Wednesday, May 13, 2009

บทที่ 4 บทบาทที่ขัดขวางต่อพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยผ่านเครือข่ายราชสำนัก

บทที่ 4
บทบาทที่ขัดขวางต่อพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยผ่านเครือข่ายราชสำนัก

จากภูมิหลังทางการเมืองที่เจ็บปวดและความยาวนานกว่า 60 ปี ในการครองอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เกิดการบริหารจัดการทางอำนาจผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญจนสถาบันพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่อาจจะเติบโตเข้มแข็งขึ้นนำการบริหารจัดการรัฐสมัยใหม่เพื่อแข่งขันในสงครามเศรษฐกิจแห่งโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้

4.1 สร้างเครือข่ายราชสำนักเพื่อบริหารจัดการรัฐ

เมื่ออำนาจของราชสำนักได้เริ่มตั้งมั่นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วราชสำนักก็ได้เปลี่ยนฐานะจากฝ่ายรับเป็นฝ่ายรุกในทางการเมือง หรือเปลี่ยนจากด้านรองกลายเป็นด้านหลักของคู่ขัดแย้งทางการเมือง และนับแต่นั้นมาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยจึงมิใช่บทบาทในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกต่อไป หากแต่เป็นบทบาทในระบอบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่”
ราชสำนักได้แสดงบทบาททางการเมืองที่เป็นด้านหลักในการควบคุมกลไกของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม โดยผ่านกลไกต่างๆ ที่ถูกจัดสร้างขึ้นอย่างแนบเนียนที่เรียกว่า “เครือข่ายราชสำนัก” หรือเครือข่ายกษัตริย์Ù(Network Monarchy) โดยมีคณะองคมนตรีเป็นศูนย์กลางในการบริหารเครือข่ายอำนาจด้วยวิธีการถ่ายอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของราชสำนักไปสู่บุคคลที่มีสถานภาพสูงทางสังคมการเมือง และรับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท โดยคำกล่าวแสดงเจตนาของบุคคลนั้นจะถูกสังคมตีความเป็นเสมือนความต้องการขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งบุคคลในลักษณะนี้สังคมได้เรียกขานด้วยถ้อยคำที่




สั้นกะทัดรัดและแสดงคุณลักษณะได้ครบถ้วนว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”Ù
ในช่วงระยะเวลา 5 ทศวรรษ เครือข่ายราชสำนักได้ขยายตัวครอบงำไปในทุกวงการของสังคมไทย นับตั้งแต่วงการทหาร ตำรวจข้าราชการ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน แม้กระทั่งขบวนการ NGO (องค์กรพัฒนาภาคเอกชน) โดยทุกวงการจะมีแกนนำที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าใกล้ชิด ในฐานะเป็นคนไทยตัวอย่าง และหลายคนได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นกระบอกเสียงของเครือข่ายราชสำนักว่าเป็นนักคิดตามแนวพระราชดำริที่ประชาชนควรจะเชื่อฟังและถือเป็นแบบอย่าง เช่น พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์, นายแพทย์ประเวส วะสี, นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นต้น จนกระทั่งบุคคลเหล่านี้เป็นเสมือนหนึ่งเงาแห่งพระองค์ที่คนในสังคมจะติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ในด้านกลับกัน บุคคลเหล่านี้กลับกลายเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจทางสังคมที่คอยตำหนิติเตียนผู้อื่นในสังคมนี้ โดยเฉพาะการตำหนิฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ลักษณะของบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลผู้สูงอายุ และมีลักษณะเกาะกลุ่มกันทางความคิด ในฐานะเป็นผู้หวังดีต่อบ้านเมืองจึงทำให้ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่ถูกขนานนามขึ้นนั้นเกิดภาพเชิงสัญลักษณ์เป็น “สถาบันผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”Ù ของสังคมไทย
การแสดงบทบาทของเครือข่ายราชสำนักในการโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งได้ตั้งมั่นมากว่า 5 ทศวรรษแล้วนี้ เป็นข้อมูลที่ดำมืดไม่อาจจะเปิดเผยได้ คนไทยจึงเห็นแต่เหตุการณ์การล่มสลายของรัฐบาลต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างจะแปลกประหลาด โดยมองไม่เห็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่ราชสำนักเป็นตัวจักรสำคัญ ทำให้การเรียนรู้ทางการเมืองถูกจำกัดข้อมูลและทฤษฎีการวิเคราะห์ ดังนั้นนักรัฐศาสตร์ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทยจึงกลายเป็นผู้ด้อยปัญญาโดยถูกครอบงำทางวัฒนธรรมด้วยวาทะกรรมว่า “พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง” และทั้งการคิดและการกล่าวถึงพระองค์เป็นสิ่งต้องห้ามทางกฎหมายและทางวัฒนธรรม แต่แล้วทฤษฎีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ก็ได้ทำหน้าที่ของมัน กรณีวิกฤติการณ์การเมืองไทยเริ่มจากการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่ประชาชนพึงพอใจและเห็นประโยชน์ของนโยบายที่ดีอย่างเป็นรูปธรรมคือรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ 19 กันยายน 2549 และขยายสู่การก่อจลาจลของกลุ่มพันธมิตรฯ ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งติดต่อกันอีก 2 รัฐบาลคือ รัฐบาลนายสมัคร และนายสมชาย อย่างไร้เหตุผล และติดตามมาด้วยการเปิดเผยข้อมูลลับของทักษิณ ที่เปิดโปงเครือข่ายราชสำนัก ได้แก่พลเอกเปรม, พลเอกสุรยุทธ องคมนตรี, ม.ล.ปีย์ มาลากุล ที่มีการร่วมประชุมลับกันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ กับประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นผลจากพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ส่งสัญญาณความไม่พอใจต่อรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (รายละเอียดดูภาคผนวกท้ายเล่ม)
เครือข่ายราชสำนักจึงเป็นตัวจักรสำคัญของการกำหนดทิศทางการเมืองไทย

4.2 บทบาทของวังในสายตาต่างประเทศ


ด้วยการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก นั้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีคนสนใจทั้งที่ชื่นชม และวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะนักวิชาการและผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางอำนาจว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถครองราชย์ได้ยาวนาน
นายดันแคน แมคคาร์โก(Duncan Mccargo) ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์ ได้ทำการศึกษาวิจัยและตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Pacific Review เมื่อ 4 ธันวาคม 2005 โดยมีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ลักษณะสำคัญของเครือข่ายกษัตริย์ไทยตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2544 ก็คือกษัตริย์เป็นผู้ชี้ขาดสูงสุดในการตัดสินใจทางการเมืองเวลาเกิดวิกฤต และการที่กษัตริย์เป็นต้นกำเนิดหลักของความชอบธรรมของชาติ กษัตริย์ทำตัวเป็นผู้ออกความคิดเห็นและชอบสั่งสอนเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของชาติ และช่วยกำหนดวาระแห่งชาติผ่านพระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี กษัตริย์แทรกแซงการพัฒนาทางการเมืองอย่างกระตือรือร้น โดยส่วนมากจะผ่านทางตัวแทนของพระองค์ เช่น องคมนตรีและนายทหารที่ได้รับความไว้วางใจ โดยมีอดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ เป็นหัวหน้าของเหล่าตัวแทนคอยช่วยกำหนดลักษณะของรัฐบาลผสม และคอยตรวจสอบการดำเนินการทางทหารและการโยกย้ายต่างๆ ระบบการปกครองแบบเครือข่ายนี้ต้องพึ่งพาการจัดประชาชนที่เหมาะสม(โดยเฉพาะคนที่เหมาะสม) ไว้ในงานที่เหมาะสมซึ่งการจัดสรรตำแหน่งนี้เป็นบทบาทหลักของเปรม”
โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติการณ์ทางการเมืองปี 2549-2551 ที่มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนเกิดการฉวยโอกาสกระทำการรัฐประหารโดยทหารกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) และภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 แล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ ยังก่อเหตุความวุ่นวายต่อเนื่องเพื่อขับไล่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงสวัสดิ์ จนถึงขั้นเป็นเหตุจลาจลให้ยึดทำเนียบรัฐบาล และปิดสนามบินทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างอุกอาจ โดยทหารและตำรวจไม่กล้าใช้อำนาจดำเนินการปราบปรามหรือยับยั้งขัดขวาง จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่าเป็น “ม็อบเส้นใหญ่” โดยเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักนั้น จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนในต่างประเทศอย่างเปิดเผยว่าเหตุการณ์ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างอุกอาจนั้นเป็นการกระทำของราชสำนักที่ไม่พอใจต่อตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยการขับเคลื่อนของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีที่แสดงตัวเด่นชัดในทางสังคมว่าเป็นตัวแทนของราชสำนัก หรือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เช่น บทวิจารณ์ของนิตยสาร เดอะ อิโคโนมิส(The Economist) ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2008 โดยมีข้อความ ตอนหนึ่งว่า
“After the 2006 coup, the 15th in Bhumibol’s reign, officials tried to tell foreigners that protocol obliged the king to accept the generals’ seizure of power. Thais got the opposite message. The king quickly granted the coupmakers an audience, and newspapers splashed pictures of it, sending Thais the message that he approved of them. In truth the king has always been capable of showing his displeasure at coups when it suited him, by rallying troops or by dragging his feet in accepting their outcome. And he exerts power in other ways. Since 2006, when he told judges to take action on the political crisis, the courts seem to have interpreted his wishes by pushing through cases against Mr Thaksin and his allies—most recently with this week’s banning of the parties in the government”
“หลังจากเกิดเหตุการณ์การรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นครั้งที่ 15 ในรัชสมัยของกษัตริย์ภูมิพล เจ้าหน้าที่ทางการของไทยพยายามที่จะบอกชาวต่างชาติว่ารัฐพิธีบีบบังคับให้กษัตริย์ต้องยอมรับการยึดอำนาจของนายทหารในกองทัพ ในขณะที่คนไทยถูกบอกอีกอย่างหนึ่งว่ากษัตริย์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะผู้ก่อการรัฐประหารเข้าเฝ้าฯ และหนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้ตีพิมพ์ภาพดังกล่าวในหน้า 1 เสมือนเป็นการบอกว่ากษัตริย์ได้ให้การยอมรับกับการยึดอำนาจดังกล่าว ในความเป็นจริงแล้วกษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะแสดงออกว่าทรงไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยต่อการยึดอำนาจ หากทรงเห็นเช่นนั้นโดยการสั่งการให้กำลังทหารภายใต้พระองค์ออกมาต่อสู้หรือแม้แต่การที่จะเลือกทรงนิ่งเฉยไม่ยอมรับผลดังกล่าวก็ได้แต่ทรงกลับเลือกที่จะใช้พระราชอำนาจในอีกทางหนึ่งแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ซึ่งได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อบรรดาผู้พิพากษาให้ดำเนินการจัดการกับวิกฤตการเมืองนั้น บรรดาศาลดูเหมือนจะได้แปลพระราชประสงค์ออกมาโดยการเร่งดำเนินการกับคดีต่างๆ ต่อตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายของเขา โดยล่าสุดโดยการตัดสินยุบพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลทั้งสามพรรคลง”Ù
จากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น “อาซาฮี ชิมบุน(The Asahi Shimbun)” ฉบับประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2008 ก็ได้แสดงความกังวลใจ ต่อการเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นห่วงเป็นใยต่อความมั่นคงของนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยในกรณีที่หากเกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินในหัวเรื่อง “สื่อญี่ปุ่นออกโรงเตือนไทยและนายอภิสิทธิ์” ดังความตอนหนึ่งว่า
“Thailand's credibility has been shattered in the international community. The weeklong siege of Bangkok's two airports from late November by the anti-Thaksin People's Alliance for Democracy (PAD) stranded many foreign tourists, including Japanese, and affected foreign companies operating in Thailand.
There are also concerns about the health of King Bhumibol Adulyadej, who has been playing a vital role in keeping the country together. The monarch turned 81 on Dec. 5 but did not give his customary pre-birthday address to the nation this year.
Unless the Thai government is able to regain its trust at home and abroad and reassure everyone, Japanese businesses in Thailand will have to re-examine their long-term strategies. The Japanese government ought to convey this concern to Abhisit.
The government and the people of Thailand also need to engage in open debate on the role of the monarchy in politics to ensure the establishment of their democracy over the long term. The Thais cannot secure political stability if they keep relying on the king to intervene in times of crisis”
“เครดิตความเชื่อถือของเมืองไทย ได้ลดต่ำลงอย่างมากในสังคมโลก โดยเฉพาะหลังการปิดสนามบินในกรุงเทพทั้งสองสนามเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน โดยกลุ่มพันธมิตรที่ต่อต้านทักษิณซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ รวมทั้งชาวญี่ปุ่นและเกิดผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยด้วย
ความกังวลที่มีต่อสุขภาพของกษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช ซึ่งมีบทบาทในการดูแลประเทศชาติซึ่งจะมีอายุใกล้ครบ 81 ปีในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ แต่ในปีนี้ไม่มีการออกมาพูดกับคนในชาติก่อนวันเกิด
รัฐบาลไทยจะต้องทำงานเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจของชาวญี่ปุ่นในไทยจะต้องทบทวนยุทธศาสตร์ระยะยาวใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องสื่อสารไปยังนายอภิสิทธิ์ถึงเรื่องดังกล่าวนี้
ให้รัฐบาลและประชาชนชาวไทย มีส่วนร่วมในการเปิดเวที ถกปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมือง เพื่อที่จะเป็นการสร้างพื้นฐานประชาธิปไตยในระยะยาว ประชาชนไทยจะต้องไม่แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง เพียงการพึ่งพิงพระมหากษัตริย์ในการแทรกแซงเมื่อเกิดวิกฤต”Ù
ความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศและสื่อสิ่งพิมพ์ในต่างประเทศที่นำมาตีพิมพ์นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากจำนวนมากที่แสดงความเห็นเจาะลึกอย่างตรงไปตรงมาที่สื่อไทย และคนไทยไม่อาจจะรู้ความเป็นจริงเหล่านี้ได้ด้วยอำนาจเผด็จการทางกฎหมายและอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมของราชสำนัก

4.3 รูปธรรมอันน่าสงสัยจากถนอมถึงทักษิณ

นับตั้งแต่สิ้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การพังทลายของรัฐบาลในหลายรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลที่มีลักษณะบ่งบอกว่ามีความเข้มแข็งและมั่งคง ล้วนแล้วแต่ต้องพังทลายลงทุกรัฐบาลไปด้วยข้อกล่าวหาทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันคือ “ไม่จงรักภักดี” บ้างก็ถูกขับไล่โดยพลังมวลชน บ้างก็ถูกขับไล่โดยการรัฐประหาร ไม่เว้นแม้แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง และครองอำนาจยาวนานถึง 8 ปี ก็ต้องมีอันเป็นไปในลักษณะคล้ายๆ กัน จนสามารถสรุปได้ว่าในช่วงนับแต่ปี 2506-2551 ซึ่งประวัติศาสตร์ได้เริ่มเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่ภาคพลเรือนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นนั้น ประเทศไทยก็ยังไม่อาจมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ และแม้ล่าสุดวิวัฒนาการของระบบพรรคการเมืองไทยได้พัฒนาสูงขึ้นจนถึงขั้นเกิดระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งจนทำให้การเมืองไทยเกิดเสถียรภาพด้วยการสามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวได้คือ พรรคไทยรักไทย โดยการนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเวลา 2544-2549 และความมีเสถียรภาพของรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ได้ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2540 และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นมามากกว่าแต่ก่อนในระดับหนึ่งด้วยนโยบายสาธารณสุขที่ก้าวหน้าตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นต้น จนเป็นที่ถูกตาต้องใจของประชาชนส่วนข้างมาก รัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพ เช่น รัฐบาลทักษิณ นี้ก็ยังไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ ทั้งๆ ที่มีผลงานและมีคุณภาพมากกว่ารัฐบาลก่อนแต่กลับมีอายุสั้นกว่ารัฐบาลก่อนๆ ที่ด้อยคุณภาพกว่าเสียอีก โดยรัฐบาลทักษิณได้จบบทบาทลงด้วยการยึดอำนาจของฝ่ายทหารในข้อหาเดียวกันว่า “ไม่จงรักภักดี” อีกเช่นเดียวกัน
จากภาวะความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลที่ไม่ว่าจะมาจากระบอบเผด็จการทหาร ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเต็มใบ ดังที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อกังขาในทางวิชาการว่า การพังทลายของรัฐบาลจนไม่อาจจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เลยนี้ เป็นผลมาจาก นักการเมืองไทยเลว หรือ อำนาจนอกระบบการเมืองไทยเลว กันแน่
ถ้าปัญหาความไม่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยของไทยมีสาเหตุหลักมาจากอำนาจนอกระบบ ก็จะต้องมีคำถามต่อไปว่า “อำนาจนอกระบบนั้นคือใคร?”





4.4 อำนาจนอกระบบคือปัจจัยหลักทำลายประชาธิปไตย

มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัย จากสื่อมวลชน และผู้นำทางความคิดของสังคมที่มีแนวคิด “ศักดินาสวามิภักดิ์” โดยได้ประสานเสียงโฆษณามอมเมาประชาชนว่า “ระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ไม่อาจจะดำเนินไปได้เหมือนต่างประเทศนั้น เกิดจากความเลวร้ายของนักการเมืองไทย” คำกล่าวเหล่านี้เป็นการโกหกของพวกนักวิชาการจอมตลบตะแลง โดยแท้จริงแล้วพวกเขานอกจากจะขี้ขลาดไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์อำนาจนอกระบบแล้ว พวกเขายังเกาะกลุ่มหาประโยชน์ทางการเมืองกับอำนาจนอกระบบหรืออำนาจเผด็จการอีกด้วย และทุกครั้งที่อำนาจนอกระบบใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล พวกเขาก็จะออกมาให้เหตุผลความถูกต้องของการยึดอำนาจและเข้ามาเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยการแต่งตั้งของอำนาจนอกระบบกันเป็นทิวแถว
หากเราจะเปรียบเทียบคุณภาพของนักการเมืองไทยกับนักการเมืองต่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถือได้ว่ามีวัฒนธรรม และพัฒนาการใกล้เคียงกันแล้วก็จะเห็นได้ว่า “วาทะกรรม” ของพวกศักดินาสวามิภักดิ์นั้นเป็นการโกหกที่ต่อเนื่องมายาวนาน และใช้อำนาจเผด็จการทางกฎหมาย และอำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมมาครอบงำความคิดของประชาชนไม่ให้กล้ามองทะลุม่านประเพณีว่าแท้จริงความเลวร้ายของระบบการเมืองไทยวันนี้อยู่ที่อำนาจนอกระบบที่ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือคุณภาพของนักการเมือง นั้นเราสามารถดูได้จากตัวชี้วัดก็คือ ดูจากคุณภาพของประชาชนซึ่งประชาชนในประเทศไทยก็มีคุณภาพทางการศึกษาในอัตราส่วนใกล้เคียงกันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เหมือนกัน หรืออาจจะสูงกว่าอีกหลายประเทศด้วยซ้ำไป แต่ทำไมประเทศเพื่อนบ้านของเราจึงสามารถปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกันได้ต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ประเทศของเขามีความเจริญรุ่งเรืองได้
แท้จริงแล้วประเทศเพื่อนบ้านของเราที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยได้ต่อเนื่องยาวนานนั้น เพราะเขาไม่มีอำนาจนอกระบบที่ทรงประสิทธิภาพเช่นประเทศไทยที่มีทั้งอิทธิพลทางการทหาร และอิทธิพลทางความคิดและวัฒนธรรมที่ทับอยู่บนหัวและคอยเข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา
อำนาจนอกระบบที่ทรงพลังของไทยก็คืออำนาจของกลุ่มทหารและกลุ่มข้าราชการที่มีราชสำนักคอยหนุนหลังอยู่ตลอดเวลานั่นเอง




4.5 โฆษณาด้านเดียว ทำลายประชาธิปไตย

การกล่าวโจมตีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นการเข้าสู่อำนาจโดยใช้เงินซื้อเสียง และใช้เงินทุนมหาศาล เมื่อเข้ามามีอำนาจก็มากอบโกยโกงกินได้กลายเป็นวาทะกรรมที่พวกขุนนาง อาจารย์มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนสาย “ศักดินาสวามิภักดิ์” ได้ประสานเสียงกันจนกลายเป็นกระแสหลักครอบงำความคิดของสังคม จนกระทั่งไม่อาจจะมีพรรคการเมืองใดเลยที่จะมีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยมาปกครองประเทศได้ จะมีก็แต่พรรคการเมืองที่โกหกหลอกลวงแนบเนียนที่สุด เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่รับใช้ฝ่ายเจ้ามายาวนานเท่านั้น จึงจะมีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ดังนั้นด้วยการสร้างวาทะกรรมเช่นนี้จึงไม่อาจเกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเป็นจริงเลย กล่าวคือนักการเมืองทุกคนกลายเป็นผู้ร้าย และพรรคการเมืองทุกพรรคกลายเป็นซ่องโจรในสายตาของประชาชน ซึ่งส่งผลให้เกิดวัฒนธรรม “การเมืองเป็นเรื่องน่ารังเกียจ” และด้วยวาทะกรรมและวัฒนธรรมเช่นนี้จึงสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจนอกระบบเข้ามาใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมือง ตั้งแต่การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีก็จะมีเด็กฝากของวังบ้าง ของทหารบ้าง จนถึงการรวบอำนาจไปทั้งหมดด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจ
ภาพการเมืองประชาธิปไตยในสายตาของเจ้าจึงเป็นภาพแห่งการล้มลุกคลุกคลานที่น่าสมเพชเวทนา ของพวกไพร่ พวกเจ๊กแป๊ะที่ไม่รู้จักประชาธิปไตยแต่อยากมีอำนาจทางการเมือง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ความสามารถ เพียงแต่มีเงินก็มีการซื้อเสียงกันมาโดยไม่รู้จักอับอาย
สมมุติว่าหากจะยอมรับแนวคิดของราชสำนักที่โจมตีให้ร้ายระบอบประชาธิปไตยอย่างเกินจริงแล้ว ก็จะขอให้ผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย ลองตั้งคำถามในใจของตนดูเถอะว่า
“การเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง กับ การเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารนั้น อย่างไหนเลวร้ายกว่ากัน” และ
“การเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง กับ การอยู่ในอำนาจตลอดการด้วยการหลอกลวงประชาชนว่าเป็นผู้มีบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนนั้น อย่างไหนเลวร้ายกว่ากัน”
แม้จะมีการซื้อเสียงอย่างไร การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากประชาชนและตรวจสอบได้ทุกๆ 4 ปี แต่การเข้ามามีอำนาจโดยการยึดอำนาจและการมีอำนาจโดยการอ้างบุญบารมีนั้น ประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบเลยไม่ว่ากรณีใดๆ นอกจากจะใช้อำนาจเผด็จการทางกฎหมายปิดกั้นโดยมีคุกตารางข่มขู่แล้ว ยังใช้อำนาจเผด็จการทางวัฒนธรรมข่มขู่หลอกลวงว่าห้ามพูดถึงเพราะเป็นบาปกรรมที่จะตามติดไปชาติหน้าอีกด้วย
เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่ากระบวนการประชาธิปไตยของประเทศด้อยการพัฒนาทางการเมืองจะไม่มีการซื้อเสียง แต่จากความเป็นจริงได้พิสูจน์แล้วว่านักการเมืองที่ซื้อเสียงทุกคนนั้นไม่ได้ประสบชัยชนะทุกคน และมิใช่นักการเมืองทุกคนเป็นผู้ซื้อเสียงหมด และสาเหตุสำคัญที่ประชาชนต้องการผลตอบแทนจากการลงคะแนนเลือกตั้งนั้น ก็เป็นเพราะระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่มีคำตอบในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากของเขา ซึ่งประชาชนรับรู้รูปธรรมทางตรงได้เพียงเท่านี้ ด้วยเพราะการที่จะก้าวลึกเข้าไปด้วยการศึกษาแลกเปลี่ยนเพื่อรับรู้ความจริงแท้นั้น กระทำมิได้เพราะมีระบบกฎหมายคอยควบคุมไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาตรา 112 และกบฏภายในราชอาณาจักร มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงไม่อาจจะเข้าใจความจริงได้ว่าที่พรรคการเมืองไม่มีคำตอบให้ได้นั้นแท้ที่จริงก็เพราะพรรคการเมืองไม่มีความมั่นคงด้วยการถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบด้วยการปฏิวัติรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา และแก่นแท้ปัญหาคือ ความมั่นคงของพรรคการเมืองนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ซึ่งหลักฐานชัดเจนที่สุดที่ได้อธิบายให้เห็นชัดก็คือเมื่อเกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้นแล้วในปี 2544 คือพรรคไทยรักไทยโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงสามารถจัดทำนโยบายที่แก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนได้จริง และประชาชนก็ได้แสดงถึงความเข้าใจต่อความดีงามของระบอบประชาธิปไตยด้วยการลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย อย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2548 โดยได้คะแนนเสียง ส.ส.สูงถึง 377 คน จาก ส.ส.ทั้งสภามี 500 คน ซึ่งสภาพการเมืองเช่นนี้ได้แสดงผลให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยแล้วว่าจะเกิดการแข่งขันเชิงนโยบายในระบบพรรคซึ่งจะลดทอนการซื้อเสียงลงอย่างแน่นอน แต่แล้วระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ก็เกรงกลัวการเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองของประชาชน ซึ่งจะลดทอนอำนาจนอกระบบของตน จึงได้ใช้กลไกทางสังคมทั้งหมดโดยเฉพาะทหาร อาจารย์มหาวิทยาลัยสื่อมวลชน และกลุ่มพลังมวลชนสายศักดินาสวามิภักดิ์ เข้าบดขยี้อย่างเป็นขบวนการโดยผ่านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ประสานการเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2548 หลังทราบผลการเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยได้ 377 เสียง โดยมีกลุ่มพันธมิตรฯ จุดประกายไฟให้เกิดปัญหาแล้วระดมตีด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยและสื่อมวลชน แล้วปิดท้ายด้วยละครฉากเก่าคือทหารออกมายึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 แม้คณะรัฐประหารจะจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ที่คณะทหารสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมกับยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์ทางการเมือง กีดกันพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำออกจากระบบการเมืองแล้วก็ตาม แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หลังการยึดอำนาจประชาชนก็ยังลงคะแนนให้พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นที่รู้กันของประชาชนว่าเป็นพรรคการเมืองของทักษิณกลับมาเป็นเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีก แต่ฝ่ายเจ้าก็ไม่ยินยอมและได้แสดงบทบาทโดยใช้อำนาจนอกระบบกดดันรัฐบาลนายสมัครและนายสมชายให้พ้นอำนาจไป ทำให้ประเทศไทยทำลายสถิติโลก คือ เพียง 1 ปี มีถึง 4 รัฐบาล
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ได้เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าประชาชนได้เห็นคุณประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตย และพึงพอใจต่อหลักการที่อำนาจอยู่ในมือของตนแล้ว แต่อำนาจนอกระบบต่างหากที่ไม่พึงพอใจที่อำนาจจะเป็นของประชาชน และอำนาจนอกระบบนี้เองได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่อาจจะพัฒนาต่อไปได้ ดังเช่นนานาอารยประเทศ

4.6 สร้างระบบตรวจสอบนักการเมืองฝ่ายเดียว

การหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมืองไทยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ เป็นตำนานแห่งความเลวร้ายที่ฝ่ายขุนนางพยายามโฆษณาให้ร้ายจนกลายเป็นวาทะกรรมทางสังคมว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองแล้วไม่มีใครดีทั้งนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายคอยตรวจสอบและควบคุมทรัพย์สินของทุกๆ คนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เริ่มตั้งแต่ชาวบ้านที่จะเข้ามาเป็นกรรมการสาขาพรรคในระดับหมู่บ้านและตำบล โดยจะต้องแจ้งความมีอยู่ของทรัพย์สินทั้งของตนเอง ของเมีย และของลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยพวกขุนนางข้าราชการและอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อ้างอิงหลักวิชาการอย่างน่าเชื่อถือว่าเป็นหลักการปกครองที่โปร่งใส ที่เรียกว่า “ธรรมาภิบาล” และเพื่อความน่าเชื่อถือก็อ้างชื่อเป็นภาษาอังกฤษเสียด้วยว่า “Good Governance” แต่ในความเป็นจริง มันกลับกลายเป็นวาทะกรรมที่หลอกลวง พูดจริงเพียงด้านเดียว
ผู้มีจิตใจอันเป็นธรรมลองตั้งคำถามตัวเองเถิดว่า “ระหว่างนายอำเภอ กับ ชาวนาที่เข้ามาเป็นกรรมการสาขาพรรคการเมืองในระดับท้องถิ่นนั้น ใครมีโอกาสโกงงบประมาณแผ่นดินมากกว่ากัน”
ตอบได้ทันทีว่า “นายอำเภอ” และตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงและรู้กันทั่วไปว่าทั้งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการเกือบทุกคนล้วนแต่ทุจริตทุกโครงการ ราชการที่ต้องเปิดประมูลงาน ผ่านการรับผิดชอบของตนในอัตราส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ต่ำสุด ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างอาคาร ทำถนน ขุดคลอง แล้วทำไมพวกข้าราชการเหล่านี้จึงไม่ต้องถูกควบคุมทรัพย์สิน เหมือนกับชาวนาที่เป็นกรรมการสาขาพรรคการเมือง?

แท้จริงระบบกฎหมายควบคุมทรัพย์สินของนักการเมืองก็คือการโฆษณาให้ร้ายด้านเดียว และกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบอบพรรคการเมืองซึ่งเป็นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

4.7 ข้าราชการ และองคมนตรีไม่ต้องแสดงทรัพย์สิน

ในการกล่าวอ้างระบบธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่โปร่งใส แต่ข้าราชการทั้งระบบในฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระมหากษัตริย์ กลับไม่ต้องแสดงการมีอยู่ของทรัพย์สินต่อสาธารณะเหมือนนักการเมืองและกรรมการสาขาพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งองคมนตรีผู้มีอำนาจตัวจริงในฐานะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ นอกจากไม่ต้องแสดงต่อสาธารณะแล้วยังไม่ต้องแจ้งการมีอยู่ของทรัพย์สินต่อ ปปช.ด้วยเช่นเดียวกัน
ความเป็นจริงในวันนี้ปรากฏว่าองคมนตรีเกือบทุกคนเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทเงินทุนธนาคาร อาทิเช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นที่ปรึกษาของธนาคารกรุงเทพมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งองคมนตรีซึ่งก็เป็นที่รู้กันทั่วไปในสังคมนี้
สำหรับข้าราชการที่ต้องแจ้งทรัพย์สินก็มีเฉพาะข้าราชการระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง(ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่แจ้งทรัพย์สิน) แต่ระบบตรวจสอบก็ไม่เข้มข้นเหมือนอย่างของนักการเมืองที่ต้องแจ้งทรัพย์สิน และต้องนำไปเปิดเผยต่อสาธารณะ ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของเอกสารก็มีสิทธิถูกดำเนินคดี และอาจถูกถอดถอนหลุดจากตำแหน่ง หรือติดคุกติดตะรางได้
ผู้มีจิตใจอันเป็นธรรมลองคิดดูหน่อยเถอะว่า ทหารและตำรวจ ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจตัวจริงในสังคม การเมืองไทยทำไมไม่ถูกควบคุมด้วยระบบกฎหมาย การตรวจสอบทรัพย์สินเหมือนกับประชาชนทั่วไปที่ก้าวเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเล่า?
รวมตลอดถึงผู้ที่อยู่ในราชสำนักที่หาผลประโยชน์จากระบบการเมืองกันอย่างขวักไขว่ไปหมด ทำไมไม่ต้องถูกตรวจสอบด้วยระบบการแจ้งทรัพย์สิน เหมือนอย่างเช่นนักการเมืองเล่า?
มีแต่ข้าราชการการเมืองผู้รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทเท่านั้นหรือที่ทุจริตเป็น, ส่วนข้าราชการประจำผู้รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทเท่านั้นทุจริตไม่เป็นใช่ไหม?

4.8ความร่ำรวยของพลเอกสุรยุทธ์ ตัวอย่างธรรมาภิบาลด้านเดียว

จากหลักฐานหนังสือ “เปิดหน้ากากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ความจริงวิกฤตการเมือง” สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริงว่าแม้แต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งองคมนตรี อย่างเช่น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีประวัติมัวหมองว่ามีทรัพย์สินจำนวนมากเกินกว่ารายได้ที่เกิดจากการรับราชการอันเป็นปกติได้อย่างไร โดยกล่าวว่า
“นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อ้างตัวเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตมาตลอดชีวิต แต่กลับมีสินทรัพย์และเงินสดทั้งหมดทั้งของตัวเองและของภรรยาที่แจ้งต่อ ปปช.รวมถึง 94 ล้านบาท เฉพาะทรัพย์สินของภรรยาซึ่งเป็นข้าราชการทหารแค่ยศระดับพันเอกกลับมีทรัพย์สินมากถึง 65,566,363.11 บาท (หกสิบห้าล้านห้าแสนหกหมื่นหกพันสามร้อยหกสิบสามบาทสิบเอ็ดสตางค์) เฉพาะเครื่องประดับของพันเอกหญิงคุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ซึ่งเป็นภรรยาของนายกรัฐมนตรีนั้น มีเครื่องประดับที่เป็นอัญมณีและมีนาฬิกายี่ห้อดังๆ เป็นมูลค่ารวมถึง 14,157,000 บาท(สิบสี่ล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นเจ็ดพันบาท) และยังมีบ้านพักตากอากาศสวยหรูบนยอดเขายายเที่ยง อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการใช้อิทธิพลเมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคเข้าครอบครองโดยใช้งบประมาณทหารทำถนนลาดยางจากตีนเขาถึง ยอดเขารอบบ้านซึ่งเป็นความผิดอย่างชัดแจ้งในอดีตแต่ไม่เคยถูกตรวจสอบเลยจนกระทั่งก้าวเข้าสู่วงจรการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งหากไม่ก้าวเข้ามาเป็นนักการเมืองสินทรัพย์ที่ได้มาเมื่อครั้งเป็นทหาร ก็จะไม่มีผู้ใดล่วงรู้
ที่กล่าวถึงรูปธรรมกรณีพลเอกสุรยุทธ์ ก็เพื่อแสดงให้เห็นตัวอย่างที่เป็นจริงว่ายังมีผู้นำเหล่าทัพอีกมากมายที่มีอำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเต็มบ้านเต็มเมืองภายใต้คำอวดอ้างว่ารักชาติโดยไม่มีระบบตรวจสอบควบคุมเลยซึ่งจากโครงสร้างระบบราชการที่มีอำนาจเผด็จการทางกฎหมายและวัฒนธรรมของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยครอบงำอยู่เช่นนี้ย่อมเป็นการเพาะเชื้อร้ายของระบบคอรัปชั่นให้ขยายใหญ่โตและเข้มแข็ง และยิ่งมีการรัฐประหารเพื่อสร้างเกราะคุ้มกันระบบราชการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย การแก้ปัญหายิ่งมืดมน”Ù
กล่าวโดยสรุปแล้ว ธรรมาภิบาลที่โฆษณาเรียกร้องกันทั่วเมืองแท้จริงก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายเจ้าที่จะควบคุมการขยายตัวของระบบพรรคการเมือง ด้วยความหวาดกลัวว่าอำนาจทางการเมืองของภาคประชาชนจะเกิดความเข้มแข็งขึ้นจริงในวิถีทางระบอบประชาธิปไตย
ธรรมาภิบาลหรือการบริหารที่โปร่งใสเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง ต้องทำทั้งกระบวนของผู้ที่มีการใช้อำนาจรัฐและมีโอกาสหาผลประโยชน์จากเงินภาษีอากรของประชาชนไม่ใช่ทำกับชาวนาชาวไร่ ที่จะเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมือง เพียงเพราะเข้ามาเป็นกรรมการสาขาพรรคการเมืองในชนบทอย่างเช่นทุกวันนี้



4.9 ใครกันแน่ที่เป็นทุนสามานย์?

“ทักษิณไม่เสียภาษีหุ้น, ทักษิณเป็นทุนสามานย์” ได้กลายเป็น วาทะกรรมทางสังคมที่นักวิชาการพันธุ์ “ศักดินาสวามิภักดิ์” ได้กล่าวโทษพ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี จนเกิดกระแสโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ
หากจะมองด้วยมุมมองการตรวจสอบอำนาจของผู้มีอำนาจแล้วการตรวจสอบการกระทำของนายกฯ ทักษิณ เป็นเรื่องที่ดียิ่ง แต่การตรวจสอบต้องยึดแนวพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลที่ทรงเตือนพสกนิกรว่า “อย่าใช้สองมาตรฐาน”หรือที่พูดติดปากเป็นภาษาฝรั่งว่า double standard แต่ปรากฏว่านักวิชาการและสื่อมวลชนที่แสดงตัวเป็นนักอุดมการณ์ในบ้านเมืองนี้ กลับไม่ยึดแนวพระราชดำรัส และใช้การตรวจสอบแบบสองมาตรฐานตลอดเวลา ซึ่งปรากฏความเป็นจริงว่าการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าบริษัทใดๆ ก็ไม่ได้เสียภาษีเหมือนกัน โดยเฉพาะการขายหุ้นของหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกข่าวนี้ ก็ไม่ได้เสียภาษีเหมือนกัน รวมตลอดทั้งการขายหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ และอีกหลายบริษัทมหาชนที่ราชสำนักถือหุ้นใหญ่อยู่ ก็ไม่ได้เสียภาษีเหมือนกัน แต่นักวิชาการและสื่อมวลชนสาย “ศักดินาสวามิภักดิ์” ต่างก็ปิดปากเงียบ
ทุนสามานย์คืออะไรกันแน่?
ในระบบทุนนิยมนั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะลงทุนค้าขาย แข่งขันกันอย่างเสรีโดยปฏิบัติตามกรอบกฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาค ใครทำผิดกติกาย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังเช่นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าราชสำนักซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่สุดในประเทศไทย ได้ทำกิจการหากำไรเยี่ยงสามัญชนทั่วไป ทั้งลงทุนเองและร่วมทุนกับเอกชนอื่นๆ นับเป็นร้อยๆ บริษัท ตั้งแต่ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีกมากมาย บริษัทผลิตและค้าวัสดุก่อสร้างใหญ่สุด เช่น ปูนซีเมนต์ไทย จนถึงบริษัทประมูลรับเหมาก่อสร้างอื่นๆ แต่ปรากฏว่ารายได้ทางธุรกิจที่เข้าสู่ราชสำนักและเชื้อพระวงศ์กลับไม่ได้เสียภาษีเงินได้ อีกทั้งเมื่อกิจการค้าเกิดวิกฤตต้องขาดทุน ซึ่งเป็นภาวะปกติของการทำธุรกิจที่ต้องมีทั้งกำไร และขาดทุนนั้น แต่กิจการของราชสำนักกลับใช้อำนาจรัฐนำเงินภาษีอากรของราษฎรไปค้ำจุนให้ เช่น กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เป็นผลให้บริษัทเอกชนมากมายเกิดล้มละลาย แต่ในเวลานั้นรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย โดยนายธารินทร์ นิมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็นำเงินภาษีอากรเข้าช่วยค้ำจุน ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก เป็นต้น หรือแม้บริษัทธุรกิจอื่นๆ ของราชสำนักที่ต้องประสบกับภาวการณ์ขาดทุน แต่ไม่ใหญ่โตถึงขนาดจะต้องเอาเงินภาษีอากรมาอุ้ม ก็ใช้วิธีผ่องถ่ายให้แก่กลุ่มทุนผู้จงรักภักดีต่างๆ รับเซ้งไป เช่น กรณีสถานีโทรทัศน์ ITV เป็นต้น
การบริหารจัดการทุนของราชสำนักดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ระบบทุนเสรีอย่างแน่นอน และก็ไม่อยู่ในฐานะที่ใครจะวิจารณ์ได้ นอกจากมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปิดปากแล้ว แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการปิดปากด้วยอำนาจมืดนอกกฎหมายด้วยการ “ถูกอุ้ม” หายตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของบ้านเมืองนี้
ลักษณะธุรกิจของทุนราชสำนักเช่นนี้อยู่ในคำจำกัดความของทุนสามานย์หรือไม่ พวกอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้งหลายจะตอบลูกศิษย์อย่างไร?
จะนำพระราชดำรัสเรื่อง “สองมาตรฐาน” มาอธิบายอย่างไร ดี!!!

4.10 สร้างระบอบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว

การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยได้รับการรับรองจากราชสำนัก ทำให้ระบบพรรคการเมือง และการปกครองแบบประชาธิปไตยอ่อนแอลง แต่แม้กระนั้นก็ไม่อาจจะปิดกั้นอำนาจของประชาชนได้ เพราะการเติบใหญ่ของพลังมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยนั้นเป็นพลังทางประวัติศาสตร์ที่เจตนาแห่งปัจเจกชนไม่อาจจะขัดขวางได้
พลังแห่งประชาธิปไตยจึงไม่ต่างอะไรจากทารกหัวดื้อที่แม้แม่ใจร้ายที่ไม่อยากจะมีลูกพยายามกินยาขับให้แท้ง แต่ในที่สุดก็คลอดออกจนได้ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นในรอบ 60 กว่าปีของการครองราชย์ก็ไม่อาจจะคุมกำเนิดพลังประชาธิปไตยได้ ราชสำนักทำได้เพียงทำให้ประชาธิปไตยแคระแกรน ไม่อาจจะเติบใหญ่เข้มแข็งได้ แต่ผลร้ายก็ตกแก่ประชาชนโดยรวมเพราะพลังแห่งระบอบประชาธิปไตยจอมปลอมเช่นของไทยทุกวันนี้ไม่สามารถจะสร้างความอุดมสมบูรณ์พูลสุข และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เขามีระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง
นับวันที่ประชาธิปไตยได้ถูกปิดกั้น ขาดสารอาหารจนแคระ แกร็น และแม้เด็กหัวดื้อคนนี้จะเกิดเข้มแข็งขึ้นมาได้ก็ไม่เว้นยังต้องถูกหักแข็งหักขาให้พิการอีกจนได้ ดังเช่นกรณีการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณที่มีความเข้มแข็ง และมีศรัทธาจากประชาชนสนับสนุน, สภาพต่างๆ เช่นนี้นับวันยิ่งประจานตัวเองให้เห็นว่าประเทศไทยมีรูปร่างเป็นเด็กพิการอมโรคที่น่าเกลียด และแปลกประหลาดมากยิ่งขึ้นในสายตาของชาวโลก
ในการรัฐประหารครั้งหนึ่งๆ อำนาจของทหารที่ได้ร่วมมือกับระบอบราชการได้สร้างกรอบล้อมระบอบราชการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และลดอำนาจของฝ่ายการเมืองลงจนกระทั่งไม่อาจจะควบคุมบริหารข้าราชการได้ ทำให้ระบอบราชการหรือที่นิยมเรียกกันว่า “ระบอบ อำมาตยาธิปไตย” ขึ้นครอบงำอำนาจของรัฐบาลที่มาจากประชาชนเกือบจะไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน
จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นมรดกตกทอดของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นระบอบ อำมาตยาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบและแนบเนียน กล่าวคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้วางโครงสร้างให้ศาลทั้ง 3 สถาบัน คือ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้คุมอำนาจของรัฐบาลทั้งหมดโดยประธานศาลทั้ง 3 สถาบัน เป็นผู้ตั้งองค์กรอิสระที่มาจากข้าราชการอาวุโส ที่ต้องเป็นข้าราชการอาวุโสเพราะ(แก่เกินแกงความคิดเป็นอำมาตย์สมบูรณ์แบบไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว) อีก 4 องค์กร และหลังจากนั้นตัวแทนศาลทั้ง 3 สถาบัน กับ ตัวแทนองค์กรอิสระทั้ง 4 องค์กร ก็ร่วมกันเลือกสมาชิกวุฒิสภา 74 คน เพื่อมาคุมรัฐบาลโดยมีอำนาจเสมอเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งกว่านั้นก็ให้อำนาจพิเศษแก่องค์กรอิสระเช่น กกต. ,ปปช. ที่ทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวนคอยตรวจสอบจับกุมนักการเมืองทุกคนขึ้นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาการเมือง ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือนัยหนึ่งก็คือเปลี่ยนอำนาจของรัฐบาลที่ประชาชนตัดสินมาแล้ว ตามชอบใจของศาลซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมจากราชสำนัก โดยผ่านมือที่มองไม่เห็นของเครือข่ายราชสำนัก และก็ได้ปฏิบัติการเป็นผลจริงแล้ว เช่น การตัดสินให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่ง ด้วยเพราะทำกับข้าวโชว์ทางโทรทัศน์ และตัดสินล้มรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยการยุบพรรคอย่างฉุกละหุก และมีพิรุธ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ก่อนที่นายสมชาย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียง 2 ชั่วโมง ในงานสวนสนามกองทหารรักษาพระองค์
ไม่เพียงแต่โครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ราชสำนักเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐโดยผ่านอำนาจศาลทั้ง 3 สถาบัน ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น โดยเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญแล้วยังบรรจุแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐ ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคไม่มีอิสระที่จะเสนอนโยบายต่อประชาชนเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ อีกทั้งยังสกัดกั้นอำนาจของฝ่ายการเมืองให้เกิดความยุ่งยากในการบริหาร ไม่สามารถจะตัดสินการแก้ปัญหาของประชาชนอย่างฉับไวได้ เช่น การจะไปตกลงการค้าหรือสัญญาใดๆ กับต่างประเทศต้องนำมาขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา ที่มีราชสำนักวางโครงสร้างควบคุมอย่างแน่นหนาไว้แล้วอีกด้วย
จากโครงสร้างที่ปิดกั้นอำนาจของรัฐบาลที่มาจากประชาชนเช่นนี้ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยบิดเบี้ยว ทำให้ทุกฝ่ายในรัฐสภา ทั้งระหว่างสมาชิกสภาด้วยกันเอง และระหว่างสมาชิกสภากับประชาชน เกิดความขัดแย้งกันไม่มีที่สิ้นสุด โดยเปิดช่องให้ฟ้องร้องกันยังโรงศาลเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันโดยศาลเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นนักการเมืองในสภาแทนที่จะมุ่งสร้างผลประโยชน์ให้ประชาชน เพื่อขอคะแนนความเห็นชอบจากประชาชนก็กลายมาเป็นใช้วิธีแย่งชิงอำนาจกันด้วยการฟ้องร้องโดยหาข้อผิดพลาดทางกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นดำเนินคดีต่อกัน
ระบอบการเมืองของไทยปัจจุบันจึงกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบค้าความ ซึ่งหากนำไปใช้ในสหรัฐอเมริกาวันนี้ก็น่าเชื่อได้ว่า แม้ประธานาธิบดีโอบามาจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ก็คงจะยังไม่อาจจะเข้าบริหารราชการได้ เพราะ กกต.ยังไม่รับรองหรือแม้ว่ารับรองแล้ว แต่ ปปช.กำลังสอบสวนเรื่องที่ฝ่ายพ่ายแพ้ร้องเรียนอยู่ หรืออาจจะต้องใจหายใจค่ำไม่แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะมีนาย ก. นาย ข.ไปยื่นฟ้องคดีในข้อหาต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ศาลอยู่ และศาลกำลังจะพิจารณาตัดสิน หากตัดสินจำคุกก็จะต้องหลุดจากตำแหน่งทันที
ระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ถูกถอดกระดูก เขี้ยวเล็บ จนกลายเป็นมนุษย์พิการไปเสียแล้ว

4.11 จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า : ทหารไม่ต้องขึ้นต่อรัฐบาล

“จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า ม้าเป็นของเจ้าของคอก ม้าไม่ต้องฟังจ๊อกกี้”
วลีทองข้างต้นนี้ เป็นความหมายแห่งคำกล่าวของประธานองคมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่กล่าวให้โอวาทแก่นักเรียนนายร้อย จปร. เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 ที่มีผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกนำกำลังทหารออกมายึดอำนาจจากรัฐบาล
วลีทองนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ว่าทหารซึ่งเป็นเสมือนม้าไม่ต้องฟังรัฐบาลซึ่งเป็นเสมือนจ๊อกกี้ เพราะทหารเป็นของพระราชาซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของคอกม้าเท่านั้น แต่แท้จริงคือสรุปให้เห็นถึงระบบการเมืองที่เป็นจริงและเป็นความถูกต้อง แต่ไม่ใช่ความถูกต้องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบอังกฤษหรือแบบญี่ปุ่น แต่เป็นความถูกต้องแท้จริงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ที่อำนาจทางการเมือง การทหาร ที่เป็นจริงนั้นมิได้ขึ้นต่ออำนาจการบริหารของรัฐบาล ตัวโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลที่มาจากประชาชนนั้นเป็นเพียงรูปแบบของอำนาจการบริหารจัดการที่คล้ายกับอำนาจการบริหารของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยทั่วๆ ไป แต่เนื้อแท้อำนาจกลับรวมศูนย์อยู่ที่ตัวองค์พระมหากษัตริย์
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราจึงได้เห็นความขัดแย้งระหว่างข้าราชการประจำ กับรัฐบาลอยู่เสมอมา โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงและอธิบดี ซึ่งประชาชนจะเห็นการแสดงออกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมขึ้นต่อการบริหารของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอยู่เสมอซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยถ้อยคำว่า
“ผมเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ข้าราชการของนักการเมือง”
ล่าสุดนายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อไม่พอใจต่อคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งจากคำสั่งของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 ก็แสดงความไม่พอใจในคำสั่งนั้น ด้วยข้อความว่า
“เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราเป็นข้าราชการของประชาชน เป็นข้าราชการของบ้านเมือง เราไม่ใช่ข้าราชการของรัฐบาล รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของเรา”Ù
ด้วยเพราะระบอบการปกครองที่เป็นจริงของไทยนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงไม่อาจจะบังคับบัญชาข้าราชการได้ และจากรณีคำสั่งย้ายนายพงศ์โพยม ปลัดกระทรวง โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนี้ก็ได้แสดงให้เห็นชัดถึงอิทธิพลทางความคิดของราชสำนักที่กลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการบริหารของรัฐบาล และไม่เพียงแต่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมความเชื่อ แต่เป็นเรื่องอำนาจการแทรกแซงจริงด้วย เพราะปรากฏเป็นข่าววงในว่าทันทีที่นายกฯ สมัคร มีคำสั่งย้ายปลัดอย่างเป็นทางการ ก็มีพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯ โทรมายับยั้งทันทีเหมือนกัน

4.12 ข้าราชการมุ่งสู่ราชสำนัก ปฏิเสธอำนาจประชาชน

จากสภาวะความเป็นจริงที่โครงสร้างอำนาจรัฐ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม รวมศูนย์อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งมีระเบียบราชการให้ข้าราชการชั้นสูงตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไป รวมตลอดทั้งตำแหน่งผู้บริหาร และในสถาบันการศึกษาของรัฐ คณบดี อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด จะต้องได้รับการโปรดเกล้าจากพระมหากษัตริย์ก่อนจึงจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ และวัฒนธรรมโปรดเกล้ามหากรุณาธิคุณนี้ได้ขยายครอบคลุมไปทุกกระบวนการของพิธีกรรมในระดับรากหญ้า เช่น การพระราชทานเพลิงศพได้ขยายลงไปถึงครอบครัวกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อ.บ.ต.แล้ว ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ราชสำนักทั้งสิ้น ดังนั้นในระบบงานราชการปัจจุบันจึงเกิดกระบวนการวิ่งเต้นของข้าราชการทุกระดับชั้นที่ต่างก็ต้องการที่จะเข้าไปรับใช้ใกล้ชิดเจ้านายเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และหากใครได้รับการโปรดปราน โดยได้รับยศศักดิ์ เครื่องราชชั้นสูงเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นพระสหายโดยเฉพาะข้าราชการสตรี หากได้รับการโปรดเกล้าเป็นคุณหญิง ท่านผู้หญิงแล้วก็จะกลายเป็นคนมีปลอกคอที่รัฐมนตรีไม่มีใครกล้าแตะต้อง แม้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นจะไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ก็ไม่มีรัฐมนตรีคนใดอยากจะไปยุ่งเกี่ยวด้วย ดังนั้นการบริหารประเทศชาติตามแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่เสนอต่อประชาชนซึ่งจำเป็นจะต้องมาผลักดันผ่านโครงสร้างของระบบราชการ จึงเป็นเรื่องหลอกลวงประชาชนตั้งแต่วันแรกที่โฆษณาหาเสียงต่อประชาชน แต่หากผู้นำพรรคการเมืองใดต้องการจะสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชนตามนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็จะต้องมีความกล้าหาญและกล้าเสี่ยงต่อการฝ่าแนวกีดขวางของกลุ่มข้าราชการ “เส้นใหญ่” เหล่านี้ ซึ่งมีเครือข่ายเข้มแข็งคอยเพ็ททูลใส่ร้าย กันอย่างเป็นระบบจนเกิดความเข้าใจผิดต่อตัวนายกรัฐมนตรี และนำมาซึ่งการพังทลายของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา และล่าสุดก็คือกรณีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีของไทยจึงน่าสงสารมากเพราะกว่าจะมาเป็นนายกฯ ได้ก็ยากแค้นแสนเข็ญ ต้องเอาใจประชาชนคนลงคะแนนทั้งบ้านทั้งเมือง แต่เมื่อมาเป็นนายกฯ แล้วก็ยังมีตำแหน่งเล็กกว่าข้าราชบริพารในราชสำนักเสียอีก โดยเฉพาะพวกราชเลขาและรองราชเลขาทั้งหลาย
โครงสร้างการบริหารรัฐของประเทศไทยที่ผ่านมาต้องตกอยู่ในฐานะเดียวกันที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนที่ได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนต้องคอยเอาอกเอาใจนางสนองพระโอฐทั้งหลายที่จะมีคำขอร้องเชิงบังคับมายังตัวรัฐมนตรีไม่ได้หยุดหย่อน และไม่สามารถที่จะสั่งการตามนโยบายต่อข้าราชการในสายงานของตนแต่เป็นผู้ใกล้ชิดราชสำนักได้ สภาพโครงสร้างอำนาจรัฐเช่นนี้จึงสร้างอำนาจที่ซ้อนอำนาจ และเกิดความซับซ้อนในการบริหารจัดการที่ผู้มีอำนาจรัฐตัวจริงคือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่ลงมือสั่งการบริหารจัดการโดยตรง ส่วนรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารรัฐโดยตรงแต่กลับไม่มีอำนาจจริงซึ่งเป็นไปตามข้อสรุปว่า
ผู้บริหารไม่มีอำนาจ แต่ผู้มีอำนาจไม่บริหาร
เมื่อรัฐไทยต้องตกอยู่ในสภาวะที่ซับซ้อนที่รัฐบาลในฐานะผู้บริหารตัวจริงแต่ไม่มีอำนาจ และความมั่นคงของรัฐบาลมิได้อยู่ที่ระบบรัฐสภา หากแต่อยู่ที่ความพึงพอใจของข้าราชบริพารผู้รับใช้ใกล้ชิดราชสำนัก แน่นอนที่สุดผลร้ายย่อมจะตกแก่ราษฎรอย่างแน่นอน

4.13 ราชเลขาคือหัวหน้าปลัดกระทรวง

ในโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้น ปลัดกระทรวงถือว่าเป็นมือไม้สำคัญในการนำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติให้เกิดความสัมฤทธิ์ ดังนั้นในการปฏิบัติราชการ จึงมีการประชุมร่วมปลัดกระทรวงทุกกระทรวงประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง โดยแต่ละกระทรวงผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมและเลี้ยงอาหารหมุนเวียนกันไป ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้เกิดการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ในระบบประชาธิปไตยถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะปฏิบัติการเช่นนี้ แต่สำหรับประเทศไทยราชสำนักนั้น โดยหน้าที่ตามกฎหมายจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ความเป็นจริงปรากฏว่าทุกครั้งในการประชุมปลัดกระทรวงจะมีท่านราชเลขาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ ท่านแก้วขวัญ วัชโรทัย มาร่วมประชุมด้วยเสมอ ซึ่งในฐานะทางสังคมก็เป็นที่เกรงใจอยู่มากแล้ว และปรากฏว่าอายุของท่านก็อาวุโสสูงสุดคือประมาณ 80 กว่าปี (เนื่องจากข้าราชการในราชสำนักไม่มีเกษียณอายุ) ในขณะที่ปลัดกระทรวงทุกคนมีอายุไม่เกิน 60 ปี ประกอบกับเป็น ผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ ใครๆ ก็ต้องเกรงใจไม่กล้าเสนอความเห็นโต้แย้ง ดังนั้นฐานะของท่านราชเลขาจึงอยู่ในฐานะเป็นซุปเปอร์ปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าปลัดกระทรวง ในที่ประชุมซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งร่วมประชุมอยู่ด้วยนั้น จึงเท่ากับถูกครอบงำโดยท่านราชเลขาธิการหรือหนึ่งในนั้นก็คือราชสำนักได้ลงมาครอบงำระบบบริหารราชการทั้งหมดนั่นเอง
ดังนั้นการขับเคลื่อนสังคมไทยที่แท้จริงจะดีหรือเลว จะไวหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแนวคิดของราชสำนักเป็นสำคัญ
วันนี้จึงถือได้ว่าประเทศไทยได้ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ โดยสมบูรณ์แล้ว
Ù เครือข่ายกษัตริย์ (Network Monarchy) เป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ใช้และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Pacific Review.,Vol.18 No.ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2005 หน้า 499-519 บทความเรื่อง “วิกฤตเครือข่ายกษัตริย์และความชอบธรรมในไทย” เขียนโดย Duncan McCargo ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์
Ù “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำมาใช้เป็นครั้งแรกในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูง โดยมุ่งหมายถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และหลังจากที่ใช้ถ้อยคำนี้ไม่นาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจจนไม่สามารถจะกลับประเทศไทยได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

Ùวิจัย ใจภักดี ,2550 “เปิดหน้ากากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์)

Ù นิตยสาร เดอะ อิโคโนมิส (The Economist) ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2008
Ù Thaienews.bolgsport.com คัดจาก posted by editor 01
Ù วิจัย ใจภักดี พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 56 “เปิดหน้ากากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ความจริงวิกฤตการเมือง” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์
Ù คำสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 22 กันยายน 2551 หน้า 11

1 comment:

  1. นี่คือประกาศสาธารณะสำหรับทุกคนที่ต้องการขายไตเรามีผู้ป่วยที่ต้องการการปลูกถ่ายไตดังนั้นหากคุณสนใจที่จะขายไตโปรดติดต่อเราทางอีเมลของเราที่ iowalutheranhospital@gmail.com
    นอกจากนี้คุณยังสามารถโทรหรือเขียนถึงเราได้ที่ whatsapp ที่ +1 515 882 1607

    หมายเหตุ: รับประกันความปลอดภัยของคุณและผู้ป่วยของเราได้ตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวนมากให้กับทุกคนที่ตกลงที่จะบริจาคไตเพื่อช่วยพวกเขา เราหวังว่าจะได้ยินจากคุณเพื่อให้คุณสามารถช่วยชีวิต

    ReplyDelete