรียกชื่อว่า “โครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ” ก็เกิดความไม่พอใจจากราชสำนัก
- โครงการที่ดูเหมือนว่าเป็นอันตรายมากที่สุด ก็คือโครงการแก้ปัญหาความยากจน “กรณีอาจสามารถ” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้ออกแสดงบทบาท โดยลงไปค้างคืนในชนบทเพื่อทำเป็นตัวอย่าง ด้วยการสำรวจความยากจนของประชาชน และร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และนายอำเภออาจสามารถ ในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นต้นแบบให้ข้าราชการทุกจังหวัดได้เป็นแนวทาง ปรากฏว่าจากกรณีนี้ได้มีเสียงสะท้อนจากราชสำนักชัดเจนว่าไม่เป็นที่พอใจ เพราะแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทนั้น พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำอยู่ และนับแต่เหตุการณ์กรณีอาจสามารถนี้ ก็กลายเป็นจุดประทุที่ส่งสัญญาณให้เห็นเด่นชัดว่า “นายกฯ ทักษิณ เป็นอันตราย”
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านโยบายของทักษิณเป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ราชสำนักมีความระแวงในตัวพ.ต.ท.ทักษิณ จึงขยายผลไปถึงนโยบายต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการโจมตีนโยบายของทักษิณอย่างรุนแรงมาตั้งเริ่มแรก และรุนแรงมากขึ้นโดยเครือข่ายราชสำนักทั้งพรรคประชาธิปัตย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และแกนนำพันธมิตรฯ ประสานเสียงกันเป็นเสียงเดียวว่า “ระบอบทักษิณ” แต่เมื่อพวกเขายึดอำนาจเมื่อ 19 ก.ย.49 และตั้งองคมนตรีพลเอกสุรยุทธ เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้ยกเลิกนโยบายของทักษิณ และยิ่งเมื่ออุ้มนายอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกฯ หลังจากโค่นล้มรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชายได้สมใจแล้ว ก็ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ก็นำนโยบายที่พวกเขากล่าวให้ร้ายว่า “ระบอบทักษิณ” หรือนโยบายประชานิยมนี้ไปใช้ทั้งดุ้น เพียงแต่ไปเรียกชื่อใหม่เพื่อเป็นการยกยอราชสำนัก ทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ก็เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “นโยบายส่งเสริมชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นต้น
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของความปั่นป่วนของการเมืองไทยนั้นแท้จริงมาจากราชสำนักที่ไม่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และหวาดระแวงต่อความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง และพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย โดยตัดสินใจทำลายทักษิณ ทั้งล้มรัฐบาลและสั่งฆ่า ซึ่งแตกหักเมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 โดยได้เสียง ส.ส.มากที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 377 เสียง



6.7 เสียง 377 คืออันตราย

เราเคยได้ยินพรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการพูดจาถากถาง ส.ส.พรรคอื่นๆ เสมอๆ ว่า “พวกนักการเมืองชอบตั้งพรรคขึ้นมาเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจ เดี๋ยวก็เลิกเพราะไม่มีอุดมการณ์ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่เข้มแข็ง แนวทางที่ถูกต้องนักการเมืองต้องสร้างพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์” และยังกล่าวถากถาง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า “เป็นพวกเศรษฐีใจร้อน ตั้งพรรคเดี๋ยวเดียวก็คงเลิก”
ทุกอย่างของการวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นผิดทั้งหมด เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความคิดที่จะทำการเมืองจริงๆ และมุ่งที่จะสร้างพรรคไทยรักไทยให้เป็นสถาบันทางการเมือง และผลที่ปรากฏต่อสาธารณชนก็ปรากฏว่าทำได้ดีกว่าพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์เสียอีก นั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประชาชนสามารถจับต้องได้ตามที่ได้สัญญาไว้ จึงเป็นผลให้การเลือกตั้งทั่วไปในต้นปี 2548 พรรคไทยรักไทย จึงได้รับความเชื่อถือจากประชาชนโดยผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกเข้ามามากถึง 377 เสียง จากเสียงในสภาผู้แทนทั้งหมดมี 500 เสียง ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเดียวได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งทำให้เครือข่ายราชสำนักไม่พอใจ และเกรงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีบารมีเหนือกว่าราชสำนัก เพราะเนื่องจากจำนวน ส.ส. 377 เสียงในสภานั้น ไม่เพียงแต่เกินครึ่งของสภาผู้แทน แต่เมื่อรวมเสียงของวุฒิสมาชิกอีก 200 เสียงแล้ว เสียงของพรรคไทยรักไทย ก็ยังเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา(ส.ส.500 เสียง + สว.200 เสียง รวมเป็นเสียงของสมาชิกรัฐสภา 700 เสียง) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ในหมวดพระมหากษัตริย์ได้ระบุให้รัฐสภาเป็นผู้รับรองรัชทายาทที่จะก้าวขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เป็นหลักการทั่วไปของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่รัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนจะต้องรับรองกษัตริย์พระองค์ใหม่ เมื่อถึงคราวผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน แต่ในอดีตไม่มีปัญหา เพราะการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินยังไกล ประกอบกับไม่มีพรรคการเมืองใดมีความเข้มแข็งที่คุมเสียงในสภามากเท่านี้
ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้จึงเป็นผลให้สถานการณ์การเมืองนับแต่นั้นมาเริ่มดีกรีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงบ่งบอกให้เห็นชัดเจนว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่อาจจะเบ่งบานภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองตัวจริงของไทยได้


6.8 กำจัดทักษิณ : เครือข่ายราชสำนักขับเคลื่อน

เมื่อสัญญาณความไม่พอใจของราชสำนักต่อกรณีความเข้มแข็งของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีเสียงในรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งเช่นนี้เริ่มดังขึ้น เครือข่ายราชสำนักก็เริ่มขับเคลื่อน และเป็นการขับเคลื่อนในช่วงที่ราชสำนักใกล้จะเกิดการผลัดเปลี่ยนรัชกาล จึงเกิดการรวมศูนย์อำนาจอย่างรุนแรง โดยแสดงบทบาทชัดเจนถึงระบอบการปกครองของไทยที่มีลักษณะพิเศษคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ นั่นคือได้มีตัวแทนราชสำนักที่ชัดเจน และจัดอย่างเป็นระบบโดย การปรากฏตัวอย่างเด่นชัดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง
เริ่มต้นตั้งแต่ปลายรัฐบาลสมัยแรกประมาณปี 2546-2547 ในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของพลเอกเปรม ได้มีการกล่าวปราศรัยโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณ ในลักษณะที่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งเกิดการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ราชสำนักเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายที่ราชสำนักวิตกกังวลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้แผนกำจัดทักษิณในฐานะที่เป็น “บุคคลอันตรายต่อราชสำนัก” ก็เกิดขึ้น
เริ่มต้นของการใส่ร้ายที่เป็นพยานหลักฐานเด่นชัดถึงความไม่พอใจของราชสำนักก็คือ กรณีที่ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ และทำงานในโครงการหลวง ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดราชสำนักออกมาเปิดประเด็นเรื่องการทำบุญประเทศว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไปนั่งในโบสถ์วัดพระแก้ว โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังไปวางเก้าอี้นั่งของพ.ต.ท.ทักษิณ ทับที่ที่พระเจ้าอยู่หัวเคยประทับอยู่ อันเป็นการอาจเอื้อมอย่างยิ่ง ได้กลายเป็นประเด็นการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มเครือข่ายใช้เป็นข้อกล่าวหาโจมตีอย่างรุนแรง และล่าสุดนายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อเริ่มเกิดความขัดแย้งกับพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ตนร้องขอให้ทักษิณช่วยเหลือ ก็ได้นำประเด็นนี้ออกโจมตีในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางโทรทัศน์ช่อง 9 และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดศึกทำลายรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้สุดท้ายจะได้แสดงหลักฐานแล้วว่าสำนักพระราชวังโดยราชเลขาธิการได้อนุญาตให้ใช้โบสถ์ในวัดพระแก้วจัดงานทำบุญประเทศได้ อีกทั้งเคยมีส่วนราชการกระทรวงต่างๆ เคยขอพระบรมราชานุญาตใช้ประกอบพิธีเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ทักษิณทำอยู่คนเดียว แต่ก็ไม่อาจจะหยุดกระแสการทำลายของเครือข่ายราชสำนักได้
การใส่ร้ายโจมตีต่อตัวพ.ต.ท.ทักษิณจากเครือข่ายราชสำนักได้กระทำอย่างต่อเนื่องในทุกประเด็นเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ของราชสำนักและสร้างข่าวปิดล้อมข้อมูลที่จะถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ให้เป็นไปในทางเดียวกัน โดยกล่าวหาแม้กระทั่งเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อ เช่น ทักษิณคือพระเจ้าตากสินกลับชาติมาเกิดเพื่อทวงคืนพระราชบัลลังก์

6.9 ทักษิณ คือ ตากสิน กลับชาติมาเกิด

การโจมตีใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้กระทำกันอย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และเหตุผลทางไสยศาสตร์ โดยกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ได้ผนึกกำลังกับเครือข่ายราชสำนักสร้างข้อมูลเพื่อให้ราชสำนักและประชาชนเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอันตรายต่อราชสำนักอย่างแน่นอนเพื่อผู้เสียประโยชน์ทางการเมืองรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์จะได้ใช้ความหวาดระแวงสงสัยเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ทางการเมือง โดยกระทำถึงขนาดกล่าวให้ร้ายว่า
“ทักษิณ คือพระเจ้าตากสิน กลับชาติมาเกิด เพื่อทวงคืนราชบัลลังก์”
เรื่องของพระเจ้าตากสินเป็นรอยด่างของราชวงศ์จักรีเนื่องจากพระเจ้าตากสินเป็นคนเชื้อสายจีน (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยในขณะนี้) ที่เสียสละกู้ชาติบ้านเมืองในสมัยอยุธยาตอนปลายที่ต้องเสียเมืองให้แก่พม่า แต่ได้ถูกต้นราชวงศ์จักรีคือนายทองด้วงในขณะนั้นยึดอำนาจประหารพระเจ้าตากสินพร้อมลูกเมียทั้งหมดอย่างโหดร้าย และตั้งตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรี ปกครองโดยมีเครือญาติสืบต่อราชวงศ์จนถึงปัจจุบัน เรื่องราวของพระเจ้าตากสินจึงกลายเป็นความไม่เป็นธรรมที่คนไทยเชื้อสายจีนได้รับจากราชวงศ์จักรี และจนถึงวันนี้คนไทยเชื้อสายจีนยังถูกกีดกันด้วยระเบียบข้อบังคับในการรับราชการทหาร และตำรวจ ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของพระเจ้าตากสินจึงเป็นภาพหลอนของราชวงศ์จนถึงปัจจุบัน
หากพิจารณาด้วยเหตุผลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคแห่งวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าถึงขั้นมนุษย์เดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ได้แล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นคำกล่าวโจมตีที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง แต่ปรากฏความจริงว่าในราชสำนักของไทยและประชาชนหัวโบราณที่เกาะติดอยู่กับเครือข่ายสำนักสงฆ์และสำนักเทพพวกทรงเจ้าเข้าผีจำนวนมากยังคงเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดของบุคคลตามวัฒนธรรมความเชื่อโบราณของศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธสายอวิชชาอย่างมาก ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ทรงเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งพระองค์เคยแสดงทรรศนะต่อข้าราชบริพารจนเป็นที่ล่วงรู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่าพระองค์คือสมเด็จพระศรีสุริโยทัยกลับชาติมาเกิด และในชาตินี้พระองค์ก็จะเป็นผู้ช่วยพระมหากษัตริย์ที่เป็นพระสวามีอีก และก็มีหลักฐานสนับสนุนถึงความเชื่อของพระองค์ต่อสาธารณชนอีกก็คือพระองค์ได้มีพระราชดำรัสให้สร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการภาพยนตร์ไทยโดยลงทุนหลายร้อยล้านบาทเรื่อง “สุริโยทัย” เพื่อเชิดชูคุณงามความดีของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย เมื่อครั้งเป็นเอกอัครมเหสีที่ใสช้างออกขวางพระเจ้าแปรแห่งกรุงหงสาวดี จนถูกพระแสงของ้าวฟันจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระสวามี
ด้วยโครงสร้างวัฒนธรรมความเชื่อแบบโบราณที่ฝังลึกดังกล่าวข้างต้นทำให้การเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยได้หยิบฉวยวัฒนธรรมความเชื่อนี้มาหาประโยชน์กันอยู่เสมอ ดังนั้นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลในการเมืองฝั่งตะวันตกก็กลายเป็นเรื่องที่มีเหตุผลของการเมืองฝั่งตะวันออก โดยกล่าวหาว่า “ทักษิณ คือพระเจ้าตากสิน กลับชาติมาเกิด เพื่อมาทวงคืนราชบัลลังก์” จึงกลายเป็นเรื่องที่เชื่อกันจริงจังขึ้นมาในราชสำนักและในหมู่มวลชนที่เป็นพวกคนหัวโบราณ โดยให้เหตุผลกันเป็นตุเป็นตะว่าการออกเสียงชื่อก็คล้ายกันและหากสะกดชื่อเป็นภาษาอังกฤษก็จะเขียนเหมือนกันว่า “TAKSIN” อีกทั้งทักษิณและตากสินก็เป็นคนภาคเหนือและมีเชื้อสายจีนเหมือนกัน และภาพวาดของพระเจ้าตากสินที่มีปรากฏมาแต่โบราณก็มีโครงหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายกับทักษิณอีกด้วย
ในการต่อสู้ของพันธมิตร นายสนธิ ได้นำจุดอ่อนของราชสำนักในเรื่องความเชื่อทางไสยศาสตร์เหล่านี้มาขยายผล จนกระทั่งตลอดเส้นทางการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตรฯ จึงเจือปนไปด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์เพื่อให้เชื่อมต่อความคิดกับราชสำนัก และเป้าหมายสูงสุดก็เพื่อให้ราชสำนักเชื่อมั่นในขบวนการพันธมิตร และให้การสนับสนุนพันธมิตรจนถึงที่สุด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ได้เกิดข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทำไสยศาสตร์ต่างๆ นานา อยู่เสมอของขบวนการพันธมิตรฯ ระหว่างการชุมนุมประท้วง เช่น การนำผ้าอนามัยของสตรีที่เปื้อนเลือดไปวางรอบอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า เพื่อขับไล่วิญญาณภูตผีที่มาปิดล้อมดวงวิญญาณของสมเด็จพระปิยะมหาราช ไม่ให้ออกมาช่วยบ้านเมืองให้ออกไปเสีย รวมตลอดทั้งนายสนธิ ก็ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ใส่ชุดขาวแต่งตัวคล้ายนักบวชผู้ทรงศีลทำการพรมน้ำมนต์ไล่ภูตผีปีศาจในทำเนียบรัฐบาลขณะที่พวกเขาปักหลักพักค้างกันในทำเนียบและทำให้เจ้าที่เจ้าทางโกรธ อีกทั้งทำพิธีปิดตาเทวรูปพระพรหมที่ประจำทำเนียบรัฐบาล เพื่อไม่ให้เห็นเหตุการณ์ที่พวกเขากระทำมิดีมิร้ายในทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น จนมีการกล่าววิพากษ์วิจารณ์กันว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้คล้ายกับเหตุการณ์ในรัสเซีย ก่อนที่ราชวงศ์โรมานอฟจะถูกโค่นล้มเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบสังคมนิยม โดยขณะนั้นราชสำนักรัสเซียก็เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์อย่างงมงาย โดยมีนักบวชในคริสต์ศาสนานิกายออโธด๊อก ชื่อรัสปูติน เป็นผู้มีอิทธิพลครอบงำความคิดราชสำนักในขณะนั้น และสำหรับประเทศไทยปัจจุบันก็มีคนเปรียบเทียบว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นคล้ายกับ รัสปูติน ในราชวงศ์จักรี

6.10 กรณีสนธิ กลายเป็นระเบิดทำลายทักษิณ

จากสัจธรรมของโครงสร้างการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาที่ความขัดแย้งทางสังคมเป็นความอ่อนไหวที่ดำรงอยู่ และพร้อมจะแสดงบทบาทอยู่เป็นนิจ สัญญาณที่บ่งบอกถึงการพังทลายของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ก็มาถึง เมื่อเกิดกรณีของสนธิ ลิ้มทองกุล สื่อมวลชนที่มีประวัติสร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเองด้วยการฉกฉวยจังหวะเวลาหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ด้วยความกล้า และความบ้า
สนธิ ลิ้มทองกุล จากมิตรผู้สนับสนุนนายกฯ ทักษิณ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู พลิกกลับมาเป็นศัตรูตัวฉกาจ ด้วยกำลังตกอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลายจากการเป็นนักเก็งกำไร และได้รับผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่ยังไม่ฟื้น เมื่อถูกปฏิเสธการหาผลประโยชน์จากนายกฯ ทักษิณ ในหลายเรื่องโดยเฉพาะที่สนธิเดินหน้าลงทุนเตรียมการเปิดสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ที่เรียกว่า “ฟรีทีวี” ช่อง 11/1Ù ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้นายสนธิ จึงหยิบฉวยความขัดแย้งที่เครือข่ายราชสำนักได้ส่งสัญญาณพร้อมจะทำลายรัฐบาลทักษิณแล้ว มาเป็นประเด็นการเมือง โดยใช้รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นเครื่องมือต่อรอง เมื่อไม่ได้ผลทุกอย่างก็เดินหน้าโดยเริ่มจากประเด็นทักษิณ ทำบุญประเทศเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนทุกศาสนาในประเทศไทยร่วมทำบุญเพื่อให้เกิดความสงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องดีก็กลายเป็นเรื่องร้าย เพราะทักษิณประกอบพิธีทางพุทธศาสนาในวัดพระแก้ว โดยถูกกล่าวหาว่าจงใจละเมิดพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ด้วยจุดตั้งเก้าอี้ที่นายกฯ ทักษิณ นั่งตรงนั้นเป็นจุดที่พระเจ้าอยู่หัวเคยประทับซึ่งเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไร้สาระในสายตาของชาวโลก แต่เป็นเรื่องสำคัญของคนไทย จากเรื่องนี้ไฟที่จะเผาไหม้รัฐบาลทักษิณก็จุดติดและลุกลามออกไป แม้ต่อมาจะมีหลักฐานยืนยันว่าข้อเท็จจริงมิได้เป็นดังที่นายสนธิกุข่าวใส่สีตีไข่ แต่ก็ไม่เป็นผลเสียแล้ว เพราะกระแสความขัดแย้งทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งความขัดแย้งกับผู้สูญเสียผลประโยชน์จากกรณีที่นายกฯ ทักษิณ ได้ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเป็นผล เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติด เป็นต้นนั้น ก็รวมศูนย์ถล่มทักษิณโดยการประสานงานของเครือข่ายราชสำนัก ภายใต้การชี้นำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริง ในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ที่แฝงตัวอยู่เบื้องหลัง

6.11 ปชป. + ทหาร + NGO คือกำลังสำคัญ

เมื่อสนธิ เปิดฉากเป็นศัตรูโดยใช้รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” เป็นอาวุธทิ่มแทงรัฐบาล ในที่สุดรายการของสนธิก็ถูกถอดออกจากช่อง 9 ทันที กระบวนการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ที่เริ่มต้นจากห้องส่งโทรทัศน์ก็ไหลออกสู่ท้องถนน โดยเครือข่ายราชสำนักก็ประสานงานให้รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” มาเปิดสัญจรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการเปิดตัวของนายสุรพล นิติไกรพจน์Ù อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง และนับแต่นั้นเกมส์การเมืองนอกสภา ด้วยการปลุกระดมมวลชนโค่นล้มรัฐบาล ที่สำนักพระราชวังเคยกำกับการแสดงมาตลอด นับแต่อดีตตั้งแต่การโค่นล้มรัฐบาลถนอม-ประภาส รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ และรัฐบาลพลเอกสุจินดาก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ได้เกิดเหตุการณ์เกินความคาดหมายของราชสำนัก นั่นก็คือศัตรูสำคัญทางประวัติศาสตร์ของราชสำนัก ได้แฝงตัวเข้ามาใช้เงื่อนไขความขัดแย้งแสดงตัวเป็นผู้จงรักภักดีในลักษณะ “โบกธงกษัตริย์ทำลายกษัตริย์” โดยจับมือกับนายสนธิ บุคคลที่แฝงตัวเหล่านั้นคืออดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผู้มีอุดมการณ์ต่อต้านกษัตริย์ไม่เสื่อมคลาย ในฐานะแกนนำ NGO และสหภาพแรงงาน เช่น นายพิภพ ธงชัย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสมเกียรติ์ พงศ์ไพบูลย์ 3 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งที่ประกาศแนวทางชัดเจนว่าจะล้มรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงของประชาชน 19 ล้านเสียง
ขบวนการ เอ็น จี โอ (NGO) คือองค์กรการพัฒนาภาคเอกชน ซึ่งได้พัฒนาตนเองมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว และเติบใหญ่เข้มแข็งมากขึ้น ภายหลังจาก “ป่าแตก” เมื่อปี 2523 ด้วยปัญญาชนที่เข้าร่วมการปฏิวัติสังคมด้วยต้องการเห็นสังคมอุดมคติ ต้องผิดหวัง ออกจากป่าเพราะความขัดแย้งแตกหักในค่ายสังคมนิยมระหว่างรัสเซียกับจีน และเมื่อเกิดสงครามชายแดนระหว่างจีน-เวียตนาม หลายคนกลับเข้าเมือง และมุ่งมั่นที่จะทำงานตามอุดมคติต่อไป จึงหันเข้าเป็น NGO โดยทำงานอยู่ในมูลนิธิ และสมาคมต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเกาะเกี่ยวอยู่กับประชาชนคนยากจนในระดับรากหญ้า และฝึกฝนให้ประชาชนเคลื่อนไหวลุกขึ้นประท้วงต่อสู้เพื่อสิทธิผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่งอมืองอเท้ารอการช่วยเหลือจากกลไกรัฐ ขบวนการ เอ็น จี โอ จำนวนหนึ่งประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลทักษิณที่กล่าวหาพวกเขาว่าเป็น “ขบวนการค้าความจน”Ù และไม่ยอมเจรจาปัญหาของคนยากจนโดยผ่านองค์กรเอ็น จี โอ ด้วยเหตุนี้ กระแสมวลชนจึงถูกปลุกขึ้นจากขบวนการเอ็น จี โอ ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับชาวบ้าน ดังนั้นในระยะเริ่มต้นที่ต้องการมวลชนมาสนับสนุน ก็มาจากกำลังจัดตั้งส่วนนี้เป็นตัวยืนโดยร่วมกันกับมวลชน และสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ที่มาจากภาคใต้ และในกรุงเทพมหานคร เพราะหากโค่นล้มรัฐบาลทักษิณได้ อำนาจทางการเมืองก็ต้องตกอยู่กับประชาธิปัตย์โดยไม่มีทางเลือก นอกจากนี้ก็มีขาจรกองกำลังผสมจากผู้เสียผลประโยชน์ เช่น ผู้ค้ายาเสพติด พ่อค้าแม่ค้าเจ้ามือหวยใต้ดิน หมอตี๋ร้านขายยา ที่เสียรายได้จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น
เมื่อขบวนการมวลชนเริ่มขับเคลื่อนได้แล้ว การจัดเครือข่ายก็เริ่มชัดเจนขึ้น โดยคนใกล้ชิดพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีที่มีประสบการณ์การขับเคลื่อนมวลชน ก็ปรากฏตัวขึ้นบนเวทีของสนธิ เช่น พลตรีจำลอง ศรีเมือง (อดีตเลขาธิการนายกฯ พลเอกเปรม) ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มสันติอโศก สำนักพุทธศาสนานอกรีต ก็ได้นำกองทัพญาติธรรมและนักบวชนอกรีตออกมาเป็นกองกำลังหลักร่วมประท้วงด้วย นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญที่ใกล้ชิดพลเอกเปรมที่ต้องกล่าวถึงเช่น นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำมวลชนโค่นล้มรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร และนายพลลูกป๋า เช่นพลอากาศเอกชลิต พุกผาสุกÙแม่ทัพอากาศ โดยเฉพาะลูกป๋าผู้บ้าบิ่น คือพลโทสะพรั่ง กัลยาณมิตร ซึ่งแสดงตัวเปิดเผยขณะดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค 3 ว่าพร้อมจะโค่นล้มรัฐบาลทักษิณโดยไม่มีใครกล้าแตะต้อง


ภายในวงการรัฐบาลขณะนั้น ข่าวสารในทำเนียบรัฐบาลก็ปรากฏชัดเจนว่ามีทหารในสายของพลโทสะพรั่ง และสายของแม่ทัพอากาศถอดเครื่องแบบแฝงตัวออกมาร่วมชุมนุมในฐานะมวลชน และคอยเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม

6.12 สัญญาณชัดเจนจากราชสำนักให้ทำลายระบอบทักษิณ

ความคุกรุ่นที่ส่งสัญญาณว่าจะต้องล้มรัฐบาลทักษิณ เริ่มต้นจากกลางปี 2547 และเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเมื่อผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 สัญญาณอันตรายของรัฐบาลทักษิณสมัยที่ 2 คือความเข้มแข็งยิ่งขึ้นของรัฐบาลทักษิณเองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูงสุดถึง 19 ล้านเสียงÙ และได้ ส.ส.มากที่สุดถึง 377 จาก ส.ส.ทั้งสภา 500 คน ทักษิณได้เปิดหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยรัฐบาลแรกที่จัดตั้งด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือ พรรคไทยรักไทย
ความวิตกกังวลของราชสำนักที่เป็นความเจ็บปวดแห่งอดีต ก็คือความเข้มแข็งของรัฐบาลที่จะเข้ามาบั่นทอนอำนาจของราชสำนัก และด้วยเพราะเนื้อแท้ของระบอบการปกครองของไทย คือ “ระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล จึงกลายเป็นความน่ากลัวในสายตาของราชสำนัก
คำกล่าวของนายกฯ ทักษิณ ที่ว่า “ผมมาจากประชาชน 19 ล้านเสียง” จึงกลายเป็นการย้ำเตือนให้เครือข่ายราชสำนักเร่งทำลายรัฐบาลทักษิณให้สิ้นซาก โดยพรรคประชาธิปัตย์(ภายใต้การบงการของพลเอกเปรม หัวหน้าพรรคตัวจริง) ได้ร่วมกับเครือข่ายราชสำนัก ซึ่งได้แก่ อาจารย์ มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนบางคนได้สร้างวาทะกรรมให้ดูน่ากลัวเกี่ยวกับความคิดพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อป้ายสีว่าทักษิณจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ดูเป็นเหตุผลมากกว่าที่จะโจมตีว่าพระเจ้าตากสินกลับชาติมาเกิดเป็นทักษิณ โดยเรียกนโยบายตามแนวคิดของทักษิณว่า


“ระบอบทักษิณ”Ùและประกาศเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์รวมกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อทำลาย “ระบอบทักษิณ” ว่า “เอาประเทศไทยคืนมา”Ù Ù ซึ่งมีความหมายในตัวเองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำการใหญ่ กำลังจะยึดเอาพระราชอำนาจของกษัตริย์ไปเป็นของตัวเองแล้ว


ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 พันธมิตรฯ จัดให้มีการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยทำหนังสือเรียกร้องให้ 3 หน่วยงานสำคัญ ดำเนินการกดดันให้พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออก โดยยื่นหนังสือในเวลาสามทุ่มเศษต่อ 3 หน่วยงาน โดยแยกออกเป็น 3 สาย คือ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยยื่นที่สำนักราชเลขาฯ สำนักพระราชวัง อีกฉบับยื่นต่อพลเอกเปรมติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และฉบับที่ 3 ยื่นต่อพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ปรากฏทุกหน่วยงานเปิดรับหนังสือกลางดึกหมด โดยเฉพาะที่ยื่นให้ฝ่ายทหาร ผู้บัญชาการทหารบกออกมารับด้วยตนเอง และเปิดห้องต้อนรับแกนนำพันธมิตรฯ ปรึกษาหารือเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง และหลังจากนั้นนายสนธิก็ขึ้นประกาศต่อฝูงชนว่าพวกเขาชนะแล้ว เพราะทั้ง 3 หน่วยงานเปิดรับหนังสือของพวกเขาในยามวิกาล และพลเอกสนธิก็ไม่พึงพอใจรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ
การรับหนังสือในยามวิกาลในภาวะที่มีผู้คนมาชุมนุมกันซึ่งขณะนั้นจำนวนไม่มากนัก ยังอยู่ในระดับไม่เกิน 5,000 คน ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก แต่เฉพาะสำนักราชเลขาฯ สำนักพระราชวัง ซึ่งที่ทำการอยู่ที่วัดพระแก้วนั้นไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน
ทำไมสำนักพระราชวังบริการประชาชนดีเหลือเกิน?
คำถามถึงสัญญาณเชิงสัญลักษณ์จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของ “วัง” ว่าต้องการจะล้มรัฐบาลทักษิณ เกิดขึ้นในใจของผู้คน

6.13 ยุบสภาประกายไฟไหม้ลามทักษิณ

เพียงแค่ระยะเวลาเพียงปีเศษ นับแต่การเลือกตั้งทั่วไปตามวาระ เมื่อ เดือนมกราคม 2548 การประท้วงขององค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้ทักษิณลาออกในขณะที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต รัฐบาลมีผลงานดูจะไม่มีเหตุผลเอาเสียเลยในสายตาของคนทั่วโลกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ภายใต้ระบอบการปกครองที่แอบแฝงที่เป็นของจริงคือสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่นั้นทำเอานักข่าวทั้งโลก “มึน” และวิเคราะห์ไม่ถูก
การเปิดประตูวังกลางดึกของคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อ รับหนังสือถวายฎีกาขับไล่นายกฯ ทักษิณนั้นคือสัญลักษณ์ที่บอกว่า “วังไม่เอาทักษิณ” แต่ขณะนั้นยังไม่มีใครเชื่อว่าเป็นพระประสงค์ของพระองค์ ดังนั้นความพยายามที่จะแก้ปัญหาในระบบจึงยังดำเนินต่อไป ด้วยการเข้าพบพลเอกเปรม ประธานองคมนตรีของทักษิณหลายครั้งในช่วงแรก ความคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะปรับคณะรัฐมนตรีก็เกิดขึ้น ดูเหมือนว่ารัฐนาวาของรัฐบาลทักษิณจะไปไม่รอดและในช่วงสถานการณ์แห่งภาวะวิกฤตการเมือง การเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็เกิดขึ้นโดยเนื้อหาของพระราชดำรัสนั้นเป็นความลับ แต่แล้วทุกอย่างก็จบลงด้วยการยุบสภาซึ่งเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยที่นานาอารยประเทศใช้กัน โดยพ.ต.ท.ทักษิณ เองก็ไม่รู้ว่าในวิถีทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ กลับกลายเป็นการจบลงของตำแหน่งนายกฯ ของตัวเอง
ทันทีที่ประกาศยุบสภาเมื่อต้นปี 2549 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ในขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศด้วยความมั่นใจว่าหากได้คะแนนเสียงจากประชาชนทั้งประเทศไม่ถึงครึ่งของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงทั้งหมดที่ให้แก่ตน(คะแนนเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ) พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ดูจะห้าวหาญเหมือนรู้ว่าฟ้าไม่โปรดทักษิณแน่ ก็ประกาศคว่ำบาตรการยุบสภาโดยไม่ส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างว่าการยุบสภาไม่เป็นธรรม ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่พอใจต่อการรับลูกป่วนระบอบทักษิณของประชาธิปัตย์อย่างถึงที่สุด เพราะรู้ดีว่าเลือกตั้งใหม่ก็ไม่อาจจะเอาทักษิณออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้ เพราะคะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อทักษิณท่วมท้น
การคว่ำบาตรการเลือกตั้งลามสู่พรรคการเมืองร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด เพราะทุกพรรคหมดโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลได้แล้ว ตราบเท่าที่พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอยู่ในวงการเมือง
คะแนนนิยมของทักษิณที่มากมายเช่นนี้ หากอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายค้านต้องรอคอย และสร้างผลงานแข่งกับรัฐบาล เช่น ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบ ซึ่งพรรคกรรมกรก็ต้องรอคอยการเสื่อมความนิยมของประชาชนอังกฤษที่มีต่อพรรคมาร์กาเรต อนุรักษ์นิยมเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ในสมัยของนายกรัฐมนตรีนางแธตเชอร์ แต่สำหรับประเทศไทยมีเพียงรูปแบบเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อแท้คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ดังนั้นการยุบสภาแทนที่จะเป็นทางออกของระบอบประชาธิปไตย ก็กลายเป็นกับดักของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ความปั่นป่วนทางการเมืองที่เกิดขึ้นบนถนนจึงลามเข้าสู่สภา แล้วลามเข้าสู่ระบบ และเมื่อผลเลือกตั้งออกมา เสียงประชาชนยังให้ทักษิณเป็นนายกฯ ต่อไป แต่เสียงกระซิบจาก “อำนาจรัฐตัวจริง” ให้ทักษิณออกไปก็ดังขึ้น



6.14 เพียงแต่ในหลวงกระซิบข้างหู ผมจะลาออกทันที !!

ด้วยเพราะรัฐบาลทักษิณมาจากการเลือกตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย และเป็นรัฐบาลที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้รัฐบาลทักษิณมีความชอบธรรมมากกว่ารัฐบาลทหาร และรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบที่เป็นเหยื่อของราชสำนักในอดีตที่ผ่านมา การขับไล่ให้ทักษิณออกจากวงการเมืองจึงยากที่จะทำได้ นอกจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารเท่านั้น แต่แม้กระนั้นการเข้ามามีอำนาจของฝ่ายทหารก็ใช่ว่าราชสำนักจะอุ้มชูอย่างถาวรก็หาไม่ และจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าอำนาจที่แท้จริงของระบอบการปกครองของไทยนั้น อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น และจากประสบการณ์ทางการเมืองของฝ่ายทหารที่เจ็บปวดที่สุดที่ยืนยันถึงความจริงแห่งระบอบการปกครองของไทยก็ คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 แต่กลับต้องเสื่อมเสียเกียรติยศด้วยการถูกเรียกเข้าราชสำนัก และพระเจ้าอยู่หัวออกปากตำหนินายกรัฐมนตรีออกโทรทัศน์ทุกช่อง ทำให้พล.อ.สุจินดา ตายทั้งเป็น จึงเป็นบาดแผลในจิตใจของทหารมาจนทุกวันนี้
นี้คือลักษณะพิเศษของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ !!
แม้จะเป็นนายกฯ มาจากระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าหากกษัตริย์ไม่ชอบ ก็ต้องออกไป
พ.ต.ท.ทักษิณ รู้ถึงความจริงนี้ แต่เมื่อยังดำรงอยู่ในตำแหน่ง ก็ไม่ต่างอะไรกับการขี่หลังเสือ หากลงอย่างไม่มีจังหวะจะโคน ก็จะถูกเสือกิน แต่หากจะหาทางเจรจากับเสือก็ยากที่จะเจรจากันได้ จึงใช้วิธีการประกาศต่อสาธารณะว่า “ถ้าเพียงแต่ในหลวงกระซิบข้างหู ผมจะลาออกทันที”
จากคำพูดนี้ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้เครือข่ายราชสำนัก ยิ่งเร่งเครื่องขับพ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นจากอำนาจ และแล้วก็มีเสียงกระซิบข้างหูของ พ.ต.ท.ทักษิณ จริง แต่มิใช่ให้ออกจากนายกฯ แต่กระซิบให้ออกจากอำนาจไปเลยแล้วไม่ต้องกลับมา
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 หลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนหมาดๆ เมื่อวันที่ 2 เมษายน อันเป็นผลจากการยุบสภา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ถูกเรียกให้เข้าเฝ้าโดยเร่งด่วนที่พระตำหนักหัวหิน พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางด้วยเครื่องบินในเวลาบ่ายโมงเศษ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายก่อนมีรัฐบาลใหม่ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มโดยไม่รู้ว่าจะมีเสียงกระซิบข้างหู แต่ทันทีที่ออกจากพระตำหนัก ทักษิณได้พบความจริงของการเมืองไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ โดยไม่อาจจะบอกกับใครได้ในขณะนั้น เพียงแต่มีคำสั่งของนายกฯ ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมการแถลงข่าวสำคัญอย่างฉุกเฉิน และเป็นการแถลงครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่กลางห้องโถงหน้าบันไดของตึกไทยคู่ฟ้า ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษของวันที่ 4 เมษายน 2549 ทั้งๆ ที่พึ่งลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ท่ามกลางนักข่าวเต็มทำเนียบ พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนที่โพเดียมหน้าบันไดกลางห้องโถงทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญของพรรคไทยรักไทยยืนเป็นแถวอยู่ด้านหลัง สองคนสำคัญในนั้นมีนายเนวิน ชิดชอบ และนายอนุทิน ชาญวีรกูรÙ รัฐมนตรีผู้ใกล้ชิดยืนอยู่ด้วย
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงด้วยน้ำตาคลอ และเสียงขมขื่นในลำคอ โดยมีคุณหญิงพจมาน ภรรยายืนอยู่เคียงข้างว่า
“ผมขอลาพักถาวร และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการแทน”
ทันทีที่สิ้นเสียงคำแถลง ท่ามกลางความเงียบกริบ ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงหายใจของตัวเอง นายเนวิน ชิดชอบ ก็โผเข้ากอดพร้อมหลั่งน้ำตา ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะโอบกอดคุณหญิงพจมาน เสียอีก
บรรยากาศการออกจากทำเนียบรัฐบาลในคืนนั้นมิใช่บรรยากาศลาพัก แต่เป็นบรรยากาศลาออกจากวงการเมือง เพราะภาพทางโทรทัศน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำการเก็บข้าวของ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือรูปถ่ายคู่กับภรรยาที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานในทำเนียบ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือรูป และโอบกอดภรรยา เดินขึ้นรถยนต์พร้อมกัน และเดินทางออกนอกประเทศหลังจากนั้นนัยว่าเป็นการพักผ่อน
วันที่ 5 เมษายน 2549 นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวแท้ๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณ แกนนำพรรคไทยรักไทย เดินทางเข้าไปที่ทำการพรรคฯ พร้อมด้วยญาติพี่น้อง และแกนนำพรรค เธอและหลายคนหลั่งน้ำตาในห้องทำงาน
วันที่ 11 เมษายน 2549 พรรคไทยรักไทยเรียกประชุมใหญ่ ส.ส. รัฐมนตรี และแกนนำพรรค บนห้องประชุมใหญ่ ชั้น 7 เพื่อรับทราบสถานการณ์ มี ส.ส. หลายคนผลัดกันลุกขึ้นพูดเพื่อให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ดูเหมือนว่าทักษิณจะไม่ได้ยินใครพูด เพราะเจ็บปวดเกินกว่าที่จะได้ยินเสียงของผู้คน และสัจธรรมความจริงของระบอบการเมืองไทยก็ปรากฏจากปากของทักษิณท่ามกลางความเงียบกริบของห้องประชุมว่า
“ผมพึ่งรู้ว่าประเทศไทยไม่มีประชาธิปไตย”
คำพูดอันเป็นปริศนาที่ไม่มีใครรู้ว่าเงามืดที่บดบังประชาธิปไตยคือใครในขณะนั้น แต่ความลับไม่มีในโลกฉันใด เงามืดก็ไม่อาจจะปกปิดตัวเองได้ฉันนั้น
จากปากคำของทักษิณที่ถูกเล่าต่อๆ กันมาจากการเดินทางไปเยี่ยมเยือน พ.ต.ท.ทักษิณ ของ ส.ส.และผู้คนมากมายก็ไขข้อข้องใจทางประวัติศาสตร์อย่างชัดแจ้งว่า เงามืดนั้นก็คือคนที่ทักษิณพร้อมจะรับฟังเสียงกระซิบ แต่ในวันนั้นมิได้กระซิบให้ทักษิณลาออก แต่กระซิบให้
ทักษิณเลิกเล่นการเมือง
ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการเมืองไทย และเป็นการย้ำชัดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า ประเทศไทยมิได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
การปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 ยังไม่เสร็จสิ้น

6.15 ลาพักแต่ไม่ลาออก ความปั่นป่วนและซับซ้อน ของระบอบฯ

การลาพักงานถาวรของพ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 4 เมษายน 2549 แล้วมอบให้ พล.ต.ต.ชิดชัย รองนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยไม่ยอมลาออกตามเสียงกระซิบ จึงกลายเป็นปัญหาว่า “ไม่จงรักภักดี” แต่กลไกของระบบกฎหมายและการเมืองในขณะนั้น ทำไม่ได้ตามความประสงค์ของผู้กระซิบ เพราะขณะนั้นพึ่งเลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ นายกฯ ก็ยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ จึงอยู่ในภาวะสุญญากาศ เพราะนายกฯ หัวหน้าฝ่ายบริหารก็ไม่มี สภาก็ไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นเพียงนายกฯ รักษาการ ส่วน ส.ส. ในสภาก็สิ้นสภาพไปตั้งแต่วันยุบสภา ไม่อาจจะเปิดสภาเลือกนายกฯ ใหม่ได้ ดังนั้นหากว่าทักษิณประกาศลาออกตามกฎหมาย ก็เท่ากับเปิดทางให้อำนาจเผด็จการซึ่งเป็นอำนาจนอกระบบเข้ามาทำลายประชาธิปไตยได้ทันทีเพราะไม่มีทางออก แล้วบาปเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดก็จะตกอยู่กับทักษิณ จากวีรบุรุษประชาธิปไตย ก็จะกลายเป็นผู้ไม่รับผิดชอบต่อประชาธิปไตย
สัจธรรมของระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ คือความซับซ้อน สับสน หาระบบไม่ได้ ก็เกิดขึ้นอีก เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่คณะผู้พิพากษาศาลปกครองเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ถูกตีความกันทั้งโลกว่าตกลงพระองค์จะเอาอย่างไรแน่ ซึ่งแท้จริงเป็นการกระหนาบตีทักษิณให้หลุดออกนอกวงโคจรของอำนาจการเมืองให้ได้ด้วยพระองค์เอง เพราะขณะนั้นศาลปกครองไม่กล้าก้าวล่วงเข้าไปตัดสินคดีทางการเมือง การเลือกตั้งเพราะเกินขอบเขตอำนาจ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็กล่าวเป็นนามธรรมเชิงสัญลักษณ์เปิดไฟเขียวให้ศาลปกครองดำเนินการได้ด้วยข้อความสำคัญของพระราชดำรัสมีว่า
“ท่านอาจจะนึกว่าหน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครองมีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวางมาก......ก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียวซึ่งมีความสำคัญเพราะว่าถ้าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาคนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์.......แล้วก็อีกข้อหนึ่งการที่จะบอกว่ามีการยุบสภาและต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ไข แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือเป็นอะไรซึ่งท่านจะมีสิทธิที่จะบอกว่าอะไรที่ควรที่ไม่ควร”
นับแต่นั้นเองขบวนการตุลาการภิวัฒน์ก็เกิดขึ้นโดยมีศาลปกครองเป็นกองหน้าภายใต้การนำของนายอัคราธร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองÙ โดยออกมาตัดสินพลิกกลับว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีเลือกตั้งได้ ซึ่งเดิมเคยวินิจฉัยว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจแล้ว ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ก็ขยายวงไปสู่ศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลทั้ง 3 สถาบันก็ประสานเสียงกันภายใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี โดยศาลทั้งหมดประสานเสียงกันพลิกคว่ำการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ และศาลฎีกายังข่มขู่ให้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ลาออกอีกด้วย
ความปั่นป่วนทางการเมืองในขณะนั้นเปรียบได้ดังพายุหมุน “ทอร์นาโด”ที่มีพลังดึงดูดอย่างรุนแรงโดยดูดเอาสถาบันศาลออกมาเล่นการเมืองอย่างเปิดเผย เมื่อนายจรัล ภักดีธนากุล เลขานุการประธานศาลฎีกา ประกาศก่อนที่ กกต. จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลว่า
“ถ้า กกต. ไม่ลาออกจะต้องติดตาราง”
คำกล่าวนี้ละเมิดหลักนิติธรรมเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ที่กำลังจะตกเป็นจำเลยว่าจะตัดสินลงโทษ ในขณะที่ผู้จะถูกตัดสินยังไม่เป็นจำเลยในศาล และที่สำคัญที่สุดที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าศาล ซึ่งเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้ายของคนไทยได้ถูกครอบงำแล้ว โดยชัดเจนเมื่อรูปของนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา และนายไพโรจน์ วรานุช หรือ “นายเจี๊ยบ” รองเลขานุการศาลฎีกายืนถ่ายคู่ในเวลาแถลงข่าวกับนายจรัล ภักดีธนากุล เพราะนายเจี๊ยบ”ผู้นี้ อดีตเคยเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ รุ่น 25 ที่ ทุกคนรู้จักดีว่าเป็นเด็กในบ้านของป๋าเปรมที่ท่านเลี้ยงดูจนได้ดิบได้ดี เป็นผู้พิพากษา และเป็นผู้ประสานงานกับศาลในวิกฤตการณ์ ในนามตัวแทนของ “ป๋า” และที่สำคัญใครก็รู้ว่า นายเจี๊ยบคนนี้เป็น “ตุ๊ด” เด็กเลี้ยงของป๋าเปรมเอง รวมทั้งนายวิรัช วินิจกุล ก็เป็นพวกไม้ป่าเดียวกัน
แต่ด้วยในเดือนมิถุนายน 2549 มีการเตรียมงานราชพิธีสำคัญที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ทูลเชิญกษัตริย์ทั่วโลก ซึ่งมีประมาณ 28 ประเทศ มาร่วมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ที่ยาวนานที่สุดในโลกของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล เมื่อไม่มีรัฐบาลที่เป็นทางการ ความปั่นป่วนแห่งงานราชพิธีก็เกิดขึ้นอีก ราชสำนักจึงไม่มีทางเลือกจึงต้องเรียกทักษิณกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาทำงานฉลองครองราชย์ 60 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน
ทักษิณ ได้เดินทางกลับประเทศไทยตามพระราชดำรัสให้กลับมาจัดงาน หลังจากได้ยินเสียงกระซิบที่หูและได้เดินทางออกไปต่างประเทศตามเสียงกระซิบแล้ว เมื่อกลับมา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้จัดงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ภาพของประชาชนที่สวมเสื้อยืดสีเหลืองมากมายเต็มถนนสุดลูกหูลูกตา จากลานพระบรมรูปทรงม้ายาวไกลตลอดถนนราชดำเนินจนถึงสะพานผ่านฟ้า และท่ามกลางความปลาบปลื้มปิติยินดีของผู้คน ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่พระองค์ทรงพระเกษมสำราญและคงจะมีพระเมตตามองเห็นถึงความจงรักภักดีของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่แล้วขณะที่ความปิติยินดีของผู้คนยังไม่ทันจางหาย วันที่ 19 กันยายน 2549 ทหารก็ได้รับสัญญาณออกมายึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปมหานครนิวยอร์คเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสหประชาชาติ และพระเจ้าอยู่หัวก็ลงพระปรมาภิไธยรับรองความชอบธรรมของการยึดอำนาจ
การยึดอำนาจเช่นนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่?
พระองค์ได้เคยมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้พิพากษา สำนักงานยุติธรรมเมื่อ 25 เมษายน 2549 ว่า
“ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้”
กรณีการยึดอำนาจจะปรับเข้ากับพระราชดำรัสอย่างไร

6.16 ลอบฆ่า 3 ครั้ง - คาร์บอมคาร์บ้องของจริง!!

เมื่อเห็นว่าการกำจัดรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเพราะกลไกของระบบรัฐสภาและทหารก็ไม่กล้าเสี่ยงในเบื้องต้น เครือข่ายราชสำนักสายเหยี่ยว ก็ตัดสินใจกำจัดตัวทักษิณ แล้วอำนาจของรัฐบาลทักษิณก็ย่อมต้องพังทลายไปเองโดยสภาพ แล้วเหตุการณ์วางแผนลอบฆ่าทักษิณก็เกิดขึ้นจากคนร่วมสนทนา 2 คนซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดอย่างยิ่งทำการมอบงานให้กับพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี โดยจะใช้ปืนติดกล้องสแนปเปอร์ยิงจากระยะไกล โดยจุดแรกจะซุ่มยิง พ.ต.ท.ทักษิณ บนเวทีปราศรัยที่จังหวัดลำปาง ตามกำหนดการที่ทักษิณจะเดินทางกลับจากเชียงรายไปปราศรัยที่จังหวัดลำปางในระหว่างหาเสียงในเดือนมีนาคม 2549 แต่แล้วเปลี่ยนแผนเข้าจังหวัดเชียงใหม่จึงแคล้วคลาด ต่อมาจะซุ่มยิงจากธรรมศาสตร์ขณะที่ปราศรัยบนเวทีสนามหลวงในเวลาตอนหัวค่ำ แต่ปรากฏว่าทักษิณเห็นมวลชนกำลังคึกคักจึงขึ้นปราศรัยก่อนกำหนดเวลา ก็แคล้วคลาดอีก ล่าสุดจึงวางแผนถล่มทักษิณด้วยคาร์บอมบนเส้นทางที่ทักษิณออกจากบ้านไปทำงาน โดยเครือข่ายของ กอ.รมน. เป็นผู้รับงานโดยการควบคุมงานของพลเอกสนธิ ผบ.ทบ. แต่โชคดีที่เวลาเดินทางเกิดคลาดเคลื่อน และแผนรั่ว จึงถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยของนายกฯ ทักษิณ รวบตัวและของกลางคือรถยนต์ที่บรรทุกระเบิดพร้อมปฏิบัติงานเรียบร้อยแล้ว
ฝ่ายพันธมิตรฯ โดยหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และเครือข่ายราชสำนักพยายามจะบิดเบือนเรื่องนี้ว่าเป็นคาร์บ้อง มากกว่า คาร์บอม แต่แล้วจากหลักฐานพยานวัตถุ และพยานบุคคล ก็ชี้ชัด ทำให้อัยการไม่อาจจะเป่าสำนวนทิ้งได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในเงื่อนไขที่ทักษิณหมดอำนาจแล้วÙ จึงเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมั่นได้ว่ามีหลักฐานมัดแน่น
ในภายหลังการสืบข้อเท็จจริงว่าใครเป็นคนสั่งให้ลอบฆ่าทักษิณ ซึ่งมิใช่เกิดขึ้นครั้งเดียว ข้อมูลก็ถูกเปิดเผยในช่วงปลายปี 2551 ที่พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ผู้มีข่าวลือว่าเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารได้ไปพบเคลียร์ปัญหากันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประเทศจีนก็ปรากฏชัดว่าพลเอกเปรมและพลเอกสุรยุทธ ได้เรียกพลเอกพัลลภไปพบและมอบหมายงานให้กำจัดทักษิณ โดยกล่าวอ้างว่าเป็นความประสงค์ของเบื้องบนที่ต้องการจะล้มรัฐบาลทักษิณ และจะทำงานถวายให้พระองค์โดยจะไม่รับตำแหน่งใดๆ หลังการยึดอำนาจและการที่พลเอกพัลลภนำข้อมูลนี้ไปเปิดเผยให้ทักษิณทราบเพราะถือว่าพลเอกสุรยุทธผิดคำสัญญาที่ไปเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

6.17 ทักษิณขู่เปิดเทปแผนลอบฆ่า!!

การลอบฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก และเป็นที่สนใจของสำนักข่าวต่างประเทศ จึงขอนำคำกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารไทม์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกโดยตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 6 มีนาคม 2552 แปลเป็นไทย ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นข้อความทางประวัติศาสตร์ที่สมควรบันทึกไว้ว่า
“เคยมีการประชุมกันที่บ้านหลังหนึ่งบนถนนสุขุมวิท และหนึ่งในคนที่ร่วมประชุมนั้น ก็บอกกับผมทั้งหมด ผมยังมีเทปบันทึกอยู่เลยว่าพวกเขาคุยอะไรกัน ว่าจะกำจัดผมด้วยการลอบสังหาร หรือไม่ก็กำจัดผมผ่านกระบวนการศาล ผมรู้ว่าคนพวกนี้คือใคร ผมเคยคิดว่าจะเผยชื่อเหล่านั้น แต่ผมหวั่นว่าอาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ผมต้องระวังให้มาก ผมต้องกัดลิ้นตัวเอง และต้องยอมทนกับรสชาติของเลือดผมเอง”
ในที่สุดความอึมครึมของเหตุการณ์การยึดอำนาจโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 19 กันยายน 2549 ก็ถูกเปิดเผยตัวแสดงออกมาทั้งหมดว่ากระทำโดยเครือข่ายราชสำนัก โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีเป็นแกนนำในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ โดยมีการร่วมวางแผนกันที่บ้านของมล.ปีย์ มาลากุล อยู่ที่สุขุมวิท ประธานในที่ประชุมเป็นตัวแทนของพลเอกเปรม คือพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ และร่วมด้วยนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา, นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา (ปัจจุบันเป็นศาลรัฐธรรมนูญ), นายอัคราธร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด (ตัวเก็งคนแรกที่สำนักข่าว CNN ออกข่าวว่าจะเป็นนายกฯ หลังการยึดอำนาจ), นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักการเมืองรุ่นเก๋า แนวคิดสังคมนิยมแกนนำพันธมิตร, มล.ปีย์ เจ้าของบ้าน และพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ผู้เปิดเผยข้อมูลลับนี้
วันที่เปิดเผยข้อมูลลับนี้ถือได้ว่าเป็นวันประวัติศาสตร์คือ วันที่ 27 มีนาคม 2552 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมาที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแล้ว หลังจากนั้นตัวแสดงทุกตัวก็ออกมารับข้อเท็จจริงกัน แต่ใช้วิธีภาคเสธคือ รับครึ่งปฏิเสธครึ่งแต่ไม่อาจจะปิดบังความจริงได้อีกต่อไป เพราะเหตุการณ์ที่ศาลทำผิดกระบวนการยุติธรรมก็ดี, เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่กล้าดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับม็อบพันธมิตรก็ดี มันได้สอดรับกับเหตุการณ์การประชุมลับที่ถูกเปิดเผยออกมาทั้งหมดนี้
มล.ปีย์ มาลากุล ได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่ามีการประชุมดังกล่าวจริงที่บ้านของตน หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับศาลปกครองเมื่อ 25 เมษายน 2549 (ไทยรัฐ 30 มีนาคม 2552) แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเครือข่ายราชสำนักโดยอัตโนมัติ
รายละเอียดคำให้สัมภาษณ์โฟนอินของทักษิณ และคำสัมภาษณ์ของพล.อ.พัลลภ อยู่ในภาคผนวกท้ายเล่ม ซึ่งผู้สนใจควรต้องติดตามเพราะเหตุการณ์นี้จะเป็นกุญแจไขไปสู่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยย้อนหลังไปทั้งหมดที่แสดงบทบาทของราชสำนัก



6.18 องคมนตรีเปรม ปิดฉากนายกฯ ทักษิณ

เมื่อสิ้นสุดงานพระราชพิธีฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีที่ยิ่งใหญ่ท่ามกลางความปิติยินดีของพสกนิกร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ก็ได้ก้าวออกมาหน้าฉากในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง ซึ่งเป็นเสมือนประธานเครือข่ายราชสำนักได้แสดงตนส่งสัญญาณโค่นล้มพ.ต.ท.ทักษิณ ที่พึ่งเสร็จสิ้นจากการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเจ้าอยู่หัว โดยออกเดินสายกล่าวปาฐกถากับนักเรียน นายร้อยทั้ง 3 เหล่าทัพ และในวาระต่างๆ โดยส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ให้ทหารเคลื่อนพลออกมาทำรัฐประหารได้แล้ว เพื่อจะขับไล่อำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนรัก แต่ราชสำนักไม่ชอบ และนับแต่นั้นทุกองคาพยพ ตั้งแต่อาจารย์ ศาล ทหาร ตำรวจ พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และพันธมิตรฯ ก็ออกมาประสานเสียงล้มรัฐบาลทักษิณด้วยการรัฐประหาร
กลางเดือนกันยายนกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งได้รับสัญญาณแล้ว จึงเรียกชุมนุมใหญ่พร้อมจะปะทะให้เกิดเลือดตกยางออกในวันที่ 20 กันยายน 2549 เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ทหารยกกำลังออกมาทำการรัฐประหาร ด้วยเหตุผลที่ลวงโลกว่า “คนไทยจะแตกความสามัคคี” ทหารจึงต้องรีบสร้างความสามัคคี
แต่จากข่าวภายในเป็นที่รู้กันว่าจะมีกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ภายใต้การนำของพลโทสะพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3(ยศในขณะนั้น) จะถอดเครื่องแบบเป็นชาวบ้านแฝงตัวอยู่ในม็อบพันธมิตรฯ เพื่อก่อเหตุรุนแรง
ในขณะที่ทักษิณเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสหประชาชาติในนามตัวแทนของประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน 2549 และจะเดินทางกลับในวันที่ 20 กันยายน 2549 ซึ่งจะเป็นวันเคลื่อนพลของพันธมิตรฯ เพื่อก่อความรุนแรง(เพราะแต่เดิมรัฐบาลทักษิณรู้สถานการณ์ทางการเมือง จึงไม่ยอมให้เกิดการกระทบกระทั่งกับม็อบเลย) และในเย็นวันที่ 19 กันยายน นั้นเองก็เกิดการเคลื่อนพลของกองกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน
ในสภาพความเป็นจริงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ภาวะการเมืองจะมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมาก ประชาชนจะไม่สามารถมองเห็นความจริงทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาได้ และแม้แต่สื่อมวลชนเองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกความจริงตรงๆ ต่อประชาชนได้เช่นกัน ความจริงจึงดูได้จากผลที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะว่าใครกันแน่ที่จะสั่งทำการล้มระบอบประชาธิปไตย ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
- คณะผู้ยึดอำนาจใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”(คปค.) จากชื่อนี้ก่อให้เกิดความสับสนในต่างประเทศมากว่า คณะรัฐประหารชุดนี้มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มาก จึงรีบทำการแก้ไขเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ”(คมช.) และไม่ให้มีการใช้ชื่อเดิมเรียกขานอีกต่อไป
- พลเอกเปรม พาคณะรัฐประหารทั้งหมดเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวอย่างรวดเร็วเหมือนเตรียมการล่วงหน้าในกลางดึกของคืนวันที่ 19 กันยายน นั้นเอง
- คณะรัฐประหารหลังการยึดอำนาจได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลซึ่งบุคคลที่เข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคนใกล้ชิดราชสำนักทั้งสิ้น และที่สำคัญคือคนสนิทที่เคยทำงานกับพลเอกเปรมมาก่อนสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคนในสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษของพลเอกเปรม นับตั้งแต่พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งขณะดำรงตำแหน่งองคมนตรี และเป็นเสมือนบุตรบุญธรรมของพลเอกเปรมด้วย,นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์ รองนายกรัฐมนตรีผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นทั้งกระเป๋าเงินที่สนับสนุนพันธมิตรฯ และเป็นกระเป๋าเงินให้แก่พลเอกเปรม โดยพลเอกเปรมได้รับเงินเดือนในฐานะประธานที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯ มานานกว่า 20 ปี และอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีร่วมในคณะของพลเอกเปรมด้วย,นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอดีตลูกน้องผู้ใกล้ชิดพลเอกเปรม นายบัญญัติ จันเสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตเป็นผู้ว่าราชการกจังหวัดสงขลา เมื่อเกษียณอายุแล้วก็เป็นผู้ดูแลบ้านของพลเอกเปรมที่สงขลา เป็นต้น
- พลเอกเปรมเคยพูดต่อสาธารณะชื่นชมนายกฯ สุรยุทธ ว่าเป็นคนดี และทุกคนที่ช่วยเหลืองานในภาคใต้ของมูลนิธิรัฐบุรุษ ก็ล้วนแต่ได้ดีหมด
- นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติ ก็เป็นลูกน้องคนสนิทของพลเอกเปรม และเคยเป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีร่วมในคณะรัฐบาลเปรมหลายครั้งรวมตลอดถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติ ส่วนข้างมากที่ได้รับแต่งตั้งก็ล้วนแต่เป็นแกนนำพันธมิตรฯ ผู้อยู่ล้อมรอบนายสนธิ ลิ้มทองกุล และเป็น NGO ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ และโดยเฉพาะ NGO บางองค์กรที่อยู่ในโครงการพระราชดำริ รวมทั้งอธิการบดี และอาจารย์ มหาวิทยาลัย และข้าราชการ สำนักนายกฯ ในรัฐบาลทักษิณ เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายพิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับสัญญาณจากพลเอกเปรม ให้ลาออกจากรัฐบาลทักษิณ เพื่อทำลายความชอบธรรมของทักษิณ และรู้ภายหลังว่าทั้ง 2 คนนี้ เป็นญาติคู่เขยกัน และเป็นคนสงขลา จังหวัดฐานที่มั่นของพลเอกเปรม
- นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ประธานยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็คือลูกน้องใกล้ชิดพลเอกเปรมและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนของพันธมิตรฯ อย่างใกล้ชิด
- นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกาผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นองคมนตรี และได้กลายเป็นศาลที่รับใช้อำนาจการเมืองอย่างเปิดเผยเริ่มตั้งแต่ได้เข้าไปมีบทบาทจัดการกับ กกต. โดยผ่านการประสานงานของนายไพโรจน์ วรานุช เด็กในบ้านเปรมซึ่งเป็นผู้พิพากษา และเป็นรองเลขานุการประธานศาลฎีกา โดยพลเอกเปรมมีคำมั่นสัญญาว่าจะแต่งตั้งให้นายชาญชัยเป็นองคมนตรีเมื่อเกษียณอายุแล้ว แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ก็ได้รับการปูนบำเหน็จโดยแต่งตั้ง ให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และมีบทบาทสำคัญผ่านนาย จรัล ภักดีธนากุล เลขานุการประธานศาลฎีกา ที่กระโดดข้ามห้วย จากผู้พิพากษามาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมทำงานร่วมกับนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ เพื่อมาดำเนินการทางกฎหมายทำลายทักษิณ และเป็นแกนนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตามความต้องการของราชสำนัก และสุดท้ายนายชาญชัย ก็ได้รับโปรดเกล้าเป็นองคมนตรีได้จริงๆ
หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นการยืนยันชัดเจนถึงอำนาจปกครองของราชสำนักด้วยวิธีการบริหารจัดการที่ซับซ้อน ผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ และเครือข่ายราชสำนัก แต่การดำเนินการกำจัดรัฐบาลทักษิณที่ไม่พึงประสงค์นี้ มีความยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งกว่ารัฐบาลใดๆ ไม่ใช่เป็นเพราะเครือข่ายราชสำนักไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นเพราะราชสำนักเสื่อมบารมี แต่ตรงข้ามกัน เครือข่ายราชสำนักมีประสิทธิภาพมาก ราชสำนักมีบารมีอย่างล้นพ้นและเข้มแข็ง แต่ที่ยุ่งยากเป็นเพราะทักษิณเป็นตัวแทนของทุนสมัยใหม่ และเป็นกลุ่มทุนในยุคโลกาภิวัตน์ ที่เส้นสายความสัมพันธ์ทางธุรกิจกว้างขวาง สัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปของหุ้นส่วนซึ่งซับซ้อนซึ่งแตกต่างจากอดีตนายกฯ ที่มาจากทหารที่เป็นเพียงขุนนางในโครงสร้างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ไม่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจผูกโยงมากนัก โดยเฉพาะการผูกโยงกับทุนต่างประเทศ ดังนั้นเมื่ออดีตนายกฯ ที่เป็น ขุนนางต้องพ้นจากตำแหน่งก็หมดฤทธิ์เดชทันที แต่กรณีของทักษิณนี้จึงยุ่งยากมากกว่า และที่ก่อปัญหายุ่งยากจนจะส่งผลสะเทือนต่อระบอบอำนาจของราชสำนักในอนาคตก็คือ ความกล้า และความบ้า ของทักษิณ ซึ่งอยู่ในช่วงกระแสประวัติศาสตร์ของการใกล้เปลี่ยนรัชกาลพอดี ดังนั้นการแสดงอำนาจของราชสำนักจึงอยู่ในภาวะอันตรายที่สุด และสถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นก็จะพิสูจน์ให้เห็นสัจธรรมแห่งประวัติศาสตร์


6.19 กราบแผ่นดินสุวรรณภูมิคือกราบกษัตริย์

หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2551 เมื่อสมัครได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อต้นปี 2552 ทักษิณก็เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ ทันทีที่เหยียบสนามบินสุวรรณภูมิ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ก้มลงกราบแผ่นดินซึ่งภาพนี้ได้ถูกตีพิมพ์ไปทั่วโลก แต่ไม่มีใครรู้ว่าในใจของพ.ต.ท.ทักษิณคิดอะไร แต่จากแวดวงคนใกล้ชิดได้เปิดเผยให้ทราบว่า ภาพนั้นต้องการสื่อความหมายถึงราชสำนักว่า
“ข้าพเจ้าขอกราบบังคมแทบเบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระบรมราชานุญาตอาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้เยี่ยง พสกนิกร”
แต่ทักษิณก็ไม่อาจจะอาศัยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารได้เฉกเช่นปรีดี พนมยงค์ และนายป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่ต้องจบชีวิตในต่างประเทศ แต่ต่างกันว่าขณะนี้พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีชีวิตอยู่และประวัติศาสตร์บทนี้ยังเขียนไม่จบ
ใครจะเป็นผู้เขียน
Ù สถานีโทรทัศน์ ฟรีทีวี เป็นแหล่งผลประโยชน์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกรรม แต่มีกฎหมายผูกขาดไว้ให้มีอยู่ได้เพียงแค่ 6 ช่องเท่านั้น คือ ช่อง 3,5,7,9,11 และไอทีวี ซึ่งตลาดขนาดของประชากร 63 ล้านยังไม่เพียงพอ

Ù นายสุรพล นิติไกรพจน์ ได้แสดงบทบาททางสาธารณะชัดเจน ในฐานะเครือข่ายราชสำนักคนหนึ่งในการที่จะโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ โดยเป็นคนแรกที่เสนออย่างมีน้ำหนักในฐานะนักกฎหมาย และอธิการบดี ว่าให้นำคนนอกมาเป็นนายกฯ โดยใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ขอพระราชทานนายกฯ จากพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

Ù ทักษิณ ได้กล่าวประนาฌในความหมายว่าพวกเอ็น จี โอ นั้น โดยเนื้อแท้คือไม่ต้องการให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนเพราะจะทำให้เอ็น จี โอ หมดอาชีพ ไม่สามารถจะเรี่ยรายเงินบริจาคจากในประเทศ และต่างประเทศเพื่อมาช่วยเหลือคนจนได้ จึงถากถางกลุ่มเอ็น จี โอ ว่าเป็น “ขบวนการค้าความจน” ซึ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นมาก

Ù พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ได้เป็นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศโดยพลเอกเปรม ต่อรอง โดยบีบให้นายกทักษิณเปลี่ยนโผ หลังจากที่ผ่านกระบวนการสรรหา และนายกฯ ลงนามเสนอทูลเกล้าแล้วด้วย ซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งประเด็นสำคัญระหว่างเปรม และ ทักษิณ ประเด็นหนึ่งในช่วงปี 2548-2549

Ù 19 ล้านเสียงวัดจากคะแนนที่ประชาชนหย่อนบัตรเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อโดยตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ทั้งประเทศเป็น 1 บัญชีรายชื่อ โดยมีหมายเลขเดียว ในกรณีพรรคไทยรักไทยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าคณะของบัญชีรายชื่อ,ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ราชสำนักสั่งให้แก้ไขในรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้บัญชีรายชื่อแบ่งเป็น 8 เขต เพื่อไม่ให้การลงคะแนนของประชาชนรวมศูนย์สร้างความชอบธรรมอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี

Ù ระบอบทักษิณ ในความหมายของเครือข่ายราชสำนักหมายถึง นโยบายประชานิยม และแนวคิดการปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพเพื่อผลักดันให้สังคมไทยก้าวจากประเทศด้อยพัฒนาที่ทำตัวเหมือนขอทาน ชอบแต่จะขอความช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยไปสู่ประเทศที่ทันสมัยไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนและไทยเป็นประเทศหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกับนานาประเทศ เมื่อต่างประเทศเชื่อมั่น ผลกำไรจากการค้าจะได้มากกว่าเงินบริจาค และสุดท้ายเมื่อทำลายรัฐบาลทักษิณแล้ว พรรคประชาธิปัตย์โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็นำแนวคิดของระบอบทักษิณที่เคยโจมตีมาใช้อีกเช่นกัน
ÙÙ เป็นคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำเสนอในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 ภายใต้การนำของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรค และต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่าจนนายบัญญัติ ลาออก เปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และเดินเกมส์ร่วมกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล อย่างเปิดเผย

Ù นายเนวิน ชิดชอบ และนายอนุทิน ชาญวีรกูร รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีทักษิณ ที่มีความใกล้ชิด และซื่อสัตย์ต่อทักษิณโดยเฉพาะนายเนวิน ชิดชอบ ถึงขนาดหลั่งน้ำตา เมื่อทราบผล ทักษิณ ต้องออกจาวงการการเมือง แต่ล่าสุดเมื่อปลายปี 2551 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง กรณีพันธมิตรฯ สร้างความวุ่นวาย กดดันให้เปลี่ยนขั้วอำนาจก็เป็น 2 แกนนำที่แปรภักดิ์พาพวก ส.ส. หนีจากทักษิณ ไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551

Ù นายอัคราธร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครอง ผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นชื่อแรกที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่เกิดการรัฐประหารโดยสำนักข่าว CNN ตีข่าวออกทั่วโลกซึ่งเป็นการยืนยันว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย แต่เป็นความหวาดกลัวของราชสำนักที่ในภาวะวิกฤตของการจัดอำนาจทางการเมืองที่หัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจก็เป็นมุสลิม นายกฯ ก็จะเป็นมุสลิมอีก ด้วยเหตุนี้จึงหลุดและเปลี่ยนเป็น พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความใกล้ชิดระหว่างการยึดอำนาจ กับราชสำนักมากยิ่งขึ้น และเป็นผู้ที่ถูกทักษิณกล่าวโฟนอินพาดพิงเมื่อ 27 มีนาคม 2552 ว่ามีส่วนร่วมวางแผนกับพลเอกสุรยุทธ ในการยึดอำนาจที่บ้านของมล.ปีย์ มาลากุล ที่ถนนสุขุมวิท

Ù การสั่งฟ้องคดีลอบฆ่านายกฯ ทักษิณ ด้วยวิธีคาร์บอม อัยการสั่งฟ้องหลังการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ล้มอำนาจทักษิณแล้ว และอยู่ในอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ คมช. ขณะที่ทักษิณต้องลี้ภัยในต่างประเทศ

No comments:

Post a Comment