Wednesday, May 13, 2009

บทที่ 8 สถานการณ์ใหม่การเมืองไทย ขบวนการประชาชน “นาโน”

บทที่ 8
สถานการณ์ใหม่การเมืองไทย
ขบวนการประชาชน “นาโน”

โดยโครงสร้างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่นี้ ได้ขัดขวางพัฒนาการทางการผลิต ท่ามกลางกระแสการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของรัฐในระบบทุนนิยมโลก และโลกกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นการส่งสัญญาณการปรับตัวครั้งใหญ่ ประกอบกับไทยได้เกิดสถานการณ์พิเศษที่ใกล้เวลาของการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินยิ่งก่อให้เกิดภาวะวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจหนักยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อกระแสวิกฤตเศรษฐกิจทางสากลไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทย บรรจบกับวิกฤตการเมืองในประเทศเช่นนี้ การเผชิญหน้าระหว่างราชสำนักกับขบวนการประชาชนที่มีลักษณะ “นาโน” จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แต่จะจบอย่างไร นั่นคือบทท้าทายของผู้เฝ้าสังเกตการณ์




8.1 กษัตริย์บริหารรัฐ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐ

The king can do no wrong กษัตริย์ไม่อาจจะกระทำผิดได้
ในโลกปัจจุบันคำกล่าวนี้ยังเป็นความถูกต้องอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นประเทศอังกฤษ สวีเดน ญี่ปุ่น แต่พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นประมุขที่เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งรัฐ ทำหน้าที่การเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐ มิได้ลงมาสู่การบริหารจัดการรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นจริงของประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลในโครงสร้างของระบบพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่มีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลอยู่เสมอ ตามเหตุผลและเงื่อนไขของสถานการณ์ทางสังคมในแต่ละช่วงเวลา แต่พระมหากษัตริย์ของไทยมิได้อยู่ในฐานะเช่นนี้ หากแต่ทรงมีพระราชอำนาจเต็มเปี่ยมในการบริหารรัฐด้วยพระองค์เองทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เช่น บริหารงานในรูปแบบโครงการหลวงที่มีอยู่หลายร้อยโครงการ และโครงการในสมเด็จพระราชินี เช่น โครงการดอยคำ โครงการศูนย์ศิลปาชีพ รวมทั้งโครงการในเครือราชสำนักทั้งหมดที่พระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าหลานเธอ และพระวรชายาทรงเป็นผู้บริหารจัดการหาผลประโยชน์กันเองทุกพระองค์ เช่น โครงการ to be number one ของฟ้าหญิงอุบลรัตน์ โครงการแฟชั่นระดับโลกของพระองค์เจ้า ศิริวรรณวลี รวมตลอดถึงการเปิดร้านค้าสวนจิตรลดา ,ร้านภูฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ และที่ต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งมีทั้งที่เป็นผลประโยชน์ส่วนพระองค์ และผลประโยชน์ของรัฐ ด้วยเงินลงทุนและเงินเดือนผู้ประกอบการ ล้วนแต่เป็นเงินงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชน รวมทั้งการบริหารงานรัฐของราชสำนักที่ทำผ่านรัฐบาล ทั้งที่สั่งการโดยตรง และกำกับดูแลรัฐบาลอยู่ข้างหลัง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นนายกรัฐมนตรีทุกคนที่ต้องเทียวเข้าเฝ้ารายงานการบริหารงานรัฐของรัฐบาลอยู่เป็นประจำ และปัจจุบันได้พัฒนาเข้มแข็งถึงขั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติตามแนวนโยบายเศรษฐกิจหลักของราชสำนัก คือนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง โดยบัญญัติชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 83 อยู่ในหมวดที่ 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องเดินตามแนวทางของราชสำนัก และหากรัฐบาลจะดื้อโดยนำเสนอแนวนโยบายที่แตกต่างไปจากนี้ คณะรัฐมนตรีทุกคนก็จะมีความผิด และถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ แต่จากอำนาจบริหารเต็มเปี่ยมของราชสำนักเช่นนี้ ก็ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยหลักการว่า The king can do no wrong
เมื่อมีอำนาจบริหาร และก็ทำการบริหารด้วย แต่ยังยึดถือหลักกษัตริย์ไม่ต้องรับผิดเช่นนี้ จึงกลายเป็นช่องว่างของอำนาจบริหารที่จะกระทำอย่างไรก็ได้ตามพระราชประสงค์ โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายใดๆ รวมตลอดทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารอำนาจนั้น คือประชาชนทุกคน ก็ไม่อาจจะกล่าวตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะมีกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติรองรับหลักการ The king can do no wrong ไว้ด้วย
อำนาจราชสำนักที่ทำการบริหารรัฐในโครงสร้างประชาธิปไตย จึงหาผู้รับผิดชอบใดๆ ไม่ได้หากมีความเสียหายเกิดขึ้น
เวรกรรมจึงตกหนักที่รัฐบาลและประชาชน
ด้วยช่องว่างแห่งอำนาจ หรือการใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เช่นนี้จึงเกิดเหตุการณ์วิปริตทางการเมืองในช่วงวิกฤตการเมืองนับแต่ปี 2548 จนถึงปี 2552 เมื่อราชสำนักเกิดไม่พอใจ ตัวนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมา ก็ส่งสัญญาณโดยตรงไปที่ผู้พิพากษา โดยมีพระราชดำรัสกับศาลที่เข้าเฝ้าเมื่อ 25 เมษายน 2549 จนเกิดการกระทำนอกอำนาจของศาลปกครอง และกระบวนการยุติธรรม มีการสั่งให้การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะจนเกิดความปั่นป่วนทางการเมือง ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 รวมตลอดถึงการเกิดม็อบเส้นใหญ่ออกมาขับไล่รัฐบาลนายสมัคร และรัฐบาลนายสมชายอย่างต่อเนื่อง โดยกระทำผิดกฎหมายอย่างอุกอาจ ตั้งแต่ยึดถนน ยึดทำเนียบรัฐบาล จนถึงยึดสนามบิน ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการใดๆ ได้ จึงกลายเป็นสิ่งแปลกประหลาดในโลกการเมืองสมัยใหม่ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการเรียกอย่างยกย่องว่า “ปรากฏการณ์สนธิ” ซึ่งได้ส่งผลต่อความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตของประชาชนในปัจจุบันและในอนาคต ตราบเท่าที่โครงสร้างการปกครองของไทยยังเป็นเช่นนี้ ดังนั้นการปฏิวัติโค่นล้มโครงสร้างการปกครองรัฐไทยเก่า เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

8.2 แผ่นดินนี้เป็นของกษัตริย์ ประชาชนคือผู้อาศัย

เมื่อเนื้อแท้ของโครงสร้างการปกครองเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช กลไกของรัฐต่างๆ ตั้งแต่กองทัพ ศาล ทหาร ตำรวจ ก็ต้องตอบสนองต่ออำนาจเบื้องบนทั้งหมด ทั้งกฎหมายที่บังคับ และวัฒนธรรมความเชื่อที่ครอบงำความคิดว่ากษัตริย์ คือผู้มีบารมีมาเกิด หากขาดพระองค์ท่านแล้ว สังคมไทยจะล่มสลาย และสิ่งสำคัญที่สุดที่บ่งชี้ถึงพระราชอำนาจของราชสำนักก็คือ งบประมาณแผ่นดินที่เก็บภาษีจากประชาชนทั้งหมดนั้นก็คือเป็นหน้าที่ของประชาชนเท่านั้นที่จะต้องจ่ายเงินภาษี, ส่วนพระองค์จะใช้เงินภาษีนั้นอย่างฟุ่มเฟือยอย่างไรเป็นเรื่องของพระองค์ ประชาชนไม่มีสิทธิโต้แย้งแม้แต่คิดก็ติดตะรางได้ ดังนั้นการเก็บภาษีของรัฐไทยวันนี้จึงคล้ายการเก็บส่วยในสมัยโบราณที่กษัตริย์เป็นผู้เก็บ โดยกษัตริย์และพระราชวงศ์ไม่ต้องเสียภาษีรายได้และจะนำภาษีไปใช้ได้ตามอำเภอใจ เพราะรัฐนี้เป็นของพระองค์
หลักฐานทางการเมืองที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ยืนยันถึงหลักการว่ารัฐนี้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระองค์ ประชาชนเป็นเพียงลูกจ้างเสมือนทาส ซึ่งถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้วก็คือ การพิจารณางบประมาณแผ่นดิน และการติดตามการใช้งบประมาณของราชสำนัก และโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริ ทั้งที่บริหารจากราชสำนักโดยตรง และบริหารผ่านกระทรวงที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชนในการบริหารจัดการนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ไม่มีสิทธิอภิปรายความเหมาะสมว่าถูกหรือแพง ควรทำหรือไม่ควรทำรวมตลอดทั้งไม่มีสิทธิที่จะทำการตรวจสอบได้ว่ามีการทุจริตในชั้นการประมูลงานและการจัดจ้างหรือไม่ โครงการพระราชดำริบางโครงการที่ใช้ทรัพยากรของรัฐ มีกำลังคนและใช้งบประมาณต่อปียิ่งใหญ่กว่ากระทรวงบางกระทรวงเสียอีก
ไม่เพียงแต่เท่านั้น แม้แต่ทรัพย์สินทั้งหลายที่ประชาชนทำมาหาได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองนั้น โดยปรัชญาแห่งราชสำนักที่ผู้คนในวังได้บอกกล่าวเล่าขานกันนั้นถือว่า ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพย์สินของพระองค์ทั้งสิ้น เพราะแผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ ประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ดังนั้นการปลูกข้าว และผลผลิตทั้งหลายที่เกดขึ้นจากการทำกินบนแผ่นดินนี้ จึงล้วนแล้วแต่เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น
การยึดทรัพย์สินของทักษิณ 70,000 กว่าล้านบาทที่หามาได้ก่อนเข้าสู่วงการเมืองนั้น แม้มิได้เกิดจากการคอร์รัปชั่น,ไม่ผิดกฎหมาย ก็ยึดได้เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินของพระองค์ เมื่อเป็นความประสงค์ของพระองค์ก็ย่อมกระทำได้
ปรัชญาของราชสำนักเป็นปรัชญาที่ย้อนยุคและยากที่คนในยุคปัจจุบันจะเข้าใจได้ ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549, การยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน, ยึดอำนาจรัฐบาลสมัคร, ยึดอำนาจรัฐบาลสมชาย รวมถึงการยึดทรัพย์สิน 70,000 กว่าล้านบาทของทักษิณทั้งๆ ที่ไม่มีคำพิพากษาใดๆ ตัดสินว่าทักษิณกระทำการทุจริตเลยนั้น ซึ่งคนทั้งโลกเห็นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่มีเหตุผลแต่สำหรับประเทศไทยถือว่าชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุผลเพราะแผ่นดินนี้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระองค์ ความประสงค์ของพระองค์จึงถูกต้อง
ประชาชนเป็นเพียงผู้อาศัยจึงไร้สิทธิ์

8.3 การเมืองปลายรัชกาลกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลง

อำนาจการเมืองรวมศูนย์อยู่ที่ไหน ผลประโยชน์ของรัฐก็จะรวมศูนย์อยู่ที่นั่น รวมตลอดทั้งกำลังพลก็จะรวมศูนย์รับใช้อำนาจอยู่ ณ ที่นั้นด้วย เพราะยศถาบรรดาศักดิ์ อาหารการกิน ความสมบูรณ์พูนสุข เป็นเป้าหมายของมนุษย์ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย อำนาจรัฐเป็นเรื่องสมบัติผลัดกันชม แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอำนาจรัฐเป็นทรัพย์สมบัติของกษัตริย์ที่ไม่อาจจะผลัดให้ใครมาชมได้ เมื่อครองอำนาจแล้วต้องครองต่อไป ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่งเหมือนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งพระมหากษัตริย์ของไทยองค์ปัจจุบันมีทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์มากถึง 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลกด้วยแล้ว พระราชอำนาจของท่านจึงยิ่งใหญ่ เมื่อใกล้การผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน พระองค์ใดจะขึ้นมาครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 จึงเป็นเรื่องที่โลกต้องจับตามอง และสำหรับข้าราชบริพารทหาร ตำรวจ ที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายย่อมมีเดิมพันทางผลประโยชน์ผูกพันไปกับสายเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งด้วย
ด้วยสังคมไทยมีกฎหมาย และวัฒนธรรมโบราณที่ปิดกั้นการคิด และการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติของราชสำนักด้วยแล้ว เรื่องราวการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้านายพระองค์ใดมีความเหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์จึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ความเป็นจริงก็ไม่อาจจะปิดกั้นความคิดของชาวบ้านได้ เรื่องราวราชสำนักจึงกลายเป็นเรื่องซุบซิบกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า “รัชกาลที่ 10 จะเป็นฟ้าชาย หรือสมเด็จพระเทพ?” แต่วันแล้ววันเล่า พสกนิกรก็เฝ้าที่จะชื่นชมบารมีด้วยใจจดจ่ออย่างเงียบๆ แต่ก็ไม่มีหมายกำหนดการ ทั้งๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลก็ทรงพระเจริญในพระชนมายุมากแล้ว และก็ทรงประชวรอยู่บ่อยครั้งตามที่เป็นข่าว แต่ก็ยังไม่มีข่าวที่พสกนิกรเฝ้ารอ ในที่สุดก็ซุบซิบกันต่อจนมีข้อสรุปตรงกันว่าราชสำนักคงมีปัญหาไม่ลงตัวในการผลัดเปลี่ยนรัชกาลอย่างแน่นอน ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในระบอบรัฐสภา ซึ่งก็มีความขัดแย้งช่วงชิงผลประโยชน์กันเป็นปกติอยู่แล้ว เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น ตามสภาพความไม่ลงตัวของราชสำนักนั้นด้วย เพราะผู้นำของพรรคการเมืองก็ต้องหูตาไว คอยเกาะติดข่าวกับข้าราชบริพารในสำนักพระราชวัง รวมถึงองคมนตรีด้วย
ด้วยเหตุที่อำนาจการเมืองที่แท้จริงรวมศูนย์อยู่ที่ราชสำนัก ดังนั้นถ้าใครเกาะผิดสาย หรือตกขบวนรถไฟก็หลุดอำนาจทางการเมืองทันที ดังนั้นเหตุการณ์ทางการเมือง ที่นายทหารใหญ่ ตำรวจใหญ่ ทั้งหลาย มุ่งแต่จะฟังคำสั่งจากพลเอกเปรมมากกว่าจะปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตามกฎหมาย ก็เพราะเชื่อมั่นว่าพลเอกเปรมเป็นผู้ใกล้ชิดทั้งกษัตริย์ และราชินี ซึ่งจะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10
จากสภาพการเมืองปลายรัชกาล และความไม่ลงตัวของราชสำนักเช่นนี้จึงเกิดความวิตกกังวลต่อการสืบต่ออำนาจของราชวงศ์ ด้วยเกรงว่าจะเกิดการแย่งชิงอำนาจกันจนเป็นเหตุให้ราชวงศ์สิ้นสุดเพียงแค่ 10 รัชกาล ยิ่งมีคำทำนายโบราณของสมเด็จพุฒาจารย์ที่มีมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ โดยพยากรณ์เป็นปริศนาว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ในแต่ละรัชกาล และสิ้นสุดเพียง 10 รัชกาล จึงกลายเป็นความวิตกอย่างยิ่งของราชสำนักตามคำทำนาย ดังนี้
มหากาฬ(รัชกาลที่ 1) ,ภาณยักษ์(รัชกาลที่ 2) ,รักษ์บัณฑิต (รัชกาลที่ 3) ,สถิตย์ธรรม(รัชกาลที่ 4) ,จำแขนขาด(รัชกาลที่ 5), ราชโจร (รัชกาลที่ 6) ,นนทุกข์(รัชกาลที่ 7) ,ยุคทมิฬ(รัชกาลที่ 8), ถิ่นกาขาว (รัชกาลที่ 9) ,ชาวศิวิไลย์(รัชกาลที่ 10)
จากคำพยากรณ์นี้ได้มีการตีความกันว่าราชวงศ์จักรีจะมีเพียง 10 รัชกาลเท่านั้น เพราะเมื่อถึงยุคชาวศิวิไลย์แล้วทุกอย่างก็เจริญรุ่งเรืองไม่ต้องมีกษัตริย์ปกครองอีกต่อไป และที่สังคมไทยมีความเชื่อมากยิ่งขึ้นเพราะคำทำนายนี้ได้บอกเหตุการณ์สำคัญๆ ในแต่ละรัชกาลถูกต้อง อาทิเช่น รัชกาลที่ 1 มีความยากลำบากต้องเผชิญสงครามกับพม่า จึงเรียกว่าเป็นยุคมหากาฬ ,ส่วนรัชกาลที่ 2 นั้นทำนายว่าจะเป็นผู้ที่ทรงความรู้ก็เป็นจริง เพราะพระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ ,ในรัชกาลที่ 3 ก็ทำนายว่าเป็นยุคที่บัณฑิตเฟื่องฟู ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีความเจริญรุ่งเรือง มีการสร้างวัดวาอาราม แต่งสำเภาไปค้าขายต่างประเทศ และทำนายว่ารัชกาลที่ 4 สถิตธรรมก็มีส่วนจริง เพราะก่อนขึ้นครองราชย์รัชกาลที่ 4 ก็ทรงผนวช และเป็นผู้สร้างนิกายศาสนาพุทธขึ้นอีกนิกายหนึ่งคือนิกายธรรมยุติ,รัชกาลที่ 5 จำแขนขาด ก็หมายถึงการเสียดินแดนก็เป็นจริง ,รัชกาลที่ 6 ก็มีการใช้เงินหมดพระคลัง ,รัชกาลที่ 7 ก็ต้องรับภาระ เพราะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง และต้องสละราชสมบัติเหมือนนนทุกข์ ซึ่งเป็นตัวละครในรามเกียรติ์ ,รัชกาลที่ 8 ก็ถูกลอบปลงพระชนม์สมกับเป็นยุคทมิฬ ส่วนรัชกาลที่ 9 ก็ตีความหมายกันมากมายว่ามีฝรั่งผิวขาวเข้ามาในประเทศมาก บางสำนักก็ตีความว่าเป็นยุคแห่งความผิดปกติวุ่นวายผิดธรรมชาติ เพราะธรรมชาติอีกาต้องสีดำ แต่อีกากลับกลายเป็นสีขาวหมด และเมื่อถึงรัชกาลที่ 10 ก็จะกลายเป็นยุคแห่งความเจริญคือชาวศิวิไลย์ ซึ่งวันนี้ก็เห็นแล้วว่าใกล้จะเป็นจริง เพียงแต่มีกระบวนการของราชสำนักที่จะเหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดความเจริญขึ้นด้วยการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนทำงานแต่พออยู่พอกิน ไม่เน้นการผลิตที่ก้าวหน้าทันสมัย และไม่เน้นการเก็บระบบภาษีที่ก้าวหน้าจากคนรวยเพื่อมาเฉลี่ยสุขให้แก่คนจน เพราะจะกระทบผลประโยชน์ของราชสำนัก ดังนั้นการเหนี่ยวรั้งสังคมเช่นนี้ในภาวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนยากจนอดอยาก จึงบ่งบอกถึงการจะเกิดปฏิวัติใหญ่ในประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ยุคชาวศิวิไลย์
ความวิตกกังวลของราชสำนักได้ถูกกระพือโหมจากพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มบุคคลที่เสียผลประโยชน์ทางการเมืองจากนโยบาย และความนิยมของประชาชนที่มีต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้ราชสำนักเกิดความตื่นกลัวแล้วมาสนับสนุนพวกของตนที่จะเอาชนะทักษิณด้วยวิธีการนอกกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการวางแผนช่วงชิงอำนาจทางการเมืองด้วยวิธีการที่นอกระบอบประชาธิปไตยโดยการแสดงตัวเป็นผู้จงรักภักดีต่อราชสำนัก และใส่ร้ายว่าทักษิณคิดการใหญ่จะสถาปนาสาธารณรัฐ เพื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีเอง และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ก็มีผู้ใกล้ชิดพลเอกเปรม เช่น นายโสภณ สุภาพงศ์ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพรรคพวกออกมาระบุรายละเอียดว่าทักษิณได้ร่วมปรึกษาหารือกับอดีตแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งปะเทศไทย ที่เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาหัวรุนแรง เช่น นายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ และนายภูมิธรรม เวชชยะชัย ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยจัดทำเป็นเค้าโครงเรียกว่า “ปฏิญญาฟินแลนด์” เพื่อล้มราชวงศ์ แต่ก็ถูกตอบโต้จากนายภูมิธรรมและพวกทำการฟ้องร้องคดีต่อศาลในข้อหาหมิ่นประมาท และแม้ศาลจะตัดสินนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวก ว่ามีความผิด แล้วแต่กระแสข่าวก็ยังไม่หยุด ล่าสุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แม้จะดำรงตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ยังใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างเปิดเผยในการตอบกระทู้ในสภาเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการจะเป็นประธานาธิบดี”
การใส่ร้ายป้ายสีเพื่อช่วงชิงอำนาจการเมืองจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กระทำกันอย่างเป็นระบบโดยเครือข่ายราชสำนัก จนในที่สุดก็เกิดการช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาลทักษิณเป็นผลสำเร็จ แต่ก็กลายเป็นจลาจลวุ่นวายทางการเมืองของไทยนับแต่การยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาจนถึงจลาจลการยึดสนามบิน และสงครามประชาชนเสื้อเหลือง เสื้อแดงที่คุกรุ่นขึ้นจนถึงทุกวันนี้
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันได้ถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นผลจากภาวะการเมืองปลายรัชกาล โดยมีพลเอกเปรมเป็นผู้ใช้อำนาจอันมิชอบนี้ ก็คือการเปิดเผยข้อเท็จจริงของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่รู้ปัญหาเต็มอกแต่ยากที่จะเปิดเผยอย่างหมดเปลือกต่อสาธารณะชนได้ก็คือ คำให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน ที่ญี่ปุ่น ว่า
“ อาซาฮี : คุณมีความเห็นยังไงกับรัฐบาลใหม่ของไทย ทักษิณ : พรรคประชาธิปัตย์ได้อำนาจจากเสียงส่วนใหญ่ ด้วยการสนับสนุนจากศาล จากกองทัพ และคณะองคมนตรี สาเหตุที่พวกเขาเรียกร้องให้ผมเลิกยุ่งกับการเมืองไทย ก็เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าจะกุมอำนาจได้ ถ้าผมยังยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผมเชื่อว่า จริงๆ แล้วกองทัพและคณะองคมนตรีนั่นแหละที่ต้องเลิกยุ่งกับการเมือง
อาซาฮี : คุณยังจะสู้ต่อหรือเปล่า
ทักษิณ : ผมกำลังจะอายุครบ 60 ปี ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ผมอยากจะใช้ชีวิตอย่างสงบ และหวังว่า จะได้เห็นความสมานฉันท์อีกครั้งในหมู่คนไทย แต่ผมยังไม่ได้รับข้อเสนออะไรจากรัฐบาล หรือกลุ่มต่อต้านทักษิณว่า ต้องการจะเจรจา ผมยังตายไม่ได้ก่อนที่จะพิสูจน์ว่าผมไม่ได้รับความยุติธรรม และผมเชื่อว่า กลุ่มผู้สนับสนุนผมจะสู้กับพวกเขาต่อ แม้ว่าผมจะตายไปแล้วที่นี่”
(คัดจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11276)

หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ให้สัมภาษณ์สดทางโทรทัศน์ DTV เช้าวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม 2552 เวลา 10.00 น. ความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ไม่ว่าจะต่อสู้บนนรกหรือสวรรค์ก็จะต่อสู้ ถ้าไม่คืนความเป็นธรรมให้ก็จะไม่มีวันหยุดเคลื่อนไหว ซึ่งทุกวันนี้มีความพยายามดำเนินคดีและรังแกตนเองทุกอย่าง แล้วอย่าคิดว่าจะส่งคนมาฆ่าตนที่ต่างประเทศ เพราะถึงตายก็ไม่หยุดแน่ ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ เพราะมีผู้ระแวงว่าตนเองไม่จงรักภักดี…........ผมขอยืนยันว่าตนเองจงรักภักดีมากที่สุดคนหนึ่ง อย่ามาหาเรื่องกัน สมมติฐานนี้ผิดก็ควรทำสมมติฐานให้ถูก ความไม่จงรักภักดีที่ผมถูกกล่าวหาก็จะได้รับการแก้ไข ผมขอเรียกร้องว่าขอให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เริ่มต้นใหม่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา ในชีวิตผมเองได้รับพระราชทานอะไรมามากมาย ผมมีความกตัญญู หวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อใช้กรรมที่เกิดขึ้นในชาติที่แล้วหมด ต่อไปก็คงจะโชคดี ได้รับกรรมดีกลับมารับใช้แก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนถ้าพรรคพวกได้เป็นรัฐบาล”

8.4 ยุบพรรคตัดสิทธิ์ วิกฤตสังคม - ระบบพิกลพิการ

เมื่อราชสำนักเกิดความวิตกกังวลต่อการสิ้นสุดราชวงศ์เป็นอย่างมาก เครือข่ายราชสำนักที่ผนึกกำลังกันอย่างเป็นระบบโดยพลเอกเปรม ในฐานะประธานเครือข่าย ก็ทำหน้าที่ที่น่าชื่นชมในสายตาของราชสำนัก แต่แท้จริงกลับเป็นอันตรายต่อราชสำนักอย่างยิ่ง โดยพลเอกเปรมได้บัญชาการอยู่หลังฉาก โดยใช้ทั้งองค์กรทหาร และองค์กรศาล ในการยึดอำนาจทำลายองค์กรพรรคการเมืองอย่างตัดรากถอนโคน ด้วยการทำลายสายตระกูลของนักการเมืองที่เป็นหัวขบวนของแต่ละพรรคการเมือง โดยข้ออ้างว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทุจริตเลือกตั้งในฐานะเป็นกรรมการพรรคจึงถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี รวมนักการเมืองระดับหัวกะทิประมาณเกือบ 300 คน ที่ถูกกีดกันออกจากวงการเมือง ซึ่งมีผลทำให้องค์กรพรรคอยู่ในสภาพล้มลุกคลุกคลานโดยไม่อาจจะเป็นรากฐานค้ำจุนระบบรัฐสภาได้
ดังนั้นโดยผลแห่งการยึดอำนาจของทหาร และผลแห่งคำพิพากษายุบพรรค ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค จึงทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอทันตาเห็น อีกทั้งได้สร้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เน้นระบบตรวจสอบ ควบคุม อำนาจของรัฐบาลและส.ส.โดยองค์กรอิสระและศาลตามแนวคิดอำมาตยาธิปไตยจึงทำให้รัฐสภาของไทยกลายเป็นสภาของเด็กขี้ฟ้อง จนรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่อาจจะทำหน้าที่ตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชนได้
การเมืองของไทย จึงกลายเป็นการเมืองค้าความ ส.ส.ก็กลายเป็นทนายความตีนโรงตีนศาล
จากสถานการณ์เช่นนี้ก็แน่นอนว่าสถาบันทางการเมืองของประชาชนอันได้แก่พรรคการเมือง และรัฐสภา จึงอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด และสถาบันที่จะเข้มแข็งขึ้นก็เหลือเพียงสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันทหารเท่านั้น
การเมืองไทยวันนี้ก็คือการทำลายสถาบันพรรคการเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มข้าราชการเข้มแข็งขึ้น เป็นแกนหลักในการบริหารรัฐ ซึ่งเป็นการเปิดโปงตัวเองของราชสำนักว่าไม่พึงพอใจ และไม่ไว้วางใจพวกนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ต้องการให้อำนาจอยู่กับสถาบันพรรคการเมืองและสถาบันรัฐสภาในการบริหารประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงเช่นนี้ แทนที่ข้าราชการประจำและข้าราชการเมืองควรจะประสานสามัคคีกันเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่กลับกลายต้องมาทะเลาะกันเพื่อช่วงชิงอำนาจโดยไม่มีกติกากลาง
จากการบงการของพลเอกเปรมเช่นนี้ ได้ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อราชสำนักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และยากที่จะสมานแผลใจอันเกิดจากการทำลายสายตระกูลของแกนนำพรรคการเมือง ซึ่งเป็นชนชั้นนำฝ่ายพลเรือนที่มีบารมีในลักษณะเกาะติดกับประชาชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และหากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชนระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำในวันนี้ ก็จะเห็นว่านักการเมืองมีประสิทธิภาพสูงกว่าข้าราชการประจำเพราะองค์กรข้าราชการนั้นจะงุ่มง่าม เนื่องจากเป้าหมายหลักถูกฝึกให้บริการราชวงศ์ มิได้มีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชน ซึ่งแตกต่างจากพรรคการเมืองที่มีแรงจูงใจ คือความนิยมของประชาชน
ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงเช่นนี้ ก็ยากที่องค์กรราชการที่เป็นองค์กรหลักจะตั้งรับได้ และเมื่อเกิดความหิวโหยก็จะเกิดการลุกฮือของประชาชน อันจะส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้างการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่นี้อย่างแน่นอน

8.5 สงครามเสื้อเหลือง-เสื้อแดง

ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่ใช้สีสัญลักษณ์เป็นฝ่ายสีเหลือง และสีแดง เป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองที่เชื่อมโยงถึงสถาบันกษัตริย์ และมีความโกรธแค้นกันระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดงถึงขนาดทำร้ายกันถึงชีวิต ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประเทศไทย เป็นความขัดแย้งที่มีรากความคิดลึกถึงการเกลียดชังต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ที่ยากจะแก้ไข และมีลักษณะกว้าง แม้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ไม่อาจจะเทียบความรุนแรงได้
เริ่มต้นจากการปลุกระดมผู้คนโดยใช้สีเหลืองอันเป็นสีวันพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัวเป็นสัญลักษณ์ โดยใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดีและอยากจะเป็นประธานาธิบดีจนเกิดการรัฐประหารล้มอำนาจทักษิณสมใจพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถจะต่อสู้ในเวทีการเลือกตั้งได้ แต่ด้วยเพราะระบบข่าวสารที่ก้าวหน้า และประชาชนมีความเข้าใจต่อระบบการเมืองดีแล้ว ประกอบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ คนแรกที่มาตามระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และมีผลงานเป็นที่ประทับใจของประชาชน จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของทักษิณ ประชาชนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อคนที่ทำดีแก่บ้านเมือง จึงสงสารและผูกพันในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ แม้ฝ่ายทหารจะทำการโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายเดียว ใส่ร้ายทักษิณต่างๆ นาๆ ตลอด 1 ปีเต็ม หลังการยึดอำนาจก็ไม่อาจจะทำลายศรัทธาที่มีต่อตัวทักษิณได้ ในที่สุดความสงสารและความไม่เป็นธรรมที่กระทำต่อทักษิณก็พัฒนากลายเป็นกลุ่มบุคคลที่ผูกพันกันเพื่อช่วยทักษิณและพัฒนาไปเป็นองค์กรมวลชนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ และมีการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มพันธมิตรฯ (พธม.) ต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงก็พัฒนาไปเป็นองค์กรใช้ชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และยิ่งเมื่อเสื้อเหลืองแสดงบทบาทที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายโดยทำการอุกอาจยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดสนามบิน รวมทั้งติดอาวุธจัดตั้งเป็นกองทัพประชาชนโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าดำเนินการใดๆ ในนามม็อบ“เส้นใหญ่” ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจและโกรธแค้นแก่ฝ่ายคนเสื้อแดงมากยิ่งขึ้น จึงเกิดการรวมตัวและขยายตัวครอบครองพื้นที่ โดยสร้างเขตพื้นที่อิทธิพลของตนขึ้นอย่างมีลักษณะจัดตั้งและลักษณะขบวนการ รวมตลอดทั้งมีกระบอกเสียงเป็นวิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์เป็นของแต่ละฝ่าย โดยกีดขวางไม่ให้ผู้นำมวลชนของฝ่ายตรงข้ามเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดที่เป็นอิทธิพลของตน ถึงขั้นยกพวกไปทำร้ายกัน สภาวการณ์เช่นนี้คือหน่ออ่อนๆ ของสงครามประชาชน
ความขัดแย้งทางความคิดการเมืองของคนไทยที่รุนแรง และกว้างขวางเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และได้กลายเป็นแนวทางการปฏิวัติสังคมแนวใหม่ที่มีความแตกต่างจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

8.6 เสื้อเหลืองล่อเป้า - เสื้อแดงยิงเป้า

หากจะได้มองการเคลื่อนตัวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงอย่างวิเคราะห์เจาะลึก โดยมิได้มองติดอยู่ที่กลุ่มเกลียดทักษิณ และกลุ่มรักทักษิณแล้ว ก็จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของคนทั้งสองกลุ่มมีลักษณะเป็นเอกภาพกัน และเสมือนหนึ่งประสานกันโดยสภาวะวิสัยอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีแห่งองค์เอกภาพของความขัดแย้ง กล่าวคือกลุ่มเสื้อเหลืองจะกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลาว่าเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง รวมตลอดทั้งโชว์หลักฐาน วัตถุพยานต่างๆ เพื่อให้สังคมเชื่อตามคำกล่าวอ้างนั้น ในขณะที่สำนักพระราชวังก็ปล่อยให้กล่าวอ้างตลอดระยะเวลาของการชุมนุมที่ยาวนาน ซึ่งหากมองด้วยสายตาธรรมดาก็น่าเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มีความจงรักภักดีจริง แต่หากดูอย่างวิเคราะห์เจาะลึกแล้วจะเห็นว่าเป็นการ “ดึงฟ้าต่ำ อย่างแยบยล” ซึ่งโดยผลของการดึงฟ้าต่ำย่อมจะก่อให้เกิดความเกลียดชัง และโกรธแค้นในฟ้าของฝ่ายเสื้อแดงมากยิ่งขึ้น จึงมีลักษณะเสมือนกลุ่มเสื้อเหลืองมีความจงใจที่พยายามดึงฟ้าให้ลงมาต่ำ เพื่อให้ฝ่ายเสื้อแดงเป็นผู้ทำลายฟ้าเข้าลักษณะว่า “เสื้อเหลืองล่อเป้า เสื้อแดงยิงเป้า” ตลอดเวลา และก็ปรากฏว่าแม้จะขับไล่รัฐบาลทักษิณ และตัวแทนออกจากอำนาจไปในลักษณะถอนรากถอนโคนจนพวกเสื้อเหลืองสามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้แล้ว และพวกพันธมิตรฯ อีกหลายคนก็มีตำแหน่งได้เป็นรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีแล้ว แต่เสื้อเหลืองก็ยังไม่ยอมยุติความขัดแย้ง และยังคงใช้สถาบันกษัตริย์มาแอบอ้างเพื่อขยายตัวหาสมาชิกในขอบเขตทั่วประเทศ มีลักษณะเป็นขบวนการทางการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 ขณะกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง กลุ่มคนเสื้อเหลืองพันธมิตรฯ ก็ชุมนุมใหญ่กันที่สระบุรี โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกาศบนเวทีชัดเจนว่าได้เกิดสงครามประชาชนแล้ว โดยกล่าวว่า
“บัดนี้ได้เกิดสงครามประชาชนแล้ว ฝ่ายหนึ่งคือพวกเราที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และราชบัลลังก์ อีกฝ่ายหนึ่งคือทักษิณ และพวกเสื้อแดงที่มุ่งทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และราชบัลลังก์
การขยายตัวของเสื้อเหลืองออกต่างจังหวัด โดยอ้างการปกป้องสถาบันฯ ด้านหนึ่งจึงเป็นการขยายการจัดตั้งของกองกำลังเสื้อเหลือง แต่อีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่มคนเสื้อแดงไม่พอใจและขยายตัวมากขึ้นเพื่อเตรียมการจัดตั้งกองกำลังเช่นกัน ซึ่งภาวการณ์เผชิญหน้าของมวลชนเสื้อเหลือง และเสื้อแดง โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเป้าล่อของการทำลายล้างกันเช่นนี้ จึงเป็นผลลัพธ์ที่ผู้อยู่เบื้องหลัง “ม็อบเส้นใหญ่” คาดไม่ถึง
สงครามนี้ผู้ที่จะต้องขาดทุนอย่างย่อยยับทั้งขึ้นทั้งล่องคือราชสำนัก



8.7 กระแสวิกฤตโลก ผนวก กระแสวิกฤตภายใน


ตามทฤษฎีไร้ระเบียบ(Kaos Theory) การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีลักษณะคล้ายกัน คือสภาวะความไร้ระเบียบ ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจะนำไปสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของระบบธรรมชาติใหม่ หรือเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ของระบอบการปกครองของมนุษย์แล้วแต่กรณี ปัญหาความอดอยากของผู้คนคือสภาวะความปั่นป่วน และสภาวะความไร้ระเบียบ
สภาวะความไร้ระเบียบทางสังคมในประเทศรัสเซียขณะที่อยู่ในการปกครองของระบอบพระเจ้าชาร์ ก่อนที่จะถูกโค่นล้ม เมื่อปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามคำอธิบายของทฤษฎีไร้ระเบียบ กล่าวคือเมื่อเกิดภาวะความอดอยากของประชาชน ฝูงชนก็รวมตัวกันเดินขบวนไปหาพระเจ้าชาร์ที่พระราชวัง เครมริน เพื่อขอขนมปังแต่ก็เกิดความเข้าใจผิดจึงถูกทหารม้าคอสแซคที่เกรียงไกรของพระเจ้าชาร์เข่นฆ่า จึงกลายเป็นชนวนการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในรัสเซีย หรือสภาวะความอดอยากที่สะท้อนความไร้ระเบียบอย่างรุนแรงของระบอบซูสีไทเฮา ก่อนที่ราชวงศ์ชิงจะถูกโค่นล้มเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณะรัฐเมื่อปี พ.ศ.2454 ก็ ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ของมนุษย์ที่อธิบายด้วยทฤษฎีความไร้ระเบียบแห่งธรรมชาติทั้งสิ้น
สังคมไทยก็ไม่อาจจะหนีพ้นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาตินี้ได้ หากจะได้ศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของไทยก่อนปี 2475 ก็จะเห็นว่าเกิดระลอกใหญ่ทางการตื่นตัวทางการเมือง 3 ระลอก เริ่มจากปี รศ.103 (พ.ศ.2427) ในสมัยรัชกาลที่ 5 กรณีพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตประจำยุโรปได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพร้อมทั้งล่ารายชื่อเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้รัชกาลที่ 5 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัชกาลที่ 5 ก็ไม่รับฟัง และลงโทษโดยเรียกตัวผู้ลงนามท้ายหนังสือกลับประเทศหมด โดยเฉพาะพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ต้องออกจากราชการ และลี้ภัยไปบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่ประเทศศรีลังกาÙ ระลอก 2 ก็เกิดกบฏ รศ.130 (พ.ศ.2454) สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งพัฒนาการเคลื่อนไหวสู่การใช้กำลังเพื่อล้มอำนาจกษัตริย์ที่เรียกว่ากบฏหมอเหล็ง คือ ร.อ.ขุนทวยหารพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้าคณะ แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นได้เกิดคลื่นระลอกที่ 3 ขึ้นอีกโดยได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกอันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และขยายตัวเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งก็เกิดภาวะความปั่นป่วนทางการเมืองอยู่เป็นทุนเดิมแล้วอันเป็นผลจากชนชั้นนำส่วนหนึ่งไม่พึงพอใจต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาทางสังคมได้ในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปหมดว่า ในขณะที่ประชาชนกำลังทุกข์ยาก แต่รัชกาลที่ 6 กลับไม่สนพระทัย และทรงพระเกษมสำราญกับข้าราชบริพาร ใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย ทุ่มเงินจำนวนมากสร้างวังให้เจ้าพระยารามราคพ พระสหายสนิทที่อื้อฉาวทางเพศเป็นบ้านพักอาศัยส่วนตัว ซึ่งก็คือทำเนียบไทยคู่ฟ้าที่ทำการของรัฐบาลในขณะนี้ จนเงินหมดพระคลัง เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 7 พระองค์ต้องรับภาระภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั้งจากภายนอก และภายในที่ผนวกเป็นกระแสเดียวกันถึงขนาดต้องปลดข้าราชการออกครึ่งหนึ่งโดยไม่จ่ายเงินชดเชยใดๆ ภาวะวิกฤตขนาดนั้นส่งผลให้เกิดภาวะธนาคารหลายแห่งล้มละลาย แม้แต่ธนาคารสยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ปัจจุบัน) ของราชสำนักเองก็ทรุดหนัก ประคองตัวไม่อยู่จนกลายเป็นเชื้อมูลให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเมื่อ 24 มิถุนายน 2475
สภาพการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันที่เห็นชัดก็เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองและทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ล้อมปราบฆ่านักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ประชาชนลุกฮือขึ้นเผชิญหน้ากับรัฐบาลทหาร พล.อ.สุจินดา คราประยูร และล่าสุดกรณีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งกลายเป็นไฟลามทุ่งเผาไหม้รอบๆ ราชสำนัก แต่เหตุการณ์มิได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นหากแต่ขยายตัวเป็นภาวะอนาธิปไตยที่ไม่อาจจะควบคุมได้โดยการหนุนหลังของราชสำนักเพียงเพื่อจะโค่นล้มรัฐบาลที่มีสายสัมพันธ์กับทักษิณเท่านั้น เช่น กรณีการยึดทำเนียบรัฐบาลการยึดสนามบิน และปะทะกันกรณีปิดล้อมสภาเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2548-2552 ได้ส่งผลให้เกิดภาวะความไร้ระเบียบทางสังคมอย่างเด่นชัดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอันเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ และผนวกกับกระแสวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มก่อตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปี 2550 และเริ่มเป็นกระแสรุนแรงไหลเข้าสู่ประเทศไทย
ในสภาพการณ์ที่ประชาชนแตกแยกเป็นสองฝักสองฝ่าย แบ่งสีเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดงคอยห้ำหั่นกันท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นนี้ เป็นผลให้ประชาชนต้องยากจนลง เกิดภาวะความอดอยาก ในขณะที่ราชสำนักก็ป่าวประกาศทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เรียกร้องให้ประชาชนประหยัด อดออม แต่ราชสำนักไม่เคยที่จะประหยัดอดออมให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนแม้แต่ครั้งเดียว
สถานการณ์ของไทยในขณะนี้จึงเป็นภาวะความไร้ระเบียบที่รุนแรงที่สุดที่สังคมไทยเคยมีมา และในอดีตได้เคยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปี 2475 มาแล้ว ซึ่งเชื่อแน่ได้ว่าไม่เกินปี พ.ศ.2555 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญอย่างแน่นอน หรืออาจจะปะทุจากความขัดแย้งในราชสำนักเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย หรือเหตุการณ์อันนอกเหนือความคาดหมายที่จะเกิดขึ้นจากความเปราะบางของสังคมที่เป็นอยู่ขณะนี้

8.8 เหลือง-แดง ต่างต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง

ในสภาวการณ์แห่งวิกฤตเศรษฐกิจที่ปิดล้อมประเทศได้ส่งผลให้ประชาชนตกงาน เกิดภาวะความอดอยากเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะหนักหน่วงยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันไฟความขัดแย้งทางชนชาติที่ลุกไหม้อยู่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ก็รุนแรงและยากที่จะสงบ ก็กำลังดึงดูดงบประมาณสร้างความเสียหายให้แก่รัฐไทยเป็นอย่างมาก โดยไม่มีใครจะแก้ไขได้เพราะอำนาจการแก้ปัญหาทั้งหมดที่เป็นจริง รวมศูนย์อยู่ที่ราชสำนัก แต่ราชสำนักก็ไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติ มัวแต่วิตกกังวลต่อการดำรงอยู่ในอำนาจของตน ซึ่งเกิดความขัดแย้งและไม่ลงตัวในการผลัดเปลี่ยนรัชกาล จึงส่งผลให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยเน่าเฟะแก้ปัญหาไม่ได้ ในขณะเดียวกันประชาชนก็ไม่อาจจะพูดความจริงของต้นเหตุแห่งความวุ่นวายในโครงสร้างอำนาจการเมืองได้ ด้วยถูกครอบงำทางวัฒนธรรมและบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทำให้กลุ่มคนทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงต่างงุนงงและโจมตีซึ่งกันและกันโดยเบี่ยงเบนจากปัญหาหลักคือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่” กลายมาเป็นปัญหา “ทักษิณ” โดยมองข้ามราชสำนักซึ่งเป็นศูนย์รวมของปัญหาที่ทำให้ประชาชนต้องทุกข์ยาก และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด
ตามทฤษฎีการเมืองแล้ว ปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจึงเป็นเพียงปัญหาทางปรากฏการณ์ มิใช่เนื้อแท้ของปัญหา
เป็นกะพี้มิใช่แก่น
ปัญหาที่เป็นแก่นในสังคมนี่คือความขัดแย้งของราชสำนัก
สภาพความขัดแย้งของคนเสื้อเหลือง และเสื้อแดงจึงเป็นภาพสะท้อนความขัดแย้ง และความสับสนของประชาชนในสังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งสภาวการณ์เช่นนี้จะถูกแก้ไขได้ด้วยเวลา และข้อมูลข่าวสารที่อาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้การศึกษา อันเป็นภาวะวิสัยแห่งวิวัฒนาการทางสังคม ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของสองพลังอำนาจคือ พลังอำนาจของฝ่ายราชสำนัก กับ พลังอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งหากราชสำนักเชื่อมั่นในอำนาจของตนอย่างผิดและใช้ความรุนแรงกับประชาชนในภาวะที่ราชสำนักเองก็มีความแตกแยกก็จะยิ่งเร่งสถานการณ์ความมีเอกภาพในฝ่ายประชาธิปไตยเร็วยิ่งขึ้น เพราะทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงก็ต่างหิวโหยประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วยกัน และต่างก็ใฝ่ฝันที่จะเห็นการเมืองใหม่ที่งดงาม แต่ยังถูกเวทมนต์ของราชสำนักปิดบังความจริงอยู่ว่าภาพที่งดงามตามที่ใฝ่ฝันนั้นคือภาพวาดเศรษฐกิจพอเพียง และภาพวาดการเมืองแห่งคุณธรรมของ ศักดินาเก่านั้น

8.9 ขบวนการประชาชนขบวนการนาโน

วิวัฒนาการทางสังคมการเมืองนั้นแยกไม่ออกจากวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เมื่อชาร์ล ดาวิน คนพบทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 ว่าสัตว์ที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะดำรงชาติพันธุ์อยู่ได้ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ทฤษฎีเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบก็เกิดขึ้นโดยอาดัม สมิธ ผู้เป็นเจ้าทฤษฎี
ในสภาวะพัฒนาการแห่งเทคโนโลยีปัจจุบัน ได้เกิดเทคโนโลยีขนาดจิ๋วแต่มีประสิทธิภาพสูง หรือที่รู้จักกันในนาม “นาโนเทคโนโลยี” (Nano Technology) ซึ่งเทคโนโลยีขนาดจิ๋วนี้จะเป็นเสมือนหุ่นยนต์ที่สามารถจะเข้าไปปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อสุขภาพของมนุษย์ทางเส้นเลือดได้ โดยเทคโนโลยีขนาดจิ๋วนี้ไม่อาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งขณะนี้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการประชาชนที่มีเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ในขณะนี้ ให้พัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายหลากหลายวิธีการ และมีทิศทางทางการเมืองที่ก้าวหน้าโดยหลุดพ้นจากการหลอกลวงด้วยความเชื่อทางการเมืองเก่าๆ เชิงไสยศาสตร์ของราชสำนัก อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยไม่มีองค์กรจัดตั้งซึ่งแตกต่างจากขบวนการประชาชน อย่างเช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีตที่มีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการ ทั้งรูปแบบการทหาร และรูปการณ์จิตสำนึก กล่าวคือการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะมีรูปแบบการจัดตั้งอย่างแน่นอน เช่น คณะกรรมการกลางพรรคฯ องค์กรสันนิบาต เยาวชน องค์กรแนวร่วม และมีลำดับชั้นของการสั่งงานเป็นแนวตั้งคล้ายกับระบบรัฐอีกรัฐหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในรัฐไทยที่ดำรงอยู่ทางกฎหมายในขณะนั้น แต่ขบวนการประชาชนใหม่ที่ก่อรูปการเคลื่อนไหวต่อต้านราชสำนักที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่มีลักษณะการจัดตั้งเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการ อย่างเช่น พรรคคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มก็เป็นการสั่งงานอย่างอิสระที่ยึดความถูกต้องเป็นธรรม และมีลักษณะเป็นแนวราบอย่างเสมอภาคกัน จึงเป็นการประสานงานมากกว่าการสั่งงาน ลักษณะงานที่สำคัญคืองานเผยแพร่ความคิด ดำเนินการผ่านเว็บไซต์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ อย่างง่ายๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตเมื่อ50 ปีก่อน เมื่อครั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจัดตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนนั้นเป็นภารกิจที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ทั้งการดำเนินการและการรักษาไว้ให้ปลอดภัย
ขณะนี้ระบบรัฐของราชสำนักไทยกำลังปั่นป่วนที่ไม่อาจจะควบคุมและปราบปรามการขยายตัวทางความคิดในหมู่ประชาชนที่ทำการต่อต้านราชสำนักอย่างถึงรากถึงโคน ด้วยการเปิดโปงความเน่าเฟะในชีวิตประจำวันของคนในราชสำนัก โดยมีเอกสารหลักฐาน และภาพถ่ายวิดีโอคลิปที่ผิดศีลธรรมอย่างยิ่ง กระจายตัวออกทางสื่ออินเตอร์เน็ตที่เห็นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งเป็นการเปิดโปงการหลอกลวงของราชสำนักเกี่ยวกับความเป็นผู้ทรงคุณธรรม และแบบอย่างที่จอมปลอม รวมตลอดถึงการบริหารจัดการอำนาจการเมืองที่ราชสำนักเคยหลอกลวงมาตลอดเวลาอันยาวนานว่าเป็นผู้อยู่เหนือการเมืองนั้น ได้พังทลายลงหมดสิ้นแล้ว
ความพยายามในการไล่จับกุมสิ่งที่เรียกว่า “เว็บไซต์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” นั้นเป็นความยุ่งยากอย่างยิ่งจากหลักฐานคำแถลงของทางราชการว่าขณะนี้มีเว็บไซต์หมิ่นฯ มากกว่า 10,000 เว็บไซต์ แต่ที่ไล่ปิดได้มีเพียงแค่ 1,000 กว่าเว็บไซต์เท่านั้น ซึ่งเป็นการยืนยันว่ากระแสความไม่พอใจต่อราชสำนักขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ได้บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่าขบวนการประชาชนที่เป็นกระแสตอบโต้โครงสร้างการเมืองเก่า แนวจารีตนิยมนี้ เป็นผลจากการพัฒนาการทางเทคโนโลยีขั้นสูง ประชาชนจึงปรับตัวโดยนำการรับรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่มารับใช้ความคิดทางการเมืองของตน
ลักษณะงานลับ และงานใต้ดินของขบวนการคอมมิวนิสต์เดิมที่ใช้การจัดตั้งแบบปิดลับอย่างรัดกุม การขยายงานความคิดทางการเมืองก็เป็นไปแบบปิดลับ คือปากต่อปากซึ่งยังมีความแตกต่างจากการขยายงานทางความคิดการเมืองแบบ “นาโน” ที่มีลักษณะปิดลับทางเทคโนโลยี และมีการขยายตัวได้อย่างรวดเร็วมากกว่าลักษณะงานแบบเดิมคือ จากปากสู่หลายๆ ปาก
ดังนั้นการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาของขบวนการประชาชนที่จะผนึกกำลังผลักดันให้การปกครองของไทยเกิดวิวัฒนาการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้นนี้ จึงเป็นวิวัฒนาการที่ท้าทายทางประวัติศาสตร์ของประชาชนที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการปกครองเพื่อให้สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าทางการผลิตและเทคโนโลยีของโลกนั้น เป็นวิทยาศาสตร์ทางสังคมอย่างแท้จริง
ลักษณะขบวนการประชาชนแบบนาโนนี้ ไม่เพียงแต่ลดภาระค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นภาระของขบวนการปฏิวัติในอดีตเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงภัยต่อการล้อมปราบและทำลายองค์กรเนื่องจากไม่มีฐานที่มั่นในป่าเขา และไม่มีกองกำลังอาวุธอย่างในอดีต
แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการประชาชนใหม่ที่มีลักษณะ “นาโน” หรือ “จิ๋วแต่แจ๋ว” เช่นนี้ ก็จะเกิดการปรับปรุงยกระดับประสิทธิภาพของการบริหารจัดการขึ้นด้วยปัจจัย 2 ด้าน
ด้านหนึ่งคือ แรงกระตุ้นที่จะมาจากการปราบปรามของราชสำนัก เช่น การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กว้างขวางขึ้น รุนแรงขึ้น ในลักษณะทั้งเหวี่ยงแห และตีอวน รวมตลอดถึงการกวาดล้างผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะไม่จงรักภักดีในอนาคตไม่ไกลนี้ก็จะยิ่งทำให้มวลชนเคียดแค้น เพราะหลักฐานปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะชนแล้วว่า ราชสำนักโดยเฉพาะรุ่นลูกรุ่นหลานมีพฤติกรรมที่เสพสุข ที่ไม่ยึดศีลธรรม เลวร้ายยิ่งกว่าสามัญชนทั่วไป และที่สำคัญคือเป็นการเสพสุขด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน แต่กลับมาปิดปากจับกุมผู้เสียภาษีอากรเข้าคุกตะรางเสียอีก และอีกทั้งเมื่อเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจประชาชนทุกข์ยาก และอดอยาก ก็จะยิ่งกลายเป็นเชื้อไฟปลุกเร้าให้ประชาชนลุกฮือต่อสู้โค่นล้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ้นบุญของรัชกาลปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่ง จะเกิดการเรียนรู้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพขององค์กร การสรุปบทเรียน รวมตลอดทั้งการศึกษาแนวทางการต่อสู้ของประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธี และต่อเชื่อมร่วมมือกันระหว่างขบวนการประชาชนในอดีต และขบวนการประชาชนใหม่
พัฒนาการความขัดแย้งระหว่างการหลอกลวงเรื่องคุณธรรมของราชสำนักที่มากผัวมากเมีย และใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย กับความต้องการอำนาจประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อนำมาแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน โดยการเฉลี่ยสุขในรูปของรัฐสวัสดิการ กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
ผลประโยชน์แห่งมหาชน คือ ความถูกต้อง และชอบธรรม
ประชาชนจงเจริญ
Ù สุพจน์ แจ้งเร็ว 2524 “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” อักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร,อ้างใน “สายธารประชาธิปไตย”,ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หน้า 14-15

No comments:

Post a Comment